ประสบการณ์การฝึกปฏิบัติงานกิจกรรมบำบัดในผู้รับบริการกลุ่มจิตเวช


 ประสบการณ์การฝึกปฏิบัติงานกิจกรรมบำบัดในผู้รับบริการกลุ่มจิตเวช

  การฝึกปฏิบัติงานครั้งนี้กลุ่มผู้รับบริการส่วนใหญ่ที่ดิฉันได้มีโอกาสให้บริการ ได้แก่ ผู้รับบริการกลุ่มจิตเภทที่มีกลุ่มอาการเชิงลบ ซึ่งจะมีลักษณะ เช่น มีสีหน้าเรียบเฉย ไม่สบตา นิ่งเฉย มีภาวะแยกตัว มีแรงจูงใจต่ำในการทำกิจกรรม ขาดความสนใจในการทำกิจกรรมและการเข้าร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น เป็นต้น ส่งผลให้ผู้รับบริการขาดการเริ่มต้นที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ไม่มีกิจกรรมที่สนใจ จึงเกิดการอยู่ว่าง ทำให้ขาดการคงไว้ซึ่งทักษะความสามารถของตนเอง การให้คุณค่าต่อตนเองลดลง และการอยู่ว่างนี้เองยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้รับบริการที่ถูกจำหน่ายออกไปแล้วกลับเข้ามารับบริการที่สถาบันจิตเวชซ้ำอีก

ซึ่งการให้บริการทางกิจกรรมบำบัดนั้น จะมีการประเมินเพื่อค้นหาความต้องการและความสนใจในการทำกิจกรรมของผู้รับบริการ ทั้งประเมินผ่านการสัมภาษณ์ การใช้แบบประเมินต่างๆ และการจัดกิจกรรมประเมิน ซึ่งเป็นกิจกรรมกลุ่ม และจะประเมินพฤติกรรมของผู้รับบริการแต่ละคนขณะทำกลุ่ม เพื่อค้นหาความสามารถ และปัญหาของผู้รับบริการ เพื่อให้การวางแผนฟื้นฟูเกิดการประสบความสำเร็จจากนั้นจะมีการประเมินซ้ำเพื่อวัดผลจากการให้การฟื้นฟู

  โดยในผู้รับบริการที่มีแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่ำ และขาดความสนใจในการทำกิจกรรมนั้น จะมีการประเมินเพื่อค้นหาความต้องการและความสนใจของผู้รับบริการ จากนั้นจะมีการวิเคราะห์สังเคราะห์กิจกรรมให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้รับบริการที่มี และให้ข้อมูลย้อนกลับ เพื่อให้ผู้รับบริการเห็นถึงความสามารถและคุณค่าของตนเองต่อการทำกิจกรรม เช่น กรณีศึกษาหนึ่ง จากการประเมิน พบว่า ไม่สามารถบอกกิจกรรมที่ตนเองสนใจหรือชอบได้ ปฏิเสธการเข้าร่วมกิจกรรม และเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ ไม่มีกิจกรรมยามว่าง จึงได้เข้าร่วมกลุ่มการทำกิจกรรมยามว่าง ซึ่งการจัดกิจกรรมนั้นมีการวิเคราะห์สังเคราะห์ ให้กิจกรรมมีความน่าสนใจ ผลงานมีสีสันสวยงามใช้วัสดุเหลือใช้ที่มีให้เห็นทั่วไป(เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถหาวัสดุต่างๆได้ง่ายเมื่อจะนำไปทำต่อเอง) ซึ่งผลงานจะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ใช้สอยที่เป็นจริง และปรับขั้นตอนให้ผู้บริการสามารถทำกิจกรรมตามขั้นตอนได้ด้วยตนเองจากนั้นจะให้ข้อมูลย้อนกลับต่างๆ เช่น การให้คะแนนความพึงพอใจในผลงานของตน หากผู้รับบริการให้คะแนนตนเองต่ำจนเกินไป จะชี้จุดเด่นของผลงานให้ผู้รับบริการเห็น มีการให้แรงเสริม คำชม และให้สมาชิกในกลุ่มช่วยเสริมด้วยโดยเลือกสมาชิกที่จะให้แรงเสริมที่ดี ให้ผู้รับบริการเห็นถึงความสามารถของตน เพื่อให้เกิดความภูมิใจในผลงานมีการให้คุณค่าในตนเอง จากนั้นมีการเชื่อมโยงกิจกรรมให้นำไปสู่การทำกิจกรรมยามว่างหรือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการดำเนินชีวิต มีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง จากนั้นจึงมีการประเมินซ้ำเพื่อดูความก้าวหน้า(หลัง4สัปดาห์) พบว่า กรณีศึกษาดังกล่าว ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมดีขึ้น ให้คะแนนความพึงพอใจในตนเองเพิ่มขึ้นจากการประเมินครั้งแรก และสามารถบอกกิจกรรมที่ตนเองชอบจากกิจกรรมที่ทำและสนใจจะนำไปทำเองต่อเมื่อได้จำหน่ายกลับบ้าน นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงกิจกรรมที่มีความคล้ายกันเพื่อให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลายได้ เป็นต้น

  จากการฝึกปฏิบัติงานครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ดีในการทำงานกับกลุ่มผู้รับบริการฝ่ายจิตเวช ส่งผลให้ดิฉันเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างๆอยู่ตลอดเวลา 

หมายเลขบันทึก: 507279เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2012 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2012 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท