“บ้านท่าช้าง” ชุมชนไร้สารเคมี ทำนาอินทรีย์ปลูกข้าวพื้นเมือง


จากจุดเริ่มที่เหมือนไร้ทางออก สู่ความสำเร็จที่ชาวชุมชนได้รับกันถ้วนหน้า ชาวบ้านหามติร่วมที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาชุมชนของตนเอง โดยขยับระดับชุมชนขึ้นไปอีกขั้น จึงก่อตั้งเป็น “วิชชาลัยรวงข้าว” ขึ้น เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง และทำมติประชาคมร่วมกันว่าจะทำเกษตรปลอดสารเคมี

“บ้านท่าช้าง” ชุมชนไร้สารเคมี

ทำนาอินทรีย์ปลูกข้าวพื้นเมือง

            จุดเริ่มต้นของความพยายามที่จะทำให้ชุมชนของตัวเองอยู่อย่างสมบูรณ์พูนสุข  ย่อมเกิดจากคนในชุมชนเองลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ก่อนจะลงมือจัดการ เพื่อแก้ไขปัญหาและร่วมกันสร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้เกิดแก่ชุมชน อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านท่าช้าง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

            บ้านท่าช้างตั้งอยู่เขตที่ลุ่มของจังหวัดพัทลุง อาชีพหลักของชาวบ้านคือการทำนา และด้วยวิถีการผลิตที่เน้นปลูกข้าวเพื่อขาย ทำให้ชาวนาที่นี่เร่งการผลิต ใช้สารเคมีทุกประเภท เพื่อให้ข้าวได้ผลผลิตสูงๆ แต่ผลที่ตามมาคือต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กำไรในแต่ละปีจึงเหลือเพียงน้อยนิด ที่สำคัญกว่านั้น ชาวนาบ้านท่าช้างต่างมีร่างกายทรุดโทรมลงเรื่อยๆ อย่างไม่ทราบสาเหตุ

            ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงร่วมกันคิดค้นหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำ “โครงการลดมลพิษผลิตข้าวปลอดภัย” ภายใต้ชุดโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมกว่า 50 คน

            การดำเนินโครงการเริ่มจากประชุมสภาหมู่บ้าน แล้วตรวจหาระดับสารเคมีในเลือด ก่อนและหลังฤดูการทำนา พบว่า ร้อยละ 60 ที่มีสารเคมีปนเปื้อนในร่างกาย เนื่องจากชาวบ้านเกือบทุกคนใช้สารเคมีเร่งการผลิตในนาข้าวค่อนข้างมาก สารพิษต่างๆ จึงตกค้างในร่างกาย จากสาเหตุนี้จึงเกิดเป็นแนวร่วมทำนาข้าวเกษตรอินทรีย์ขึ้น นอกจากจะได้ผลทางสุขภาพแล้ว ยังตอบโจทย์เรื่องลดต้นทุนการผลิตที่ชาวนาต้องเผชิญกับค่าปุ๋ยเคมีและพันธุ์ข้าวที่มีราคาสูงอีกด้วย

            หลังจากนั้น สมาชิกร่วมโครงการจึงได้ร่วมกันทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ ได้ผลผลิตร่วมกันกว่า 6 ตันนำมาแบ่งกันใช้ เกิดห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ในแปลงนาเช่นในอดีต และยังกลับมาใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง เพราะพบว่าทนแล้ง ทนโรค ทนแมลง และทนน้ำท่วมได้ดี

            บุญรัตน์ หนูด้วง หนึ่งในแกนนำผู้ดำเนินโครงการ เล่าว่า แม้ว่าจะไม่สามารถผลิตเป็นข้าวอินทรีย์ 100% อย่างที่ตั้งใจ เพราะว่ายังคงมีสารเคมีเจือปนมาจากน้ำในคลอง แต่ข้าวพื้นเมืองอินทรีย์ที่ปลูกก็ลงทุนน้อย ประกอบกับการทำนาในรูปแบบหว่านห่างจึงได้ข้าวที่แตกกอสมบูรณ์ หรือที่เรียกว่า “หว่านน้ำตม” เพลี้ยะก็ไม่มากิน ประกอบกับเมล็ดข้าวที่ได้จากนาอินทรีย์มีเมล็ดแข็ง แมลงไม่มากิจ ผลที่ได้จากการดำเนินโครงการอย่างน้อยก็สามารถปลดภาระจากสารเคมีที่เกษตรกรเป็นทาสมานาน มาเป็น เกษตรกรไท”

            นอกจากนี้ สมาชิกที่ทำนาอินทรีย์บ้านท่าช้าง ยังได้คำตอบด้วยว่า ทางรอดของชาวนาในสภาวะดินฟ้าอากาศเช่นปัจจุบัน ชาวนาต้องหันมาปรับต้นทุนการผลิต มาทำข้าวนาปี ใช้น้ำฝนเป็นหลัก เพื่อลดต้นทุนค่าสูบน้ำ แล้วเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสม คือใช้ข้าวพันธุ์พื้นเมืองให้มากขึ้น ซึ่งพบว่า ข้าวพันธุ์สังข์หยด เป็นข้าวที่เหมาะสมกับน้ำท่วมมากที่สุด

            “ขณะเดียวกันชาวนาก็ควรลดต้นทุนด้วยการทำน้ำหมักและปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง กลับมาใช้วิถีการทำนาแบบเดิมที่ช่วยเหลือกันลงแขก และออกปากเก็บข้าว (เกี่ยวข้าว)” บุญรัตน์ กล่าว

            เมื่อการดำเนินโครงการผ่านมา ปี นอกจากเครือข่ายโครงการลดมลพิษผลิตข้าวปลอดภัยของ สสส. จะได้ผลผลิตเป็นนาอินทรีย์มากขึ้น เกิดแปลงนาอินทรีย์เพิ่มขึ้นถึง 20 แปลง กลุ่มชาวนาอินทรีย์ทั้ง 50 คน เกิดความมั่นคงทางอาหาร ในนากลับมามี กุ้ง หอย ปู ปลา และผัก สามารถใช้กินอยู่ได้อย่างพอเพียงและปลอดภัย

            สำหรับข้าวอินทรีย์พันธุ์พื้นเมืองที่ได้ผลผลิตในปีที่ผ่านมา ได้แก่ เฉี้ยงพัทลุง, หน่วยเขือ (วิตามินดีสูง) ข้าวเหนียวดำ และสังข์หยด ส่วนวิถีชีวิตชาวบ้านเมื่อว่างจากฤดูทำนา กลุ่มชาวนาก็ร่วมกันปลูกผักพื้นบ้าน อาทิ พริก ถั่วพลู และมะเขือ มาเป็นอาชีพเสริม เกิดกลุ่มสวัสดิการชุมชนใช้ผลได้จากปุ๋ยอินทรีย์มาให้สมาชิกที่เสียชีวิตคนละ 1,000 บาท เกิดกลุ่มออมทรัพย์วันละบาท และได้สุขภาพที่ดี กลับสู่วิถีวัฒนธรรมที่มีความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเช่นในอดีต

            จากจุดเริ่มที่เหมือนไร้ทางออก สู่ความสำเร็จที่ชาวชุมชนได้รับกันถ้วนหน้า ชาวบ้านหามติร่วมที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาชุมชนของตนเอง โดยขยับระดับชุมชนขึ้นไปอีกขั้น จึงก่อตั้งเป็น “วิชชาลัยรวงข้าว” ขึ้น เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ได้เริ่มต้นมาก่อนดำเนินโครงการแล้ว เมื่อได้รับทุนสนับสนุนก็ได้มติประชาคมว่าจะร่วมกันทำเกษตรปลอดสารเคมี

            ก้าวต่อไปของชาวนากลุ่มบ้านท่าช้าง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง คาดหวังจะเป็นนาอินทรีย์ ปลอดสารเคมีอย่างสมบูรณ์ โดยจะขยายเครือข่ายออกไปทั้งลุ่มน้ำ แล้วขายข้าวในนาให้ได้ราคาสูงกว่าท้องตลาด หรือสูงกว่าราคาที่รัฐบาลประกาศรับจำนำไว้ เพราะเชื่อว่าปริมาณความต้องการมีสูง สามารถส่งออกได้ง่าย และมีลูกค้าชาวต่างชาติมาสั่งจองเป็นจำนวนมาก

          สิ่งที่ชาวบ้านท่าช้างร่วมกันทำ เป็นตัวอย่างหนึ่งของชุมชนที่ร่วมกันศึกษาปัญหาของชุมชน และช่วยกันหาทางออก จนกลายเป็นชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน

ลงแขกเก็บพันธุ์ข้าว เพื่อกระจายพันธุ์ให้เกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป

พันธุ์ข้าวจากนาข้าวแปลงทดลอง

ชาวบ้านท่าช้างได้ฟื้นประเพณีทำขวัญข้าวขึ้นมาใหม่

กวนข้าวกระยาสารท ประเพณีดั้งเดิมที่กลับมาอีกครั้ง

ประชุมแกนนำ สร้างความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วม

หมายเลขบันทึก: 503002เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2012 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คิดถึงพ่อแม่ และบรรพบุรษจังเลยค่ะ เคยทำนา รู้ว่าเหนื่อยมาก กว่าจะได้เก็บเกี่ยว

สวัสดีค่ะท่านBlank วนาลี นาว จันทร์อร่าม  หวังว่าท่านคงจะสบายดีนะคะ

พ่อ แม่ ของดิฉัน ก็มีอาชีพทำนาค่ะ แต่ตอนนี้ท่านไปสวรรค์ แล้วค่ะ

แวะมาส่งดอกไม้ให้กำลังใจ ค่ะ อย่าลืมแวะไปเยี่ยมครูทิพย์บ้างนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท