เบญจคีตานาฏยศิลป์ ห้องเรียนในฝัน


เบญจคีตานาฏยศิลป์ ห้องเรียนในฝัน

          “มาเถิดเย้อ มาเย้อขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย     หมู่ชาวเมืองมา เบื้องขวานั่งส่ายลาย เบื้องซ้ายนั่งเป็นแถว  ยอพอขวัญกันมาเพริศแพร้ว ขวัญมาแล้ว มาสู่คิงกม  เกศเจ้าหอม ลอยลม ทัดเอื้องชวนชม เก็บเอาไว้บูชา  
ยามฝนพรำเจ้าอย่าแข็ง แดดร้อนแรงเจ้าอย่าคลา      อยู่ที่ไหนจงมา รัดด้ายไชยามาคล้องผ้าแพรกระเจา

          อย่าเพลินเผลอ มาเย้อขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย   อยู่แดนดินใด ฤาฟ้าฟากใด ขอให้มาเฮือนเฮา เพื่อนอย่าคิดอาลัยสู่เขา ขออย่าเว้าขวัญเจ้าจะตรม   หมอกน้ำค้างพร่างพรม ขวัญอย่าเพลินชมป่าเขาลำเนาไพร เชิญไหลทาประทินกลิ่นหอม ดมพะยอมให้ชื่นใจ        เหล่าข้าน้อยแต่งไว้ ร้อยพวงมาลัยจะคล้องให้สวยรวย ”

          เสียงบรรเลงดนตรีไทย และขับกล่อมรับขวัญเมื่อคณะกรรมการตรวจเยี่ยมเพื่อรับรองต้นแบบโรงเรียนในฝันเดินทางมาถึง แม้จะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างแต่ก็พอเข้าใจความหมายโดยรวมอยู่  หลายท่านบอกว่านึกว่าหลงมาอยู่ดินแดนแถบถิ่นที่ราบสูง และชมว่านักร้องนำเสียงกังวานไพเราะยิ่งนัก  ทำให้ผู้เขียนอดนึกย้อนหลังไปไม่ได้ว่า โรงเรียนนี้กว่าเราจะเดินทางมาถึงวันนี้ก็แสนสาหัสพอดู จากปัญหาว่าทำอย่างไรจะให้กิจกรรมสนามบูรณาการของโรงเรียนดูดีและโดดเด่นขึ้นมาได้

          แล้ว ๑ ปีให้หลัง เมื่อมีการสอบบรรจุครูก็ได้ คุณครูสาวสวยเอกดนตรีจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในกรุงเทพฯ เลือกมาลงที่โรงเรียนนี้  นี่แหละจิ๊กซอร์ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะลงตัว  ผู้เขียนไปนิเทศและให้การบ้านคุณครูไว้ว่าจะต้องทำการบ้านอะไรบ้าง โรงเรียนมีพื้นฐานอย่างไร และเราต้องการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างไร

          ๑ ภาคเรียนที่ให้การบ้านไป พร้อมมอบเพื่อศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบโรงเรียนนี้คอยดูแลและรายงานข่าว พร้อมไปนิเทศ ติดตามเป็นระยะ ก็เห็นความก้าวหน้าของนักเรียนที่บัดนี้เล่นระนาด และเครื่องดนตรีไทยชิ้นต่าง ๆ เป็นวงได้แล้ว และเปียโนที่ สพฐ.จัดสรรให้ ๒ ตัว นักเรียนก็พอเล่นได้แล้ว   เมื่อได้ที่ เราทุกคนก็สัญญากันว่าจะเริ่มนับถอยหลังเพื่อของรับการประเมินเป็นต้นแบบโรงเรียนในฝัน กันแล้วนะ ห้องปฏิบัติการสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ก็ฝึกฝนกันไป แล้วสนามบูรณาการที่ใช้ดนตรี นาฏศิลป์เป็นแกนจะนำเสนออะไร

          ทีมคุณครูเสนอว่าจะแสดงเป็นชุด ๆ ไป ชุดแรก ได้แก่ รำบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของบ้านนี้ที่เป็นชุมชนลาวเวียง ที่ใครไปใครมาจะมีการบายศรีสู่ขวัญ ชุดที่สองบูรณาการกับสาระสังคมศึกษาฯ ซึ่งโรงเรียนเป็นโรงเรียนต้นแบบวิถีพุทธจะใช้กิจกรรม ขยับกายสบายชีวีวิถีพุทธ เพื่อแสดงถึงการออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ระบบการทำงานต่าง ๆ เป็นปกติร่วมกับการฝึกสมาธิ ชุดที่สาม เป็นกิจกรรมแม่ไม้มวยไทยประยุกต์ ของสาระสุขศึกษา พลศึกษา ชุดที่สี่ ระบำมัดหมี่แสดงถึงวัฒนธรรมการทอผ้าของดีประจำหมู่บ้านที่ทางคณะครูช่วยกันคิดท่ารำและเนื้อร้องขึ้นมา สุดท้ายเป็นกิจกรรมอาเซียนร่วมใจ แสดงให้เห็นความร่วมมือของ ๑๐ ประเทศอาเซียน โดยมีดนตรีไทยและดนตรีสากลเป็นตัวเชื่อมทุกกิจกรรมเข้าด้วยกัน แต่ละกิจกรรมเมื่อจบแล้ว และออกไปอยู่ด้านข้างจะต้องทำกิจกรรมเหมือนกับชุดใหม่ที่เข้ามาแสดงด้วย ( เป็นวิธีเก็บเด็กที่ธรรมชาติจะไม่หยุดนิ่ง คุยกันในห้องประชุม เมื่อทำกิจกรรมก็จะทำให้ไม่สามารถสร้างความวุ่นวาย ความไม่เป็นระเบียบในห้องประชุมได้ ) และทำให้เห็นความพร้อมเพรียงของหมู่คณะได้ดีด้วย ซึ่งนักเรียนและคุณครูตั้งชื่อกิจกรรมทั้งหมดนี้ว่า “เบญจคีตานาฏยศิลป์” โดยมีพิธีกร ๓ ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาถิ่น เป็นผู้บรรยายเชื่อมโยง

          แล้ว จิ๊กซอร์ ที่รอคอยก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ดนตรี สามารถเป็นแกนหลักให้การแสดงทุกกิจกรรมขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี นักเรียนได้รับคำชื่นชมทุกกิจกรรม บ่งบอกถึงการทำงานเป็นทีม (คุณครูใหม่ถนัดดนตรีไม่ถนัดนาฏยศิลป์ คุณครูเก่าสอนนาฏศิลป์ได้แต่ไม่ถนัดดนตรี) การเป็นพี่เลี้ยงของของเก่ากับครูใหม่ ประสานทำงานกันได้อย่างกลมกลืน อาจารย์ชายบางท่านที่หลบหลีกไม่ทำงานก็มารายงานว่ามีความก้าวหน้าอย่างไร แม้แต่นักการภารโรงก็เข้ามาสอบถามว่าสถานที่เป็นอย่างไรบ้าง เห็นแล้วชื่นใจที่เห็นความร่วมมือร่วมใจกันของทุกคนในโรงเรียน

          แล้วห้องเรียนในฝันเบญจคีตานาฏยศิลป์ ก็สำเร็จเรียบร้อยไปอีกหนึ่งห้อง.

 

คำสำคัญ (Tags): #ห้องเรียนในฝัน
หมายเลขบันทึก: 506765เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2012 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท