พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

บทวิเคราห์การใช้เสรีภาพในการเดินทางของอาจารย์อายุ นามเทพ : อาจารย์ดนตรีไร้สัญชาติในประเทศไทย (ตอนที่ 1)


วิเคราะห์การใช้สิทธิเสรีภาพในการเดินทางของอาจารย์อายุ นามเทพ อาจารย์ด้านดนตรีผู้มีมากด้วยความสามารถ แต่ยังคงมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติในประเทศ : บทความจากการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่อาจารย์อายุ โดยผู้เขียน (ฉบับวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2555)

 บทวิเคราะห์การใช้เสรีภาพในการเดินทาง

ของอาจารย์อายุ นามเทพ[1] : อาจารย์ดนตรีไร้สัญชาติในประเทศไทย  (ตอนที่ 1)

1.      สถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงของอาจารย์อายุ นามเทพ  

อาจารย์อายุ เป็นบุตรที่เกิดจากบิดามารดาเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ทั้งบิดามารดา และอาจารย์อายุไม่ได้รับการยอมรับเป็นคนสัญชาติพม่า จึงตกเป็นคนไร้สัญชาติ ทั้งหมดได้อพยพหนีภัยความตายเข้ามายังประเทศไทย ประมาณ พ.ศ.2502

            การปรากฏตัวของอาจารย์อายุในประเทศไทย เป็นการปรากฏตัวในสถานะของคนไร้รัฐ เนื่องจากไม่ปรากฏว่ารัฐไทย และรัฐพม่าได้บันทึกชื่ออาจารย์อายุในทะเบียนราษฎรของรัฐตน อาจารย์อายุจึงตกอยู่ในสถานะของคนไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร อันนำมาซึ่งความไร้สัญชาติ กระทั่งปี พ.ศ.2550 อาจาย์อายุผู้ทรงสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย ตาม ข้อ 6 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งผูกพันประเทศไทย จึงได้รับการขจัดความไร้รัฐ[2]โดยรัฐไทยซึ่งบันทึกอาจารย์อายุ ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ประเภทบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (ทร.38ก) และออกบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนให้กับอาจารย์อายุ ทำให้รัฐไทยเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ของอาจารย์อายุ

            สถานะความเป็นคนไร้สัญชาติ คือ การไม่ได้ยอมรับเป็นคนชาติของรัฐใดเลยทำให้ตกเป็นคนต่างด้าวสำหรับทุกรัฐ ดังนั้นในความเป็นจริงคนต่างด้าวไร้สัญชาติอย่างอาจารย์อายุไม่มีโอกาสที่จะมีหนังสือเดินทางเพื่อข้ามชาติจากประเทศพม่า เข้ามายังประเทศไทย อาจารย์อายุจึงตกอยู่ในสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับประเทศไทย[3]  แต่หากประเทศไทยจะผลักดันอาจารย์อายุกลับไปประเทศต้นทางซึ่งยังคงมีปัญหาเรื่องการต่อต้านชนกลุ่มน้อยในขณะนั้น ก็จะเป็นการผลักดันไปสู่ความตาย อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการมีและการดำรงชีวิตรอดตาม ข้อ 3 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  โดยหลักมนุษยธรรม รัฐไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงใช้อำนาจตาม มาตรา 17 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ยกเว้นการบังคับใช้ มาตรา 54[4] แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และเพื่ออนุญาตให้อาจารย์อายุ อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยการกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม

            ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ให้สิทธิอาศัยชั่วคราวกับผู้ที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติ ทร.38ก ทำให้อาจารย์อายุมีสิทธิอาศัยชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณากำหนดสถานะ อีกทั้งอาจารย์อายุยังได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลอีก อันเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 เนื่องจากอาจารย์อายุเป็นบุคคลเป้าหมายในกลุ่มผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศไทย มิได้เกิดในประเทศไทย และอพยพเข้ามาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งต้องได้รับสถานะเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิอาศัยถาวร และเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้าน ทร.14 แต่ปัจจุบันทั้งตัวอาจารย์อายุ และหน่ยวงานราชการยังมิได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนสถานะของอาจารย์อายุในทะเบียนราษฎรแต่อย่างใด

 

สถานการณ์ของราษฎรไทยประเภทบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ถูกกำหนดพื้นที่ควบคุม

            การกำหนดพื้นที่ควบคุมคนต่างด้าวไร้สัญชาติ เป็นการกำหนดให้คนต่างด้าวอยู่อาศัย และเดินทางได้เฉพาะในบริเวณที่กำหนด กล่าวคือ ภายในบริเวณที่อยู่ภายใต้การปกครองดูแลของสำนักทะเบียนซึ่งคนต่างด้าวนั้นมีชื่อบันทึกอยู่ในทะเบียนราษฎร เช่นกรณีของอาจารย์อายุ ซึ่งถูกบันทึกรายการทะเบียนราษฎรโดยสำนักทะเบียนอำเภอเมืองเชียงใหม่ จึงถูกกำหนดพื้นที่ควบคุมให้อยู่อาศัยและเดินทางภายในอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ หากประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมดังกล่าวก็จะต้องทำคำขออนุญาตออกนอกพื้นที่ควบคุม ต่อนายอำเภอเมืองเชียงใหม่ พร้อมทั้งแสดงเหตุผลที่ต้องการเดินทางออกนอกพื้นที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้ออกนอกพื้นที่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการออกนอกเขตอำเภอ เขตจังหวัด หรือประเทศไทย

 

ปัญหาเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศของอาจารย์อายุ

            ดังนั้นในวันที่อาจารย์อายุ จะต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทย เพื่อทำหน้าที่วาทยากรควบคุมวงดนตรีขับร้องประสานเสียงของวิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งได้รับเชิญเข้าร่วมการแข่งขันในรายการ 7th World Choir Games 2012 ณ เมืองซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ย่อมหมายความว่าอาจารย์อายุ ไม่เพียงแต่ต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุม แต่ยังเป็นการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทย

            ประการสำคัญ การเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทยของคนไร้สัญชาติเฉกเช่น อาจารย์อายุ นั้น จะต้องเผชิญกับอุปสรรค 2 ประการที่สำคัญ กล่าวคือ

            1.ความเป็นไปได้ที่จะได้เดินทางออกและกลับเข้าประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พึงตระหนักว่าคนไร้สัญชาติ คือคนต่างด้าวสำหรับทุกรัฐบนโลกรวมถึงรัฐไทย และด้วยหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐ รัฐมีอำนาจที่จะกำหนดว่าจะให้คนต่างด้าวใดเข้ามาในประเทศไทยได้ภายใต้เงื่อนไขใดที่รัฐกำหนด กรณีของประเทศไทย มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 กำหนดว่า “คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว หากเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุด แต่ถ้าก่อนเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้กลับเข้ามาในราชอาณาจักรได้อีก และคนต่างด้าวนั้นได้กลับเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เป็นผู้ต้องห้ามตามมาตรา 12 ถ้าระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังมีเหลืออยู่ ให้อยู่ในราชอาณาจักรต่อไปได้เท่าระยะเวลาที่ยังเหลืออยู่นั้น”  ดังนั้นคนต่างด้าวไร้สัญชาติอย่างอาจารย์อายุ เมื่อประสงค์จะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทยและกลับเข้ามาอีกครั้ง ก็ย่อมตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ข้อเท็จจริงของคนไร้สัญชาติ คือ  มนุษย์ในสูญญากาศระหว่างรัฐ ดังนั้นในวันที่อาจารย์อายุ อยู่นอกราชอาณาจักรไทย และไม่ถูกยอมรับให้อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมายในรัฐอื่นๆ ทั่วโลกได้อีก รัฐไทยในฐานะรัฐเจ้าของตัวบุคคลและรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามความเป็นจริง[5]ของอาจารย์อายุ ไม่สามารถปล่อยให้อาจารย์อายุอยู่ในสภาวะเช่นนั้นได้ เพราะจะเป็นการละเมิดต่อสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอดของอาจารย์อายุ จึงต้องรับอาจารย์อายุ กลับเข้าประเทศ

เพราะฉะนั้นการเดินทางไปต่างประเทศของอาจารย์อายุ ก็คือการเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องขออนุญาตเดินทางเพื่อออกนอกราชอาณาจักรไทยต่อกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน  ส่วนการเดินทางกลับเข้ามายังประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น อาจารย์อายุจะต้องได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามายังประเทศไทยก่อนการเดินทางออกไปด้วย 

            2.ความเป็นไปได้ที่จะมีเอกสารพิสูจน์ตนระหว่างการเดินทางระหว่างประเทศ และจำต้องเป็นเอกสารที่นานารัฐยอมรับกันในทางระหว่างประเทศ เช่น หนังสือเดินทาง เนื่องจากจารีตประเพณีระหว่างประเทศในเรื่องการเดินทางข้ามชาตินั้น นานารัฐเห็นพร้องในเรื่องของความสำคัญที่รัฐจำเป็นต้องทราบว่า ใครเดินทางเข้าออกประเทศของตนบ้าง คนชาติของรัฐหรือคนต่างด้าว โดยรัฐจะตรวจสอบและบันทึกโดยอาศัยเอกสารแสดงตนของบุคคลดังกล่าว เพราะฉะนั้นหากขาดเอกสารเพื่อพิสูจน์ตนระหว่างการเดินทางข้ามชาติ ความเป็นไปได้ที่อาจารย์อายุ จะเดินทางออกนอกประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาจึงไม่มี

 2.      แนวคิดว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการเดินทาง และการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง

            เสรีภาพในการเดินทางถูกยอมรับว่าเป็นสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นอำนาจของการกระทำที่มาพร้อมกับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ในอันที่จะเลือก ตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับการเดินทาง ประการสำคัญการดำรงอยู่ของอิสรภาพในการเคลื่อนย้ายทางกายภาพนี้ เป็นเครื่องยืนยันประการหนึ่งว่ามนุษย์ผู้นั้นยังคงมีสิทธิที่จะกำหนดเจตจำนงของตนเอง (Self-determination) ได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้การเดินทางซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะนำมนุษย์ไปสู่การทำกิจกรรม ซี่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิมนุษยชนด้านอื่น เช่น เดินทางเพื่ออาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัว เดินทางเพื่อการศึกษาต่อ เดินทางเพื่อไปทำงาน เสรีภาพในการเดินทางส่วนนี้จึงเป็นฟันเฟืองเพื่อให้สนองตอบต่อการใช้สิทธิมนุษยชนประการอื่นด้วย

เสรีภาพในการเดินทางที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของความเป็นรัฐ เนื่องด้วยภาระกิจของรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมส่วนรวม เพื่อจุดมุ่งหมายสุดท้ายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประการอื่นๆ ของมนุษย์ทุกคน จึงเป็นที่มาของการยอมรับเรื่องการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของปัจเจกชนโดยรัฐ ในบางสถานการณ์ที่อาจจะนำอันตรายมาสู่ประชาชนของรัฐ หรือจำกัดเสรีภาพในการเดินทางขอบบุคคลบางกลุ่มที่อาจจะมีแนวโน้มทำให้เกิดความไม่สงบสุขของสังคมโดยรวม เช่น การกักขังนักโทษผู้กระทำความผิดไม่ให้เดินทาง

 3.      กฎหมายระหว่างประเทศซึ่งรับรองเสรีภาพในการเดินทางของอาจารย์อายุ

            กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการเดินทาง ซึ่งผูกพันประเทศไทย มีด้วยกัน 2 ลักษณะ กล่าวคือ พันธกรณีระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และพันธกรณีระหว่างประเทศที่เป็นสนธิสัญญาซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี โดยพันธกรณีเหล่านั้นยอมรับให้เสรีภาพในการเดินทางเป็นสิทธิมนุษยชนที่มีกับมนุษย์ทุกคน โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่า เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา สัญชาติ ทั้งนี้พิจารณาได้จากบทบัญญัติที่ใช้ถ้อยคำว่า “ทุกคน” ขณะเดียวกันพันธกรณีเหล่านั้นก็ยอมรับให้รัฐสามารถจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของปัจเจกชนได้เช่นกัน และการจำกัดเสรีภาพนั้นก็ต้องไม่อยู่บนฐานแห่งความแตกต่างดังที่ได้กล่าวมา หากแต่จะต้องเป็นการจำกัดโดยอาศัยเหตุผลและหลักการที่ยอมรับกันในทางระหว่างประเทศ กล่าวคือ เป็นการจำกัดโดยอาศัยบทบัญญัติตามกฎหมายที่จำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และข้อจำกัดนั้นสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนอื่นๆ

            ดังนั้น อาจารย์อายุ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิในเรื่องเสรีภาพในการเดินทาง ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 13[6] และทรงสิทธิที่จะเดินทางออกนอกประเทศไทยได้โดยอาศัย ข้อ 13(2)[7]

            นอกจากนี้อาจารย์อายุ ยังเป็นผู้ทรงสิทธิตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR)  ซึ่งผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี โดยอาจารย์อายุทรงสิทธิที่จะเดินทางไปต่างประเทศโดยอาศัย ข้อ 12(2)[8] และการจำกัดสิทธิดังกล่าว รัฐไทยจะกระทำได้โดยอาศัยหลักการที่สอดคล้องกับ ข้อ 12(3)[9] ซึ่งปรากฎหลักการสำคัญคือ ห้ามการจำกัดการเดินทางเพื่อจะเข้าถึงการใช้สิทธิมนุษยชนประการอื่นที่กติการะหว่างประเทศฯ ได้รับรองไว้

            ประการสำคัญ อาจารย์อายุ เป็นบุคคลเป้าหมายที่อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination : CERD) มุ่งจะคุ้มครอง โดยประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าว ดังนั้นโดยอาศัย ข้อ 1(1)[10] และ ข้อ 5[11] ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีที่คุ้มครองเสรีภาพในการเดินทางของอาจารย์อายุ

(ต่อ) บทวิเคราะห์การใช้เสรีภาพในการเดินทางของอาจารย์อายุ นามเทพ : อาจารย์ดนตรีไร้สัญชาติไร้สัญชาติในประเทศไทย (ตอนที่ 2)

[1] กรณีศึกษาซึ่งร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายมายัง โครงการบางกอกคลินิกฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] รัฐไทยขจัดความไร้รัฐให้กับอาจารย์อายุ โดยอาศัย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548 ซึ่งถือเป็นกลไกในการคุ้มครองสิทธิของคนไร้รัฐที่ปรากฏตัวบนผืนแผ่นดินไทย อันสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี กล่าวคือ (1) ข้อ 6 แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 และ (2) ข้อ 16 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง ค.ศ.1966

[3] พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2493 ซึ่งเป็นกฎหมายคนเข้าเมือง ที่มีผลบังคับใช้ในช่วงเวลาที่อาจารย์อายุ อพยพเข้ามายังประเทศไทย หรือ กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองที่บังคับใช้ในปัจจุบัน คือ มาตรา 58 ตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

[4] มาตรา 54  คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งตัวคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้

[5] ในความเป็นจริงยังไม่สามารถเรียกได้ว่าอาจารย์อายุ ภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชน เพราะการพิจารณาว่ามีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชน คือ การที่บุคคลนั้นถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย ประเภททะเบียนบ้าน ทร.13 หรือ ทะเบียนบ้าน ทร.14 แม้ว่าอาจารย์อายุจะเป็นผู้ทรงสิทธิที่จะถูกรับรองในทะเบียนราษฎรดังกล่าวแล้วก็ตาม โดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553

[6] ข้อ 13 (1) ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการเคลื่อนไหว (right to freedom of movement) และสถานที่อยู่ภายในเขตของแต่ละรัฐ

[7] ข้อ  13 (2) ทุกคนมีสิทธิที่จะออกจากประเทศใดๆ ไป รวมทั้งประเทศของตนเองด้วย และที่กลับมายังประเทศตน

[8] ข้อ 12 (2) บุคคลทุกคนย่อมมีเสรีจะออกจากประเทศใดๆ รวมทั้งประเทศของตนได้

[9] ข้อ 12 (3) สิทธิดังกล่าวข้างต้นไม่อยู่ในข้อจำกัดใดๆ เว้นแต่เป็นข้อจำกัดตามกฎหมาย

และที่จำเป็นเพื่อรักษความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคลลอื่น และข้อจำกัดนั้นสอดคล้องกับสิทธิอื่นๆ ที่รับรองไว้ในกติกานี้

[10]ข้อ 1(1) การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ หมายถึง การจำแนก การกีดกัน การจำกัด หรือการเลือก โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เชื้อสาย หรือชาติกำเนิดหรือเผ่าพันธุ์กำเนิด ซึ่งมีเจตนาหรือมีผลให้เกิดการระงับหรือกีดกันการเคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และในด้านอื่นๆ ของการดำรงชีวิตในสังคม รวมทั้งการระงับ หรือกีดกันการใช้สิทธิเหล่านั้นอย่างเสมอภาคของบุคคล

[11] ข้อ 5 เพื่อให้สอดคล้องตามพันธกรณีพื้นฐานที่ได้จัดวางไว้ตามข้อ 2 ของอนุสัญญานี้ รัฐภาคีจะห้ามและขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบและจะประกันสิทธิของทุกคนให้มีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย โดยไม่จำแนกตามเชื้อชาติ สีผิว หรือชาติหรือเผ่าพันธุ์กำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้สิทธิดังต่อไปนี้

(d) สิทธิพลเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

(1) สิทธิในการมีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว (right to freedom of movement)

(2) สิทธิในการเดินทางออกจากประเทศหนึ่ง (right to leave any country)

หมายเลขบันทึก: 504114เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2012 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท