บันทึกนักสำรวจน้ำ “ห้วยเขย่ง”


 บันทึกนักสำรวจน้ำ “ห้วยเขย่ง”

สายวันหนึ่งของวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมที่ชื่อเก๋ๆว่า “กิจกรรมสำรวจลำน้ำตอน อนุรักษ์ลำน้ำห้วยเขย่ง” ในโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีบรรดาสมาชิกกลุ่มใบไม้ ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล จ.กาญจนบุรี เป็นโตโผใหญ่

และถึงจะเป็นค่ายที่เน้นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่การออกค่ายหนนี้ก็ไม่ลืมหลักการ “ใช้ค่าย สร้างคน”ตามแบบฉบับโครงการค่ายอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิต เหตุนี้การทำกิจกรรมที่มีเป้าหมายสร้างประโยชน์ให้ส่วนรวมจึงเกิดพร้อมๆกับการสำรวจตัวเอง

ทั้งหมดลงพื้นที่ ณ ลำน้ำห้วยเขย่ง จ.กาญจนบุรี ลำน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของทุกคนในหมู่บ้านมานานแสนนาน ก่อนจดบันทึกเพื่อนำมาสรุปว่าคุณภาพน้ำ ด้วยคุณภาพน้ำที่ต่างกันย่อมส่งผลถึงบริบทอื่นๆ อาทิ สัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณล้อม ปริมาณวัชพืชที่เติบโต

เหตุนี้นอกจากจะทำให้นักศึกษารู้จักภาพแวดล้อมภายในชุมชนมากขึ้น แล้วยังเป็นการปลูกฝัง และ
“ร่วม” หาวิธีการอนุรักษ์ธรรมชาติอีกด้วย

ในมุมของผู้สังเกตการณ์ต้องบอกว่า บรรยากาศในกิจกรรมนี้เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ เพราะเมื่อเดินเท้าไปยังลำห้วยแล้ว พี่เลี้ยงแต่ละกลุ่มเริ่มทำการแจกอุปกรณ์ในการจับสัตว์เพื่อศึกษา โดยทุกคนดูตื่นเต้นมาก ที่ได้ตาข่ายตาถี่ แว่นขยาย ปากคีบ และถาด เมื่อสอนวิธีการจับสัตว์แล้ว ทุกคนจึงลงมือเริ่มจับสัตว์กันอย่างไม่กลัวเปียก บางช่วงน้ำแรงบางคน ถูกกระแสน้ำพัดจนล้ม เรียกเสียงเฮฮาตลอดเส้นทางที่เดินศึกษาลำห้วย

ส่วนสัตว์ที่พบส่วนมากเป็นลูกแมลงปอ และปลาตัวเล็กๆ มีลูกกุ้งให้เห็นประปราย ทั้งนี้หลังจากที่ทุกคนสำรวจและจดบันทึกแล้ว จึงนำข้อมูลที่ทุกคนมีมาเปรียบเทียบกับตารางข้อมูลสัตว์ในแหล่งน้ำ เพื่อบ่งชี้คุณภาพน้ำอันเป็นการเสริมสร้างความรู้วิธีการวัดคุณภาพน้ำโดยใช้สัตว์น้ำเป็นตัวชี้วัด

ภาพจริง สร้างความคิด

โชคนิธิ คงชุ่ม (เก่ง) ประธานกลุ่มใบไม้ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล กาญจนบุรี เล่าเป้าหมายของกิจกรรมว่า กิจกรรมสำรวจลำน้ำห้วยเขย่งในครั้งนี้ ได้ให้เยาวชนเก็บตัวอย่างสัตว์ที่อาศัยอยู่ในลำห้วย และจดบันทึกเพื่อนำมาสรุปว่าคุณภาพน้ำเป็นเช่นไร เพราะคุณภาพน้ำที่ต่างกัน สัตว์ที่อาศัยอยู่ก็ต่างกันด้วย การทำกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากจะทำให้รู้จักภาพแวดล้อมภายในชุมชนมากขึ้น แล้วยังเป็นการปลูกฝังการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ดีได้อีกด้วย

“เราไม่ได้หวังว่ากิจกรรมหนนี้จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แต่ต้องการพาไปเห็นสิ่งที่เป็นจริง และคิดได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดจากอะไรบ้าง เกิดคำถามและร่วมหาวิธีการที่จะทำให้สิ่งที่เป็นมันดีกว่าเก่า ขอให้เขาได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำ พอเท้าลงน้ำแล้วอะไรก็จะตามมาเอง”เก่งอธิบายปนหัวเราะ

งานอนุรักษ์เริ่มที่ตัวเรา
ส่วนในมุมมองของ “วิภารัตน์ เมฆเขียว (แพร)” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสมาคมป่าไม้ฯ เธอบอกว่า เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2554 เหตุที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการค่ายเพราะอยากเรียนรู้ และเพื่อนชวนมา ซึ่งโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในชุมชนของเราเกี่ยวกับสัตว์ป่าลำน้ำ ทั้งที่ก่อนหน้าไม่เคยสนใจสภาพแวดล้อมในชุมชนเลยด้วยซ้ำ แต่หลังจากเข้าร่วมแล้วความคิดก็เปลี่ยนไป

“เช่น กิจกรรมสำรวจลำน้ำ ก็รู้สึกว่าลำน้ำของบ้านเราอย่างเนี่ยก็เสื่อมสภาพลงไปเยอะเลยค่ะ ก็มีพวกเศษขยะ มีพวกแบบผิวน้ำเหมือนจะเป็นน้ำมัน ก็เกิดมาจากคนในชุมชนของบ้านเราเนี่ยแหละค่ะ ตอนไปเล่นน้ำทิ้งขยะบ้าง ทิ้งของกินบ้าง เราก็พยายามบอกให้คนในชุมชนรู้ปัญหา โดยเริ่มจากตัวเราก่อนคือไม่ทิ้งขยะ และดูแลสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวก่อนค่ะ อย่างพวกหนู ก็จะไม่ทิ้งขยะข้างทาง หรือเวลาไปเล่นน้ำก็ไม่ซื้อขนมไปกิน ถ้าซื้อไปกินก็จะเก็บมาทิ้งที่บ้าน”แพรเล่า พร้อมกับบอกว่า การทำกิจกรรมหนนี้ยังจุดประกายให้พวกเธออยากไปทำกลุ่มอนุรักษ์ของตัวเองเพื่อไปถ่ายทอดให้น้องๆในโรงเรียนรับรู้บ้าง

รักป่า แบบไม่รู้ตัว
ปิดท้ายด้วย “สุธินี เที่ยงทอง (สุ)” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสมาคมป่าไม้ฯ ที่บอกว่า เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2554 ได้เข้าร่วมกิจกรรมสำรวจลำน้ำห้วยเขย่ง มีกิจกรรมวัฒนธรรม และก็มีห้องเรียนสิงแวดล้อม พี่ๆ เขาจะเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและก็ในการอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่ในตำบลเรา เช่นพาไปดูปูราชินี และก็ปูนังปิง เพื่อให้เรารู้วัฏจักรชีวิตของสัตว์ เป็นการปลูกฝังการอนุรักษ์ โดยที่เราไม่รู้ตัว

“ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจว่าในลำห้วยบ้านตัวเองมีอะไรบ้าง เหมือนกับมีกิจกรรมให้เราหันมาดูตัวเอง จากที่เราคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่เมื่อทำกิจกรรมมากขึ้น ทำให้เราตื่นตัว อยากจะรู้ปัญหา อยากจะไปสำรวจ มันต้องช่วยกันดูแลแล้ว พยายามไปบอกคนในชุมชนว่าตอนนี้น้ำเราคุณภาพด้อยลงไปแล้วนะ บรรยายให้เขาฟังว่าที่ทำไปก็คือมันก็เราทำเพื่อชุมชนของเรา เล่าให้เขาฟังเขาก็เอาไปกระจายต่อให้เพื่อนๆ ในหมู่บ้านให้เขาฟัง เผื่อเขาซึมซับและร่วมกันอนุรักษ์ไปเรื่อยๆ”

กิจกรรมสำรวจลำน้ำห้วยเขย่งรอบนี้จึงสร้างไอเดียให้กับนักอนุรักษ์มือใหม่ได้มากโข

หมายเลขบันทึก: 509819เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2012 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ คุณกระจายสุข

ขอชื่นชมโครงการดืีๆเช่นนี้  เห็นได้ว่า น้องๆผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้พัฒนาตน พัฒนาส่วนรวม จากกิจกรมค่าย ที่ครั้งนี้ เน้นประเด็นสิ่งแวดล้อม ..ลำน้ำ แมลงน้ำ รักษ์น้ำ.. มีร่วมกันเรียนรู้..ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ.:-)) .. เชื่อแน่ๆว่า เยาวชนคนเก่งของ..."ห้วยเขย่ง" จะเป็นผู้สืบทอดร่วมกับชุมชน  ดูแลสายน้ำอย่างเห็นคุณค่า..

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท