story telling "ความสำเร็จของศิษย์...คือพลังชีวิตของครู"


ความสำเร็จของศิษย์

story telling "ความสำเร็จของศิษย์...คือพลังชีวิตของครู"

          สวัสดีครับ สำหรับงานเขียนชิ้นที่ 2  ของผม ผมมีอาชีพรับราชการครู โดยทำงานที่โรงเรียนประจำตำบลแห่งแห่งหนึ่ง เปิดทำการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-ปลาย  ช่วงผมเดินทางมาบรรจุรับราชการใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2537 การเดินทางของผมไปโรงเรียนลำบากมาก  เนื่องจากเส้นทางห่างจากตัวอำเภอประมาณ 13 กิโลเมตร และเป็นทางลูกรังที่กำลังจะปรับสภาพถนน จึงทำให้การเดินทางลำบากมากโดยเฉพาะหน้าฝน การเดินทางของผมในช่วงนั้นจะอาศัยไปกับอาจารย์ใหญ่ เพราะท่านมีจักรยานยนต์คันเก่าๆ สามารถลุยโคลนได้  เมื่อการเดินทางลำบากมากผมก็เลยหาที่พักในบริเวณตำบลนั้น  เพราะตอนนั้นบ้านพักครูยังสร้างไม่เสร็จ 

          จากการที่ผมอาศัยอยู่ที่บ้านพักในช่วงแรกๆ  ผมทีความรู้สึกแปลกแยกจากที่นี่่มาก  ไม่ว่าจะเป็นภาษา  อาหารการกิน วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น  เนื่องจากผมมีภูมิลำเนาอยู่ที่ภาคกลางนั่นเอง  จนบางครั้งผมเริ่มท้อใจจนไม่อยากจะกลับไปทำงานในบางครั้ง

          จนสิ่งที่ทำให้ความคิดของผมเริ่มเปลี่ยนไปก็คือ  ท่านอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนนี้นั่นเอง  ท่านเรียกผมเข้าไปสอบถามด้วยความเป็นห่วงว่าอยู่ได้มั้ย  โรงเรียนที่ผมไปบรรจุเป็นโรงเรียนสาขาพึ่งเปิดใหม่มีครูเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น รวมอาจารย์ใหญ่เป็น 3 คน  ซึ่งครูที่เคยจ้างมาสอนวิทยาศาสตร์ก็ต้องเดินทางไปบรรจุพอดี  ถึงมีการเรียกบรรจุผมเข้ามา  ที่นี้ถ้าเราอยู่ไม่ได้ก็จะทำให้นักเรียนที่นี่มีปัญหาในการเรียนการสอน  เพราะพวกเขาเฝ้ารอครูใหม่มาสอนนานแล้ว และมอบหมายให้ผมดูแลนักเรียนในที่ปรึกษา ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ขณะนั้น  ซึ่งถือว่าเป็นนักเรียนในความดูแลชั้นแรกของผม  มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 25 คน ซึ่งพื้นฐานของนักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่ผู้ปกครองนักเรียนจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม  หรือไม่ก็เดินทางไปทำงานต่างจังหวัด หรือไม่ก็ต่างประเทศ เลยก็มี  จึงทำให้นักเรียนที่นี่ 98% ค่อนข้างยากจน  ผู้ปกครองบางท่านก็ไม่ส่งลูกหลานเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น  ดังนั้นทั้ง 25 คน  ต่อจากนี้ไปคือนักเรียนที่ผมจะต้องดูแลและช่วยเหลือเป็นพิเศษ นอกเหนือจากงานการเรียนการสอนตามปกติ  จนทำให้ความคิดท้อใจของผมในตอนแรกค่อยๆ หายไปทีละนิด 

          เนื่่องจากเด็กเหล่านี้รักที่ใฝ่เรียนรู้  แม้สภาวะต่างๆ รอบตัวเขาจะไม่พร้อมก็ตาม  เพราะนี่น่าจะเป็นโรงเรียนมัธยมเดียวที่เด็กในละแวกนี้ที่พอจะเข้าเรียนได้  เพราะการเดินทางเป็นอุปสรรคนั่นเอง รวมทั้งความยกาจนของผู้ปกครองที่นี่ด้วย  ในด้านการเรียนการสอนนักเรียนที่โรงเรียนนี้ช่วงนั้นทั่วไปจัดอยุ่ในกลุ่มปานกลาง  ค่อนข้างไปทางอ่อน  ผมทำการสอนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความยากอยุ่เนื้อหาวิชาอยู่แล้ว  จึงมีปัญหาค่อนข้างมากทางการเรียน  ผมจึงไม่มีเวามานั่งท้ออีกต่อไป  เพราะขนาดเด็กนักเรียนยังพยายามสู้เพื่อที่จะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น  เราซึ่งเป็นครูคงจะยอมแพ้นักเรียนไม่ได้  ดังนั้นเวลาที่ก่อนนี้ผมมัวแต่นั่งท้อ  นั่งหมดหวัง  เลยไม่มีเวลาทำแบบนั้นอีกต่อไปเพราะต้องมาเตรียมสอน หาวัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่นง่ายๆ  เพื่อให้นักเรียนได้ทดลองจนเกิดการเรียนรู้และสนุกไปกับมัน

          ช่วงแรกการเรียนการสอนของโรงเรียนเราจะลำบากหน่อย  เวลาหน้าหนาวลมก็จะพัดฝุ่นละอองเข้ามา  รอบทิศทางยิ่งกว่าภาพยนต์ 4D  หน้าฝนก็จะมีละอองฝนฉาบไปบนผิวหน้าของทั้งนักเรียนและครู  เนื่องจากอาคารเรียนชั่วคราวของเราเป็นแบบไม่มีผนัง  มีหลังคามุงจากเท่านั้น  แต่นักเรียนก็ไม่เคยขาดเรียนเลยก็ยังมาโรงเรียนโดยตลอด จนปี 2540 อาคารเรียนเริ่มสร้างเสร็จ  โรงเรียนก็ต้องพานักเรียนช่วยกันย้ายสิ่งของต่างๆ จากอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นสู่อาคารเรียนตีก 2 ชั้น  และต่อมาเปิดเพิ่มเป็นการสอนระดับ ม.ปลาย ซึ่งก็รับนักเรียนที่ปรึกษาของผมเข้าเรียนต่อ ม.ปลายทันที  นักเรียนที่ปรึกษาของผมบางคนก็เรียนต่อที่เดิม  บางคนผู้ปกครองก็พาไปทำงานต่างจังหวัด  ทำให้ในตอนนั้นเปิด ม.4 ได้ 1 ห้อง 

          ตอนนั้นนักเรียนของโรงเรียนมี 300 คน ม.ต้น 1,2,3 และ ม.4  เช่นเคยผมได้ตามเป็นที่ปรึกษาให้นักเรียนพวกเดิม  ซึ่งบางคนเรียกว่า "รุ่นเล้าไก่" ไปแล้ว  ผมรับผิดชอบให้สอนในระดับ ม.ปลายด้วย  ซึ่งโรงเรียนเลือกที่จะเปิดเรียนสายวิทย์-คณิต  ดังนั้นสิ่งที่ผมเป็นกังวลก็คือ ต้องมีวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา  ในตอนนี้เริ่มมีครูมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักเรียนก็เริ่มเยอะมากขึ้นตามไปด้วย  แต่มันคงจะหนักพอสมควรสำหรับรายวิชาในสายการเรียนวิทย์-คณิต  สำหรับเด็กประจำตำบลอย่างพวกเขา นักเรียนที่นี่ก็พยายามถูๆ ไถๆ ไปกันจนพวกเขาจบการศึกษาสำเร็จเป็น ม.6 รุ่นแรกของทางโรงเรียน  ถึงตอนนี้ก็จะทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราทะนุถนอมมาหลายปีผลผลิตจะออกสุ่โลกภายนอกจะผลิดอดออกผล  และใช้ชีวิตในสังคมได้ดีเพียงใด 

          จนสุดท้ายเด็กรุ่นนี้ก็ประสบความสำเร็จ  ซึ่งใครๆ เรียกว่า รุ่นเล้าไก่ ไปศึกษาต่อจนจบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  และกลับมาประจำอยู่โรงพยาบาลประจำอำเภอ  จนในบางครั้งผมก็ไปตรวจสุขภาพกับเขาเหมือนกัน  ซึ่งมันก็เป็นความภาคภูมิใจนะครับที่ผลผลิตของเราสามารถอยู่ในสังคมได้ และมีอาชีพสุจริต ดูแลครอบครัวของเขาต่อไป  จนบัดนี้มีลูกศิษย์หลายรุ่นที่จบออกไป บ้างก็เรียนต่อทำงานตามที่หวัง  บ้างก็ไม่เรียนต่อเนื่องจากมีปัญหาทางด้านสถานะทางครอบครัว  แต่เมื่อเขาเจอเราสิ่งแรกที่ผมได้รับคือ รอยยิ้ม  การไหว้ ทักทาย ซึ่งลึกๆ ถ้าทุกท่านที่เป็นครูได้รับความรู้สึกนั้น  จากนักเรียนที่จบออกไปหลายปี  ผมว่ามันคงเป็นความรู้สึกอิ่มเอมใจ สุขใจ  ชะโลมใจให้เรามีพลังชีวิต  เพื่อส่งศิษย์ในรุ่นต่อๆ ไป  จนกว่าจะหมดแรงกันไป  จริงมั้ยครับ ครูทุกท่าน ? 

 

หมายเลขบันทึก: 506232เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2012 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2012 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท