พูดจาอย่างไร...ให้สง่างาม


โบราณเคยบอกว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย” หลายคนมาแผลงเป็น “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากปากจะมีสี” จะยึดคำกล่าไหนก็ได้แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การ “พูดให้ดี”

          ทำไมต้องพูดให้ดี เพราะการพูดให้ดีนั้นฟังแล้ว “เข้าหู” ชวนฟัง ชวนให้คล้อยตาม ชวนให้รู้สึกประทับใจและก่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ตามมาได้อีกมากมาย เพราะตลอดทั้งชีวิตเราต้องอาศัยการพูดเป็นการสื่อสารที่สำคัญ พูดไม่เป็น พูดไม่เข้าหูคน หรือพูดแล้วคนอยากพาไป “ผ่าสุนัขออกจากปาก” อย่างที่เขาล้อ ๆ กันนั้น ท่าทางชีวิตจะย่ำแย่ ดังนั้นพูดอย่างไรให้สง่างามแก่ชีวิตของเราเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และหัวข้อดังต่อไปนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถประสบความสำเร็จในเรื่องการพูดได้

1.  คนจะพูดดีได้ต้องเริ่มจากคิดดี  ไม่มีประโยชน์ที่เราจะเริ่มต้นจากการคิดร้ายแม้กับคนที่เราไม่ถูกชะตาด้วยที่สุดก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องพูดจาไม่ดีกับเขา การคิดดีถือเป็นเรื่องพื้นฐานจิตใจที่ดีงามของมนุษย์ การพูดจาดีสะท้อนถึงการให้เกียรติและความเคารพต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งครอบครัว สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การผ่านการอบรม หรือแม้แต่ผู้ที่คอยให้คำแนะนำล้วนมีผลต่อการพูดจาดีของเราทั้งนั้น ที่สำคัญการพูดจาดีเราต้องไม่พูดใส่ร้าย กล่าวโทษผู้อื่นโดยที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ หรือการตัดสินคนอื่นว่าเค้าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ โดยไม่รู้ตัว

2.  พูดถูกกาลเทศะ  ไม่ใช่ตลอดเวลาที่เราจะพูดได้ต้องมีบ้างบางขณะที่เราต้องหยุดพูดเพื่อเป็นผู้ฟังที่ดี อย่าทำตัวน่ารำคาญด้วยการพูดไม่หยุดหย่อน ไม่ดูวาระและโอกาส คนเรามีปากแค่ปากเดียว แต่มีหูสองหู เราจึงควรไวในการฟัง แต่ช้าในการพูด อย่ามอบอำนาจทั้งหมดให้ลิ้นเพราะแม้เป็นอวัยวะที่เล็กแต่ก็สามารถทำลายทุกอย่างได้เช่นกัน

3.  พูดมีเนื้อหาสาระ  การพูดในลักษณะนี้ต้องมีเป้าหมายในการพูด พูดอย่างมีสาระ มีขอบเขตที่ชัดเจนว่าต้องการสื่อสารเรื่องอะไร หรือต้องการจะบอกกับผู้ฟังอย่างไร

4.  พูดจาให้น่าฟัง  การพูดนั้นควรมีการเน้นจังหวะและเว้นจังหวะให้เกิดความน่าสนใจ ดึงดูดผู้ฟังให้ชวนติดตาม ควรฝึกลมหายใจระหว่างการพูดอย่างให้ติดขัด น้ำเสียงกังวานแจ่มใส ดังพอประมาณ พูดจาฉะฉานชัดเจน

5.  พูดให้เกิดความรู้สึกร่วม  สบตากับผู้ฟังอย่างทั่วถึง ตั้งคำถามในขณะพูดแล้วค่อย ๆ อธิบายเพื่อนำไปสู่คำตอบ สอบถามผู้ฟังบ้างในบางหัวข้อที่ง่าย ๆ หรือเป็นเรื่องของประสบการณ์ เป็นเรื่องของความคิดเห็นที่ไม่ใช่เรื่องที่เมื่อตอบแล้วมีถูกหรือผิด คือ ให้ผู้ฟังได้แสดงความคิดเห็นนั้นเอง

ที่มา : www.healthnet.in.th  เขียนโดย อ.ประณม  ถาวรเวช สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพ

คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 501761เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2012 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2012 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท