เพราะอยาก “รู้” ถึงลอง “เล่น”


เพราะอยาก “รู้” ถึงลอง “เล่น”

“แต่การ ‘เล่น’สามารถสร้างสุขภาพได้อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ดังปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ผู้ร้อยเรียงได้สัมผัสมิติของความเพลิดเพลิน สนุกสนานของผู้คนมากมาย ซึ่งได้เรียนรู้ผ่านการลองทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำไปปรับปรุงวิธีเล่นวิธีทำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จนเกิดนิสัยหรือพฤติกรรมทำเรื่องนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ชักชวนคนอื่นมาลองสัมผัส คนที่เคยทำจนชำนาญก็ผันตนไปเป็นพี่เลี้ยง ให้คนมาใหม่ได้เรียนลัด รุ่นแล้วรุ่นเล่า” นพ.ชาตรี เจริญศิริ หมอผู้คลุกคลีกับด้านสุขภาพและชุมชนว่าไว้ตอนหนึ่ง


นิยามไปถึงหนังสือ “เล่นให้รู้” (Happy Life by learning) ที่สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เก็บบันทึกเรื่องราวของการเล่นตลอดปีจากทั่วทุกมุมประเทศ ก่อนประมวลผล สรุปบทเรียน และเลือกบอกเล่าสู่วงกว้างบันทึกจาก “การเล่น” จน “รู้” มีวัตถุดิบหลายหลายรูปแบบ ทั้งการประชันด้วยละครชุมชน ใน “โครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ตามแบบฉบับมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) กลุ่มค่ายอาสาที่ร่วม “โครงการค่ายสร้างสุข” ดั่งความตั้งใจของครู “โกมล คีมทอง” นักเรียนหลายวัยจาก “โครงงาน (เชิง) วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า” ที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) นิยามไม่ต่าง “นักวิทยาศาสตร์ รุ่นเยาว์” นับไปถึงกลุ่มเยาวชนที่เลือกวิธี “สุขแท้ด้วยปัญญา”ร่วมกับเครือข่ายพุทธิกา


 “เล่นให้รู้” จึงว่าด้วยประสบการณ์ของการเล่นเพื่อนำมาซึ่งความรู้ ประหนึ่งจากการลงมือทำ จนเกิดผลผลิตทางความคิด แตกหน่อผลิผลสู่องค์ความรู้ที่ถ่ายทอดสู่วงกว้างต่อไป “ระหว่างที่เราคิดทำบทและนึกถึงการลำดับความว่าจะบอกเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไร มีคนนึกถึงนิทานพื้นบ้านเรื่องดงพญาไฟ ซึ่งเป็นนิทานพื้นเมืองของคนโคราช และเป็นเรื่องราว ที่ว่าด้วยเจ้าเมืองคนหนึ่งที่ไม่ยอมปฏิบัติตามทศพิธราชธรรมจนบ้านเมืองพินาศ และมันสามารถโยงเข้าเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ นั่นเพราะว่าที่สิ่งแวดล้อมเป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมันก็เกิดจากการพัฒนาที่เป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย การดึงนิทานพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของคนโคราชกับประเด็นทันสมัยอย่างสิ่งแวดล้อม คือสิ่งที่เราได้ข้อสรุปกัน เพราะคิดว่ามันเข้ากันได้ดี สามารถโยงถึงความรู้สึกด้านอื่นๆทั้งสิ่งแวดล้อม การเมือง คุณภาพชีวิตประชาชน” (จาก “ทีมเวิร์กของตะขบป่า แกร่งทนทุกสภาวะ” ) “พวกผมคิดโครงงานเพื่อตัวเอง ด้วยที่อำเภอจอมทอง บ้านของผมปลูกมะเขือเทศมาก และอย่างที่รู้กันสำหรับมะเขือเทศอายุการเก็บมันสั้น คือประมาณ4-5วัน วันหลังเก็บเกี่ยวเท่านั้น พอพ้นจากนี้ผิวก็ไม่สวย ขายไม่ได้ราคา ดูไม่น่ากิน เหตุนี้การเคลือบผิวผลไม้เพื่อลดความสูญเสียกับเปลือกจึงเป็นวิธีที่ชาวบ้านให้สำคัญไม่แพ้ขั้นตอนการปลูก” (จาก “เพิ่มความสดชื่น ‘หัวใจ’ด้วยสารเคลือบผิวมะเขือเทศ


“ที่เสม็ดงานน้ำมันไหลแรงมาก หากเราปลูกป่าชายเลนเลยถึงอย่างไรมันก็ตาย ต้องถามชาวบ้าน เอาสิ่งที่ตัวเองรู้ทิ้งไปก่อน ชาวบ้านที่นี่จึงสอนว่าต้องทำแนวรั้วไม้ไผ่ชะลอความเร็วของน้ำ เราก็ทำมันจนเสร็จ พร้อมกันนั้นยังต้องชวนเด็กประถม หรือมัธยมให้มาร่วมกับเราให้ได้ พยายามสร้างเกม สร้างกิจกรรมให้เด็กมาร่วมกับเรา ต้องทำให้มันสนุก ให้ความจริงใจ ให้ชุมชนเริ่มมองเราไม่ใช่คนแปลกหน้าต่อไป” (จาก “คิดแบบ ‘ลูกชาวบ้าน’ คำถามสำคัญไม่น้อยกว่าคำตอบ) “ผมไม่คิดว่าอยู่ดีๆ เราชวนเขามา เขาจะมาร่วมงานกับเรา เลิกใช้กำลัง เลิกต่อย-ตึกัน แต่มันต้องสร้างความเข้าใจ ต้องคุยกันแบบเปิดใจ จริงใจต่อกัน ให้ผู้นำในชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน พระ ทุกคนต้องมาร่วมกันทั้งหมดถ้าอยากจะสำเร็จ” (จาก “ชวนเยาวชนค้นธรรม ลดดีกรีวิวาทฉบับ ‘ชุมชนข้าวปุ้น’”) และอีก ฯลฯ หลักฐานที่ว่าจึงอธิบายถึงการร่วม “เล่น” ได้เป็นอย่างดี ในความหมายของการเรียนรู้นอกระบบ ด้วยการรู้จัก-คุ้นเคย-ซึมลึก-แตกดอก-ออกผล ตามเมล็ดพันธุ์แต่ละต้น ระหว่างที่ความอยากรู้ก่อตัวขึ้น ประตูสนามเล่นจึงถูกผลักออก ส่วนประตูแห่งการเรียนรู้ นั้นไม่เคยมีเวลาปิด

/-//-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

*ล้อมกรอบ

หนังสือ “เล่นให้รู้” ความหนา189 หน้า

โดยสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  

หมายเลขบันทึก: 507307เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2012 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท