5อันดับ ผักยอดฮิตช่วงกินเจ เคล็ดลับปลูกง่ายๆแบบสไตล์คนเมือง


5อันดับ ผักยอดฮิตช่วงกินเจ

5อันดับ ผักยอดฮิตช่วงกินเจ
เคล็ดลับปลูกง่ายๆแบบสไตล์คนเมือง

 
สำหรับคนรักสุขภาพ ช่วงนี้เห็นทีจะไม่มีอินเทรนด์เกินไปกว่าเทศกาลกินเจ ซึ่งแน่นอนว่า “ทีมงานกระจายสุข” พร้อมจะเป็นกำลังใจแก่ทุกคนที่ต่างมุ่งมั่นความเคยชินจากการบริโภคเนื้อสัตว์ได้
ก่อนหน้านี้เราเสนอข่าวว่าด้วย “โครงการสวนผักคนเมือง” ที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่ายอาทิ มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา คณะทำงานกินเปลี่ยนโลก และชมรมเกษตรในเมือง ทำโครงการสวนผักคนเมืองขึ้น ภายใต้การสนับสนุนทุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมเสริมสุขภาพ (สสส.) 
ทั้งนี้เพื่อให้เข้ากระแสเทศกาลกินผัก เราจึงมีวิธีการปลูกผัก(แบบคนเมือง)  5ชนิดให้ไปศึกษากัน ไม่แน่ว่าแม้จะผ่านเทศกาลกินเจไปแล้วก็ตาม อาจจะมีสมาชิกใดสักครอบครัว เกิดติดอกติดใจนึกอยากจะนึกปลูกผักไว้บริโภคจริงๆ
 
1.ผักบุ้ง
ผักบุ้งจีนเป็นพืชพันธุ์เมืองร้อนชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมบริโภคกันมาก ลักษณะของผักบุ้ง รากของผักบุ้งจีนเป็นระบบรากแก้ว มีรากแขนง แตกออกทางด้านข้างของรากแก้ว และยังสามารถแตกเป็นรากฝอยออกมาจากข้อของลำต้น โดยมักจะเกิดตามข้อที่อยู่บริเวณโคน เถาลำต้น ผักบุ้งจีนเป็นไม้ล้มลุก ระยะเติบโตจะมีลำต้นตรง ใบผักบุ้งเป็นใบเดียว รูปคล้ายหอก โคนใบกว้าง เรียวเล็กไปตอนปลาย 
               การขยายพันธุ์ -ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดในการปลูก 
               ระยะเวลาปลูก -20-25 วัน ก็สามารถเก็บได้ 
               การเตรียมดินในการปลูก เนื่องจากผักบุ้งจีนเป็นพืชที่มีระบบรากตื้น และอายุการเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 20-25 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ในการเตรียมดินควรไถดะลึกประมาณ 10-15 ซม. ล้วนตากไว้ประมาณ 10-15 วัน แล้วทำการไถพรวนย่อยดินแล้วยกแปลงปลูก หลังจากทำแปลงเรียบร้อยแล้ว จึงใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ย่อยดินและปุ๋ยให้เข้ากัน หากเป็นกรดมาก ควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับความเป็นกรดของดิน 
               วิธีปลูก 
               การปลูกผักบุ้งจีนนิยมปลูกแบบหว่าน หรือบางครั้งอาจใช้โรยเมล็ดเป็นแถว เนื่องจากเมล็ดผักบุ้งจีนมีเปลือกที่หนาและแข็ง ทำให้งอกค่อนข้างยาก ควรใช้วิธีกระตุ้นเมล็ดก่อน โดยใช้น้ำอุ่นเป็นตัวกระตุ้น นำเมล็ดผักบุ้งแช่น้ำอุ่นไว้ประมาณ 4-5 ชั่วโมง แล้วจึงนำไปปลูก 
               การดูแลรักษา 
               การให้น้ำ  ผักบุ้งจีนเป็นพืชที่ชอบดินปลูกที่ชุ่มชื้น แม่ไม่แฉะจนมีน้ำขัง ควรรดน้ำผักบุ้งจีนทุก ๆ วัน วันละ 1-2 ครั้ง 
               การใส่ปุ๋ย ถ้าดินปลูกมีความอุดมสมบูรณ์หรือมีการใส่ปุ๋ยอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีแต่ถ้าดินไม่ค่อยสมบูรณ์ควรมีการใส่ปุ๋ยคอก ในการใส่ปุ๋ยเคมีนั้นจะมีวิธีการละลายน้ำรด 3-5 วัน/ครั้ง โดยใช้อัตราส่วน ปุ๋ยยูเรีย 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร จะเป็นการช่วยให้ผักบุ้งจีนเจริญเติบโตดี 
              การเก็บเกี่ยว 
         หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีนลงแปลงปลูกได้ 20-25 วัน ผักบุ้งจีนจะเจริญเติบโตมีความสูงประมาณ 30-35 ซม.ให้ถอนต้นผักบุ้งจีนออกจากแปลงปลูกทั้งต้นและราก หลังจากนั้นล้างรากให้สะอาดนำมาผึ่งไว้ 
 
2.ผักคะน้า
ผักคะน้า มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชียและปลูกกันมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย คะน้าเป็นผักที่นิยมปลูกและบริโภคกันมา โดยปลูกเพื่อบริโภคส่วนของใบและลำต้น อายุตั้งแต่หว่านหรือหยอดเมล็ดจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 45-55 วัน ผักคะน้าเป็นผักสวนครัวที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลาที่ปลูกได้ผลดี ที่สุดอยู่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเมษายน 
การเพาะกล้า
          1. การเตรียมแปลงเพาะ แปลงเพาะกล้าควรมีขนาดกว้าง 1 เมตร ส่วนความยาวตามความเหมาะสม
          2. การเตรียมดินบนแปลงเพาะกล้า ควรขุดไถพรวนดินอย่างดี ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน ย่อยหน้าดิน ให้ละเอียด แล้วใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วให้มาก คลุกเคล้าให้เข้ากับดินให้ทั่ว
          3. การเพาะ หว่านเมล็ดให้กระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง กลบเมล็ดด้วยดินหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้วให้หนาประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งบางๆ รดน้ำให้ชุ่มด้วยบัวรดน้ำ
          4. การดูแลต้นกล้า ต้นกล้าจะงอกภายใน 7 วัน ควรดูแลต้นกล้า ถอนต้นที่อ่อนแอ ไม่แข็งแรง หรือเบียดกันแน่นทิ้งไป ผสมสารละลายสตาร์ทเตอร์โวลูชั่นในน้ำแล้วนำไปรด เพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรงสมบูรณ์ ดูแลป้องกันโรคแมลงที่เกิดขึ้น เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 25-30 วัน จึงทำการย้ายไปปลูกในแปลงปลูกต่อไป
วิธีการปลูก
          การปลูกคะน้านิยมปลูก 2 แบบ คือ 
         1. แบบหว่านกระจายทั่วแปลง เหมาะสำหรับแปลงปลูกขนาดใหญ่ ทำเป็นการค้า 
         2. แบบแถวเดียว เหมาะสำหรับแปลงปลูกขนาดเล็กหรือผักสวนครัว เตรียมดินโดยการใช้แรงงานคนให้น้ำโดยใช้บัวรดน้ำ
          ระยะปลูก ควรให้มีระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถวประมาณ 20 X 20 เซนติเมตร
          การเตรียมแปลงปลูก มีวิธีการดังนี้
          1. ขุดดินให้ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร 2. ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน 3. นำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วมาใส่ คลุกเคล้าให้เข้ากับดินเป็นการปรับปรุงสภาพทางกายภาพและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน 4. พรวนย่อยหน้าดินให้มีขนาดเล็ก โดยเฉพาะการปลูกแบบหว่านลงในแปลง เพื่อไม่ให้เมล็ดตกลงไปในดิน เพราะจะไม่งอกหรืองอกยากมาก 5. ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับปรุงดินให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม
 
         ในการปลูกคะน้านิยมหว่านเมล็ดลงบนแปลงปลูกโดยตรงมากกว่าย้ายกล้า โดยมีขั้นตอนดังนี้
          1. หว่านเมล็ดให้กระจายทั่วทั้งผิวแปลงโดยให้เมล็ดห่างกันประมาณ 2-3 เซนติเมตร 2. ใช้ดินผสมหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้วหว่านกลบเมล็ดให้หนาประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร เพื่อเก็บรักษาความชื้นและป้องกันเมล็ดถูกน้ำกระแทกกระจาย 3.คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งบางๆ 4.รดน้ำให้ทั่วถึงและสม่ำเสมอ ต้นกล้าจะงอกภายใน 7 วัน 
5. หลังจากต้นคะน้างอกแล้วประมาณ 20 วัน หรือต้นสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ให้เริ่มถอนแยก โดยเลือกต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก ทิ้งระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 10 เซนติเมตร ต้นอ่อนของคะน้าที่ถอนแยกออกมาในวัยนี้เมื่อเด็ดรากออกแล้วส่งขายตลาดเป็นยอดผักได้ 
6.เมื่อคะน้ามีอายุประมาณ 30 วัน ให้ถอนแยกครั้งที่ 2 ให้เหลือระยะห่างระหว่างต้น 20 เซนติเมตรต้นอ่อนของคะน้าที่ถอนแยกออกมาในวัยนี้เมื่อเด็ดรากออก แล้วส่งขายตลาดเป็นยอดผักได้ 7. ในการถอนแยกคะน้าแต่ละครั้งควรกำจัดวัชพืชไปด้วย
การให้น้ำ
         1. คะน้าต้องการน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ เนื่องจากมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นควรปลูกในแหล่งที่มีน้ำอย่างเพียงพอ   2.การให้น้ำให้ใช้ฝักบัวฝอยรดให้ทั่วและให้ชุ่ม ในเวลาเช้าและเย็น
การใส่ปุ๋ย
          คะน้าต้องการปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง อาจใส่ปุ๋ยสูตร 12-8-8 หรือ 20-11-11 ในอัตราประมาณ 100 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและปริมาณปุ๋ยคอกที่ใช้โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ หลังจากถอนแยกครั้งแรกและหลังจากถอนแยกครั้งที่ 2
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
          อายุการเก็บเกี่ยวของคะน้าอยู่ที่ประมาณ 45-55 วันหลังปลูก คะน้าที่ตลาดต้องการมากที่สุดคือ คะน้าที่มีอายุ 45 วัน แต่คะน้าที่มีอายุ 50-55 วัน เป็นระยะที่เก็บเกี่ยวได้น้ำหนักมากกว่า วิธีการเก็บเกี่ยวคะน้าทำได้ดังนี้
          1. ใช้มีดคมๆ ตัดให้ชิดโคนต้น
          2. ตัดไล่เป็นหน้ากระดานไปตลอดทั้งแปลง 
         3. หลังตัดแล้วบางแห่งมัดด้วยเชือกกล้วยมัดละ 5 กิโลกรัม บางแห่งก็บรรจุเข่ง แล้วแต่ความสะดวกในการขนส่ง
 
 
3.  ผักกาดขาว 
ผักกาดขาวมีอยู่หลายชนิด เช่น ผักกาดขาวปลี ผักกาดขาวใหญ่ ผักกาดขาวธรรมดา ผักกาดขาวเป็นผักอายุปีเดียว ปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิ 15-22 องศาเซลเซียส คือ ในช่วงตุลาคม-กุมภาพันธ์ ขึ้นได้ดีในดินแถบทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี ต้องการน้ำและแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ 
การเตรียมดิน 
ขุดดินลึก 30 ซม. หรือ 1 หน้าจอบ พลิกหน้าดินตากแดดไว้ 7 วัน จากนั้นย่อยดินให้ละเอียด ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2 กก.ต่อ 1 ตารางเมตร คลุกเคล้าดินให้เข้ากัน ทำแปลงกว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร รดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ 3 วัน 
การปลูก 
การปลูกผักกาดขาวสามารถทำได้ 2 วิธี คือ แบบเพาะกล้าแล้วย้ายปลูก ซึ่งเหมาะกับผักกาดขาวปลี ซึ่งเมล็ดพันธุ์มีราคาแพง กับแบบหว่านลงแปลง ซึ่งใช้กับผักกาดขาวใหญ่และผักกาดขาวธรรมดา ซึ่งเมล็ดพันธุ์มีราคาถูก 
1.  แบบเพาะกล้า หว่านเมล็ดพันธุ์ลงในแปลงเพาะกล้า แล้วโรยทับด้วยดิน คลุกปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกหนา 1 ซม. คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่ม แล้วรดน้ำเช้าเย็น เมื่อต้นกล้าอายุได้ 15-20 วัน ก็ย้ายไปปลูกในแปลงปลูกที่เตรียมดินดีแล้วให้มีระยะห่าง 30-35 ซม. ควรย้ายกล้าในตอนเย็น 
2.  วิธีหว่านลงแปลงปลูก ใช้เมล็ดพันธุ์หว่านลงในแปลง แล้วโรยทับด้วยปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกหนา 1 ซม. คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่ม แล้วรดน้ำเช้าเย็น พอกกล้าอายุได้ 15-20 วัน ให้ถอนแยกให้แต่ละต้นห่างกัน 30-35 ซม. 
การดูแล 
รดน้ำวันละ 2 ครั้ง อย่าให้ขาดน้ำ ผักกาดขาวควรได้รับแสงแดดตลอดวัน ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก หลังการถอนแยกและทุก 10 วัน จนถึงอายุเก็บเกี่ยว
การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช 
ถ้ามีหนอนหรือเพลี้ยมารบกวนให้ใช้ใบสะเดาหรือเมล็ดสะเดาบด 1 กก. ข่าแก่ 1 กก. ตะไคร้หอม 1 กก. สับปนกัน แล้วตำให้ละเอียด แช่น้ำ 20 ลิตร หมักไว้ 1 คืน กรองเอาน้ำยาผสมน้ำ 1:20 ฉีดพ่นช่วงเย็นทุก ๆ 3 วัน ควรจะผสมสบู่ 10 กรัมลงไปด้วย เพื่อช่วยให้น้ำยาจับใบ
 
4.ถั่วงอก
ถั่วงอกดูเหมือนจะเป็นผักที่พวกเรารู้จักกันดี ซ้ำเกือบทุกคนน่าจะเคยลองเพาะปลูกสมัยเป็นเด็กนักเรียนแทบทั้งนั้น ดังนั้นไม่ขอพูดมากมาทบทวนความจำเลยดีกว่า
เริ่มแรก ให้เตรียมหม้อ 1ใบ ยิ่งสีดำยิ่งดี เตรียม กระดาษทิชชู่แผ่นใหญ่ๆ ผ้าขนหมูขนาดคลุมพอดีกับหม้อ ยิ่งสีดำยิ่งดี 
2.เอาถั่วเขียว. มาแช่น้ำทิ้งไว้1คืน หรืออาจจะมากกว่านั้น ให้สังเกตดู ถ้าเปลือกเริ่มร่อนๆออกมา ก็ลงมือปลูกได้เลยนะคะ  3.เอากระดาษทิชชู่ ปูลงไปในหม้อ สัก2ชั้น แล้วราดน้ำลงไปพอให้กระดาษชุ่มน้ำ 
4.เอาถั่วเขียว ที่แช่น้ำไว้แล้วอย่างน้อย1คืน เปลือกถั่วเขียวจะร่อนออกมาหน่อยๆ โรยให้ทั่วกระดาษ อย่าให้ติดกัน 5.เอาผ้าขนหนูผืนพอๆกับหม้อชุบน้ำให้ชุ่มๆ คลุมลงไปบนถั่วเขียวที่โรยไว้ อีกที 6.เอาน้ำราดบนผ้าขนหนูอีกหน่อยพอให้มันชุ่มๆ 
7.ปิดฝาหม้อ วางไว้ในมุมมืดๆ ข้อนี้สำคัญมากๆ เพราะถ้าถั่วเขียวโดนแสงสว่าง หัวมันจะเป็นสีม่วงๆแดงๆ 
8.หลังจาก 24 ชม.ไปแล้ว ให้เอาน้ำอุณภูมิประมาณ 26 องศา เท่ากับตอนแรกที่ราดลงไป เปิดฝาหม้อ แล้วราดน้ำลงไปบนผ้าขนหนูพอให้ชุ่มแล้วปิดฝา แล้วมาอีกวัน ก็ทำเหมือนเดิม ทำอย่างนี้ ประมาณ 3 ถึง 4 วัน 
ข้อควรจำ
เวลาถั่วงอกสูงได้ที่แล้ว ขณะที่ล้างถั่วงอก ให้ระวัง ถั่วเมล็ดที่ไม่งอก จะหล่นลงไปที่ ท่อระบายน้ำ เพราะ ถั่วที่ไม่งอกนี้ มันสามารถโตในท่อระบายน้ำได้ ที่บ้านเคยเจอมาแล้ว เพราะช่วงนั้นปลูกเยอะมากๆ ผลปรากฏว่าท่อตัน ต้องจ้างช่างมาล้วงท่ออีกที
 
5.เห็ดหอม
เห็ดหอม เป็นเห็ดที่รู้จักและนิยมบริโภคกันมานานนับศตวรรษในหมู่ชาวจีนและญี่ปุ่น ทั้งนี้นอกจากมีรสชาติดีและกลิ่นหอมแล้ว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีคุณสมบัติทางยาอีกด้วย ถือเป็น ยาอายุวัฒนะขนานหนึ่ง จากการศึกษาค้นคว้าระหว่างสถาบันมะเร็งแห่งชาติของญี่ปุ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยในรัฐเซาท์แคโรไลนาของสหรัฐอเมริกา พบว่าเห็ดหอมมีสารพิเศษที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์หลายชนิด เช่น สารเลนติแนน (lentinan) สารอีรีทาดีนิน (eritadenin) และสารเอซี-ทูพี (AC-2P) ทำให้เห็ดหอมมีประสิทธิภาพในการต่อต้านมะเร็ง ลดไขมันในเส้นเลือดและต่อต้านเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไข้หวัด จึงทำให้ผู้บริโภคหันมารับประทานเห็ดหอมกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น
เนื่อง จากเห็ดหอมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจะออกดอกเฉพาะฤดูกาลและมีปริมาณไม่ เพียงพอกับความต้องการ จึงได้มีการศึกษาค้นคว้า หาวิธีการเพาะมาแต่โบราณ และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีกรรมวิธีการเพาะที่ง่าย ไม่สลับซับซ้อน และสามารถเพาะได้ตลอดทั้งปีคือเพาะบนท่อนไม้และเพาะในขี้เลื่อย
วิธี การจะเพาะบนท่อนไม้ ไม้ที่ใช้เพาะเห็ดหอมมีหลายชนิดทั้งไม้เนื้อแข็งและไม้เนื้ออ่อน ไม้ที่ให้ผลผลิตสูง ได้แก่ ไม้ในสกุลก่อ โอ๊ค ขั้นตอน การเพาะแบ่งออกได้ดังนี้
1.การเตรียมไม้ ตัดไม้เป็นท่อน ๆ ยาวประมาณท่อนละ 100 ซม. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ตั้งแต่ 5 ซม. ขึ้นไป ระวังอย่าให้เปลือกไม้ช้ำ ฉีก แตก หรือล่อน ถ้าไม้นั้นชุ่มน้ำก็ให้พักไม้ไว้ 15-30 วัน จึงจะใส่เชื้อ
2.การใส่ เชื้อ เจาะรูที่ท่อนไม้ด้วยตุ๊ดตู่หรือสว่านไฟฟ้าเป็นแถวตามความยาวของท่อนไม้ แต่ ละรูและแถวห่างกันประมาณ 7 ซม. ขนาดรูกว้าง ประมาณ 1 ซม. ลึก 2.5 ซม. นำเชื้อซึ่งทำจาก ขี้เลื่อยมาทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ขนาดใกล้เคียงกับรู ที่เจาะไว้ ใส่เชื้อเกือบเต็มรู แล้วปิดด้วยฝาเปลือกไม้ (ที่เจาะด้วยตุ๊ดตู่ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย) และตอกให้แน่นแนบสนิทกับเปลือกท่อนไม้ เมื่อใส่ เชื้อทั่วทุกรูแล้วนำท่อนไม้ไปกองไว้ใต้ร่มไม้หรือใน โรงเรือน
3.การ ดูแลรักษา ขณะกองพักไม้ไว้เพื่อให้เชื้อเจริญเติบโตทั่วท่อนไม้ ต้องหมั่นดูแลรักษาความชื้นในเนื้อไม้ไม่ให้แห้งด้วยการรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ และดูแลเรื่องความสะอาด ระวังอย่าให้ปลวกหรือ แมลงทำลายท่อนไม้ และควรกลับกองไม้ประมาณเดือนละครั้ง โดยสลับเอาท่อนไม้ด้านบนลงไว้ ด้านล่าง ทั้งนี้เพื่อให้ท่อนไม้ได้รับความชื้นใกล้เคียงกัน และเป็นการช่วยกระตุ้นให้เชื้อเห็ดเจริญเต็มทั่วทั้งท่อน
4.การออกดอก เมื่อเชื้อเจริญเติบโตทั่วท่อนไม้ ใช้เวลา 3-6 เดือน เชื้อเห็ดก็จะเริ่มสร้างตุ่มดอกและออกดอกเป็นช่วง ๆ ตามความพอเหมาะของอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ เพื่อให้มีผล ผลิตเห็ดออกตลอดทั้งปี จึงได้มีการคิดค้นวิธีบังคับให้เห็ดออกดอกได้ตามความต้องการ ด้วยการกระตุ้นหรือเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เช่น การสั่นสะเทือน การทำให้เย็น และการเพิ่มความชื้นภาย ในท่อนไม้ให้มีมากกว่าปกติ ก็จะทำให้เชื้อเห็ดสร้างดอกได้
5.วิธีการเพาะเห็ดหอมในขี้เลื่อย มีวิธีการเพาะที่คล้ายคลึงกับการเพาะเห็ดชนิดอื่น ๆ โดยใช้ ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน เช่น ยางพารา เหียง ตึง และจามจุรี (ก้ามปู) เป็นต้น เพิ่มอาหารเสริม เช่น รำข้าว ข้าวฟ่าง น้ำตาล และดีเกลือ โดยมีขั้นตอนแบบการเพาะเห็ดถุงทั่วไป
6.การเตรียมขี้เลื่อยและบรรจุ ถุง ใช้ขี้เลื่อยผสมกับอาหารเสริมและน้ำ คลุกเคล้าให้เข้ากันดี ความชื้นประมาณ 65% บรรจุส่วนผสมใส่ถุงพลาสติก ทนร้อน แล้วอบฆ่าเชื้อ
7.การ ใส่เชื้อ ใช้เชื้อเห็ดที่เลี้ยงในเมล็ด ข้าวฟ่างหรือขี้เลื่อยใส่ลงไปในถุงขี้เลื่อยที่อบฆ่าเชื้อซึ่งเย็นแล้ว จากนั้นนำไปวางเรียงบนชั้นในโรงเรือน เพื่อให้เชื้อทวีการเจริญเติบโตจนทั่วถุง 8.การดูแล หมั่นดูแลโรงเรือนให้สะอาด และรักษาอุณหภูมิในโรงเรือนอย่าให้สูงเกินไป ไม่ ต้องรดน้ำถุงขี้เลื่อย
 
“กระจายสุข” หวังว่าเทศกาลกินเจหนนี้จะสร้างนักกิน (ปลูก) ผักตัวยงเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย
 
*หมายเหตุ อ้างอิงจากเว็ปไซต์
http://www.maceducation.com/e-knowledge/2345105100/02.htm
http://www.thaikasetsart.com
และขอขอบคุณรูปภาพจาก  http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=japatee
 
หมายเลขบันทึก: 506111เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2012 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2012 09:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ

แวะมาเก็บผักกลับไปทานด้วยคนครับ

วันนี้ก็ได้ทานเจเป็นครั้งแรกเลย

แต่เมื่อมีครั้งแรกก็ต้องมีครั้งต่อไปแน่นอนครับ

ขอบคุณการปลูกผักที่เป็นประโยชน์อย่างนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท