The Letter มาเขียนจดหมายกันเถอะ


     จำไม่ได้แล้วว่าเขียนจดหมายฉบับสุดท้ายเมื่อไหร่ ขณะเดียวกันจดหมายจากใครๆ ที่ส่งตรงมาถึงผมระยะหลังก็หายไป

     ยิ่งโลกถูกย่นและย่อให้เล็กเท่าไหร่ แค่คลิกอุปกรณ์ไฮเทคโนโลยีชีวิตก็รวดเร็วดั่งใจ ความรู้สึกที่เรามีต่อจดหมาย ดูเหมือนจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นความเชยเฉิ่ม แทบมองไม่เห็นกระทั่งคุณค่าดีงาม ซึ่งซุกซ่อนอยู่ในข้อความที่ถ่ายทอดออกจากก้นบึ้งหัวใจ เรียงร้อยผ่านถ้อยคำสละสลวย เขียนด้วยลายมืออันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

     โทรศัพท์มือถือsms / e-mailหรือmsnเว็บบอร์ดfacebook ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้คือความทันสมัยที่ทำให้ชีวิตมนุษย์ยุคใหม่สะดวกสบาย อยากส่งความคิดถึงให้พ่อแม่ก็แค่กดเบอร์โทรศัพท์ กรอกเสียงไป ตามใจอยาก เป็นอันหายคิดถึง เหงาๆ อยู่บ้านคนเดียวเกิดอยากคุยกับเพื่อนซี้ก็ใช้วิธีเปิดห้องสนทนา เม้าส์ได้ทั้งวัน ที่สำคัญยังเห็นหน้ากันจะจะ

     ไม่ปฏิเสธหรอกว่าความก้าวไกลของเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยสำหรับการใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดูง่ายขึ้น แต่นั่นอาจไม่ใช่ตัวช่วยสุดท้ายแน่ๆ เพราะไม่เช่นนั้นการส่งข้อความและความคิดถึงรูปแบบเดิมอย่างจดหมาย ก็จะค่อยๆ ทยอยสูญหายและตายไปในที่สุด


     ชีวิตในวัยเรียนนั้น เชื่อว่าทุกคนคงประทับใจเพราะอยู่ในช่วงที่สนุกสนาน มีเพื่อนเยอะแยะ มีการละเล่นต่าง ๆซึ่งถ้าโตเป็นผู้ใหญ่เมื่อไหร่ ความรูสึกนึกคิดที่อยากจะกลับไปสู่วัยเด็กนั้น จะผุดขึ้นมาเป็นฉาก ๆในมโนภาพทันที แต่เราไม่สามารถย้อนวันเวลาได้ เพราะเมื่อโตขึ้นสภาวะต่าง ๆของมนุษย์เราต่างก็มีวิถีทางที่ไม่เหมือนกัน บางคนได้ดิบได้ดี (ทำไมถึงไม่ได้สุกไม่รู้ ดิบแล้วจะดีได้อย่างไง?)บางคนเป็นเจ้าของกิจการใหญ่โต ขณะที่บางคนลอกการบ้านลอกข้อสอบอยู่บ่อย ๆเมื่อเจอกันก็ดูผิดหูผิดตาไปเลย

     สมัยเด็ก ๆพอใกล้จะสอบเสร็จใกล้จะปิดเทอมก็จะมีสมุดFriend Shipเพื่อล่าที่อยู่หรือข้อความอัดอั้นตันใจของบรรดาเพื่อนฝูง (ก็เพราะห้องหนึ่งตั้ง 40 คน และซนยังกะลิงนี่)

     ผมเป็นคนที่ชอบเขียนหน้าสุดท้ายโดยเฉพาะเขียนประจานเพื่อน เช่น อีก 10 ปี นายเจอเราจะจำได้หรือเปล่า  เวลาทำให้เราเปลี่ยนไปเยอะ แต่เราจะจำนายได้เสมอ เพราะหน้าตานายคล้ายโดเรมอน เราจะทักนายแบบนี้ตลอดไป  เหล่านี้  เป็นต้น

     เมื่อได้ที่อยู่แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เขียนจดหมายหากัน สมัยนั้นจดหมายได้รับความนิยมสูง  เพราะมีการลุ้น มีการคาดเดา  มีลักษณะการพับจดหมายที่เป็นรูปร่างต่าง ๆ  เป็นลายแทงก็มี  อีกทั้งข้อความที่นิยมกันมาก จนทำให้บุรุษไปรษณีย์ต้องเวียนศีรษะอยู่บ่อย ๆก็มีเยอะ เช่น “ด่วนจี๋ ไปรษณีย์จ๋า”  “ยิ้มก่อนอ่าน  ตาหวานก่อนเปิด”  “ใครแอบอ่านขอให้ตาเป็นกุ้งยิง” โดยเฉพาะอันสุดท้ายนี้ บุรุษไปรษณีย์แทบจะฉีกทิ้ง เพราะไม่อ่านจะรู้ได้ไง (ว่ะ) ว่าจะส่งใคร  ที่ไหน

     มีอีกอย่าง บางคนลืมติดแสตมป์ก็เอาไปใส่ตู้ทันที  แทนที่ผู้รับจะดีใจ กลับต้องเสียค่าปรับก่อนอ่านเนื้อความในจดหมาย


     เห็นหรือยังละว่าการเขียนจดหมายนั้นมีคุณค่ามหาศาลมากกว่าที่คุณคิดเสียอีก อย่าเหนื่อยหน่ายอย่าขี้เกียจ เพราะบางทีอาจเป็นสมบัติทางใจอย่างแท้จริง หาไม่ได้อีกแล้ว เช่นจดหมายรัก ล้วนแล้วแต่มีผลต่อความรู้สึกทั้งผู้ส่งและผู้รับบางครั้ง จดหมายฉบับเดียวนี่ละอาจพลิกชะตาชีวิตได้

     ลดการใช้ความเป็นไฮเทคโนโลยี แล้วหันมาจับปากกา จรดลงกระดาษ พรั่งพรูข้อความที่อยากพูด อยากระบาย อยากบอก (อยากด่า อยากว่าก็ได้นะ ดีกว่าส่งsmsหรือใช้ภาษาพ่อขุนฯ เด่นหราหน้าเว็บบอร์ด อย่างนั้นไม่สมควร) จะเขียนกี่หน้า สั้นยาวไม่สำคัญ เพราะนั่นคือความรู้สึกของคุณที่มีต่อใครคนหนึ่ง

     อยากให้ทุกคนเล็งเห็นคุณค่าของจดหมายที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นช่องทางสื่อสารของมนุษย์ ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอดีต แต่เดี๋ยวนี้กำลังหายไปจากสังคมไทย

คำสำคัญ (Tags): #อุดรธานี 22
หมายเลขบันทึก: 509028เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2012 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2012 18:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท