อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป..บันทึกอีกครั้ง


ดิฉันเองตอนนั้น อาการป่วยเป็นมากแล้ว พูดคุยทางโทรศัพท์ ฟังไม่ค่อยชัดแล้ว...ครูตกใจมากเพราะคิดว่า เอ พิการขนาดนี้จะเรียนไวโอลินไหวหรือ

อ่านบันทึกของน้องทิมดาบมาค่ะ ที่นี่ พาให้หวนนึกถึงประโยชน์ของ ดนตรี ที่มีคุณูปการต่อตัวเองสมัยเมื่อเจ็บป่วยหนัก พศ.2549 

ตอนนั้นเจ็บป่วย ต้องพักงาน เรื่องมันเกิดโดยไม่ได้วางแผนมาก่อน จากมีร่างกายที่แข็งแรงมาก ทำงานตั้งแต่เช้ามืด ถึงสองทุ่มทุกวัน ต้องมาพักงาน หมอให้อยู่เฉย ๆ ทั้งวัน ฟุ้งซ่านมาก

ถ้าไม่ได้เรียนดนตรีในครานั้น คงสับสนกับชีวิตมาก

เมื่อเริ่มเรียนดนตรี เรียนพอได้ อ่านโน้ตดนตรีได้ และบังเอิญหัดเขียนบทกวี ประจวบเหมาะกับหัวหน้าใหญ๋ที่โรงพยาบาล จัดหากิจกรรมรวมใจเหล่าพี่น้องโรงพยาบาล

จึงเกิด วงดนตรี "พราว"  

เกิดบทเพลงเพื่อชีวิต และเกิดแผ่นเพลง "โรงพยาบาลที่รัก"

และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานเพลงครั้งแรกในชีวิต

ไม่น่าเชื่อแต่เป็นไปแล้ว

 

คิดถึงขึ้นมาคราใด ยังสนุกไม่ลืมค่ะ


                      Large_111222

         

                       วง พราว มาจากคำว่า พราว และ proud

 

บันทึกไว้ดังนี้ค่ะ

 

ดิฉันเองตอนนั้น อาการป่วยเป็นมากแล้ว พูดคุยทางโทรศัพท์ ฟังไม่ค่อยชัดแล้ว ...ครูตกใจมากเพราะคิดว่า เอ พิการขนาดนี้จะเรียนไวโอลินไหวหรือ


ความเดิม *เมื่อป่วยใช้สายตาไม่ได้สะดวก โดนบังคับหยุดงาน ทำอะไรดีล่ะ
จึงคิด อ้อไม่เพียงแค่คิด เรียนจริงเลยล่ะ เรียนไวโอลินเพื่อพัฒนา(ฝึกสมาธิด้วย)หู และทักษะสมองซีกขวา เป็นสิ่งแรก *

*********************************

เมื่อแรกที่ติดต่อคุณครูสอนไวโอลิน พูดคุยกันทางโทรศัพท์ คุณครูเกิดอาการงง เล็กน้อย เพราะปกติส่วนใหญ่ลูกศิษย์ของครู จะอายุประมาณหกขวบขึ้น ยังไม่เคยมี ลูกศิษย์ที่อายุสี่สิบขวบขึ้นเลย มั้ง



ดิฉันเองตอนนั้น อาการป่วยเป็นมากแล้ว พูดคุยทางโทรศัพท์ ฟังไม่ค่อยชัด จึงขออนุญาตคุณครูว่า เรานัดพูดคุยกันต่อหน้าดีมั้ย เผื่อว่าถ้าครูเห็นว่าพอเรียนไหว หรือเรียนเครื่องดนตรีอะไรไม่ได้ ก็จะขอแค่เรียน อ่านโน้ต

ดิฉันบอกว่า ดิฉันยังไม่เคยเรียนดนตรีมาเลยในชีวิต

ตอนนั้นยังไม่กล้าบอกความจริงว่า จริง ๆ แล้ว แค่ร้องเพลงก็ยังร้องไม่เป็น

มักจะผิดคีย์และผิดจังหวะ เรียกได้ว่า ให้ร้องเพลง ขอร้องไห้ แทนจะดีกว่า


ครูมาบอกทีหลังว่า ฟังเสียงแล้วเกิดความรู้สึกว่า


  1. ผู้พูดอยากเรียนมาก ๆหนึ่ง
  2. ผู้อยากเรียนที่มีอายุแล้วก่อให้เกิดความรู้สึกท้าทายต่อผู้สอนอีกหนึ่ง
  3. จะสอนคนไม่เคยเรียนดนตรีมาเลยได้ไหมอีกหนึ่ง
  4. และประการที่สี่ ครูเกิดความรู้สึกอะไรบอกไม่ถูก แต่ อยากสอน




ครูจึงแต่งตัวและให้ลูกชายของครูพ่วงรถจักรยานยนต์มาพบว่าที่ลูกศิษย์คนนี้

 

เมื่อครูและลูกศิษย์พบหน้ากันครั้งแรก

ครูตกใจมาก !!! เพราะคิดว่า...เอ พิการขนาดนี้จะเรียนไหวหรือ !!!


ขณะพูดคุยกับครูนั้น ดิฉันไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่
ลุ้นว่า ครูจะรับสอนหรือไม่


ครูเขาจะเคยเห็นคนที่ไม่สบายด้วยโรคนี้หรือไม่
มันอาจมีอาการที่ฟ้องออกมาในตอนนั้นที่ไม่น่าดูเท่าไร

ไหนจะพูดไปใช้ผ้าเช็ดหน้าซับน้ำลายที่ไหลท้นช่องปากออกมา
ไหนดวงตาข้างหนึ่งก็เบิกโพลง ปิด หรือ กระพริบหนังตาไม่ได้
มุมปากด้านเดียวกันที่ป่วยก็เบี้ยว

ใช่แล้ว ดิฉันป่วยเป็นโรค Facial palsy หลังกลับจากปักกิ่ง


ปีนั้นอากาศที่ปักกิ่งหนาวมาก ลบสิบห้าองศา
พื้นถนนเต็มไปด้วยน้ำแข็งตามรอยที่มีน้ำค้าง

สระน้ำในพระราชวังของพระนางซูสีไทเฮา เป็นสระน้ำแข็งทั้งสระ

ไกด์ท้องถิ่นบอกว่า สามารถเล่นสกีน้ำแข็งได้ !!!

ดิฉันมัวแต่คอยพะวงเรื่องลูกจะหนาว คอยพันผ้าให้เขา คอยห่อผ้า ใส่หมวก ผูกผ้าคาดจมูก จนลูกเหลือแต่ลูกตาโผล่มา

เป็นไปได้ว่าเราดูแลตัวเราเองน้อยไป
นอนหลับยากด้วย ผิดที่ ไม่ถูกกับอากาศหนาว และยังมาโดนปลุกแบบ หกเจ็ดแปด อีก ร่างกายจึงอ่อนแอ

คงติดไวรัสตระกูลใดตระกูลหนึ่งที่ปักกิ่งนี่แหละ

เพราะเมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย สิบสี่วันหลังจากนั้น ดิฉันมีอาการปวดร้าว ที่หนังศีรษะซีกซ้าย ค่อย ๆ ปวดแผ่ว ๆ ผ่าว ๆ แล้วมากขึ้น ๆ จนหวีหรือแปรงผมไม่ได้เลย

จำได้ว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ ปรึกษาเพื่อนรุ่นพี่ ทั้งหมอผิวหนัง หมอหูคอจมูก และ หมอระบบประสาทวิทยาทางอายุรกรรม


แต่เราคงติดสายพันธุ์ที่แปลก ๆ จึงปวดนาน
ปวดนำเป็นเดือน โดยไม่มีอาการอ่อนแรงให้เห็น

เมื่ออาการปวดเป็นอาการเด่น และปวดจนต้องใช้ยาระงับปวดอย่างแรง
จนกระทั่งอาการปวดนั้นมันชัดเจนว่าปวดจากระบบประสาท ซึ่งมีลักษณะ ปวดเป็นจังหวะ ปวดมากเป็นเวลา เวลาปวดจะมีความรู้สึก ปวดตามการเต้นของชีพจรโลหิต (pulsatile pain) และ ปวดร้าวเป็นพื้นที่ตามที่ปมประสาทควบคุม


ทนอยู่นานจนอาการปวดที่ว่านี้รบกวนการนอน คือ ต้องสะดุ้งตื่นเพราะความปวดติด ๆ กันมากกว่าสองส้ปดาห์ และต้องระงับการปวดด้วยยานอนหลับชนิดแรง

เพื่อน ๆ และรุ่นพี่ไม่ยอมให้เราทนอยู่เฉย ๆ แล้ว จับเราตรวจอย่างละเอียด ทั้งคอมพิวเตอร์สมอง ช่องหู และเตรียมการส่องตรวจด้วยกล้องขยายในห้องผ่าตัด

ระหว่างนั้น ใคร ๆ ในที่ทำงานเริ่มทราบเรื่อง


น้องหมอคนหนึ่งที่เป็นวิสัญญีแพทย์บอกว่า ระหว่างรอหนึ่งถึงสองวันนี้

จะฝังเข็มเพื่อระงับปวดให้เอาไหม

ดิฉันตอบรับสิคะ เพราะมีศรัทธากับแพทย์แผนจีนหนึ่ง และเพราะมันปวดมากโดยไม่เลือกเวลาแล้วหนึ่ง


ขนาดนั่งกำหนดจิตใจ ตามลมหายใจกับเพื่อนสนิท (หัดนั่งสมาธิ) อาการดีขึ้นแต่เมื่อหยุดปฎิบัติ อาการปวดก็กลับมา


เมื่อน้องวิสัญญีแพทย์ รักษาอาการปวดให้ดิฉันด้วยการฝังเข็ม ติดต่อกันสองวัน

อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบนใบหน้าและในช่องปากจึงปรากฎ


เราบ้วนน้ำ บ้วนปากหลังแปรงฟันไม่ได้ ตอนแปรงฟันก็เริ่มผิดสังเกต และเลา ๆ ว่า ใช่แล้วแน่ เราเป็น Facial Palsy กระมัง


*เป็นหมอแต่ไม่เคยป่วยด้วยโรคเอง อาการงง บวกไม่แน่ใจเกิดขึ้นได้ค่ะ
ตัวอย่างคือ ดิฉันไงคะ


อีกอย่าง อาการและลักษณะที่ปวดนำมาก่อนค่อนข้างนาน ไม่เหมือนรายอื่น ๆ ที่เห็นจึงพาให้งงอยู่นาน หลายหมอด้วยนะคะ


(กำลังคิดว่า คนไข้เองคงทนอาการปวดได้นาน อดทนกว่าเรา หรือเปล่า???)


มีต่ออีกสักบันทึกใหม่ค่ะ


ยาวเพราะเหมือน ดิฉันพบโลกใหม่หลังป่วย โลกทัศน์เปลี่ยน


โลกแห่งศิลปหลาย ๆ เรื่อง ที่เพิ่งมาเกิดพลังอะไรไม่รู้ ขยันเรียนรู้
ลองผิดลองถูก ทั้งเรียนเขียนร้อยกรอง
ทั้งโคลงสี่สุภาพ กลอนแปดสุภาพ กาพย์ยานีสิบเอ็ด

เรียนโน้ตดนตรี หัดแต่งเพลง แต่งเพลง(ลูกทุ่ง)

เรียนไวโอลิน

และเริ่มเข้ามาอ่าน สังเกต เก็บเอาความรู้ใน GotoKnow แหล่งความรู้อันยิ่งใหญ่นี้

 

 

(มีต่อ)





คำสำคัญ (Tags): #ดนตรี#happy ba
หมายเลขบันทึก: 503236เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2012 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2014 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นประสบการณ์ที่น่าเอามาเล่าเป็นอย่างยิ่งเลยนะคะ คุณหมอเล็ 

Blank ช่วงสัปดาห์นี้จะมี day off คงได้มาเล่าต่อค่ะ คุณโอ๋ ขอบคุณที่ตามอ่านค่ะ

 

;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท