การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนเมืองยมวิทยาคาร


โครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

 

ชื่อเรื่อง                      : การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนเมืองยมวิทยาคาร     

                                       ปีการศึกษา 2554  

ชื่อผู้ประเมิน            : นางดรุณี  ดีปินตา   รองผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองยมวิทยาคาร

 

บทคัดย่อ

 

การประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนเมืองยมวิทยาคาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 37  อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน  ปีการศึกษา 2554  โดยประยุกต์จากรูปแบบ CIPP Model ของ Danial L. Stufflebeem  ให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนเป็นการประเมินแบบ CIPPI  Model ประกอบด้วยการประเมิน   5 ด้านคือ ด้านบริบท(Context Evaluation) ด้านปัจจัยนำเข้า(Input Evaluation) ด้านกระบวนการ(Process Evaluation) ด้านผลผลิต(Product Evaluation) และ ด้านผลกระทบ(Impact Evaluation)  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้เป็นผู้บริหารและครู จำนวน 22 คน  นักเรียน จำนวน 169 คน  และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 159 คน  เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามความคิดเห็นและปลายเปิด ข้อมูลที่ได้นำมาหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ผลการประเมินพบว่า            โดยภาพรวมมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านผลการประเมินที่อยู่ในระดับมากที่สุดคือ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า และด้านผลกระทบ  ส่วนผลการประเมินที่อยู่ในระดับมาก คือ ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านมีรายละเอียด ดังนี้

               1. ด้านบริบท  พบว่ามีผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ  พบว่า  ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนมีความสำคัญและความจำเป็นมากในสภาพสังคมปัจจุบัน มีระดับความคิดเห็นสูงสุด รองลงมา คือ วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับนโยบายของโรงเรียนเมืองยมวิทยาคาร และลำดับที่สาม คือ กิจกรรมที่ดำเนินการตามโครงการฯ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้บุคลากรและผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดูแลนักเรียน และ กิจกรรมที่ดำเนินการตามโครงการฯ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้รับการดูแลช่วยเหลือและพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ  ส่วนผลการประเมินที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ การจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนเอื้อต่อการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 

2. ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่ามีผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ  พบว่า  มีสื่อและเครื่องมือในการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลร่วมกันของผู้เกี่ยวข้อง มีระดับความคิดเห็นสูงสุด  รองลงมา คือ มีการรวบรวม จัดหา ใช้ และพัฒนา สื่อ เทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องมือในการส่งเสริม ช่วยเหลือ ป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียน และลำดับที่สาม คือ ครูให้คำแนะนำช่วยเหลือผู้ร่วมงานและสร้างเครือข่ายในการปฏิบัติงาน ส่วนผลการประเมินที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ งบประมาณในการสนับสนุนมีความเพียงพอ

3. ด้านกระบวนการ พบว่ามีผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ  พบว่า  ครูที่ปรึกษาได้ทำความรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล  มีระดับความคิดเห็นสูงสุด  รองลงมา คือ ครูที่ปรึกษาชั้นทำการคัดกรองนักเรียนได้เหมาะสม และลำดับที่สาม คือ มีการประชุมผู้ปกครองเพื่อรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา  ส่วนผลการประเมินที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ครูที่ปรึกษามีการส่งต่อนักเรียนที่มีปัญหาหรือความต้องการพิเศษได้เหมาะสม

4. ด้านผลผลิต พบว่ามีผลการประเมินโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก  เมื่อพิจารณาเป็น     รายข้อ  พบว่า  นักเรียนรู้จักตนเองและควบคุมตนเอง มีระดับความคิดเห็นสูงสุด  รองลงมา คือ นักเรียนมีความรู้ ความสามารถ ความสนใจ จุดเด่น จุดด้อย พร้อมที่จะปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา และลำดับที่สาม คือ นักเรียนได้รับการส่งเสริมให้แสดงออกตามความสามารถของตนเอง  ส่วนผลการประเมินที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ นักเรียนมีจิตใจเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือผู้อื่น  อย่างสม่ำเสมอ และนักเรียนมีบุคลิกลักษณะที่ดี

5.  ด้านผลกระทบ  พบว่า  ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการดำเนินงานโครงการระบบ     การดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนเมืองยมวิทยาคาร  โดยภาพรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับ      เห็นด้วยมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายโดยเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้  ด้านการป้องกันช่วยเหลือและแก้ไข  ด้านการส่งต่อ  ด้านการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อคัดกรองนักเรียน และ ด้านการส่งเสริมและพัฒนา

หมายเลขบันทึก: 506704เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2012 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2012 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท