Carl Orff การสอนดนตรีโดยไม่สอน : กระบวนการ”เล่น”ที่นำไปสู่”การเรียนรู้” ตอนที่1 (The Carl Orff Method Part1)


จุดมุ่งหมายในการสอนดนตรีแบบออร์ฟ คือ การพัฒนาความสามารถในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรี

 Carl Orff การสอนดนตรีโดยไม่สอน : กระบวนการ”เล่น”ที่นำไปสู่”การเรียนรู้”

            เสียงหัวเราะคิกคัก และเสียงวิ่งเล่นกันในยามเช้าของเด็กๆ อาจเป็นเสียงที่คุ้นชินหูของครูที่รับฟังมาทุกๆเช้า แต่เสียงนี้เป็นประสบการณ์ใหม่ของข้าพเจ้าที่ได้เริ่มงานสอนดนตรีในโรงเรียนแห่งนี้เป็นวันแรก อาจเรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ตั้งแต่ได้มาสอบคัดเลือกเพื่อมาสอนที่นี้กันเลยทีเดียว การผ่านการสอบคัดเลือกครูดนตรี ด้วยกิจกรรมแปลกๆเช่น การเคลื่อนไหวตามเสียงเพลงที่มีรูปแบบแตกต่างกัน ไม่มีกฎตายตัว อยากสร้างสรรค์เช่นไรก็ได้  การวิ่งแตะตัวกันตามเสียงเพลง (ต้องอาศัยการฟังอย่างตั้งใจจึงจะพบรูปแบบที่ทำให้แตะได้ถูกต้องอยู่ในบทเพลง) หรือการตีระนาด ที่ดึงโน้ตบางตัวออก แล้วให้เราปฏิบัติทันทีโดยไม่ทันตั้งตัวฯลฯ เป็นการสอบคัดเลือกที่ทำให้ข้าพเจ้าหัวหมุนได้เลย แต่ก็ยอมรับได้ว่าเป็นสิ่งที่สนุกสนาน และเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ทีเดียว

            หลังจากที่ได้ทุลักทุเลสอบคัดเลือกในวันนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ถูกเรียกให้มาทำงานในโรงเรียนแห่งนี้ สิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับมาเป็นการบ้านเพื่อการเตรียมตัวก่อนที่จะเปิดเทอม และเริ่มการสอนดนตรีคือ โรงเรียนแห่งนี้ใช้วิธีการสอนตามแบบ Carl Orff เป็นหลัก มีเครื่องดนตรี Orff อย่างเพียงพอที่จะใช้สอนได้ทั้งระดับประถมต้นและประถมปลาย ให้เตรียมตัวศึกษาวิธีการสอนแบบ Carl Orff มาพร้อมทั้งศึกษาแผนการสอนเก่าของครูที่สอนก่อนหน้านี้ เมื่อข้าพเจ้าได้กลับมาทบทวนเรื่องการสอนแบบ Carl Orff ที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัย และศึกษาแผนการสอนเก่าๆของคุณครูรุ่นพี่ก็ยิ่งทำให้งงว่า การสอนแบบนี้จะเป็นการสอนในโรงเรียนได้จริงๆหรือ

            วิธีการสอนของ Carl Orff

            ออร์ฟ (Carl Orff, ค.ศ. 1895-1982) ผู้ประพันธ์เพลงเลื่องชื่อและนักดนตรีศึกษาชาวเยอรมันเป็นผู้คิดค้นวิธีนี้ขึ้นหลังจากที่ออร์ฟได้สอนเด็กๆ มาเป็นเวลานาน วิธีการโดยละเอียดของออร์ฟได้พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือชื่อ ซูลเวิร์ก (Schulwerk) มีความหมายถึงแบบฝึกหัดสำหรับใช้ในโรงเรียน จุดมุ่งหมายพื้นฐานของออร์ฟในการสอนดนตรี คือ การพัฒนาความสามารถในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรี (Landis, and Carder, 1972)

            ออร์ฟ ได้วางรากฐานในการสอนดนตรีของเขาว่า ดนตรี (music) การเคลื่อนไหว (movement) และการพูด (speech) เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ ทั้งสามสิ่งรวมกันเป็นเอกภาพ (unity) ซึ่งออร์ฟเรียกว่า “ดนตรีเบื้องต้น” (elemental music) เขาสังเกตว่าเมื่อเด็กแสดงออกทางดนตรีในสภาพแวดล้อมที่เป็นปกติไม่มีกฎเกณฑ์อะไรบังคับแล้ว เด็กจะใช้ดนตรีการเคลื่อนไหว และภาษาพูดไปพร้อมๆกัน เด็กที่เต้นรำจะร้องเพลงไปด้วย เมื่อเด็กร้องเพลงเขามักจะเคลื่อนไหวไปตามจังหวะเสียงเพลง ออร์ฟใช้คำว่า”ดนตรีเบื้องต้น” โดยหมายถึงการแสดงออกทางดนตรีของบุคคลที่เป็นไปโดยธรรมชาติในการพัฒนาวิธีการสอนของออร์ฟ เขาย้อนกลับไปหายุคของการก่อเกิดวัฒนธรรม เมื่อดนตรีเป็นสิ่งที่คนทั่วไปใช้แสดงความรู้สึกของคนได้ โดยไม่ต้องได้รับการฝึกฝน (Shamrock,1986 : 56)

            การเข้าไปนั่งดูคุณครูรุ่นพี่สอนหรือที่ภาษาครูเรียกว่าการสังเกตการสอน (Observation) เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องทำแทบทุกๆวันในช่วงเริ่มต้น ยิ่งสังเกตก็ยิ่งไม่เข้าใจว่า ครูที่สอนในรูปแบบออร์ฟนี้เป็นอะไรกัน ทำไมไม่ชอบอธิบาย สาระหรือองค์ประกอบทางดนตรีให้นักเรียนฟังเลย สิ่งที่เห็นจนชินตาคือ การนั่งตบจังหวะกับร่างกายและกิจกรรมเกมส์ การตีระนาดออร์ฟ ที่ให้นักเรียนสร้างสรรค์คิดค้นบทเพลงขึ้นเอง โดยคุณครูช่วยตีรักษาทำนองและจังหวะไว้ให้ แปลกดีที่บทบาทของครูเหมือนไม่ใช่”ผู้สอน” แต่ดูคล้ายกับเป็น”พี่เลี้ยง”หรือ”ผู้สนับสนุน” ครูไม่ได้มุ่งไปสู่การสอนของครูเอง แต่มุ่งไปสู่การปฏิบัติกิจกรรมดนตรีของผู้เรียนมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าแปลกใจมาก ไม่น่าเชื่อที่หลังจากนั้น “ออร์ฟ”ก็ได้มาเปลี่ยนปรัชญาในการสอนดนตรีของข้าพเจ้าให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

หมายเลขบันทึก: 503604เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2012 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2012 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท