กล้าที่จะออกจากความกลัว เพื่อพาลูกให้เป็นสุข


เริ่มจากเป้าหมายก่อน ว่าเราจะเลี้ยงลูกเพื่อให้เขามีความสุข เขาจะเป็นอะไรก็ได้ตามศักยภาพของเขา ไม่มีการบังคับ เราจะคอยประคับประคอง เพราะเราต้องการลูกที่เป็นเด็กธรรมดาที่มีความสุขก็พอ

ตอนนี้ลูกสาวเราอายุ 13 ปี แล้ว เขาเรียนอยู่ที่ชั้น ม. 2 เรามีความสุขดีกันทั้งพ่อแม่ลูก และอยากจะบอกว่าบรรยากาศแบบนี้ต้องลงทุนสร้างขึ้นมานะ ไม่ใช่ได้มาง่าย ๆ ท่ามกลางสังคมแบบทุนนิยม บริโภคนิยมแบบนี้ ที่บอกว่าลงทุนเราทำอะไรกันบ้าง

ถ้าย้อนไปช่วงน้องอิมมี่กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.6 ครอบครัวเราก็เริ่มมีความเครียด ความกังวลบ้างนิดหน่อย เนื่องมาจากเขาเป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนเก่งมาก ถ้าเทียบสมัยป.1 ที่เราเคี่ยวเข็ญเยอะ นั่งทำการบ้านด้วยกัน อ่านหนังสือด้วยกันทุกวัน เขาได้ที่ 1 พอเรียนไปเรื่อย ๆ เราก็ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้เอง ไม่ได้จัดการเรื่องนี้มาก ลำดับของผลการเรียนก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามชั้นเรียนที่เพิ่มขึ้น จำได้ว่าตอนจบป.6 เขาได้ที่ประมาณ 10 กว่า หรือมากกว่านี้แหละ ถ้าลำดับในชั้นปียิ่งเยอะเข้าไปอีก ดังนั้นเวลาจะเข้าม.1 เราพ่อแม่ก็อยากให้เขาได้เข้าโรงเรียนประจำจังหวัด ซึ่งหลายคนมองว่า OK แล้วจะทำยังงัยล่ะ ก็ทำเหมือนคนอื่น ๆ เขางัย ส่งไปเรียนพิเศษตั้งแต่ป. 5 กลาง ๆ ปี แต่เรียนแบบที่เดียวครบทุกวิชาหลัก คือเอาที่เราไม่ลำบากในการไปรับส่ง และลูกมีความสุข สนุกกับการเรียนเป็นพอ และเรียนแค่วันเสาร์อาทิตย์ ไม่บ้าจี้ส่งเรียนทุกวัน หรือเอาแบบไม่ต้องเห็นเดือนเห็นตะวันกัน แต่พอยิ่งใกล้สอบที่เรียนพิเศษก็มีคอร์สพิเศษเข้มข้นให้เรียนเพิ่มวันจันทร์ถึงพฤหัสบดี หนึ่งทุ่มถึงสามทุ่ม เราก็บ้าจี้ให้ลูกเรียนนะ ตอนนั้นลูกน่าสงสารมาก ๆ กลับมาจากที่เรียนแทบจะหลับมาในรถเลย แต่สุดท้าย  ผลออกมาก็ OK เขาได้เรียนที่นั่นตามหวัง ไม่รู้ใครสมหวัง ใครสบายใจมากกว่ากันระหว่างแม่กับลูก

เวลาก็ผ่านไป อยู่มาวันหนึ่ง แฟนเราชวนดูรายการครอบครัวเดียวกัน ตอน “บ่มพลังเพื่อลูก” ทาง youtube ที่เขามีการนำพ่อแม่มาเข้า workshop ของครูณา เขาได้ดูมาก่อนแล้วชอบมาก และอยากให้เราดูด้วย ตอนแรกเราก็ไม่อยากดู เพราะไม่ชอบให้ใครมาบังคับให้นั่งดูโน่นดูนี่ แต่ก็จำต้องดูแบบไม่ค่อยเต็มใจเท่าไหร่ แต่หลังจากดูแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอะไรที่ดีมาก ๆ มีบางตอนที่มันสะท้อนใจ ทำให้น้ำตาไหล เขามีการสอน ซึ่งคำอธิบายนั้น มันกระแทกใจเราหลายอย่าง เช่นปัจจุบันนี้พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยความกลัว กลัวสารพัด กลัวลูกจะลำบากตอนโต ดังนั้นเราก็ต้องให้เขาเรียนหนังสือเก่ง ๆ จะได้เข้า ร.ร. ดี ดีได้ เข้ามหาวิทยาลัยได้ เขาจะได้มีอาชีพ และสุดท้ายเขาจะได้มีความสุข จริง ๆ แล้วเป้าหมายของเรามันดีนะ คืออยากให้เขาโตมาแล้วมีความสุข แต่กว่าจะถึงตอนนั้น เราได้ทำให้เขาทุกข์ระหว่างเส้นทางที่จะไปถึงนั้นไปตั้งเท่าไหร่แล้ว ครูณาสอนถึงเรื่องเกี่ยวกับปัญญา 3 ฐานที่เราเคยรู้มาก่อน ว่าเด็ก 0-7 ขวบ สมองกำลังพัฒนาฐานกาย ให้เด็กได้เล่น ได้ทำอะไรเหมือนตอนที่เราเป็นเด็ก เวลาเด็กได้เล่น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการที่เขาได้รับรู้ถึงความสุข และท่ามกลางการได้เล่นสนุก สมองของเด็กก็ได้เรียนรู้ถึงหลายสิ่งหลายอย่าง แต่แน่  ๆ เขาได้รับรู้ว่าความสุขคืออะไร เขาได้มีประสบการณ์ความสุขเก็บไว้ในความทรงจำ รับรู้ว่าเขาสามารถที่จะมีความสุขได้ พออายุ 7-14 ขวบ เป็นช่วงที่เหมาะที่จะพัฒนาฐานใจ ให้เด็กได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ได้เห็นคุณธรรม ความดีงามต่าง ๆ ความรักความผูกพันระหว่างกัน ให้เด็กได้เรียนรู้ถึงการมีน้ำใจ ความดีงามซึ่งผู้ใหญ่เราต้องเป็นตัวอย่างและการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกถึงคุณธรรมพื้นฐานเหล่านี้ ให้เขาสามารถเป็นคนที่สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี มีน้ำใจไมตรี มีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ และสุดท้ายเมื่ออายุ 14 ปีไปแล้วก่อนเป็นผู้ใหญ่ สมองเขาพร้อมที่จะพัฒนาฐานคิด ให้มีความคิดที่อยากจะทำอะไรที่ดี พัฒนาตัวเองให้เก่ง ซึ่งจริง ๆ แล้ว ถ้าเด็กมีความสุขแล้ว รู้สึกเห็นคุณค่าตัวเอง เด็กก็อยากจะทำอะไรที่ดี ๆ ตามมาเอง แต่ปัจจุบันนี้พ่อแม่ในสังคมส่วนใหญ่ เลี้ยงลูกแบบกลับทางกัน เพราะมีหลายคนที่ให้ลูกเล็ก ๆ มุ่งเน้นแต่การเป็นคนเก่ง พัฒนาแต่ฐานคิด ไปเรียนพิเศษกันตั้งแต่ป.1 แล้ว เด็กกลุ่มนี้ก็จะขาดการพัฒนาฐานกาย ฐานใจ หนักแต่ฐานคิด เขาก็จะเป็นคนเก่งที่ไม่มีความสุข และไม่มีคุณธรรม เหมือนที่เราเห็นเด็กบางคนเรียนเก่งแต่เห็นแก่ตัว ไม่สนใจความรู้สึกใคร ไม่มีคุณธรรม เพราะเขาโตมากับการแข่งขัน โตมากับการต้องชนะเท่านั้น และก็แบกแต่ความทุกข์ ไม่รู้จะทำอย่างไรให้ตัวเองมีความสุข

ใน workshop ก็จะมีการพูดถึงอะไรหลายอย่างที่ให้ข้อคิดที่อาจจะใหม่ๆเยอะ ดังนั้น หลังจากที่เราสองคนดูด้วยกันแล้วก็นั่งพูดคุยกันนานพอสมควร จึงได้ข้อสรุปว่า เราจะเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูลูก เริ่มจากเป้าหมายก่อน ว่าเราจะเลี้ยงลูกเพื่อให้เขามีความสุข เขาจะเป็นอะไรก็ได้ตามศักยภาพของเขา ไม่มีการบังคับ เราจะคอยประคับประคอง เพราะเราต้องการลูกที่เป็นเด็กธรรมดาที่มีความสุขก็พอ พอได้เป้าหมายแล้ว วิธีการก็ตามมาเพื่อตอบสนองให้ได้ตามเป้าหมายนั้น เราจะไม่เน้นเรื่องการเรียนให้มากกว่าการทำให้เขามีความสุข การให้เขาได้เรียนรู้คุณธรรมที่ดี การมีความรักความผูกพัน การมีน้ำใจ หรือการทำให้เขาเป็นคนดี เพราะเราเชื่อว่า ความเก่งของเขามันจะมาเองตามศักยภาพ ถ้าเขาจะเป็นคนเก่ง เขาก็จะเก่งอยู่ดี เมื่อถึงเวลา แต่เราอยากให้เขามีความสุขด้วยระหว่างการใช้ชีวิต เชื่อมั้ย พอเราตกลงกันได้แล้ว เราทั้ง 2 คนรู้สึกโล่งเลยนะเหมือนเราชัดเจนในการที่จะเลี้ยงดูเขา มันรู้สึกสบายใจ แล้วเราก็ทำอย่างนั้นจริง ๆ เราไม่กดดันในเรื่องการเรียน  ไม่คาดหวังซึ่งทำให้เกิดความเครียดในการแสดงออกต่อกันในครอบครัว ทำให้บรรยากาศในการอยู่ร่วมกันก็เปลี่ยนแปลงไปเลยนะ ไม่บีบคั้น แล้วอิมมี่เขาก็รู้สึกได้ มีตัวอย่างหนึ่งที่เห็นก็คือ ที่บ้านเราจะมีกีตาร์ของพ่อแขวนอยู่บนผนัง มันก็แขวนมานานแล้ว อยู่มาวันหนึ่งอิมมี่เขาพูดขึ้นมาว่าเขาอยากลองเล่นกีตาร์ดู เราก็ OK หยิบมาให้เขาก็ลองเล่น ลองดีดไปมา หลังจากนั้นก็หยิบขึ้นมาเล่นเองบ่อย ๆ เราก็เห็นว่าเขาน่าจะเล่นได้ และเขาก็บอกว่าอยากซื้อตัวเล็ก ๆ มาเล่น เราก็ OK ซื้อให้เป็นของเขาเองหนึ่งตัว ซึ่งตอนนี้เขาก็ยังเล่นอยู่เสมอ หาคอร์ดเอง ลองหัดเอง หรือให้พ่อสอนบ้าง โดยที่เราไม่ต้องบอกหรือบังคับอะไร เขาก็พัฒนาความสามารถใฝ่หาความรุ้ ทักษะ และหัดเล่นไปเรื่อย ๆ เอง ระหว่างนั้นก็ดูมีความสุขดี เราถือว่าเนี่ยเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเขาอยู่ในบรรยากาศที่ไม่กดดัน เขาก็จะดึงศักยภาพของเขาออกมาได้

ยังมีอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้น แล้วจะเล่าให้ฟังวันหลัง

เราอยากบอกกับทุกคนว่า พ่อแม่ต้องกล้า กล้าที่จะพาตัวเองออกมาจากความกลัว ครอบครัวเราไม่ต้องเหมือนคนอื่นก็ได้ เราทุกคนในครอบครัวมีสิทธิ์ที่จะมีความสุขได้ทุกวัน อนาคตมันยังมาไม่ถึง ไม่ต้องรอให้ลูกเราเป็นคนเก่งก่อน เพราะลูกเราสามารถที่จะมีความสุขได้ตั้งแต่วันนี้ เก่งไม่เก่งไม่สำคัญเท่า เมื่อเขาสุข เขารู้ว่าเขาจะอยู่อย่างไร ทำอย่างไร ให้ชีวิตเขาไปได้รอดปลอดภัย นั่นสำคัญกว่าเป็นคนเก่งที่ไม่มีความสุข คอยไข่วคว้าหาแต่ไม่ถึงเป้าหมายสักที

หมายเลขบันทึก: 502185เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2012 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีใจแทนลูกๆ ของท่านจังเลยนะคะ

ถ้าอยากสร้างบรรยากาศดีดีในบ้านให้อ่านบันทึกก่อนหน้านี้ ได้ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/385484

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท