ศูนย์การเรียนรู้ห้องเรียนนอกเวลาพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชนพิการและด้อยโอกาสในชุมชนแบบยั่งยืน


ปัจจุบันนี้ความแตกต่างของเด็ก ทั้งในโรงเรียน ในศูนย์ และในชุมชนแยกกันไม่ออกไม่มีความแตกต่างทุกคนอยู่ร่วมทำกิจกรรมแบ่งปันกันอย่างเอื้ออาทร

 

     ข้อจำกัดของระบบการศึกษาในประเทศไทยมีมากตั้งแต่การร่างหลักสูตรที่มีโครงสร้างจัดในภาพรวมโดยคำนึงถึงคนหมู่มาก บุคลากรที่รับเข้ามารับผิดชอบก็รับโดยการเฉลี่ยมองภาพมุมสูงเพื่อมาพัฒนาคนเก่ง คนที่มีความพร้อมที่จะรับรู้ ดังนั้นในมุมอับเล็กๆของแต่ละสถานศึกษาหลายแห่งที่ไม่สามารถนำทั้งสองส่วนดังกล่าวไปใช้ได้ ในมุมอับนั้นมีสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคมอาศัยอยู่ ไม่ว่าใครจะมองเขาเห็นหรือไม่ก็ตามหากเขายังมีลมหายใจเขาก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเป็นผู้ป่วย เป็นผู้ร้าย เป็นภาระ หรือเป็นตัวถ่วง การมองเห็นพวกเขาเมื่อสายไปไม่สามารถจะช่วยแก้ปัญหาอะไรให้กับเขาได้

     ครั้งหนึ่งเมื่อลูกชายบกพร่องต้องออกกลางคันได้รับฟังคำขอโทษจากครูในระดับผู้บริหาร โรงเรียนรู้เรื่องมาตลอดแต่เนื่องจากโรงเรียนมีเด็กมากจึงไม่ได้แก้ไข คำพูดแค่นี้โรงเรียนจบ แต่ชีวิตของเด็กไม่จบ เมื่อหันกลับมาดูนักเรียนในโรงเรียนที่สอนเด็กบกพร่องและเด็กด้อยโอกาสหลายคนที่ออกกลางคันด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับลูกชาย และนับวันเด็กกลุ่มนี้ยิ่งเพิ่มมากขึ้น น้ำตาของผู้ปกครอง เสียงก่นด่าสาปแช่งของชาวบ้าน ล้วนเกี่ยวข้องกับเด็กกลุ่มนี้ทั้งสิ้น จึงได้ทบทวนและย้อนกลับไปดูวิถีชีวิตวิธีคิดของตนเอง ณ วันที่ลูกชายพบปัญหาจนมาถึงปัจจุบันนี้แม้ปัญหาจะไม่หมด แต่ก็ทุเลาเบาบางลง

    ศูนย์การเรียนรู้ห้องเรียนนอกเวลาพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชนพิการและด้อยโอกาสในชุมชนแบบยั่งยืน จึงเกิดขึ้น วัตถุประสงค์ในครั้งแรกเพียงเพื่อให้โอกาสเด็ก เยาวชนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับตัวของเขา ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวในช่วงปิดภาคเรียน แต่เนื่องจากผลที่เกิดกับเด็กๆสะท้อนไปถึงผู้ปกครองและชุมชน

    ปัจจุบันนี้ศูนย์การเรียนแห่งนี้ได้มีผู้มาเยี่ยมเยือน มีสมาชิกของศูนย์ครบทุกกลุ่ม ตั้งแต่เด็ก เยาวชนพิการด้อยโอกาส พร้อมด้วยผู้ปกครอง เด็ก เยาวชนปกติพร้อมด้วยผู้ปกครอง รวมทั้งองค์กรชุมชน

    สำหรับลักษณะของศูนย์การเรียนรู้จะมีลักษณะกิจกรรมอยู่ สองลักษณะ คือ กิจกรรมทำเฉพาะกิจเป็นกิจกรรมระยะสั้นในช่วง สิบห้าสามสิบ ถึง สิบหกนาฬิกา ของตอนเย็นหลังเลิกเรียน และแปดโมงสามสิบ ถึงสิบเอ็ดโมงครึ่งในวันเสาร์ อาทิตย์ กิจกรรมที่จัดในช่วงนี้เป็นกิจกรรมที่พัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศ เช่นเตรียมฝึกซ้อมพัฒนาไปเข้าร่วมกิจกรรม ประกวด หรือแข่งขันในระดับต่างๆ ลักษณะที่สองคือกิจกรรมระยะยาวต่อเนื่องเป็นโครงการ มีหลักสูตรครบถ้วนจะจัดในเดือนตุลาคมประมาณ สิบวัน และเดือนเมษายนประมาณยี่สิบห้าวัน จะมีลักษณะมีหลักสูตรเต็มรูปแบบต่อเนื่องหวังผลในเกิดในตัวเด็กและเยาวชน โดยแบ่งออกเป็น สามส่วน คือ การพัฒนาทักษะด้านสติปัญญา  การพัฒนาทักษะด้านสังคมและคุณธรรม และการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ ระยะเวลาที่ทำต่อเนื่องมาสี่ปี พบว่าปัจจุบันตัวดิฉันเองจะเปลี่ยนบทบาทจากที่ต้องลงมือทำกิจกรรมต่างๆกับเด็กเอง มาเป้นผู้สำรวจความต้องการ วางแผนและกำหนดกิจกรรม จัดทำเป็นหลักสูตรในส่วนของการปฏิบัติการสอนในกิจกรรมต่างๆจะมีอาสาสมัคร พี่อาสา ผู้ปกครองของเด็กๆที่มีความสามารถแต่ละด้านรับอาสามาสอนให้ความรู้ แม้เมื่อดิฉันซึ่งเป้นเจ้าของศูนย์ไม่อยู่เพียงแต่เปิดศูนย์กิจกรรมทุกอย่างดำเนินได้ตามปกติ

     ปัจจุบันนี้ความแตกต่างของเด็ก ทั้งในโรงเรียน ในศูนย์ และในชุมชนแยกกันไม่ออกไม่มีความแตกต่างทุกคนอยู่ร่วมทำกิจกรรมแบ่งปันกันอย่างเอื้ออาทร

หมายเลขบันทึก: 502441เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2012 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2012 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

วันนี้ได้เปิดโครงการอย่างเป็นทางการและโชคดีที่กรมพัฒนาชุมชนได้เข้าไปถ่ายทำสารคดีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนจึงเป็นโชคดีของลูกๆแม่

นี่คืออาคารศูนย์การเรียนรู้ห้องเรียนนอกเวลาพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชนพิการและด้อยโอกาสในชุมชนแบบยั่งยืน

พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท