พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

สรุปบันทึก ความจำเป็นในการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเพื่อพัฒนาการใหม่ของอาเซียน ASEAN (ตอนที่ 1)


สรุปบันทึก ความจำเป็นในการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเพื่อพัฒนาการใหม่ของอาเซียน ASEAN : บันทึกจากการถอดความ และสรุปความจากฟังสัมมนาวิชาการประจำปีครั้งที่ 5 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2555

สรุปบันทึกการสัมมนาวิชาการ ประจำปีครั้งที่ 5 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่อง ความจำเป็นในการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเพื่อพัฒนาการใหม่ของอาเซียน ASEAN

นำเสนอโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

วิจารณ์บทความโดย ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล

การทำความเข้าใจในบริบทกฎหมายระหว่างประเทศ ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งมี 3 ลักษณะดังต่อไปนี้

        1.แบบ Co-ordination เป็นความร่วมมือ ในลักษณะที่มีเป้าหมายและวิธีการเหมือนกัน แต่ไม่ได้ทำงานด้วยกัน

        2.แบบ Co-operation เป็นความร่วมมือ ในลักษณะที่มีการทำงานร่วมกัน

        3.แบบ Integration ป็นความร่วมมือ ในลักษณะที่มีองค์กรร่วมกันในการทำงาน เป็นการสร้าง Body ร่วมกันทำงาน

ช่วงการนำเสนอบทความทางวิชาการ โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน  คำถามที่ว่าเมื่อมีการก่อตั้งประชาคมอาเซียนแล้ว วิธีการทำงานและการขับเคลื่อนจะเป็นแบบเดียวกับประชาคมยุโรปหรือไม่นั้น โดยหลักการคงจะมีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน แต่ประการสำคัญที่ต้องยอมรับ คือ การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนก็เพื่อประโยชน์ของประชาชน เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน เพื่อทุนที่หาง่ายมากขึ้น สินค้าและบริการที่เคลื่อนย้ายดีขึ้น ระบบการจัดการสินค้า บริการ และทุนดีขึ้น อย่างไรก็ตามประการหนึ่งที่นักวิชาการเห็นว่า ASEAN อาจจะไม่เหมือน Europe คือ เราเป็นไปได้ช้ากว่า และ กฎหมายเพื่อคุ้มครองมนุษย์ในประชาคมอาเซียนยังมีอยู่น้อยเมื่อเทียบกับทางสหภาพยุโรป

 

แต่สาระสำคัญที่หลีกเลี่ยงมิได้ คือ นักกฎหมายระหว่างประเทศควรมีแนวคิด ในการพิจารณา ตั้งรับอย่างไรกับการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน เพราะเมื่อศึกษาประวัติของประชาคมยุโรป ในช่วงการก่อร่างสร้างตัวของประชาคมยุโรป ก็เริ่มจากการทำกฎหมายเอกชน หรือกฎหมายแพ่งให้เป็นเอกรูป ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง บุคคล หนี้ ทรัพย์ ครอบครัว มรดก ซึ่งเมื่อ 20-30 ปีก่อน ที่ประชุมกรุงเฮก ก็ต้องมาเริ่มดำเนินการปฏิรูปกฎหมายเหล่านี้ของประเทศในยุโรปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนในเรื่องของกฎหมายมหาชนก็จะปฏิรูปเท่าที่จำเป็นเพื่อประชาคมสามารถเดินหน้าและดำรงอยู่ได้

 

การคุ้มครองมนุษย์ในประชาคมอาเซียน แง่ของการคุ้มครองมนุษย์ไม่สามารถปฏิเสธเรื่องสิทธิในสถานะบุคคลได้ เพราะหากต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของรัฐที่ยาวนานถาวร เรื่องของมนุษย์ก็เป็นสาระสำคัญที่จะต้องคำนึงถึง และสิ่งที่สำคัญสมควรกล่าวถึงเป็นลำดับถัดมา คือ เรื่องของ สิทธิในการรับรองสถานะบุคคล

ดังนั้นในแง่กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลกับพัฒนาการใหม่ของอาเซียน จึงนำมาสู่การนำเสนอทางวิชาการในเรื่องของการจัดการมนุษย์ ในวันที่เกิดบริบทข้ามชาติขึ้นอย่างมากมายในขณะที่วิถีชีวิตในทางแพ่งยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งวิถีชีวิตทางแพ่งดังกล่าวก็เริ่มต้นจากสถานะบุคคลเป็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเริ่มต้นสภาพบุคคล การสิ้นสุดสภาพบุคคล และความสามารถของบุคคล ซึ่งในลำดับถัดต่อไปก็คงปฏิเสธเรื่องของการจัดการครอบครัวข้ามชาติ ภาระหนี้สินข้ามชาติ มิได้ และแม้ว่าประเด็นเหล่านี้ จะไม่ถูกพูดถึงในการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แต่มันเป็นผลกระทบที่ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน ภายหลังจากการเกิดขึ้นของ AEC เนื่องจากประเด็นเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมข้ามชาติที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และตั้งรับกับบริบททางวัฒนธรรมที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติเหล่านี้ และประการสำคัญ คือ การเรียนรู้ถึงข้อคิดในการจัดการอดีต ข้อคิดในการจัดการปัจจุบัน ข้อคิดในการจัดการอนาคต ของเรื่องเหล่านี้

สำหรับภารกิจของวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ซึ่งเรียนรู้เรื่องของมนุษย์ และความเป็นมนุษย์คนหนึ่งจะนำไปสู่นวตกรรมอื่นๆ ตามมาด้วยฝีมือการสร้างสรรค์ของมนุษย์เอง เช่น เรื่องของนิติบุคคล ซึ่งก็มีรากฐานมาจากก่อร่างโดยมนุษย์ ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องของนิติบุคคลก็ไม่อาจจะปฏิเสธที่จะเรียนรู้เรื่องของมนุษย์ หรือบุคคลธรรมดาได้ ตัวอย่างเช่น หลักการทางกฎหมายที่ว่ากรณีนิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นข้างมากเป็นคนสัญชาติไทย นิติบุคคลนั้นก็ย่อมมีสัญชาติไทยในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นการศึกษาเรื่องของสถานะบุคคลตามกฎหมายของนิติบุคคล ก็ควรจะต้องเริ่มที่การศึกษาสถานะตามกฎหมายของมนุษย์เสียก่อน และเมื่อเกิดความมั่นคงต่อมนุษย์ในภูมิภาคอาเซียนจะนำไปสู่ความมั่นคงของประชาคมอาเซียนในที่สุด

 

ประเด็นเรื่องสิทธิในสถานะบุคคล สำหรับประเทศไทยให้การยอมรับมนุษย์เยี่ยงมนุษย์คนหนึ่งควรจะเป็นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงเลิกทาสเมื่อพ.ศ.2448 ณ ช่วงเวลาดัลกล่าวการเริ่มต้นเข้าสู่ยุคใหม่ของโลก ทำให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกการปฏิบัติต่อมนุษย์เยี่ยงทรัพย์สินหรือทาส โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  การเกิดขึ้นของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 6 ยิ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ยืนยันว่าคนที่เกิดขึ้นมา ก็ย่อมเป็นมนุษย์ตามกฎหมาย

การยอมรับในหลักการของปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 6 โดยประเทศไทยปรากฎอย่างเด่นชัดใน มาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2468 ของประเทศไทย ซึ่งการบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วประเทศไทยยอมรับหลักการนี้ก่อนการเกิดขึ้นของปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในปี พ.ศ.2491

 

ประเด็นเรื่องสิทธิในการรับรองสถานะบุคคล หลังการเลิกทาส ปี พ.ศ.2448 รัชกาลที่ 5 ได้ตราพระราชบัญญัติสำหรับทำบาญชีคนในพระราชอาณาจักร พ.ศ.2452  เพื่อรับรองและบันทึกคนที่เกิดและมีชีวิตอยู่รอด โดยไม่ต้องเลือกว่าคนเหล่านั้นจะมีเชื้อชาติแขก จีน แนวคิดนี้มีมาก่อนการเกิดขึ้นของรัฐสภาไทย อย่างไรก็ตามการนำแนวคิดนี้มาสู่การปฏิบัติมักมีให้เห็นในแถบเมือง  จนอาจจะกล่าวได้ว่าไม่พบสภาวะของความไร้รัฐ หรือ สภาวะที่บุคคลไม่มีรัฐใดยอมรับเป็นราษฎร (civilian) ในแถบเมือง

และวันที่ 10 เมษายน 2456 รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานสัญชาติให้กับบุคคลที่เกิดในดินแดนประเทศไทยว่าเป็นคนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ทำให้ Personality ตามกฎหมายแพ่ง และ Nationality ตามกฎหมายสัญชาติ จึงเกิดและปรากฎในตัวบุคคลคนหนึ่ง กล่าวคือ คนที่เกิดและอาศัยในประเทศไทย หรือแม้กระทั่งคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และแปลงสัญชาติในช่วงปี พ.ศ.2454-2495 ซึ่งยอมรับให้การแปลงสัญชาติแบบอนุญาตทั้งครอบครัว ฉะนั้นเมื่อพิจารณาทางกฎหมายแล้วจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีชุนชนในบริเวณเยาวราชเป็นชุมชนต่างด้าว แต่เมื่อพิจารณาสภาวะการณ์ในความเป็นจริงของปัจจุบันที่ยังคงมีปัญหาเรื่องของกลุ่มคนที่ยังคงมีสถานะต่างด้าว หรือที่ยังไม่มีความกลมกลืนกับสังคมไทย จึงควรหวนกลับมาทบทวนว่าปัญหาอยู่ที่อะไรในเมื่อแนวคิดในอดีตมีความชัดเจน เป็นเพราะทิศทางการปฏิรูปกฎหมายของฝ่ายปกครองที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดความกลมกลืนหรือไม่?

ภาวะความไร้รัฐเกิดจากปัญหาว่า “ทะเบียนราษฎรไม่สามารถเข้าไปรองรับคนที่มี Socialization กับรัฐนั้นได้” อาจจะถึงเวลาที่ประเทศอาเซียนควรคำนึงว่าจะปฏิบัติต่อผู้ที่มี Socialization กับประเทศตนอย่างเข้มข้นอย่างไร ทั้งนี้เพราะในแถบประเทศยุโรป คำว่า stateless (ซึ่งประเทศไทยแปลว่า ไร้รัฐ) ตำราต่างประเทศแปลว่า “ไร้สัญชาติ” เท่านั้นเพราะรัฐต่างประเทศเหล่านั้นไม่มีปัญหาเรื่องการปฏิเสธการบันทึกคนลงในทะเบียนราษฎร แม้ว่าจะยังคงปฏิเสธเรื่องการให้สัญชาติอยู่

ส่วนประเทศไทย ก่อนปี พ.ศ.2547 รัฐไทยยังมีความเข้าใจผิดว่า รัฐไทยไม่มีหน้าที่บันทึกคนลงในทะเบียนราษฏร จึงเกิดปัญหาว่า คนที่ยังไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรเป็นคนไร้สัญชาติหรือไม่ ยกตัวอย่างกรณีของคนที่เกิดในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2512 จากมารดาที่เกิด พ.ศ.2491 ในประเทศไทย กล่าวคือ คุณฟอง เลวันเป็นคนสัญชาติไทย แต่ไม่เคยถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย เป็นคนไร้รัฐมาเป็นเวลานาน พอได้รับการบันทึกก็กลับถูกบันทึกว่าเป็นคนสัญชาติเวียตนามทั้งที่ประเทศเวียตนามไม่เคยรับรู้การมีตัวตนของคุณฟอง เลวันเลย ตัวอย่างเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า การสรุปโดยทันทีว่าคนที่ไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรเป็นคนต่างด้าวนั้นไม่น่าจะถูกต้องและเร็วเกินไป นอกจากนี้ปัญหาของคนในอาเซียนลักษณะนี้ คงไม่ต้องรอให้กลุ่มประเทศอาเซียนมาทำความตกลงกัน เพราะเป็นเรื่องเก่าที่มีมานานแล้วตั้งแต่การเกิดขึ้นของปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งกลายเป็นบรรทัดฐานในทางระหว่างประเทศ  และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 (International Covenant on Civil and Political Rights) ที่นานาประเทศต่างลงนามเป็นภาคี

ส่วนเรืองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย กรณีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายแพ่ง ทุกประเทศยอมรับในลักษณะเดียวกัน เฉกเช่นเดียวกับที่ปรากฎตามกฎหมายไทย คือ มาตรา 15 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อบุคคลเกิดมาอยู่รอกไม่ว่าบุคคลนั้นจะเกิดไทย เกิดต่างประเทศ บิดามารดาเข้าเมืองถูกหรือผิดกฎหมายคนเข้าเมือง ไม่ว่าจะสัญชาติอะไร หรือเชื้อชาติอะไร ก็จะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนเสมอ  แม้ว่าจะไม่มีการกระทำการรับรองตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร เพราะมีความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎร โดยเฉพาะกรณีคนยากคนจน

ตัวอย่างกรณีศึกษา

เคสน้องหม่อง ทองดี บุตรแรงงานต่างด้าว ชนะเครื่องบินพับกระดาษและเป็นตัวแทนประเทศไทยมีสิทธิไปแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อประมาณ พ.ศ.2552 -2553 เป็นกรณีศึกษาที่ควรฉายภาพประกอบการอธิบายแนวคิดในการปฏิรูปกฎหมายเรื่องสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย

แนวคิดในการจัดการอดีต โดยยกตัวอย่างของน้องหม่อง ทองดีและครอบครัวซึ่งเป็นคนเชื้อชาติไทยใหญ่ในรัฐฉานประเทศพม่า และอพยพเข้ารัฐไทยเพราะเหตุการณ์สู้รบ หน้าที่ของประเทศไทยต่อครอบครัวนี้ในการรับรองสถาะบุคคลตามกฎหมายเอกชน เป็นไปตามมาตรา 15 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเมื่อทุกคนในครอบครัวมีสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน ก็ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายหนี้ ทรัพย์ ครอบครัว มรดก ปัญหาประการเดียวที่อาจจะมี คือ ปัญหาในเรื่องการใช้สิทธิทางศาลที่อาจจะมีปัญหาเรื่องภาษา หรือความไม่รู้ว่าตนเองจะไปใช้สิทธิทางศาลอย่างไร อันเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชน

ส่วนประเด็นเรื่องสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน  ด้วยผลของกฎหมายการทะเบียนราษฎรซึ่งแนวคิดในยุคนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ต่างจากแนวคิดในสมัยรัชกาลที่ 5 อันสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพราะทันทีที่พ่อยุ้น แม่มอย บิดามารดาของน้องหม่อง ทองดีไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรพม่า เมื่อเข้ามาปรากฎตัวในประเทศไทย กรมการปกครองไทยก็ได้บันทึกครอบครัวนี้ลงในทะเบียนราษฎรไทย ประเภท แรงงานต่างด้าว (ทร. 38/1) เมื่อ พ.ศ.2547 เป็นการขจัดความไร้รัฐให้กับครอบครัวนี้ ส่วนเรื่องของสัญชาติเป็นอีกกรณีที่ต้องพิจารณาต่อไป เพราะฉะนั้นหากปรากฎมนุษย์อย่างพ่อยุ้น แม่มอย ในประเทศไทยกฎหมายไทยก็สามารถแก้ปัญหาความไร้รัฐให้กับคนดังกล่าวได้

ประเด็นปัญหาในทางกลับกันคือ ถ้าปรากฎมีคนอย่างพ่อยุ้น แม่มอย หรือคนไทยที่ออกจากประเทศไทยไปอยู่ใน 9 ประเทศอาเซียน จะถูกปฏิบัติอย่างไร ซึ่งเชื่อได้ว่าตามกฎหมายของทุกประเทศบนโลกก็จะมีกฎหมายภายในเฉกเช่น มาตรา 15 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มิฉะนั้นแล้วก็เท่ากับว่าประเทศนั้นๆ ได้ละเมิดต่อข้อ 6 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในเรื่องยอมรับมนุษย์เป็นบุคคลตามกฎหมาย

อธิบายประกอบเรื่องสถานะบุคคลของนิติบุคคล ด้วยนิติบุคคลตั้งตามกฎหมายของประเทใดก็มีสัญชาติของประเทศนั้น แต่ประเด็นของสถานะบุคคลของนิติบุคคลก็จะเกี่ยวข้องกับสถานะบุคคลของบุคคลธรรมดา เพราะถ้าบุคคลธรรมดาสามารถประกอบกิจการในประเทศไหนได้ก็จะตั้งนิติบุคคลในประเทศนั้นได้ ส่วนกรณีที่ว่าบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลจะได้รับความคุ้มครองดีที่สุดอย่างไร โดยหลักก็คือ การได้รับการคุ้มครองจากรัฐเจ้าของสัญชาติ เพราะฉะนั้นสนธิสัญญา อนุสัญญาต่างๆ จะคุ้มครองเฉพาะบริษัทไทยอย่างเดียวคงมิได้ หากแต่ควรคุ้มครองรวมไปถึงคนสัญชาติด้วย และพึงตระหนักว่าเกณฑ์ของการพิจารณาสัญชาตินิติบุคคลก็หลีกไม่พ้นที่จะพิจารณาสัญชาติบุคคลธรรมดา สัญชาติของผู้ถือหุ้น ดังนั้นเมื่อนิติบุคคลที่ก่อตั้งตามกฎหมายต่างประเทศแต่เป็นไปได้ที่อาจจะถูกครอบงำโดยคนสัญชาติไทย หรือกรณีความเป็นไทยของบริษัทซีพีลาว ที่ผู้ถือหุ้นคือ บริษัทซีพีไทย ก็เท่ากับบริษัทซีพีลาวถูกครอบงำโดยไทย แต่กรณีจะผกผันไปหรือไม่อย่างไร ถ้าช่วงเวลาหนึ่งบริษัทซีพีไทย ถูกถือหุ้นหรือครอบงำโดยคนสัญชาติอื่นๆ เพราะฉะนั้นเรื่องการรับรองสถานะบุคคล เรื่องของนิติบุคคล ก็จะข้องเกี่ยวกับสถานะของบุคคลธรรมดา และเกี่ยวข้องกับเรื่องของหนี้ ทรัพย์ ทางกลับกันในส่วนบุคคลธรรมดาก็จะเกี่ยวข้องกับครอบครัว มรดก  การเริ่มต้นสถานะบุคคลของนิติบุคคลก็จะมีการจดทะเบียนก่อตั้ง และสิ้นสุดก็จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนบุคคลธรรมดาย่อมเป็นไปตามธรรมชาติ ยกเว้นกรณีการสาบสูญ ซึ่งเป็นโจทย์ความคิดสำคัญที่ท้าทายประชาคมอาเซียนต้องคิดต่อไปว่า กฎเกณฑ์การสิ้นสุดสถานะบุคคลโดยประกาศการสาบสูญของทั้ง 10 ประเทศอาเซียนเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เพราะมันจะเกี่ยวข้องกับการรับรอง และบังคับการตามคำพิพากษา ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับมรดกต่อมา

“คนเชื้อสายไทยซึ่งอาจจะประสบปัญหาสถานะบุคคลในต่างแดน” ประเด็นความไร้รัฐไร้สัญชาติ แถบประเทศยุโรปไม่มีปัญหาความไร้รัฐ เพราะตระหนักถึงการบันทึกคนในทะเบียนราษฎร ส่วนประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 โดยข้อกฎหมายก็ขจัดปัญหาความไร้รัฐเรียบร้อยแล้ว  แต่กรณีคนไทยที่ไปอยู๋ใน 9 ประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศเหล่านี้อาจจะไม่มีกฎหมายการทะเบียนราษฎรที่ช่วยขจัดความไร้รัฐเหมือนกับในประเทศไทย หรืออาจจะไม่มีศาลปกครองที่คอยรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประสบปัญหาที่ถูกปฏิเสธการขจัดความไร้รัฐ แม้ว่าประเทศเหล่านั้นก็ยังต้องเคารพหลักการตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่คนไทยอาจจะตกต้องเป็นคนไร้รัฐใน 9 ประเทศอาเซียน โดยเฉพาะประเทศที่ระบบกฎหมายยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งความเป็นไปได้นี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องคำนึงถึงไม่น้อยไปกว่าการคำนึงถึงการจัดการคนต่างด้าวในประเทศไทย และเมื่อทั้ง 10 ประเทศอาเซียน ผูกตัวเองเข้าไว้ด้วยกันจึงเป็นเรื่องที่ควรต้องคิดไปพร้อมๆ กัน อาจจะต้องเริ่มคิดถึงการเชื่อมทะเบียนราษฎรของทั้ง 10 ประเทศเข้าไว้ด้วยเพื่อประโยชน์ในการจัดการประชากรร่วมกัน ตัวอย่างเช่น คนไทยไปทำงานในประเทศกัมพูชา เมื่อมีบุตรก็แจ้งการเกิดของบุตร ณ สถานทูตไทยในประเทศกัมพูชา ซึ่งกรมการปกครองของประเทศไทยรับรองแล้วว่าไม่มีปัญหา ในทางกลับกันหากคนกัมพูชามาทำงานในไทยและมีบุตร กระบวนการแจ้งการเกิดของบุตร ณ สถานทูตกัมพูชาในประเทศไทย จะมีปัญหาหรือไม่ เพราะพึงระวังว่า กัมพูชาซึ่งอาจจะเพิ่งเปิดประเทศ กระบวนการตรงนี้มีความชัดเจนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หากไม่สามารถกระทำได้ บุตรก็อาจจะเสี่ยงต่อการตกอยู่ในสภาวะไร้รัฐ

ในแง่ประเทศไทย ทั้งการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน และสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน ถูกออกแบบไว้อย่างดีแล้วโดยกรมการปกครอง และเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นลายลักษณ์อักษรแม้ไม่ได้อยู่ในกรอบของอาเซียน ปัจจุบันอดีตคนไร้รัฐไร้สัญชาติอย่าง พ่อยุ้น แม่มอย ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติและขจัดปัญหาความไร้สัญชาติแล้ว แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ คนไทยในต่างแดน ซึ่งสถานทูตไทยอาจจะเข้าไม่ถึงคนเหล่านั้น

ณ วันนี้พ่อยุ้น แม่มอย คือคนหลายรัฐ เพราะเป็นคนสัญชาติพม่าในทะเบียนราษฎรพม่า เป็นราษฎรไทย ประเภทคนต่างด้าวอยู่ชั่วคราว การ จัดการ ประชากรอาเซียนร่วมกัน อาจจะต้องเชื่อมทะเบียนราษฎรเข้าด้วยกัน ซึ่งสำหรับประเทศไทยในแง่ข้อกฎหมายอาจจะพร้อมสำหรับการเชื่อมทะเบียนราษฎรกับประเทศอื่น อย่างไรก็ตามการเชื่อมทะเบียนราษฎรเพื่อป้องกันคนตกหล่นนั้น คงต้องค่อยเป็นค่อยไป คงไม่เกิดพร้อมกันทีเดียวทั้ง 10 ประเทศ นอกจากนี้ทั้งพ่อยุ้น แม่มอย คือ ตัวอย่างของประชาชนอาเซียน ที่วันหนึ่งประเทศพม่าจะต้องรับกลับไปเพราะเป็นประชากรที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นประเทศไทยคงต้องตระหนักด้วยว่าในวันข้างจะทำอย่างไรให้แรงงานที่ทำงานได้ดีเหล่านี้อยู่ในประเทศไทย เพราะวันที่ประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างสร้างบรรยากาศรักชาติได้สำเร็จ คนเหล่านี้ก็จะเดินทางกลับประเทศไป พีงตระหนักด้วยว่าการเปิดเสรี 7 สาขาอาชีพไม่สามารถหลีกเลี่ยง วิชาชีพอื่นได้ ตัวอย่างเช่น การสร้างโรงพยาบาลให้พยาบาลทำงานก็ต้องใช้แรงงานก่อสร้าง      

วันนี้จึงต้องกลับมาย้อนคิดว่า ในอดีตทำไมประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่อง จีนเยาวราช แต่ปัจจุบันทำไมประเทศไทยจึงมีปัญหาแรงงานในพื้นที่ระนอง มีเหตุการณ์เผาสถานทูตกัมพูชา คงต้องย้อนกลับมาศึกษาว่าปัญหาอยู่ที่อะไร เมื่อกฎหมายไม่มีปัญหาแล้วปัญหาอยู่ที่อคติในการจัดการ อคติในการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่  จึงควรหวนคิดว่า ข้อคิดในการปฏิรูป โดยเฉพาะ ข้อที่ 1.แนวคิดที่เหยียดผู้อื่นก็ควรขจัดให้สิ้นไป 2.ประการต่อมาก็ควรศึกษาแนวคิดปฏิรูปของประเทศอาเซียนอื่นเช่นกัน ยกตัวอย่างแนวคิดของประเทศพม่าที่เป็นมนุษยนิยมมากขึ้น  เช่นในเรื่องการรับรองสถานะบุคคล กรณีน้อง หม่องที่ได้รางวัลช่วงปี 2552 กรมกางกงสุลพม่า ยินดีรับน้องหม่อง ไปพิสูจน์สัญชาติ แต่ด้วยท่าทีการเมืองพม่าในสมัยนั้นไม่ชัดเจนเช่นปัจจุบัน น้องหม่อง จึงยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ แสดงให้เห็นว่าประชาชนอาเซียนซึ่งเป็นคนของประเทศอื่นและมาอาศัยในประเทศไทยนั้น กฎหมายไทยเปิดช่องในการพัฒนาสถานะแล้ว กฎหมายไทยเปิดช่องและสามารถเก็บภาษีคนเหล่านี้ได้ แต่คนไทยที่ไปอยู่ในประเทศอาเซียนอื่น หรือไปอยู่ในประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศอาเซียน ประเทศไทยจะจัดการคนกลุ่มนี้อย่างไร

เมื่อตอบโจทย์ได้แล้วว่ารัฐควรคิดอย่างไรกับการจัดการสถานะบุคค ขณะเดียวกันเอกชนเองก็ควรตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ด้วย แต่ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นพบว่า นักธุรกิจไทยได้เข้าไปลงทุนใน 10 ประเทศอาเซียน โดยไม่ได้รอว่ากฎหมายอาเซียนจะเป็นอย่างไร ระบบระเบียบจะเป็นอย่างไร แต่คนกลุ่มนี้ก็เข้าไปเปิดตลาดลงทุนเรียบร้อยแล้ว ตามธรรมชาติของการใช้เสรีภาพของมนุษย์โดยไม่ต้องรอการมาถึงของประชาคมอาเซียน ตัวอย่างของการใช้เสรีภาพเฉกเช่นมนุษย์คนหนึ่ง คือ ปู่โคอิ ซึ่งอายุ 100 กว่าปี เกิดก่อนรัฐสมัยใหม่ และใช้ชีวิตแบบชนเผ่า แต่วันหนึ่งเราไปบังคับให้เขาต้องรู้จักกับบัตรประจำตัวประชาชน หรือตัวอย่างของชาวมานิก ซาไก อย่าลืมว่ามนุษย์มีเสรีภาพ เฉกเช่น คุณอนันดา เอเวริงแฮม ที่ใช้เสรีภาพในการเลือกที่จะใช้สัญชาติไทย

สำหรับวิธีคิดแบบยุโรปในเรื่องการจัดการประชากร คือ 1.ทะเบียนราษฎรต้องเชื่อมเข้าด้วยกัน 2. การประมวลกฎหมายสัญชาติเหมือนอย่างที่ยุโรปทำ โดย council of Europe จากอดีตที่ประเทศต่างๆ แย่งยื๊อประชากรกลับกลายเป็นช่วยกันอุ้มชูประชากร โดยอนุญาตให้มีสองสัญชาติ มีสองหนังสือเดินทาง (Passport) ได้ โดยมีกฎหมายที่รองรับ และให้ประชากรได้ใช้เสรีภาพในการตัดสินใจในเลือกเองในพื้นที่ของ Integration ซึ่งคงไม่ได้มุ่งแต่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ หากแต่มองเห็นค่าของมนุษย์ในพื้นที่นี้ด้วย

ข้อคิดที่ 3 เรื่องการจัดการทัศนคติ จาก Bangkok Declaration  ซึ่งผูกพันประเทศไทย โดยประเทศต่างๆ ตกลงกันว่าจะไม่เรียกคนในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศ ว่า “คนผิดกฎหมาย”  เพียงเหตุว่าเพราะเป็นคนไร้รัฐ ซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศไทย ว่าแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่กลับปรากฎการใช้ถ้อยคำเพื่อเรียกคนเหล่านั้นอยู๋

บทสรุปว่าคือกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล มีความชัดเจนในการรับรองสถานะบุคคลโดยอาศัยทฤษฎีตามกฎหมายนั้นชัดเจน แต่ทางปฏิบัติลักษณะที่เอื้ออาทรต่อมนุษย์ที่อาศัยในประเทศไทยคงเป็นโจทย์ที่ต้องตอบว่ามันจะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงหรือ หรือจะทำให้เศรษฐกิจยิ่งดีขึ้น การรวมตัวเป็นประชาคมซึ่งตั้งอยู่บนความแบ่งแยก และเกลียดชังคงไม่ทำให้ Human Security เป็นไปได้จริง

ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนอื่นๆ มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็จะทรงสิทธิในการเดินทาง สิทธิในการศึกษา สิทธิในสุขภาพ สิทธิในการทำงานหาเลี้ยงชีพ สิทธิในการประกอบธุรกิจ

คำถามที่ว่าทำไมต้องอนุญาตให้พ่อยุ้น แม่มอยทำงานอยู่ในประเทศไทย เมื่อตอบในแง่ของรัฐไทยก็เพราะประเทศไทยขาดแรงงานก่อสร้างเพื่อมาพัฒนาประเทศ แต่เมื่อตอบในแง่ของบุคคลก็คือ สิทธิในการทำมาหาเลี้ยงชีพมันเป็นหลักตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งกฎหมายไทยก็ยอมรับและบังคับตามอยู่แล้ว ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 ไม่ใช่เพิ่งตราขึ้นมา สนธิสัญญาที่ทำให้คนต่างด้าวทำงานที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งประชาคมอาเซียน ตัวอย่างเช่น MOU ที่ทำโดยกระทรวงแรงงาน ก็เอื้อต่อประเทศไทยที่กำลังขาดแคลนแรงงานไร้ฝืมือในบางสาขาวิชาชีพ โดยที่ไม่ได้รอการมาถึงของประชาคมอาเซียน ในแง่ของสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว ก็ถูกยืนยันโดยศาลว่าทุกคนแต่งงานได้ เรื่องถือครองทัพย์สินอันเป็นสิทธิตามกฎหมายเอกชนมีปัญหาคือ เรื่องการทำทะเบียนรถยนต์ตามกฎหมายมหาชน ที่หากประเทศไทยตั้งแง้ ห้ามคนพม่าทำทะเบียนรถยนต์ อนาคตคนไทยก็คงไม่สามรถจดทะเบียนรถยนต์ในประเทศพม่าได้ เพราะในทางระหว่างประเทศมีเรื่องของหลักต่างตอบแทนเสมอ

ประการต่อมา คือ เรื่องการเข้าร่วมทางการเมือง ในอนาคตข้างหน้าอาจจะต้องมีเรื่องที่คนในประชาคมอาเซียนจะต้องร่วมกันตัดสินใจ ซึ่งปัจจุบันประชาคมยุโรปมีกรณีที่ให้คนในประชาคมได้ร่วมลงคะแนนเสียง

ส่วนเรื่องสัญชาติคงต้องกลับมาย้อนคิดว่าประเทศไทยควรหวงสัญชาติต่อไปเรื่อยๆ หรือไม่ ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนมากไปแปลงสัญชาติเป็นคนสัญชาติอเมริกา

กรณีตัวอย่างประเด็นสิทธิในสัญชาติ กรณีคุณเจมส์ ลี เป็นคนสัญชาติสิงคโปร์ มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย ภรรยาเป็นคนสัญชาติลาว ลูกสาวเป็นคนสัญชาติสิงคโปร์มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย ประเด็นคำถามคือ หากคนอย่างคุณเจมส์ ลีที่เป็นนักลงทุนธุรกิจอิเล็กทอนิกส์ หากต้องการแปลงสัญชาติเป็นไทย ประเทศไทยควรยอมให้แปลงสัญชาติเป็นไทยแล้วจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากกว่าหรือไม่

ตราบเท่าที่กฎหมายไทยทั้งภาคเอกชนและภาคมหาชนมีความชัดเจนแล้ว การขึ้นศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่เรียกร้องว่าต้องเป็นคนสัญชาติไทยเท่านั้น ไม่ห้ามคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย

กรณีศึกษาสุดท้ายในเรื่องของสัญชาติ คือ เรื่องของคุณลุงปิลู ชาวเขาแนวชายแดนไทย เป็นเกษตรกรที่ส่งออกผลผลิตจากประเทศไทยไปประเทศอื่นจำนวนมาก คุณลุงปิลุถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยแล้ว มีบุตรเป็นคนสัญชาติไทย ตัวลุงปิลูเองเป็นประชาชนอาเซียน และเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย วันนี้ลุงปิลูซึ่งอยู่ในประเทศไทยมากว่า 60 ปี กำลังรอการแปลงสัญชาติตามกฎหมายไทย เพราะกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวยอมรับเฉพาะคนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมายเท่านั้น  ในแง่ข้อกฎหมายมีกฎหมายสำหรับแปลงสัญชาติให้กับลุงปิลูมายาวนาน หากเพียงแต่รอการปฏิบัติอย่างจริงจังเสียมากกว่า การปฏิบัติที่ขจัดอคติในการทำงาน ในการแบ่งแยก การปฏิบัติที่เอื้อต่อการจัดการประชากรอันสอดคล้องกับแนวคิดทางเศรษฐกิจที่กำลังมาถึงอย่างแท้จริง

 (อ่านต่อตอนที่ 2) 

ช่วงวิจารณ์บทความโดย ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล


หมายเลขบันทึก: 504129เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 00:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2012 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท