วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ……กับการอ่าน


การอ่านเป็นทักษะในการรับสารที่สำคัญอีกทักษะหนึ่งนอกจากการฟัง การอ่านเป็นการรู้รับรู้ความหมายและเข้าใจความหมายจากสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร ในโลกของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเช่น ปัจจุบันการอ่านนอกจากจะยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือแสวงหาความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ว่าการอ่านยังเป็นเครื่องมือผ่อนคลายอารมณ์ และสร้างสรรค์จินตนาการอย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้น การเรียนรู้ ฝึกฝนให้มีความสามารถในการอ่านจึงเสมือนการติดอาวุธทางปัญญาและสร้างความเข้มแข็งด้านอารมณ์ สังคม และการดำรงชีวิตให้แก่มนุษย์นั่นเอง

วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ……กับการอ่าน

 

        นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้จัดงานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ประจำปี 2555 วันที่ 8 กันยายน 2555 โดยนางอิริน่า โบโกว่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยที่เป็นผู้นำด้านวาระการศึกษาในระดับโลก ในระหว่างการเยือนประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 8-10 กันยายน ตามคำเชิญของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนางอิริน่า ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของความเคลื่อนไหวทางการศึกษาเพื่อปวงชน เนื่องในวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ 8 กันยายนของทุกปี โดยได้ชี้ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นด้านการศึกษาของไทย ซึ่งใช้แนวคิดและรูปแบบของประชาธิปไตยและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เชิงนวัตกรรมต่างๆ[1]

        นายสุชาติ ธาดาธำรงเวชกล่าวอีกว่า มีความคิดที่จะส่งเสริมให้คนไทยได้อ่านหนังสือเพิ่มขึ้น เพราะค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือของคนไทยอยู่ที่ปีละ 8 บรรทัดเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก จึงมอบหมายให้สำนักงาน กศน.เสนอของบประมาณปี 2556 เพื่อทำโครงการ ”บ้านหนังสืออัจฉริยะ” โดยได้รับอนุมัติเป็นวงเงิน 450 ล้านบาท เพื่อจัดหาหนังสือพิมพ์ หนังสือรายปักษ์และรายสัปดาห์เข้าไปไว้ในบ้านหนังสือที่จะตั้งขึ้นในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2556 จะเริ่มจำนวน 40,000 หมู่บ้านก่อน และจะขยายจนครบ 80,000 หมู่บ้านในปีต่อไป

     จากประเด็นดังกล่าวการส่งเสริมให้คนไทยสนใจหรือรักการอ่านหนังสือให้มากขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการอ่านของคนไทยให้มากกว่าปัจจุบันนี้ เพราะว่า การอ่านเป็นทักษะในการรับสารที่สำคัญอีกทักษะหนึ่งนอกจากการฟัง การอ่านเป็นการรู้รับรู้ความหมายและเข้าใจความหมายจากสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร ในโลกของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเช่น ปัจจุบันการอ่านนอกจากจะยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือแสวงหาความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ว่าการอ่านยังเป็นเครื่องมือผ่อนคลายอารมณ์  และสร้างสรรค์จินตนาการอย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้น การเรียนรู้ ฝึกฝนให้มีความสามารถในการอ่านจึงเสมือนการติดอาวุธทางปัญญาและสร้างความเข้มแข็งด้านอารมณ์ สังคม และการดำรงชีวิตให้แก่มนุษย์นั่นเอง

     พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 กล่าวถึง [2]ความหมายของการอ่านไว้ว่า การอ่าน หมายถึงว่า ตามตัวหนังสือออกเสียงตามตัวหนังสือดูหรือเข้าใจความจากตัวหนังสือ สังเกตหรือพิจารณาดูเพื่อให้เข้าใจ

      ธิดา โมสิกรัตน์ และคณะ กล่าวว่า การอ่าน คือ[3] กระบวนการค้นหาความหมายจากสิ่งพิมพ์เป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ของผู้อ่าน การอ่านไมได้หมายความเฉพาะการมองผ่านแต่ละประโยค หรือแต่ละย่อหน้าเท่านั้น แต่ผู้อ่านต้องเข้าใจความคิดนั้น ๆ ด้วย  

            นภดล  จันทร์เพ็ญ กล่าวว่า การอ่าน คือ[4] การแปลความหมายของตัวอักษรเครื่องหมายสัญลักษณ์ เครื่องสื่อความหมายต่าง ๆ ที่ปรากฏแก่ตาออกมาเป็นความคิดความเข้าใจเชิงสื่อสาร แล้วผู้อ่านสามารถนำความคิดความเข้าใจนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ต่อไป

          จากความหมายดังกล่าวพอจะสรุปได้ว่า การอ่าน คือ กระบวนการค้นหา รับรู้และเข้าใจความหมายของสิ่งที่อ่าน โดยผ่านกระบวนการจับใจความสำคัญ และตีความ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และพัฒนาตนเองทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคม  การอ่านเป็นกระบวนการของการรับสารที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์  ข้อมูลข่าวสารและความเจริญก้าวหน้าในความรู้ทุกประเภท ปรากฏเผยแพร่ในรูปของสิ่งพิมพ์เกือบทั้งสิ้นปัจจุบันแม้ว่าจะมีสื่ออื่น ๆ  เข้ามามีบทบาทต่อการเรียนรู้ของมนุษย์มากขึ้น  ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ เป็นต้น แต่การอ่านก็ยังถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ไม่อาจนำสื่ออื่น ๆ  มาทดแทนได้  หนังสือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ไขไปสู่โลกแห่งสรรพวิทยาการ  โลกแห่งความเพลิดเพลินและจินตนาการโดยไม่จำกัดเวลา สถานที่ และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด.

 

 



[1] ชนิดา ศรีปัญญา. สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์.

[2] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525,พิมพ์ครั้งที่ 6,(กรุงเทพฯ อักษรเจริญทัศน์,2539), หน้า 941.

[3] ธิดา โมสิกรัตน์ และคณะ,”ภาษาไทย1” ในเอกสารการสอนวิชาภาษาไทย หน่วยที่ 9 – 15 ,พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า 34-36.

[4] นภดล จันทร์เพ็ญ, การใช้ภาษาไทย, หน้า 73.

หมายเลขบันทึก: 501763เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2012 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท