เรียนรู้เรื่องการประชุมโดยการปฏิบัติจริงของนักเรียนชั้น ม.๕


 

การจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ท ๓๒๑๐๒ ชั้น ม.๕ 

หน่วยที่ ๑ ภาษาพัฒนาการสื่อสาร สาระที่ ๓ การฟัง การดู และการพูด

ตัวชี้วัดที่ ๕ พูดในโอกาสต่างๆ พูดแสดงทรรศนะโต้แย้ง พูดโน้มน้าวใจและเสนอแนวคิดใหม่ด้วยภาษาถูกต้องเหมาะสม

ผู้สอนออกแบบการสอนดังนี้

คาบที่ ๑ ให้ความรู้นักเรียนเรื่องวิธีสื่อสารในการประชุม  คำศัพท์เฉพาะในการประชุม ศัพท์ที่ใช้เรียกรูปแบบของการประชุม  ศัพท์ที่ใช้เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประชุม  ศัพท์ที่ใช้เรียกเรื่องประชุม  ศัพท์ที่ใช้เรียกวิธีสื่อสารในการประชุม


คาบที่ ๒ ครูบอกรูปแบบและเป้าหมายการประเมินผล  การประเมินผลแบ่งเป็น ๒ กิจกรรม

กิจกรรมที่ ๑  นักเรียนนำความรู้จากการศึกษาเรื่องประชุมมาดำเนินการประชุมตามสภาพจริง

๑.  สมมุติว่านักเรียนเป็นคณะกรรมการนักเรียน ในแต่ละห้อง แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม  นักเรียนกำหนดบทบาทหน้าที่  เหมือนสภาพจริง คือมี ประธาน  รองประธาน เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ  พิธีกร  กรรมการ  ผู้เข้าร่วมประชุมและผู้สังเกตการณ์  โดยให้กลุ่มที่ รอประเมินเป็นผู้สังเกตการณ์

๒. นักเรียนที่เป็นกรรมการ และผู้เข้าร่วมประชุมทำหน้าที่ค้นหาปัญหาในโรงเรียน  เป็นปัญหาที่เกิดจากตัวนักเรียนและสามารถแก้ไขด้วยตัวนักเรียนเอง

๓. นักเรียนประชุมกำหนดบทบาทหน้าที่  เลขานุการต้องจองห้องประชุมกำหนดสถานที่และจัดทำระเบียบวาระจริงๆ  ประชาสัมพันธ์จัดทำแผ่นประกาศให้ผู้ร่วมประชุมทราบว่ามีประชุมอะไรที่ไหน  ปิดไว้ที่ห้องประชุม


คาบที่๓  ซักซ้อมทำความเข้าใจ  ครูให้นักเรียนทุกคนประจำที่  และลองซ้อมบทบาท  โดยครูคอยบอกแนะนำแก้ไขให้ถูกต้อง  เริ่มตั้งแต่พิธีกรเชิญผู้เข้าประชุมนั่งประจำที่ เรียนเชิญประธานดำเนินการประชุม  ประธานเปิดการประชุม และดำเนินการตามระเบียบวาระ


โดยครูกำหนดให้ระเบียบวาระที่ ๑ เป็นที่เรื่องที่แจ้งให้ที่ประชุมทราบ (ประธานนำข่าวสารของโรงเรียนมาแจ้ง)

ระเบียบวาระที่ ๒ เรื่องรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมา  ประธานก็จะส่งต่อให้เลขานุการอ่านรายงานการประชุม และตามด้วยมติที่ประชุม

ระเบียบวาระที่ ๓ เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา (นักเรียนที่เข้าประชุมเป็นผู้เสนอปัญหาต่างๆ ที่ควรจะได้รับการแก้ไขปรับปรุง


คาบที่ ๔- ๕ นักเรียนจัดประชุมตามที่ได้กำหนดไว้ ในห้องประชุมจริง ใช้ไมโครโฟน  โดยครูทำหน้าที่เพียงผู้ประเมิน และช่วยแนะนำแก้ไขในกรณีที่ผู้ประชุมดำเนินการหรือใช้ภาษาไม่ถูกต้อง

ทุกครั้งที่มีการอนุญาตให้พูด จะต้องพูดว่า “ขอบคุณครับ  ขอบคุณค่ะ”  ก่อนเสนอหรือคัดค้าน นักเรียนจะต้องรายงานตัว  ”เรียนท่านประธานที่เคารพ  ดิฉัน/กระผม  นางสาว/นาย………..ขอเสนอ/แสดงความคิดเห็น/คัดค้านข้อเสนอของ…………………………(อธิบายให้เหตุผล)  ขอบคุณครับ/ค่ะ”


บรรยากาศในการเรียนรู้ 

 นักเรียนปฏิบัติเหมือนการประชุมจริงๆ  เงียบสงบ  จะมีเฉพาะเสียงของผู้ดำเนินการ  ผู้เสนอหรือผู้คัดค้านเท่านั้น


ผลของการเรียนรู้ 

 จากการปฏิบัติจริงทำให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในการประชุมยิ่งขึ้น  นักเรียนมีแววตาที่มีความสุข  เมื่อถามนักเรียนจะบอกว่าสนุกดี


ผลกระทบ

๑.จากข้อเสนอที่นักเรียนได้เสนอปัญหาที่ควรจะได้รับการแก้ไข  ทำให้ได้รับทราบปัญหาต่างๆจากนักเรียน  เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ  ปัญหาที่เกิดจากนักเรียนและต้องแก้ไขโดยนักเรียนและโรงเรียนหลายปัญหามาก  เป็นปัญหาที่โรงเรียนควรจะให้ความสำคัญ  เช่นปัญหาการใช้โรงอาหาร  การแต่งกายผิดระเบียบ  การหนีโรงเรียน   ปัญหายาเสพติดในห้องสุขาชาย เป็นต้น

๒. นักเรียนบางห้องทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้  กล่าวคือ  จัดกิจกรรมเสมือนผู้ใหญ่จัดจริงทุกประการ มีป้ายบอกตำแหน่ง  มีอาหารว่าง   เมื่อดำเนินการไปได้ครึ่งหนึ่งประธานติดธุระต้องไปด่วน รองประธานต้องทำหน้าที่แทน  กระทั่งการให้แก้ไขรายงานการประชุมที่ผิดพลาด

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ

๑. การให้ความรู้ที่กระจ่างทั้งการอธิบาย  ให้เอกสาร  และจดบันทึก

๒. การติดตามของครู  สอบถามความพร้อม  การให้คำแนะนำช่วยเหลือ

๓. การซักซ้อมก่อนถึงเวลาจริง

๔. ความพร้อมของห้องประชุม  อุปกรณ์


หมายเลขบันทึก: 508611เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2012 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท