เทศกาลที่สำคัญของชาวพุทธ.....ทอดกฐิน


เทศกาลที่สำคัญของชาวพุทธ.....ทอดกฐิน

  ในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นช่วงเวลาเทศกาลเข้าพรรษา แต่ตอนนี้หลังจากออกพรรษาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา เทศกาลทอดกฐินก็จะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของวันที่ 31 ตุลาคม  2555  ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของวันที่ 28 เดือนพฤศจิกายน 2555 รวมเวลา 29 วัน คนไทยส่วนใหญ่ นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อถึงเทศกาลสำคัญเช่นนี้ก็จะร่วมกันทำบุญตามวัดต่าง ๆ ใกล้บ้านหรือชุมชนของตนเอง เพื่อบุญกุศลที่จะช่วยเกื้อหนุนให้ชีวิตของตนเองและครอบครัวประสบกับความสุขความเจริญ และเป็นการช่วยกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่ดีของคนไทยที่มีมาอันยาวนาน

  คำว่า กฐิน, กฐิน - [กะถิน, กะถินนะ-] น.ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง[1] ผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุสงฆ์เฉพาะกฐินกาล, ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือ กรอบไม้สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร

  คำว่า “กฐิน”  แปลตามศัพท์หมายความว่า[2] ไม้สะดึง หมายถึง ไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร  ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียก สังฆกรรม อย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน  โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอ ที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร  แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตราสงค์ หรือสังฆาฏิก็ได้และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ) ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว  ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน 12 ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน 4 ) ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน (กฐินทุสสะ) สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย 5 รูป  ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง 1 เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

  ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว ([3]ภิกษุรูปนั้นทําตั้งแต่ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม เสร็จในวันนั้น ทํา พินทุกัปปะอธิษฐานเป็นจีวรครอง เป็นจีวรกฐิน เรียกว่า กรานกฐิน) ย่อมได้อานิสงส์  5  ประการ คือ 1. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา 2. จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ 3.ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้ 4. เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ  อานิสงส์ทั้ง 5 ข้อนี้ได้เวลายึดออกไปอีก 4 เดือน (ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 12 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4) และได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลออกไปตลอด 4 เดือน

  คำถวายผ้ากฐิน แบบสั้นว่า อิมํ, สปริวารํ, กฐินจีวรทุสฺสํ, สงฺฆสฺส, โอโณชยาม. (ว่า 3 จบ)  แปลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์

  คำถวายผ้ากฐิน  แบบยาวว่า  อิมํ, ภนฺแต, สปริวารํ, กฐินจีวรทุสฺสํ, สงฺฆสฺส, โอโณชยาม, สาธุ  โน ภนฺแต, สงฺโฆ, อิมํ, สปริวารํ, กฐินทุสฺสํ, ปฏิคฺคณฺหาตุ, ปฏิคฺคเหตฺวา จ, อิมินา  ทุสฺเสน, กฐินํ, อตฺถรตุ, อมฺหากํ, ทีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย. แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

  กล่าวโดยสรุป  ภิกษุที่จะได้รับอานิสงส์กฐินจะต้องอยู่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส 3 เดือน ในวัดหรืออารามนั้น โดยมิให้ขาดแม้แต่วันเดียว ถ้ามีกิจธุระที่จำเป็นพระวินัยอนุญาตให้ไปได้ 7 วันที่เรียกว่า”สัตตาหกรณียะ” คือ[4] ธุระเป็นเหตุให้ภิกษุออกจากวัดในระหว่างพรรษาได้ 7 วัน ได้แก่ 1. ไปเพื่อพยาบาลสหธรรมิกหรือมารดาบิดาผู้เจ็บไข้ 2. ไปเพื่อระงับสหธรรมิกที่กระสันจะสึก 3. ไปเพื่อกิจสงฆ์ เช่น ไปหาทัพพสัมภาระมาซ่อมวิหารที่ชำรุดลงในเวลานั้น 4. ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของทายกซึ่งส่งมานิมนต์เพื่อการบำเพ็ญกุศลของเขา และธุระอื่นจากนี้ที่เป็นกิจลักษณะอนุโลมตามนี้ได้.



[1] พจนานุกรม ไทย-อังกฤษ,  www.online-english-thai-dictionary.com/definition.aspx?...กฐิน - แคช

[2] พระธรรมปิฎก, (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์, ฉบับประมวลศัพท์, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 9, พ.ศ. 2543, หน้า 1 - 2.

[3] www.thaitux.info/dict/?words=กรานกฐิน - แคช

[4] [4] พระธรรมปิฎก, (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์, ฉบับประมวลศัพท์, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 9, พ.ศ. 2543, หน้า  321.

หมายเลขบันทึก: 508425เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2012 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท