ห้องเรียนคณิตศาสตร์ในฝัน


ห้องเรียนคณิตศาสตร์ในฝัน

          การสอนคณิตศาสตร์โดยทั่วไปนอกจาก ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์พื้นฐานแล้ว   คุณครูสามารถประยุกต์ใช้ ICT เข้ามาเป็นตัวเชื่อมโยงการเรียนรู้ได้ด้วย

          ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ โรงเรียนในฝันเป็นอีกหนึ่งห้องสำคัญที่จะช่วยสร้างให้นักเรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ คิดเป็น และสามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้ได้  ห้องคณิตศาสตร์ในฝันจึงไม่จำเป็นต้องเป็นห้องเรียนทึบ ๆ โต๊ะสี่เหลี่ยม มีเฉพาะวงเวียน ไม้โปรฯ ไม้บรรทัดไม้ขนาดใหญ่ กระดานดำและชอล์ก อีกต่อไป  แต่ห้องเรียนคณิตศาสตร์ในฝัน ควรเป็นห้องเรียนที่สีสันสดใส โต๊ะเก้าอี้ขนาดพอเหมาะกับนักเรียน รูปทรงสี่เหลี่ยมอื่น ๆ ที่สามารถแปลฝันตามกิจกรรมกลุ่มหรือความสนใจของนักเรียนได้  มีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อ Internet ไว้ให้นักเรียนสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมจาก website คุณครูท่าน ๆ อื่นได้  รวมถึงจำนวนคอมพิวเตอร์ที่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน ( ถ้าไม่พอก็อาจไปใช้ห้องคอมพิวเตอร์แทนได้) หลายท่านอาจสงสัยว่า โรงเรียนประถมศึกษาหรือโรงเรียนขยายโอกาสทั่วไปสามารถทำได้หรือ เรื่องนี้ขอยืนยันว่าทำได้

          ผู้เขียนไปนิเทศและพบเข้าโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสจังหวัดสิงห์บุรี  มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นระดับชั้นละ ๒  ห้องเรียน ( โรงเรียนในชนบทส่วนใหญ่จะมีเพียง  ๑ ห้องเท่านั้น) โรงเรียนทำได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องยกให้เป็นวิสัยทัศน์ท่านผู้อำนวยการโรงเรียน ( ที่กำหนดไว้ว่า นักเรียนที่มาเข้าเรียนชั้น ม. ๑ ทุกคน จะต้องสอบเพื่อจัดห้องเรียนก่อน) เมื่อสอบแล้วจะแบ่งนักเรียนออกเป็น ๒ ห้อง ห้องที่ ๑ จะได้รับ Note book หรือ บางปีจะได้รับ Net book ทุกคน ติดตั้ง Wifi ได้ทั่วทุกจุดในโรงเรียน ส่วนห้องที่ ๒ นักเรียนจะได้เรียน computer ในห้องปฏิบัติการทุกคน ทั้ง ๒ กลุ่มจะได้เรียนโปรแกรมต่าง ๆ เหมือนกัน ( บางเรื่องเราก็สามารถทำก่อนรัฐบาลได้ )

          แล้วเรื่องนี้เกี่ยวกับห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ในฝันอย่างไร

          ผู้เขียนกำลังจะบอกว่า เจ้า computer Note book นี่แหละที่เป็นห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์เคลื่อนที่ให้กับนักเรียนในฝัน ที่สามารถเรียนรู้การใช้ โปรแกรม GSP ( The Geometer's Sketchpad ) เพื่อฝึกฝนและเรียนรู้คณิตศาสตร์ได้ดี เป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ต้องสมมติว่าเท่ากันแบบที่คุณครูวาดรูปหรือพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ บนกระดานดำว่าเท่ากัน แต่วาดไม่เท่ากัน แต่บอกให้นักเรียนจำว่าเท่ากัน(งงงงงง)แต่ทั้งนี้มิใช่ว่าจะใช้คอมพิวเตอร์สอนเพียงอย่างเดียว เนื้อหาอื่น หรือความรู้พื้นฐานอื่นคุณครูก็จำเป็นต้องสอนตามปกติเช่นเดียวกัน)

          เนื้อหาที่นักเรียนแสดงให้ดู ก็หลากหลายกันไปตามระดับชั้น เช่น ระดับประถมศึกษา นักเรียนก็เขียนโปรแกรมฝึกคิดเลขเร็ว นำมาฝึกปฏิบัติกันโดยใช้เลขสุ่มคำถามและคำตอบ หรือคำถามอย่างเดียว การสร้างแผนภูมิแท่ง แผนภูมิวงกลม ซึ่งถ้าทำตามปกติก็คงไม่ใช้ห้องเรียนในฝัน ศึกษานิเทศก์ก็ต้องให้โจทย์ที่ยาก ๆ เพื่อท้ายทายนักเรียนและคุณครูทำการบ้านให้มากกว่า ไม่อย่างนั้นก็คงไม่ใช่ต้นแบบ ซึ่งนักเรียนต้องแสดงความสามารถเก่งกว่าปกติจึงจะผ่าน ( ก็วิจัยโดยใช้ห้องเรียนเป็นฐาน ) เช่น นักเรียนสำรวจรายการอาหารกลางวันที่นักเรียนชอบรับประทานแล้วนำมาแสดงเป็นกราฟแท่ง เมื่อโจทย์เปลี่ยน ตัวเลขเปลี่ยนรูปภาพจะเปลี่ยนหรือไม่ นักเรียนจะตอบว่าเป็น แล้วลงมือสร้างชิ้นงานใหม่ให้ดู  แต่ความสามารถของโปรแกรมมีมากกว่านั้น แค่เปลี่ยนคำสั่งรูปภาพหรือคำตอบก็เปลี่ยนแล้ว ดังนี้เป็นต้น ใหม่ ๆ คุณครูและนักเรียนก็จะงง แต่เมื่อจับทางถูกก็จะสนุกและต่อยอดได้มากมาย รวมถึงนำความรู้ไปให้แม่ครัวทำอาหารกลางวันด้วย  ส่วนระดับมัธยมศึกษา ก็จะเป็นเรื่อง การหาพื้นที่  พิสูจน์ทฤษฎี หรือการประยุกต์ใช้ เป็นต้น ซึ่งหัวข้อจะดูง่าย ๆ แต่โจทย์จะต้องยากและแปลก เป็นการสอนให้นักเรียนนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย ( มิใช่ความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัว ไม่รอด) เช่น การใช้โจทย์สมการมาสร้างลวดลายต่าง ๆ การออกแบบลายผ้าพื้นเมือง การหาพื้นที่นา ของรถเกี่ยวข้าว การหาพื้นที่ปูกระเบื้องมุงหลังคาของลูกช่างไม้ การหาอัตราการเพิ่มขยายพันธ์ของเพลี้ยกระโดด การปล่อยน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาและอีกหลาย ๆ โจทย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน  เป็นต้น

          นอกจากนี้เวลานักเรียนออกไปนำเสนอผลงาน พบว่านักเรียนพูดจาได้ฉะฉาน ชัดเจน มีจังหวะจะโคน เป็นที่ประทับใจ ทำให้เห็นว่าแม้จะเป็นวิชาคณิตศาสตร์แต่นักเรียนก็ได้สามารถแสดงทักษะการสื่อสารด้านภาษาไทยด้วย ซึ่งบางโรงเรียนสร้างโจทย์เป็นบทร้อกรองก็มี

          จะเห็นว่าห้องเรียนคณิตศาสตร์ในฝัน ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ทุกโรงเรียนก็สามารถทำในบริบทของตนได้  บางครั้งผู้บันทึกก็อดยิ้มไปกับเรื่องราวความประทับใจของทุกโรงเรียนที่ผ่านมาไม่ได้ มีทั้งความเก่ง ความฉลาด และความไร้เดียงสาของนักเรียน และการลุ้นตัวโก่งของคุณครู

          ห้องเรียนในฝัน บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่เฉพาะในความฝันเท่านั้น ถ้าทุกคนช่วยกันสร้างฝันให้เป็นจริง เพื่อนักเรียนและประเทศชาติของเรา.

คำสำคัญ (Tags): #ห้องเรียนในฝัน
หมายเลขบันทึก: 506753เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2012 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2012 07:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เคยเล่นหมากเก็บ เกมสำหรับเด็ก ๆ เล่นด้วยหิน ๕ ก้อน

เป็นห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์สุดเลิศหรู / สนุก / คิดเร็ว / ฝึกการวางแผน / ฝึกกล้ามเนื้อ / ฝึกสายตา / ฝึกประสาท / ฝึกการประสานอวัยวะ / ฝึกอารมณ์ของตน /ฝึกการอดทนเมื่อเป็นรองและเหนือกว่า ฝึกความสามัคคีระหว่างผู้เล่น/ ขัดเกลาศิลปในจิตใจผ่านก้อนหิน / ทีสำคัญ สนุกจนไม่อยากเลิกเล่น

ถึงวันนี้ ยังไม่เห็นเกม คณิตศาสตร์ใด ๆ ในคอมพิวเตอร์ ฝึกได้ขนาดนี้เลย...

เกมพื้นฐานนักเรียนบ้านนอก เล่นกันประจำอยู่แล้วครับ วันนั้นยังลองเล่นกับนักเรียนโรงเรียนนี้เลย สนุกดีครับคิดถึงวันเก่า ๆ ขอบคุณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท