ห้องเรียนบูรณาการในฝัน


ห้องเรียนบูรณาการในฝัน

         การจัดการเรียนการสอนที่เป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งในปัจจุบันคือ การสอนแบบบูรณาการ ซึ่งคุณครูหลาย ๆ ท่านก็พยายามบูรณาการทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ หลายท่านก็บูรณาการจนลืมหัวใจสำคัญของสาระนั้น ๆ กลายเป็นสอนสาระหนึ่ง แต่ไปประเมินผลอีกสาระหนึ่งทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำหรือไม่ลุ่มลึกในสาระนั้น ๆ อย่างนี้ก็มี

          วันนี้ไปเจอห้องเรียนบูรณาการอยู่โรงเรียนหนึ่งที่จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการได้ดี ขอนำมาเล่าสู่กันอ่าน ดังนี้

          เรื่องมีอยู่ว่า คุณครูอุษา เป็นครูผู้สอนสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (และการงานอาชีพรวมถึงครูอาหารกลางวันด้วย โดยสอนนักเรียนทำซาลาเปาขายทุกวัน อร่อยมาก) ที่ประกอบไปด้วยสาระย่อยคือ ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และเศรษฐศาสตร์ ปัญหาก็คือในการประเมินเพื่อรับรองเป็นต้นแบบโรงเรียนในฝัน คณะกรรมการให้เวลาห้องเรียนละประมาณ ๒๐ นาที เพื่อให้นักเรียนนำเสนอผลการเรียนรู้ในสาระนั้น ๆ ให้ครบถ้วน มีประสิทธิภาพ ประทับใจ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ครูโรงเรียนอื่น ๆ ด้วย ( วันประเมินห้ามคุณครูมายุ่งเกี่ยว เป็นเรื่องของนักเรียนที่จะต้องแสดงศักยภาพล้วน ๆ) มาดูซิว่าคุณครูอุษาทำอย่างไร

          โจทย์คือ คุณครูและนักเรียนจะต้องร่วมมือกันวางแผนนำเสนอผลการเรียนรู้ทั้ง ๕ สาระย่อยให้ครบถ้วน โดยมีศึกษานิเทศก์เป็นที่ปรึกษา (นี่แหละการวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้ห้องเรียนเป็นฐาน) เมื่อมีโจทย์ทั้งหมดก็ร่วมกันวางแผน และสืบค้นข้อมูล ก็พบว่า ชุมชนที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียน มีประวัติความเป็นมาว่า เป็นชุมชนลาวเวียง (ผู้ปกครองนักเรียนยุคแรกอพยพมาจากเวียงจันทร์สมัยต้นกรุง รัตนโกสินทร์) พอเข้ามาในประเทศไทยก็แยกย้ายกันไป ส่วนหนึ่งก็อพยพมาในภาคกลาง มาหักร้างถางพง สร้างบ้านเรือนและชุมชนขึ้นมา พร้อมนำประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมเข้ามาด้วย เช่น การทอผ้า ผีบ้านผีเรือน ทำขวัญข้าว ฯลฯ พอนานเข้าก็ผสานกับวัฒนธรรมและประเพณีไทยท้องถิ่น กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีของท่านของเรา พอได้เรื่องเช่นนี้ คุณครูและนักเรียนจึงได้วางแผนนำเสนอเชิงบูรณาการขึ้นมา

          เปิดเรื่องขึ้นมาเป็นซาวน์ดนตรีอีสานทั้งแคน โปงลาง พร้อมภาพการอพยพลากจูงเกวียนด้านล่างบนเวทีก็เป็นนักเรียนอุ้มลูกจูงหลาน แสดงการอพยพจากเวียงจันทร์เข้มาในประเทศไทยพร้อมสนทนาภาษาถิ่น ( แสดงประวัติศาสตร์ชุมชน ) จนมาถึงชุมชนปัจจุบัน ฝ่าย ICT ก็ใช้ Google Earth แสดงผังทางเดินการอพยพ พร้อมระยะทางผ่านเมืองต่าง ๆ เมื่อมาถึงชุมชนปัจจุบัน ก็แสดงหลักฐานประวัติศาสตร์ว่าทำไมหมู่บ้านมีชื่อว่า สะพานหิน ( มีก้อนหินเป็นสะพานข้ามลำห้วย) แสดงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ( สภาพภูมิศาสตร์) มีการเลือกตั้งหัวหน้าหมู่บ้าน ( หน้าที่พลเมือง ) ประเพณีตักบาตรเทโว (ที่ต่างจากหมู่บ้านอื่น ๆ ) การทำพวงมะโหด ธงทิวต่าง ๆ ประดับตกแต่ง มีพระสงฆ์เป็นผู้นำพิธี (ศาสนา) พร้อมกลองยาวนำขบวน และการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน การส่งเสริมอาชีพในชุมชน การจักสาน การทำไม้กวาด การทอผ้ามัดหมี่ การจัดทำบัญชีครัวเรือน (เศรษฐศาสตร์) สุดท้ายนักเรียนแสดงประเพณีทำมานข้าว ( ข้าวตั้งท้อง – นำอาหารของเปรี้ยว ของหวานมาถวาย – เปรียบแม่โพสพ เป็นหญิงสาวตั้งท้องอยากกินของเปรี้ยวของหวาน เมื่อได้กินของที่นำมาถวายก็จะให้ผลผลิตที่ดี)

          เวลา ๒๐ นาทีผ่านไปย่างรวดเร็ว การเรียนรู้อย่างมีความสุขเป็นอย่างนี้เอง การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงเรื่องต่าง ๆ เข้าด้วยกันทั้งในสาระเดียวกันและต่างสาระ  ขนาดผู้ใหญ่ยังสนุก แล้วนักเรียนที่ได้เรียนจะไม่สนุกได้อย่างไร ( หลายท่านเห็นแล้วให้นำไปขยายผลเป็นวัฒนธรรมหมู่บ้านเพื่อรองรับการเที่ยวเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่อไป)

         ผู้เขียนเชื่อว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ของตนเอง ลองทำ ลองสืบค้นดูนะครับแล้วห้องเรียนบูรณาการในฝันคงไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับคุณครูทุกท่าน และประการสำคัญนักเรียนได้เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว ได้เรียนรู้อย่างมีความสุขด้วยครับ.

คำสำคัญ (Tags): #ห้องเรียนในฝัน
หมายเลขบันทึก: 506729เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2012 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท