ปิดฉากหน่วยนำร่อง KMA ( ชั่วคราว ) แล้วเจอกันใหม่ ปี 2556


เนื่องจากทีมนี้ยังต้องทำงานกันอีกนาน ดังนั้นการที่เรามีความเข้าใจกันและกัน เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด เพราะหลังจากนี้ เมื่อเข้าใจกันแล้ว ให้ความรู้อะไร ต้องการอะไร มันก็ง่าย

วันที่ 17-18 กันยายน ที่ผ่านมา พวกเราสมาชิก KM รพ.สวนสราญรมย์บางคนได้ไปร่วมกิจกรรมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการประเมินพัฒนาการการจัดการความรู้และการปรับปรุงการบริหารจัดการความรู้ของหน่วยนำร่อง ณ เดอะพาราไดซ์ รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับหน่วยนำร่องในกรมสุขภาพจิตอีก 5 โรงพยาบาล ซึ่งจัดโดย สำนักพัฒนาสุขภาพจิต  นำทีมโดย พี่เกิ้น ภัคนพิน กิตติรักษนนท์ เป็นผู้ประสานงาน โดยมีวิทยากรหลักครั้งนี้คือ อ.สมพร อินทร์แก้ว จากกลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และอ.วิไล เสรีสิทธิพิทักษ์ จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์

           การดำเนินการเรื่อง KMA ของกรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการมาตลอดในปีงบประมาณ 2555 นี้ โดยรพ.เราเป็นหนึ่งใน 6 หน่วยนำร่องของการนำ KMA หรือ Knowledge Management Assessment  มาใช้ในการประเมินการจัดการความรู้ในองค์กร ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเราก็ได้นำเครื่องมือนี้กลับไปประเมินในโรงพยาบาลแล้ว ได้ค่าคะแนนออกมา ซึ่งระหว่างนี้คือการวางแผนเพื่อปรับปรุงสิ่งที่ดีมีอยู่แล้ว Good Practice ให้กลายเป็น Best Practices โดยการมาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด และเราก็มีการพบปะกับหน่วยงานนำร่องด้วยกันมาเป็นระยะ ๆ และครั้งนี้ก็เป็นครั้งสุดท้ายของปีงบประมาณนี้ โดยผู้จัดต้องการให้เกิดบรรยากาศการแลกเปลี่ยนแบบผ่อนคลาย สบาย ๆ และเกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน จึงออกมาจัดนอกสถานที่

             เมื่อพวกเรามาถึงที่ประชุม หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเรียบร้อยแล้ว พี่เกิ้น ก็เปิดภาพทบทวนเรื่องราวให้กับที่ประชุมฟัง เพราะในครั้งนี้มีบางคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้มาก่อน และ หลังจากที่จูนเรื่องให้ตรงกันแล้ว ก็เริ่มเปิดเวทีให้กับหน่วยต่าง ๆ ได้พูดคุยกันว่าหน่วยงานของตนมีจุดแข็ง หรือผลงานใดบ้างในกระบวนงานหลักที่เป็นจุดเด่น ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถเรียนรู้ได้ และให้นำเสนอ ซึ่งแต่ละที่ก็ได้นำของดีขององค์กรตนเองมาเล่าให้ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่เราได้มากกว่านั้น คือการวิพากษ์ของ อ.วิไล ที่เชื่อมโยงให้ที่ประชุมเห็นถึงคุณค่าของงาน ซึ่งมาจากกระบวนการพัฒนาโดยใช้หลักของ ADLI  และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของการทำงานตาม หมวดของ PMQA ซึ่งอ.ทำให้มองเห็นว่า

เราต้องเริ่มจากการกำหนดกลุ่มลูกค้าของเราให้ชัดเจน ว่าคือใคร ตอนนี้เขามีปัญหาอะไร มีความต้องการอะไรอยู่ และเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการนั้น ให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ และการบริการได้ตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ เพื่อคุณภาพที่ดี เราต้องทำอย่างไรบ้าง เช่นต้องมีการสนับสนุนจากผู้บริหาร ต้องมีการพัฒนาบุคลากร พัฒนาเครื่องมือ วิธีการต่าง ๆ ให้ครอบคลุม และเป็นระบบ หลังจากนั้น เราต้องนำสิ่งที่เกิดขึ้น ไปปฏิบัติให้ครบทุกขั้นตอนที่วางแผนไว้ และติดตามประเมินผล แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อปรับปรุงต่อยอดให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายต้องวิเคราะห์และเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นกลับมาหาเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตลอดจนสิ่งที่เกิดขึ้นกับองค์กรต่อไปด้วย

เราใช้เวลาตรงนี้กันนานมาก จนเกือบ ห้าโมงครึ่ง ถึงได้ออกไปพักผ่อนกัน ซึ่งหลังจากนี้เป็นช่วงเวลาของการพักผ่อนจริง ๆ กับบรรยากาศสบาย ๆ  ริมทะเล และอาหารที่เลิศรส ทั้งการฟังและร้องเพลงร่วมกัน เพื่อสร้างความผูกพันของทีม

 

เช้าวันต่อมา อ.สมพร อินทร์แก้ว ชวนเราให้พูดคุยถึงสิ่งที่แต่ละหน่วยงานได้กลับไปทำหลังจากประเมินผล KMA แล้วและแผนที่ทั้งทีมจะดำเนินการกันต่อไปในปีงบประมาณหน้า ซึ่งแต่ละหน่วยก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันหลายอย่างมาก  เราคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีมากนะ เพราะมันทำให้เราเห็นภาพของการทำงานร่วมกันซึ่งต้องรับรู้เป้าหมาย ข้อจำกัด และสิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคของแต่ละหน่วยงาน และเป็นการเปิดใจ เปิดโอกาสให้ได้บอกเล่าเก้าสิบ  เพราะสุดท้ายเมื่อเราพูด ก็ทำให้เราได้รับรู้สิ่งที่อยู่ในใจ ทำให้มันไม่มีอะไรค้างคา มีแต่ความสบายใจ และสุดท้ายมันก็คือความ “ชัดเจน” 

เราคิดว่าอันนี้แหละคือเป้าหมายของการมาประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจริง ๆ มากกว่า ความรู้ที่ได้ไปอีกนะ เนื่องจากทีมนี้ยังต้องทำงานกันอีกนาน ดังนั้นการที่เรามีความเข้าใจกันและกัน เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด  เพราะหลังจากนี้ เมื่อเข้าใจกันแล้ว ให้ความรู้อะไร ต้องการอะไร มันก็ง่าย

 

ต้องขอขอบคุณทีมงานทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการเรื่องนี้ เพราะทีมของสวนสราญรมย์ทุกคน happy ดีมาก ๆ ใน 2 วันที่ผ่านมา และจะนำเรื่องราวนี้ไปสานต่อ พร้อมกับทำสิ่งดี ๆ ให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ค่ะ

 

หมายเหตุ

  • Approch -A คือ แนวทาง วิธีการที่เป็นระบบ สามารถนำไปใช้ซ้ำได้
  • Deployment -D คือ ดำเนินการครอบคลุมทุกขั้นตอนตามแผนทุกหน่วยงาน
  • Learning -L คือ ติดตามประเมินผลลัพธ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำสู่การปรับปรุง
  • Integration -I คือ ความสอดคล้องระหว่างแผน ปฏิบัติ วัด วิเคราะห์ ปรับปรุง มุ่งสู่เป้าหมายองค์กร

 

หมายเลขบันทึก: 502895เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2012 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท