กรณีศึกษาสิทธิในสถานะบุคคล : การได้มาซึ่งสัญชาติไทย และการเสียสัญชาติไทย ของคุณเรียน เวียนวัฒนชัย


คุณเรียน เวียนวัฒนชัย อายุ 79 ปี เกิดที่ตำบลหนองแสง อำเภอหนองบึก จังหวัดนครพนม ประเทศไทย ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เป็นบุตรสาวคนที่ 4 ของครอบครัวเวียนวัฒนชัย จากบิดาชื่อ นายกี ชายสัญชาติเวียดนาม เชื้อชาติฝรั่งเศส เนื่องจากความยากจนในยุคนั้น จึงอพยพย้ายถิ่นมาจากประเทศเวียดนามมายังประเทศไทยตั้งแต่สมัยก่อนเกิดสงครามเวียดนาม เข้ามาประกอบอาชีพเกษตรกรรม และ ได้สมรสกับมารดาของคุณเรียนชื่อ นางแฮ และมีบุตรธิดาด้วยกัน 12 คน ซึ่งทั้ง 12 คนเกิดในจังหวัดนครพนม ประเทศไทย

กรณีศึกษาสิทธิในสถานะบุคคคล การได้มาซึ่งสัญชาติไทย และการเสียสัญชาติไทย ของคุณเรียน เวียนวัฒนชัย


ข้อเท็จจริงเบื้องต้น

          คุณเรียน เวียนวัฒนชัย อายุ 79 ปี เกิดที่ตำบลหนองแสง อำเภอหนองบึก จังหวัดนครพนม ประเทศไทย ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เป็นบุตรสาวคนที่ 4 ของครอบครัวเวียนวัฒนชัย จากบิดาชื่อ นายกี ชายสัญชาติเวียดนาม เชื้อชาติฝรั่งเศส เนื่องจากความยากจนในยุคนั้น จึงอพยพย้ายถิ่นมาจากประเทศเวียดนามมายังประเทศไทยตั้งแต่สมัยก่อนเกิดสงครามเวียดนาม เข้ามาประกอบอาชีพเกษตรกรรม และ ได้สมรสกับมารดาของคุณเรียนชื่อ นางแฮ และมีบุตรธิดาด้วยกัน 12 คน ซึ่งทั้ง 12 คนเกิดในจังหวัดนครพนม ประเทศไทย

          บิดา นายกี เงี่ยน สัญชาติเวียดนาม เชื้อชาติฝั่งเศส เกิดที่ประเทศเวียดนามใน พ.ศ. 2442 ซึ่งเมื่อคำนวณจากอายุของคุณเรียนและพี่น้องแล้ว คาดว่าบิดาเข้ามาในประเทศไทยก่อน พ.ศ. 2470 และมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวใน พ.ศ. 2480

          มารดา นางแฮ ตามคำบอกเล่าของคุณเรียน เกิดที่ประเทศไทย ซึ่งเมื่อคำนวณจากอายุของคุณเรียนและพี่น้องแล้ว คาดว่ามารดา เกิดในราว พ.ศ. 2450 และน่าจะมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเช่นกัน

          เมื่อพิจารณาแล้วบิดามารดาของคุณเรียนได้สมรสกันก่อนเริ่มบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2478 เป็นต้นไป การสมรสจึงบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ซึ่งอาศัยเพียงข้อเท็จจริงที่ว่าชายหญิงนั้นได้อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยเปิดเผย ถือว่าเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องจดทะเบียนสมรสกันอีก ดังนั้น พิจารณาได้ว่า นายกี เงี่ยน เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของคุณเรียน

การพิจารณาการได้มาซึ่งสัญชาติไทยของคุณเรียน

          การพิจารณาสัญชาติของคุณเรียนนั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยประกอบกฎหมายว่าด้วยสัญชาติในขณะคุณเรียนเกิด ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456[1] ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคุณเรียนเกิดในประเทศไทย คุณเรียนจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน ตามมาตรา 3(3)[2] แต่อย่างไรก็ดีแม้พิสูจน์ได้ว่ามารดา คือ นางแฮ เกิดในประเทศไทย ซึ่งนางแฮจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน ตามมาตรา 3(3) เช่นกัน แต่ไม่อาจส่งผลให้คุณเรียนได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิตจากมารดา ตามมาตรา 3(2)[3] เนื่องจากคุณเรียนมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องพิจารณาตามสัญชาติของบิดา แต่บิดาคุณเรียนเป็นคนต่างด้าวจึงไม่อาจได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ดังนั้น คุณเรียนจึงมีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน

การพิจารณาการเสียสัญชาติไทยของคุณเรียน

  • ผลกระทบจากการรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

          ต่อมาบิดาได้ทำเรื่องขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้คุณเรียน ซึ่งเดิมขณะคุณเรียนและพี่น้องอีก 4 คน อายุต่ำกว่า 12 ปี บิดาได้นำแจ้งชื่อของบุตรทั้งห้าในแบบของราชการและใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดา ครั้นเมื่อบุตรอายุ 12 ปีก็ไม่ได้นำบุตรมาขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เนื่องจากเข้าใจว่าบุตรมีสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนในประกาศของทางราชการที่ว่าให้บุตรของคนญวนมารับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว บิดาจึงได้ดำเนินการเพื่อให้คุณเรียนและพี่น้องมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ดังนั้น คุณเรียนจึงถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ตั้งแต่ พ.ศ. 2488 จนถึงปัจจุบัน จึงมีประเด็นต้องพิจารณาว่าการรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวนั้นทำให้คุณเรียนเสียสัญชาติไทยหรือไม่

          ในขณะที่คุณเรียนรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวนั้น เป็นไปตั้งแต่ พ.ศ. 2488 ซึ่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 มาตรา 16 ทวิ[4] ได้บัญญัติถึงการเสียสัญชาติไทยเนื่องจากการรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบุคคลที่เกิดในประเทศไทย และมีบิดาเป็นคนต่างด้าว แต่อย่างไรก็ดีศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาในกรณีนี้ไว้ ดังปรากฎตาม ฎ. 1452/2498 ซึ่งเป็นกรณีหญิงมีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนแต่มีบิดาเป็นคนต่างด้าว ต่อมาได้สมรสกับคนต่างด้าว แต่ทั้งนี้การสมรสก็มิได้กระทบต่อสัญชาติไทยของหญิง ต่อมาหญิงนั้นได้ขอขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตาม กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว เหตุเพราะดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานโดยมิใช่ความสมัครใจของหญิงเอง กรณีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษามติที่ประชุมใหญ่[5]ว่า “ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์จำเลยไม่สืบพยาน ตามฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยที่รับกันฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนไทย โจทก์ไม่ได้สืบว่ากฎหมายประเทศจีนยอมรับภรรยาให้มีสัญชาติตามสามี ฉะนั้นจำเลยจึงยังเป็นคนไทยอยู่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าเรื่องนี้จำเลยปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานและรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเพราะได้สมรสกับสามีซึ่งเป็นคนต่างด้าว มิใช่เป็นการรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวโดยสมัครใจ จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 16 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 จำเลยยังไม่ขาดสัญชาติไทย จึงไม่ผิดตามฟ้องพิพากษายืน” ดังนั้น จึงพิจารณาได้ว่าการเสียสัญชาติไทยเนื่องด้วยการรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวนั้น ต้องเป็นกรณีที่หญิงมีเจตนารับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมีเจตนาถือสัญชาติอื่น เพราะหากเป็นการรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวโดยไม่สมัครใจและเป็นผลให้หญิงต้องเสียสัญชาติไทย และกลายเป็นคนไร้สัญชาติแล้วนั้น ศาลวางหลักไว้ดังคำพิพากษาข้างต้นแล้วว่าจะให้บุคคลขาดจากสัญชาติไทยไม่ได้

          กรณีของคุณเรียน เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่ารับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวครั้งแรก เนื่องจากบิดาเข้าใจประกาศของราชการคลาดเคลื่อน และการต่ออายุครั้งต่อ ๆ มาเป็นไปเพราะเข้าใจว่าต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยคุณเรียนเชื่อว่าตนยังเป็นสัญชาติไทยมาโดยตลอด ดังนั้น การรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของคุณเรียนจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นไปด้วยความสมัครใจอย่างแท้จริง คุณเรียนจึงไม่อาจเสียสัญชาติไทยจากการรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

  • ผลกระทบจากข้อ 1[6] แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 พ.ศ. 2515 หรือเรียกว่า ปว. 337

การวิเคราะห์ผลกระทบของ ปว. 337 นั้น ต้องพิจารณาการเข้าเมืองของบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือมารดากรณีไม่ปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ประกาศฉบับนี้มุ่งหมายใช้บังคับกับบุตรของคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย หรือเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพียงชั่วคราว เนื่องจากหวั่นเกรงว่าบุคคลดังกล่าวจะไม่จงรักภักดีต่อประเทศไทยและเป็นภัยต่อความมันคง อันเนื่องมาจากปัญหาการอพยพลี้ภัยและลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุคสมัยนั้น จึงบัญญัติขึ้นมาเพื่อถอนสัญชาติไทยบุคคลเหล่านี้ รวมถึงบุตรหลานก็ไม่อาจได้สัญชาติไทยตาม ข้อ 2[7] แห่งกฎหมายฉบับนี้อีกด้วย

เนื่องจากกรณีของคุณเรียนนั้นปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องพิจารณาการเข้าเมืองของบิดาคือคุณกี ซึ่งน่าจะเข้ามาประเทศไทยมาก่อนวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470 มีผลบังคับใช้ การเข้าเมืองไทยของคุณกี จึงบังคับตามกฎหมายจารีตประเพณี ซึ่งการเข้าเมืองของคนต่างด้าวไม่จำต้องขออนุญาตต่อทางราชการไทย แม้ไม่มีเอกสารแสดงการอนุญาตเข้าเมืองของประเทศไทย ก็เป็นการเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับ ฎ. 153/2505[8] ดังนั้น คุณเรียนจึงอาจไม่ตกอยู่ในบังคับของ ปว. 337 อันส่งผลให้ต้องถูกถอนสัญชาติไทยตาม ข้อ 1

  • ผลกระทบจากมาตรา 7 ทวิ[9] แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508

การวิเคราะห์ผลกระทบของมาตรา 7 ทวิ นั้น ต้องพิจารณาการเข้าเมืองของบิดา (ทั้งบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) หรือมารดา กล่าวคือ กฎหมายฉบับนี้มุ่งความเสมอภาคระหว่างชายหญิง ในการให้บุตรได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิตทั้งจากบิดาและมารดา ตามมาตรา 7[10] รวมทั้งยกเลิกปว. 337 แล้วนำมาบัญญัติใหม่เป็น มาตรา 7 ทวิ ทั้งนี้ ผลร้ายจากการปรับแก้กฎหมายดังกล่าวคือ กรณีบุคคลซึ่งเกิดในประเทศไทยและมีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว ทั้งบิดาและมารดาต้องเข้าเมืองในลักษณะถาวร บุตรจึงจะได้สัญชาติไทย ซึ่งหากบุตรไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่งแล้วนั้น บุตรจะถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม ซึ่งมาตรา 11 วรรคหนึ่ง[11] บัญญัติให้การบังคับใช้มาตรา 7 ทวิ ย้อนหลังไปถึงผู้ซึ่งเกิดก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศใช้ คือบังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ด้วย ดังนั้น จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงของคุณเรียนตามกฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วย

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าบิดา คือ นายกี เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวร จึงไม่เป็นข้อยกเว้นให้คุณเรียนไม่ได้รับสัญชาติไทย และต้องถูกกระทบจากผลร้ายของบทสันนิษฐานตามมาตรา 7 ทวิ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาที่มารดา คือ นางแฮ หากฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นางแฮ เกิดที่ประเทศไทย หรือมีสัญชาติไทย หรือเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวร ก็จะไม่เป็นข้อยกเว้นให้ให้คุณเรียนไม่ได้รับสัญชาติไทย และต้องถูกกระทบจากผลร้ายของบทสันนิษฐานตามมาตรา 7 ทวิ เช่นกัน

นอกไปจากนั้น ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มุ่งให้บุตรได้รับสัญชาติโดยสืบสายโลหิตทั้งจากบิดาและมารดา ดังนั้น หากฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นางแฮ เกิดที่ประเทศไทย และมีสัญชาติไทย จะส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 คุณเรียนมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 และมาตรา 10[12] แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 อีกด้วย

               

 

 



[1]บังคับใช้เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2456

[2]มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 บัญญัติว่า “บุคคลเหล่านี้ได้บัญญัติว่าเป็นคนไทย คือ

(1)     บุคคลนั้นได้กำเนิดแต่บิดาเปนคนไทย แม้เกิดในราชอาณาจักรก็ดี เกิดนอกราชอาณาจักรก็ดี

(2)     บุคคลนั้นได้กำเนิดแต่มารดาเปนคนไทย แต่ฝ่ายบิดาไม่ปรากฏ

(3)     บุคคลผู้กำเนิดในพระราชอาณาจักรสยาม

(4)     หญิงผู้ได้ทำงานสมรสกับคนไทยตามกฎหมายประเพณี

(5)     คนต่างประเทศได้แปลงชาติมาถือเอาสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติ”

[3]เพิ่งอ้าง, เชิงอรรถที่ 2

[4] มาตรา 16 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 (แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรแต่บิดาเป็นคนต่างด้าวนั้น ถ้าได้รับใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้ว ให้ขาดจากสัญชาติไทย ไม่ว่าจะได้รับใบสำคัญประจำตัวก่อนหรือหลังวันพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ”

[5]ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 23/2498

[6]ข้อ 1 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 (พ.ศ. 2515) บัญญัติว่า “ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะทีเกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น”

[7]  ข้อ 2 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 (พ.ศ. 2515) บัญญัติว่า “บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น”

[8] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 153/2505 “ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองได้ประกาศในประเทศไทย เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๗๐ จำเลยเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งยังไม่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองในขณะนั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน การเข้ามารในราชอาณาจักรไทยของจำเลยในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นการเข้าได้โดยเสรี จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษายืน”

[9]มาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 (แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า “ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในกรณีที่เห็นสมควรรัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ให้ถือว่าผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น”

[10]มาตรา 7  แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 บัญญัติว่า “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(2) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง”

[11]มาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า “ บทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้ได้รับสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”

[12] มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย”

หมายเลขบันทึก: 503360เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2012 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2012 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท