คณะเกษตรฯ มข. ให้ความสำคัญอาหารพื้นบ้าน จัดงานอาหารพื้นบ้านนานาชาติ


อีก 40 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน จะส่งผลต่อความมั่นคงของมนุษย์ การตระหนักถึงความสำคัญของอาหารพื้นบ้าน รวมทั้งมีการพัฒนาให้มีการบริโภคและมีปริมาณที่เพียงพอจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

        สำนักงานเกษตรนานาชาติ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ(สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ จัดงานเทศกาลอาหารพื้นบ้านนานาชาติ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ พลธานี คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2555 ตั้งแต่ เวลา 11.00 น. ณ บริเวณหน้าอาคารAG08 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
        รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ พลธานี กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลก 7,000 ล้านคน อยู่ในทวีปเอเชีย ร้อยละ 40 มีผู้ขาดอาหารถึง 150 ล้านคน และในอีก 40 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาหาร ดังนั้น การตระหนักถึงความสำคัญของอาหารพื้นบ้านของแต่ละประเทศ รวมทั้งมีการพัฒนาให้มีการบริโภคและมีปริมาณที่เพียงพอจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆที่ได้เข้าร่วมการฝึกอบรม หลักสูตร Utilizing Indigenous Food Resources for Food Security ใช้เวลาถึง 4 สัปดาห์ ที่คณะเกษตรศาสตร์จัดขึ้น ในระหว่างวันที่ 3 – 28 กันยายน 2555 ได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาหารพื้นบ้าน จึงน่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ทุกประเทศได้ตระหนัก อนุรักษ์ ส่งเสริมและพัฒนาอาหารพื้นบ้านให้มีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์มากขึ้น อาหารพื้นบ้านได้มาจากพืชและสัตว์ที่มีในท้องถิ่น แม้ว่าจะได้นำมาปลูกหรือเลี้ยง ก็จะทำได้ง่าย เพราะว่ามีการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีการศึกษาค้นคว้าคุณค่าหรือโภชนาการของอาหารทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งหลายๆชนิดมีคุณค่าอาหารทางโภชนาการสูง เราต้องนำมาใช้ประโยชน์ให้เต็มศักยภาพ
         การจัดงานอาหารพื้นบ้านนานาชาติ เป็นการนำอาหารพื้นบ้านจากไทยและต่างประเทศ มาจัดแสดงโดยจะมีการออกร้านเป็นอาหารนานาชาติจากหลายประเทศที่เข้าร่วม ได้แก่ บังคลาเทศ เนปาล ศรีลังกา จีน ฟิลิปปินส์ ติมอร์เลสเต้ มัลดีฟ ไนจีเรีย นานิเบีย เคนยา กัมพูชา คอสตาริก้า อียิป เอล-ซาวาดอร์ เสเนเกล ซูดาน ฟิจิ ซูรินาม ลาว ภูฏาน พม่า เป็นต้น ซึ่งได้ปรุงหรือประกอบอาหารพื้นบ้านของแต่ละประเทศ นำมาให้ผู้สนใจได้ชิมอย่างทั่วถึง ส่วนร้านผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้านของกลุ่มเกษตรกรอีก 20 ร้านนั้น มีรายการอาหารพื้นบ้านของไทย เช่น ปลาส้มสายเดี่ยว น้ำพริกปลาทูคุณเรียง ไอศกรีมGABAจากข้าวพันธุ์ลืมผัว ข้าวหลามสามรส แกงหน่อไม้ดอกขจร ส้มปลาชะโด ข้าวโป่งเครือตูดหมา ขนมจีนน้ำยาจิ้งหรีด หม่ำเครื่องในวัว ข้าวแดกงา ข้าวต้มมัด ข้าวต้มผัด ปลาสวายแดดเดียว แกงหวายย่านาง ออหลามหลวงพระบาง ข้าวแตนพันหน้า แหนมเห็ด ยำเห็ด น้ำข้าวโพดม่วง น้ำฟักข้าว ปลาร้าบอง แกงส้มชะอมไข่ทอด ข้าวโพดต้ม แมงสะดิ้งทอด แกงหน่อไม้ดองจิ๊โปม ไส้กรอกหมู ซุปหน่อไม้ ส้มตำร้อยเมนู ปลาเผาและอีกหลากหลายรายการที่นำมาจัดแสดง เป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้ร่วมงานที่ได้ชม ชิมอาหารจากต่างประเทศและซื้ออาหารพื้นบ้านของไทยเป็นอย่างมาก

         คลิกชมภาพข่าว

       กิตติศักดิ์ สิงหา ภาพ/ข่าว

หมายเลขบันทึก: 502417เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2012 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาหารอีสาน ไปทานที่ภาคอื่นไม่แซบเท่าบ้านเราครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท