ประวัติศาสตร์ในรัชสมัยรกาลที่ ๕ บ่อเกิดของสัญชาติและทะเบียนราษฎร


ยังเขียนไม่จบนะครับ อดใจรอสักครู่

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระองค์ได้ทรงนำพาราชอาณาจักรสยามให้พ้นภัยจากวิกฤตการณ์แห่งการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกในยุคแห่งการล่าอาณานิคม โดยการที่พระองค์ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ในยุคนี้เองที่แนวคิดของรัฐสมัยใหม่ได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินสยาม การรวมศูนย์อำนาจการปกครองมาสู่ส่วนกลาง ยกเลิกระบบเจ้าเมืองและจัดตั้งระบบราชการสมัยใหม่ และสิ่งหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงทำและเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อพสกนิกรชาวสยาม และนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจวบจนทุกวนนี้ก็คือ เรื่องของการยกเลิกระบบศักดินา และการเลิกทาส ดังจะเห็นได้จากพระบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] ที่พระองค์ทรงดำริที่จะให้มีการยกเลิกระบบทาส เพราะว่าพระองค์ทรงต้องการที่จะปลดเปลื้องข้อผูกมัดความไม่เสมอภาคและความทุกข์ยากต่าง ๆ ของประชาชน และทรงเล็งเห็นว่าการมีทาสเป็นอุปสรรคหรือเครื่องกีดขวางความเจริญของการพัฒนาประเทศ อันนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม ดังจะเห็นในชาติตะวันตกหลาย ๆ ประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาที่เรื่องของการต่อสู้ของทาสเพื่อที่จะเป็นอิสระนั้นนำมาซึ่งความขัดแย้งและแตกแยกในสังคม

และเพื่อที่จะทำให้การเลิกทาสเป็นไปอย่างละมุนละม่อม ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชนชั้น เนื่องจากว่าการเลิกทาสในประเทศไทยต้องผ่านความยากลำบาก ต้องต่อสู้กับเสียงแสดงความไม่พอใจของเจ้านาย ข้าราชการ พ่อค้าคฤหบดีซึ่งเป็นนายเงิน อันเคยมีความสะดวกในการใช้ทาส รวมทั้งเสียงไม่พอใจของทาสบางคนผู้ไม่รู้ว่าเมื่อได้รับปลดปล่อยแล้วจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร เพราะเคยชินในการอาศัยคนอื่นกินอยู่มาตลอดหลายชั่วอายุคน[2] เช่นนี้ การเลิกทาสจึงมิได้กระทำเด็ดขาดลงไปคราวเดียว แต่ได้มีพระราชบัญญัติสลับกับประกาศพระบรมราชโองการเป็นคราว ๆ ไป[3] จนถึงได้ออกพระราชบัญญัติทาสในที่สุด

 และในรัชสมัยของพระองค์ก็ได้เริ่มมีแนวคิดของการปรับปรุงรูปแบบและระบบการบริหารประเทศเพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้มีรูปแบบการเมืองการปกครองเป็นแบบรัฐสมัยใหม่ หรือรัฐชาติ (Nation State) อันมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ ดินแดน ประชากร รัฐบาล อำนาจอธิไตย 

ซึ่งแนวคิดของรัฐสมัยใหม่นี้ได้เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว เพราะว่าพระองค์เริ่มที่จะมีการสำรวจ ปักปันเขตแดน และจัดทำแผนที่ของราชอาณาจักรสยาม[4] การมีดินแดนที่แน่นอนเป็นองค์ประกอบแรกและสำคัญที่สุดของรัฐชาติ ที่จะยืนยันความเป็นรัฐสมัยใหม่ แม้แต่ความเป็นประชากรของรัฐ การปกครอง และอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดแห่งรัฐ ก็ขึ้นอยู่กับขอบเขตพรมแดนที่สังกัดอยู่ ดังที่ยึดถือในตะวันตกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 มาจนถึงปัจจุบัน

การยึดโยงความจงรักภักดีของประชากรภายในรัฐนั้นมิได้เป็นไปเหมือนกับในสมัยอดีต ที่ประชาชนในอาณาจักรมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดิน แต่กลับการเป็นการยึดประชาชนไว้กับดินแดนของรัฐ และแนวคิดเรื่องสัญชาติจึงได้บังเกิดขึ้นมาในสมัยรัชกาลต่อ จากนั้นพระองค์ก็ได้ทรงออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนคนในราชอาณาจักรสยาม



[1] "ประเพณีทาสที่มีอยู่ในพระราชอาณาจักรสยาม ถึงเป็นวิธีทาสทำสารกรมธรรม์ ขายตัวด้วยใจสมัคร มิใช่ทาสเชลยที่เป็นการกดขี่อย่างร้ายแรงก็จริง แต่เป็นเครื่องกีดขวางทางเจริญ ประโยชน์และสุขสำราญ ของมหาชนอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งจำเป็นจะต้องเลิกถอน อย่าให้มีประเพณีทาสในพระราชอาณาจักรนี้ กรุงสยามจึงจะมีความสมบูรณ์เท่าทันประเทศอื่น"

[2] สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระพุทธศาสนากับการเลิกทาส, มปท., 2500.

[3] 1. พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ออกเมื่อจุลศักราช 1236 โสณสังวัจฉระ สาวนมาส ชุณหปักษ์ นวมีดิถีศุกรวาร (ตรงกับวันที่ 21 สิงหาคม 2417) กำหนดให้ทาส 7 ประเภท ที่เกิดตั้งแต่ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ศ. 1230 (คือปี พ.ศ. 2411 อันเป็นปีเสวยราชสมบัติ) เป็นต้นไป ให้ขึ้นค่าตัวจนถึงอายุ 8 ปี ต่อจากนั้นให้ลดลงตามระยะเดือนปีอันตราไว้ในพระราชบัญญัติ จนถึงอายุ 21 ปี หมดค่าตัวทั้งชายหญิง รวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ

2. หมายประกาศลูกทาส ทำเป็นพระบรมราชโองการ ณ วันพฤหัสบดี เดือน 10 แรม 13 ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236 (ตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม 2417) ให้สลักหลังสารกรมธรรม์ของทาสที่เกิดในปีมะโรง สัมฤทธิศก (พ.ศ. 2411) ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท โดยให้อำเภอกำนันพร้อมกันกับตัวทาส สลักหลังสารกรมธรรม์ไว้เป็นแผนก กับให้ระบุลูกทาสซึ่งติดมากับมารดาบิดาโดยชัดเจน ถ้ามีผู้ไปติดต่อที่อำเภอ ห้ามเรียกเงินค่าธรรมเนียมใด ๆ และให้รีบสลักหลังสารกรมธรรม์โดยมิชักช้า

3. ประกาศเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ทำเป็นพระบรมราชโองการ ณ วันอาทิตย์ เดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำ ปีจอ จุลศักราช 1236 (ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม 2417) เป็นการแถลงซ้อมความเข้าใจ ที่มีข่าวว่าเกิดเสียงแสดงความไม่พอใจอยู่ทั่วไป เตือนให้เห็นแก่เมตตากรุณาและความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง พร้อมทั้งชี้แจงวิธีการเลิกซึ่งค่อยเป็นค่อยไป

4. พระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124 ประกาศ ณ วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 124 (ตรงกับพ.ศ. 2448) มีข้อกำหนดให้ลูกทาสทั้งปวงได้เป็นไท มิให้มีพิกัดเกษียณอายุดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติลูกทาสลูกไท จุลศักราช 1236 (พ.ศ. 2417) อีกต่อไป บรรดาคนที่เป็นไทอยู่แล้ว หรือทาสที่หลุดพ้นค่าตัวไปแล้ว ต่อไปห้ามมิให้เป็นทาส บรรดาทาสที่มีอยู่ในเวลาออกพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ทาสที่หลบหนี ให้เจ้าเงินลดค่าตัวให้คนละ 4 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน (2448) เป็นต้นไป ถ้าทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ทำสารกรมธรรม์ขึ้นค่าตัวมากกว่าจำนวนค่าตัวในเวลานั้น

[4] เนื่องจากในสมัยอดีตการปกครองของชนชาติต่าง ๆ ในบริเวณภูมิภาคนี้เป็นแบบอาณาจักร หรือแว่นแคว้น หรือนครรัฐ ซึ่งมิได้มีการแบ่งแยกดินแดน หรือปักปันเขตแดนที่แน่นอนดังเช่นในปัจจุบันนี้ ดังนั้น อาณาเขตของอาณาจักรแต่ละอาณาจักรนั้นจะขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจ และแสนยานุภาพของพระมหากษัตริย์

 

หมายเลขบันทึก: 506575เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2012 20:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ตุลาคม 2012 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณบันทึกดีๆ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท