ทำไมพนักงานถึงไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ


การเป็นหัวหน้า จะต้องมีการควบคุมดูแลให้พนักงานทำงานตามที่เรามอบหมายให้ไป โดยที่หัวหน้างานก็ต้องมีการมอบหมาย ติดตาม และควบคุมงานลูกน้องของตนให้เป็นไปตามแผนงาน หรือตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ถ้าหัวหน้าคนไหนพบกับลูกน้องที่ดี ก็ดีไป เพราะงานที่มอบหมายก็จะออกมาได้ตามที่เราคาดหวัง ในทางตรงกันข้ามหัวหน้างานคนไหนบังเอิญไปเจอกับลูกน้องที่ไม่ค่อยอยากทำงานบ้าง หรือต้องตามติดถึงทำ ฯลฯ แบบนี้ก็จะลำบากหน่อยในการที่จะสร้างผลงานให้ได้ตามที่กำหนดไว้

การที่พนักงานบางคนไม่ยอมทำงาน หรือไม่ทำในสิ่งที่เราต้องการ หรือ ไม่คิดที่จะทำงานให้ดีขึ้นเลยนั้น เคยสงสัยกันมั้ยครับว่าเป็นเพราะอะไรที่ทำให้พนักงานไม่ทำในสิ่งที่ตนเองควรจะทำ

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก Professor Ferdinand Fournies จาก Columbia Graduate School ได้ทำวิจัยโดยการรวบรวมเหตุผลว่าทำไมพนักงานถึงไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ ซึ่งผลจากการวิจัยครั้งนี้ก็ออกมาตามรายการข้างล่างนี้ครับ โดยเป็นการเรียงลำดับของเหตุผลว่าทำไมพนักงานถึงไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ

  1. พนักงานไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงควรจะต้องทำอย่างนั้น
  2. พนักงานไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร
  3. พนักงานไม่รู้ว่า อะไรคือสิ่งที่เขาควรจะทำ
  4. พนักงานคิดว่าแนวทางของหัวหน้าไม่น่าจะเป็นแนวทางที่ดี
  5. พนักงานคิดว่าวิธีที่เขาทำนั้นดีกว่า
  6. พนักงานคิดว่ามีอย่างอื่นที่สำคัญกว่า
  7. ไม่รู้ว่าถ้าทำแล้วจะได้อะไรตอบแทนบ้าง
  8. พนักงานคิดว่าเขาทำอย่างที่ควรจะทำแล้ว
  9. พนักงานรู้สึกว่าการที่เขาไม่ทำนั้น กลับได้ในสิ่งที่ดีกว่าเป็นรางวัล
  10. พนักงานถูกลงโทษในสิ่งที่ควรจะทำ
  11. พนักงานคาดหวังว่าถ้าทำแล้วจะมีปัญหาเกิดขึ้น และไม่รู้จะแก้อย่างไร
  12. พนักงานทำผลงานไม่ดี แต่ไม่มีผลอะไรกับการประเมินผลงานที่ออกมา
  13. อุปสรรคในการทำงานเป็นสิ่งที่เขาควบคุมไม่ได้
  14. มีความสามารถไม่เพียงพอที่จะทำได้
  15. มีปัญหาส่วนตัว
  16. ไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน

ถ้าเราลองมานั่งพิจารณาสาเหตุที่เขาทำวิจัยมาข้างต้นใน 5 อันดับแรก จะพบว่า การที่พนักงานไม่ทำในสิ่งที่ตัวเองควรจะทำนั้น มีสาเหตุมาจากความไม่รู้ของพนักงานเอง และการที่พนักงานคิดว่าวิธีการที่ทำทำอยู่นั้นดีอยู่แล้ว

ดังนั้นถ้าจะแก้ไขปัญหาความไม่รู้ของพนักงาน ก็ต้องทำโดยการสื่อสาร หัวหน้างานจะต้องมีหน้าที่สื่อสารถึงเป้าหมาย และเหตุผลที่จะต้องทำ ว่าทำไมถึงต้องทำแบบนี้ เพื่อให้พนักงานเข้าใจถึงเหตุผลลึกๆ เมื่อพนักงานเกิดความเข้าใจและยอมรับแล้ว อัตราการไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำก็จะลดลงครับ

ส่วนในกรณีที่พนักงานคิดว่าวิธีที่ตนเองทำนั้นดีอยู่แล้ว และยังคงทำแบบนั้นอยู่ ทั้งๆ ที่หัวหน้ากลับมองว่าเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องนั้น ผมถามว่า เมื่อหัวหน้าทราบแล้วว่าวิธีการของพนักงานไม่ดี แล้วหัวหน้าบอกพนักงานหรือเปล่า จากผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งบอกไว้ชัดมากว่า การที่พนักงานคิดว่าวิธีการทำงานของตนเองดีกว่าวิธีอื่นๆ ทั้งๆ ที่หัวหน้ามองตรงกันข้ามนั้น เป็นเพราะ หัวหน้าไม่เคยบอกพนักงานเลยว่า วิธีการที่ทำนั้นเป็นวิธีการที่ผิด มีแต่เอามาคุยกันเองระหว่างหัวหน้าด้วยกัน (เข้าข่ายนินทาลูกน้อง) จากนั้นก็ปล่อยให้ลูกน้องทำแบบเดิม ถ้าเป็นแบบนี้ลูกน้องก็ไม่มีวันที่จะทำได้อย่างถูกต้องหรอกครับ

ดังนั้นถ้าเราทราบว่าวิธีการลูกน้องทำ หรือไม่ทำนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควร ก็ต้องรีบแจ้งให้ลูกน้องทราบ พร้อมทั้งบอกถึงวิธีการที่ถูกต้องและเหตุผลเบื้องหลังว่าทำไมต้องทำแบบนี้ ลูกน้องก็จะเข้าใจและเปลี่ยนวิธีการทำงานมาเป็นวิธีที่ควรจะทำ

แล้วหัวหน้าก็จะได้ไม่ต้องมานั่งกลุ้มใจว่า “ทำไมพนักงานถึงไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำซักที”

หมายเลขบันทึก: 507770เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2012 07:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณบทความดีๆ ค่ะท่าน

หัวหน้ามีส่วนสำคัญครับ ที่จะต้องสร้างความเข้าใจแก่ลูกน้องในบริบทและบทบาทหน้าที่ของเขา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท