ยิ่งไม่เต็มบาตร ยิ่งเบา ยิ่งไม่เต็มบาท ยิ่งหนัก


สำหรับบรรพชิตแล้วขอให้ท่องคำนี้ให้ขึ้นใจ “ยิ่งไม่เต็มบาตร ยิ่งเบา” ส่วนฆราวาสผู้ครองเรือน คำนี้เลย “ยิ่งไม่เต็มบาท ยิ่งหนัก”

หัวข้อธรรมวันนี้ฟังดูออกจะไปทางเซน คืออ่านแล้วต้องตีความชนิดตีลังกาคิด และต้องตีอีกหลายตลบกว่าจะเข้าใจ ดูคำที่ใช้ก็ออกจะกวน ๆ นิด ๆ ผู้เขียนเองก็เกิดอาการถึงขั้นหนักใจว่า จะสื่อยังไงให้ผู้อ่านเข้าใจตามที่เราคิด มันยากนะ แอบบอกกับตัวเองอย่างนั้น แต่เอาเถอะไหน ๆ ก็อยากจะขีด ๆ เขียน ๆ อยู่แล้ว ลองดูสักตั้ง ปราชญ์ยังบอกเลยว่า “ความเพียรที่บริสุทธิ์ มักก่อให้เกิดปาฏิหาริย์” ไม่เชื่ออย่าลบหลู่!

ก่อนอื่นผู้เขียนขอทำตัวเป็นครูภาษาไทยกับเขาสักหน่อย เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตรงกันกับผู้เขียน ดูจากชื่อเรื่องจะเห็นว่า มีคำที่พ้องเสียงแต่ไม่พ้องรูปอยู่สองคำ คือ คำว่า “บาตร” และ “บาท” ออกเสียงเหมือนกันคืออ่านว่า “บาด” แต่เขียนไม่เหมือนกัน และแน่นอนว่าความหมายต้องต่างกันชนิดต้องสวม converse ไปคนละทางเลยทีเดียว อย่างแรกหมายถึง ภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับภิกษุสามเณรใช้รับอาหารบิณฑบาต อย่างหลังหมายถึง มาตราเงินตามวิธีประเพณี,  ๑๐๐ สตางค์ หรือ ๔ สลึง เท่ากับ ๑ บาท

ขอให้สังเกตเพิ่มเติมอีกนิด กับคำว่า บิณฑบาต คำ ๆ นี้จะพบในประโยคธรรมดาว่า “พระท่านอุ้มบาตรออกไปบิณฑบาตบาตร ตัวแรกหมายถึง ภาชนะ ส่วน บาต ตัวหลังหมายถึง การตก ในขณะที่คำว่า “บิณฑ-” หมายถึง ก้อนข้าวหรืออาหาร ดังนั้น บิณฑบาต จึงหมายถึง ก้อนข้าวหรืออาหารที่ตกลงไป(ในบาตร) ลองนึกถึงคำว่า อุกกาบาต ก็จะเห็นภาพชัดว่า หมายถึง ก้อนไฟที่ตกลงมา (จากฟากฟ้า) หรือ อสนีบาต ที่แปลว่า การตกแห่งสายฟ้า หรือ ฟ้าผ่า

หรือการที่เราจะสื่อด้วยประโยคว่า “พรุ่งนี้เป็นวันเกิดของฉัน ฉันจะตักบาตร ไม่รู้ว่าพระท่านจะมาบิณฑบาตกี่รูป” ถามว่า ประโยคนี้ถูกต้องไหม คุณปัญญา นิรันดร์กุล จากรายการเกมทศกัณฐ์ ก็จะบอกทันทีว่า “ถูกต้องแล้วคร้าบ” 

อีกคำที่เข้าใจสับสนและบางทีก็เข้าใจผิด คือคำว่า ตักบาตร ตักอะไร ตักยังไง งง ? ที่ถูกหมายถึง การใช้ทัพพีตักข้าวจากขันเราใส่ลงไปในบาตรพระ ไม่ใช่ตักของออกจากบาตรพระมาใส่ขันเรา ขืนทำอย่างนั้น พระก็จะบอยคอทคว่ำบาตรละซิ คราวนี้เราจะตักของใส่บาตรท่านได้ยังไง  โปรดใช้วิจารณญาณ

เอาละ หลังจากผิด ๆ ถูก ๆ กันมานานนับศตวรรษแล้ว แต่นี้ไป ขอให้ชาวไทยทุกท่านเขียนกันให้ถูกว่า “เวลาพระท่านไปบิณฑบาตท่านจะเอาบาตรไปด้วย” เมื่อเข้าใจตรงกันเป็นการเบื้องต้นฉะนี้แล้ว การอ่านก็จะราบรื่นดีนักแล    

ทีนี้มาถึงสาระสำคัญของเรื่องนี้ว่า ทำไมต้องตั้งชื่ออย่างนี้ อะไรคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของการตั้งชื่อเรื่อง ประการแรกเลยก็คือเหตุผลด้านประสบการณ์การบิณฑบาต บนสายการบิณฑ์ที่ไปอยู่เป็นประจำทุกเช้า ซึ่งผู้เขียนและเณรน้อยได้ร่วมกันสังเกตและเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติอย่างไม่เป็นทางการและพบว่า ปริมาณคนถูกหวยมากหรือน้อยหลังวันหวยออก ๑ วัน จะมีความสัมพันธ์กับปริมาณคนตักบาตร วันไหนมีคนถูกหวยมาก ก็จะมีคนออกมาตักบาตรชุกหนาแน่น กระจายในหลายพื้นที่ ส่งผลให้พระสงฆ์ตอนบนของภาคหนักถึงหนักมาก ยิ่งหากปริมาณคนเล่นหวยและถูกหวยแผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่บริเวณเป็นวงกว้าง พระสงฆ์ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังการล้นบาตรฉับพลันและข้าวปลาอาหารที่ไหลหลาก และกระแสแห่งศรัทธาที่กระโชกแรงในบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณตลาดสด จะทำให้พระหนักยิ่งขึ้น ถ้าวันไหนคนตักบาตรน้อย นั่นคือ ดัชนีชี้วัดว่า คนเล่นหวยถูกอีกแล้ว คือ ถูกกิน !  ซึ่งจะส่งผลให้พระ ไม่เต็มบาตรได้เช่นกัน

และจากการ ไม่เต็มบาตร นี่แหล่ะ      ทำให้ผู้เขียนพบสัจธรรมบางข้อที่เกี่ยวเนื่องกับการมักน้อยสันโดษในการเสพใช้บริโภควัตถุปัจจัยสิ่งของ ที่พระพุทธองค์เน้นหนักหนาให้พระสงฆ์นำพาปฏิบัติให้มาก ยิ่งพระเกี่ยวข้องหรือได้มาซึ่งวัตถุน้อยเพียงใด ภาระในการดูแลรักษาจัดการวัตถุภายนอกก็น้อยเพียงนั้น เมื่อไม่มีภาระต้องแบกมาก ความ เบา ก็จะบังเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว วันไหนที่เต็มบาตรหรือล้นบาตรจะรู้สึกหนักทางกายภาพทันที แล้วมีผลต่อสภาพจิตใจอย่างมิต้องสงสัย สรุปว่า พระไม่เต็มบาตรนั่นแหล่ะดีที่หนึ่งเลย  นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงใช้คำว่า ยิ่งไม่เต็มบาตร ยิ่งเบา

ทีนี้ เหลืออีกคำหนึ่ง คือ ยิ่งไม่เต็มบาท ยิ่งหนัก  หมายถึงสิ่งใด มันคือข้อสงสัยของท่านผู้อ่านที่ดำเนินมาตั้งแต่ต้น ก็ดังที่บอก บาตร และ บาท นั้น มันพ้องเสียงแต่ไม่พ้องรูป ความหมายตรง ๆ ก็ต่างกัน แต่ถ้าจะดูในระดับตีความเข้าช่วย ก็จะดูคล้ายกันอยู่ประเด็นหนึ่งคือ ประเด็นของเศรษฐกิจเพื่อปากท้อง ในขณะที่ บาตร เป็นเรื่องปากท้องของพระสงฆ์ บาท ก็เป็นเรื่องปากท้องของชาวบ้าน  

สำหรับ บาท ในที่นี้ พูดชัด ๆ ก็คือ เงินที่เป็นตัวกลางสมมติแลกเปลี่ยนสินค้าบริโภคในยุคปัจจุบัน เงิน เป็นของเทียม ไม่ใช่ของแท้ ในขณะที่ข้าวเป็นของแท้ เวลาเราหิวเราไม่อาจกินเงินให้หายหิวได้ แต่ข้าวกินแล้วอิ่มเลย จึงว่าข้าวเป็นของแท้ ต้องเอาของเทียมคือเงินไปซื้อของแท้ ความหิวถึงจะหายไป

ในยุคดึกดำบรรพ ยุคที่สกุลเงินตราไม่ถูกตั้งสมมติขึ้นมา การแลกเปลี่ยนจะใช้ระบบของแท้ต่อของแท้ คือเอาลูกฟักทองไปแลกข้าวมากินได้ เอาไก่ไปแลกเป็ด เอาเห็ดไปแลกผัก แต่ปัจจุบันสังคมไม่ยอมรับการกระทำเช่นนั้นแล้ว เราก็เลยเอาของเทียมไปแลกของแท้ คือเอาเงินไปแลกหรือซื้อข้าว คนเราทุกวันนี้จึงวุ่นอยู่กับสิ่งเทียม ๆ แม้แต่ดาวบนท้องฟ้ายังถูกมนุษย์ละเมิดสิทธิ์และยัดเยียดให้เป็นดาวเทียม   รู้สึกสงสารดาวเหลือกิน 

อย่างไรก็ตาม มีความจริงอยู่อย่างหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ คือ ความเปลี่ยนแปลง ยิ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์มีส่วนกำหนดขึ้นมายิ่งน่ากลัว  คือเราไม่อาจยืนหยุดอยู่กับที่ในขณะที่โลกก้าวไป การเรียนรู้และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์จึงกลายเป็นพันธะกิจของมวลมนุษยชาติในทุกประวัติศาสตร์ของทุกสังคมในโลก

เมื่อสังคมส่วนใหญ่ไม่รับของแท้แลกกับของแท้ เราก็จำเป็นต้องหมุนตามโลก เอาของเทียมไปแลกกับของแท้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อหลีกไม่ได้เราก็ต้องชน และการชนอย่างมียุทธศาสตร์นำและยุทธวิธีตามนั้น จะส่งผลให้การดำเนินชีวิตมีประสิทธิภาพ ฆราวาสต้องสู้กับทุกอย่างรอบด้านเพื่อให้เต็ม บาท คือ เพื่อให้ชีวิตมั่งคั่งพรั่งพร้อมด้วยวัตถุที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ชีวิตทั้งระบบมันเดินของมันต่อไปได้ ถ้าชีวิตฆราวาสขาด ๆ เกิน ๆ เรื่องเงินเรื่องทอง ก็เท่ากับชีวิตไม่เต็มร้อย ไม่เต็มร้อยก็เท่ากับไม่ เต็มบาท แล้วนึกภาพดูว่า ชีวิตมันจะหนักสาหัสสากรรจ์แค่ไหน จึงเป็นที่มาของคำว่า “ยิ่งไม่เต็มบาท ยิ่งหนัก   

ยุทธศาสตร์เพื่อการเต็มบาท ก็คือต้องตอบโจทย์ต่อไปนี้ให้ได้ก่อน ๑) สถานะและสุขภาพการเงินของเราดีไหม  ๒) เราได้ใช้หรือได้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่เรามีอยู่ไหม ๓) เรามีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินหรือไม่ และ ๔) งานการที่เราทำอยู่หมิ่นเหม่ต่อจารีตและศีลธรรมอันดีงามหรือไม่  เหล่านี้คือนัยะสำคัญแห่งหลัก คิหิสุข (สุขของฆราวาส) ที่พระพุทธองค์ประทานให้ไว้นานมาแล้ว  เราสามารถกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์เป็นธงของชีวิตแบบทางโลกได้เลย

จากนั้น ก็ตามด้วยยุทธวิธี เพื่อให้ได้ผลตามกรอบของยุทธศาสตร์  นี่เลย เอาไปเลย หัวใจอันประเสริฐ หัวใจอันวิเศษ หัวใจที่เรารู้จักมักคุ้นมานาน คือ หัวใจเศรษฐี   “อุ อา กะ สะ “  ทั้งหมดคือตัวย่อที่มาจากความหมายเต็มที่ท่านเจ้าคุณพยอม แห่งวัดสวนแก้ว นนทบุรี ถอดความมาว่าขยันหา ขยันเก็บ เลือกคบ เลือกใช้ - ๔ คำจำไว้ รวยได้รวยดี ท่านเรียกรวมว่า “จตุคำ” ผ่านขนมคุกกี้ ๔ ชิ้น โดยแต่ละชิ้นนั้น จะจารึกด้วยคำ ๔ คำนี้ ท่านมุ่งหวังจะให้ “จตุคำ” เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านคนทุกคนจากทุกครัวเรือน ท่านอุตส่าห์เข็น จตุคำ ออกมาสู้กับ จตุคาม อันลือลั่น แต่ปรากฏว่ากระแสจตุคามติดเทอร์โบแรงกว่า แซงไม่ไหว เลยชิดซ้าย ความยากจนก็เลย “คุกคาม” สังคมไทยต่อไปดังเดิม  

ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ถ้าเราไม่กำหนดยุทธศาสตร์หรือปักธงความผาสุกเอาไว้และไม่นำยุทธวิธีออกใช้แล้ว ไฉนชีวิตจึงจะเต็มร้อยและเต็มบาทสมปรารถนาได้

หลวงพ่อพุทธทาสวางหลักคิดสำหรับฆราวาสไว้ว่า เรื่องทรัพย์สินเงินทองหาได้เท่าไรก็หาไป ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดีหากมันถูกต้องชอบธรรม แต่เมื่อได้มาแล้วบริโภคแต่พอดี จากนั้นก็ทำประโยชน์แก่สังคม ให้ชีวิตอุดมไปด้วย จิตสาธารณะ สังคมจะร่มเย็นเป็นสุขและชีวิตก็จะงดงาม คำว่า เศรษฐี ที่มีความหมายว่า ดีเลิศ ประเสริฐยิ่ง ก็จะกลายเป็นสมญานามแห่งชีวิตเราไปได้โดยง่ายดาย

สำหรับบรรพชิตแล้วขอให้ท่องคำนี้ให้ขึ้นใจ “ยิ่งไม่เต็มบาตร ยิ่งเบา” ส่วนฆราวาสผู้ครองเรือน คำนี้เลย “ยิ่งไม่เต็มบาท ยิ่งหนัก

ฉะนี้แล้ว จึงเอวัง 

หมายเลขบันทึก: 505290เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2012 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2012 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท