ว่าด้วยเรื่องของเพลง : ลอกเลียน-เลียนแบบ อะไรคือความลงตัว


เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วสินค้าของญี่ปุ่นและไต้หวันถูกมองว่าเป็นของเลียนแบบ ไม่มีมาตรฐาน ต่อมาก็เกาหลี วันนี้ญี่ปุ่นและเกาหลีก้าวมาเป็นเจ้าเทคโนโลยีแซงหน้ายุโรปและอเมริกา ก็ไม่ใช่การลอกเลียนแบบแล้วต่อยอดด้วยการพัฒนาด้วยตนเองหรอกหรือที่ทำให้พวกเขามีวันนี้

สองสามวันมานี้ที่ลำปางอากาศร้อนมากๆ กลางวันท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้มแดดจัด ต่างจากสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีแต่ฝนตกจนไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวัน ผู้คนบ่นกันระงมเพราะไปไหนมาไหนก็ลำบาก วันที่ฟ้าเปิดได้ยินเสียงหลานตะโกนเสียงดังว่าแดดออกแล้ว แดดออกแล้ว คงจะดีใจเพราะมีลูกเล็กช่วงฝนตกตากผ้าอ้อมเสื้อผ้าเด็กไม่ค่อยจะแห้ง

พูดถึงคำว่าแดดออกเลยนึกไปถึงเพลงของมีศักดิ์ นาครัตน์ ร้องไว้หลายสิบปีแล้วครับตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กๆ เสียงร้องเหมือนตะโกนว่า

"..แดดดด..ออก แดดดด...ออก..
แดดออกแล้วฟ้าก็งามดุจเปลวทอง
ตื่น..ตื่นซะที ตื่นซะที ตื่นซะที...
แดดออกแล้วฟ้าก็งามดุจเปลวทอง.."

มันทำให้จำได้ไม่ลืมเลย เพลงนี้ฟังแล้วสบายๆ และถ้าใครอยู่ในยุคนั้นก็คงจะทราบนะครับว่าแม้เนื้อร้องจะเป็นไทยจ๋า แต่ดนตรีจะเป็นของเพลงฝรั่ง(ที่เราเรียกว่าเพลงสากลนั่นแหละครับ) พูดง่ายๆก็คือเราเอาดนตรีของฝรั่งมาแล้วใส่เนื้อไทยเข้าไปซึ่งในยุคนั้นก็มีเพลงในลักษณะนี้มากมายครับ คนฟังก็ทราบ แต่ก็ไม่คิดว่ามันเสียหายอะไร ฟังแล้วได้อารมณ์แปลกแตกต่างไปจากเพลงลูกทุ่งลูกกรุงที่เคยฟังมา

มีศักดิ์ นาครัตน์

Harry Belafonte


เพลงแดดออกนำเอาดนตรีของเพลง Day-O (Banana Boat) ซึ่ง Harry Belafonte ร้องไว้เมื่อปี 1956 (เพลงแดดออกประมาณปี 1961) เพลงนี้ถ้าใครอายุสัก 50 อัพคงจำได้นะครับเนื้อหาของมันก็คงประมาณความสุขสนุกสนานอะไรทำนองนั้น (เพลงแดดออกก็เช่นกันแต่จะออกไปทางตลกบริโภคสักเล็กน้อย) ทั้งสองเพลงฟังแล้วสบายๆ อมยิ้มอย่างมีความสุขได้

ในยุคนั้น(และยุคต่อมาอีกหลายสิบปี) การนำทำนองเพลงต่างชาติมาใส่เนื้อไทยได้รับความนิยมกันมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านคณะคนตรีและนักร้องดังจำนวนมาก หลายๆเพลงได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เท่าที่พอจำได้ในช่วงเดียวกับเพลงแดดออกของมีศักดิ์ นาครัตน์ เช่นเพลงหุ่นไล่กาที่ร้องโดยวง Silver Sand (ศิริมา สุนทรรังษี ขับร้องประมาณปี 1960) ก็เป็นเพลงฮิตติดตลาดเพลงหนึ่ง เข้าใจว่าคงถูกใจบรรดาคอเพลงที่เป็นโก๋หลังวังไม่น้อยเหมือนกัน เพราะนำเอาทำนองเพลง Kaw Liga ของคุณปู่ Hank Williams มาใส่เนื้อไทยเข้าไปนั่นเอง

"...มันคือหุ่นไล่กา มาจากบรรดาหญ้าฟาง
นำมามัดเป็นร่าง แต่งไว้ให้มองเห็นอย่างคน
มีกางเกงและเสื้อดำ ทำเอาดูพิกล
ทิ้งให้เฝ้าพืชผลแทนคนเราได้..."

ถ้าถามว่าหุ่นไล่กาต้องแต่งด้วยเสื้อผ้าสีดำจริงหรือเปล่า ผมว่าคงไม่เสมอไปหรอกครับ(ไม่ใช่พวกชายชุดดำที่ต้องมียูนิฟอร์มให้เด่นเป็นสง่า) เดี๋ยวนี้เท่าที่เห็นหุ่นไล่กาใส่ได้ทั้งเสื้อยืดเสื้อโปโลที่แจกมาพร้อมยาฆ่าหญ้า บริษัทปุ๋ย หรือเบียร์ชื่อดัง มีสีสันหลากหลายกันไป มันก็คงเหมือนกับเพลง Moonlight Shadow (Mike Oldfield / Maggie Reilly) ท่อนที่บอกว่า "Caught in the middle of a hundred and five" ที่มีคนถามใน songfacts.com ว่าทำไมต้องเป็น 105 ด้วย คำตอบก็คือจะเป็นหนึ่งร้อยสี่ ร้อยห้า ร้อยหก หรือร้อยอะไรก็ไม่สำคัญหรอกครับเพียงแต่ถ้าเป็น  "a hundred and five" มันจะไปเข้ากันได้กับเนื้อร้องในท่อนถัดไปก็เท่านั้นเอง

ในช่วงนั้นมีภาพยนตร์ที่เป็นละครทีวีเรื่องหุ่นไล่กาออกอากาศอยู่ด้วย แต่เพลงประกอบละครเป็นของนักร้องท่านอื่นนะครับเข้าใจว่าเป็นคุณสุดา ชื่นบาน ละครเรื่องนี้สะท้อนเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรมได้น่าดูมาก แต่ก็ไม่เห็นมีใครเอามาทำใหม่ สงสัยเรตติ้งคงไม่ดี สู้ละครน้ำเน่าประเภทอิจฉาริษยา กาเมสุมิจฉาไม่ได้

มีบางคนบอกละครก็สะท้อนคนดูว่าในหัวมีอะไรอยู่บ้าง แต่ผมไม่คิดอย่างนั้นนะครับ เพราะคนรู้จักๆที่ชอบดูละครน้ำเน่าแบบนี้ก็ไม่เห็นจะมีใครประพฤติตัวแบบในละครเลยสักคน แต่ถ้าเป็นพฤติกรรมของบรรดานักการเมืองบางพวก การที่แสดงอะไรถ่อยๆออกมามันสะท้อนถึงนิสัยของคนที่เลือกมานั่นน่าจะจริงครับ อย่างน้อยนักการเมืองก็เป็นตัวแทนของคนที่เลือกเข้าไป..อ้าว..นอกเรื่องอีกแล้ว

ต่อมาในยุคที่วงดนตรีสตริงคอมโบ้กำลังดัง การนำเพลงสากลมาร้อง กับการเอาทำนองเพลงสากลมาใส่เนื้อไทยก็ยังคงเป็นที่นิยมกันอยู่ บางทีอาจจะมากกว่าในอดีตหลายเท่าเลยก็ว่าได้ มีวงดนตรีและนักร้องหลายคนดังระเบิดเถิดเทิงเพราะเพลงพวกนี้ หนึ่งในนั้นก็คือคุณดอน สอนระเบียบ แต่ที่อยากจะเขียนถึงก็คือเพลงของเศรษฐา ศิระฉายา ที่ชื่อเพลงงัวหาย (งัวจริงๆครับไม่ใช่วัว) ซึ่งนำเอาทำนองเพลง My First Time ของ Lobo มาใส่เนื้อไทย


"โอ้แม่คุณเอ๋ย น้องเห็นวัวตัวเมียหรือเปล่า
ที่มันมีเขาน้อยๆ สีเทา สวยนะน้องพี่..

..หากเธอเจอ เออ เอ้ย.. เอิงเอย พบเมื่อไร
จับผูกไว้ก่อน..
..หากเจองัว งั้ว งัว สีน้ำตาลอ่อน
ช่วยจับมัดไว้ก่อน..."

ผมฟังทีแรกยังหัวเราะก๊ากเลยครับ เพราะทำนองเพลงของโลโบ้เพลงนี้ออกไปทางสนุกๆอยู่แล้ว พอได้เนื้อไทยกับนักร้องคนโปรดก็เลยยิ่งฟังยิ่งเพลิน

มีเพลงคล้ายๆแบบนี้อีกเพลงหนึ่ง ผมจำชื่อเพลงรวมทั้งนักร้องไม่ได้แล้ว เอาทำนองเพลง Stoney ของ Lobo คนเดียวกันนี่แหละมาร้อง จำได้ท่อนหนึ่งอย่างนี้ครับ

"..ยื้มมม..หมูหน่อย ยืมเอาไปทำพันธุ์
ยื้มมม..หมูหน่อย ยืมไปเพียงสามวัน
ยื้มมม..หมูหน่อย คอยวันมะรืนคืนกัน
ยืมไปเพียงสามวัน ลูกมีจะปันให้หนึ่งตัว.."

ใครพอมีแบบเต็มๆช่วยเอามาลงยูตูบให้หน่อยครับ อยากฟัง

พอถึงยุคที่ดิสโก้เทคกำลังบูมมากๆ เพลงไทยใส่ทำนองสากลแบบนี้นอกจากจะเอาทำนองเพลงฝรั่งมาแล้ว ก็จะมีทั้งทำนองเพลงจีน เพลงญี่ปุ่นเข้ามาเพิ่มอีกซึ่งมีบางคนเรียกเพลงประเภทนี้ว่าเพลงแปลง มีนักร้องหรือวงดนตรีดังๆที่ผลิตผลงานออกมาก็เช่นคุณดอน สอนระเบียบ วง PM5, วงรอยัลสไปรท์เป็นต้น โดยเฉพาะดอนสอนระเบียบนี่นอกจากจะมีเพลงเก้าล้านหยดน้ำตาซึ่งนำทำนองเพลง 9,999,999 Tears ของ Dickey Lee มาใช้แล้ว แกยังนำเพลงจากภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องกระบี่ไร้เทียมทานซึ่งดังระเบิดในช่วงนั้นมาใส่เนื้อไทยทำให้เพลงนี้ขึ้นมาฮิตติดอันดับต้นๆของเมืองไทยในเวลาอันรวดเร็ว

วง PM5 และดอน สอนระเบียบ


ย้อนกลับไป สมศรี ม่วงศรเขียว ศิลปินนักร้องอาวุโสท่านก็มีเพลงที่ว่ากันว่าเอาทำนองเกาหลีมาอย่าง “เสียงครวญจากเกาหลี (โอ้อารีดัง)" นำมาร้องจนกลายเป็นหนึ่งในเพลงอมตะที่เดี๋ยวนี้ก็ยังมีคนเปิดฟังกันอยู่


แดดออก : มีศักดิ์ นาครัตน์
http://www.youtube.com/watch?v=uSrBKhWvphk

Day-O (Banana Boat) : Harry Belafonte
http://www.youtube.com/watch?v=RfxX1GjIZtA

หุ่นไล่กา : ศิริมา สุนทรรังษี  Silver Sand
หุ่นไล่กา http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=5Lvk11DRKZ0#!

Kaw Liga : Hank Williams
http://www.youtube.com/watch?v=7FY7RWJAtJQ

งัวหาย : เศรษฐา ศิระฉายา
http://www.youtube.com/watch?v=j-ouXCKJoNk

My First Time : Lobo
http://www.youtube.com/watch?v=u5oeu4H0A04

เก้าล้านหยดน้ำตา - ดอน สอนระเบียบ
http://www.youtube.com/watch?v=tD_hyUaQbqs

9.999.999 tears : Dickey Lee
http://www.youtube.com/watch?v=WagbKi1veCU&feature=related

เสียงครวญจากเกาหลี สมศรี ม่วงศรเขียว คำร้อง "เบญจมินทร์ (ตุ้มทอง โชคชนะ )"
http://www.youtube.com/watch?v=-T9icQoboog

ขอบคุณภาพจาก Internet

หมายเลขบันทึก: 503880เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2012 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2012 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท