The Pianist


ความวิปโยคจากอคติทางเชื้อชาติ

ในสงครามโลกครั้งที่สอง เอกลักษณ์อันน่าสพรึงกลัวประการหนึ่ง คือการที่บรรดาพลพรรคนาซีกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอย่างขนานใหญ่นับล้านๆ ศพ กลายเป็นสเมือนบาดแผลสำคัญในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และทำให้ฮิตเลอร์กับพรรคนาซีกลายเป็นผู้ร้ายน่าขยะแขยงมาตลอด แต่สิ่งที่อาจดูเหมือนแปลกคือการที่ในปัจจุบันยังคงมีพรรคนีโอนาซีในต่างประเทศ รวมถึงคนไทยบางคนเองก็ยังเที่ยวแสดงความเห็นในที่ต่างๆ โดยเฉพาะตามเว็บบอร์ดในเชิงว่าเห็นฮิตเลอร์และพรรคนาซีเป็นฮีโร่ กระทำถูกแล้วที่เข่นฆ่าคนจำนวนมากโดยอ้างว่าเป็นชนชาติที่ก่อปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ว่าไปแล้วจะไปโทษว่าคนพวกนี้โง่เง่า ขวางโลก ไร้มนุษยธรรมเหมือนพวกนาซีได้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ในเมื่อบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่ชนะสงครามในครั้งนั้น รวมถึงประเทศอิสราเอลและชาวยิวในหลายๆ ครั้งก็ไม่ได้ดูดีในสายตาชาวโลกและชาวไทยเท่าไหร่นัก เช่น นายจอร์จ โซรอส ที่เป็นต้นเหตุปัญหาเศรษฐกิจไทยเมื่อหลายปีก่อน เกริ่นมาซะยาวขนาดนี้ เพียงเพื่อจะแนะนำให้ท่านได้ชมภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อีกเรื่องหนึ่ง ที่สร้างจากบันทึกเหตุการณ์จริงของนักดนตรีระดับโลกชาวโปแลนด์เชื้อสายยิวที่ต้องเผชิญความยากลำบากในช่วงที่ประเทศโปแลนด์ถูกเยอรมันยึดครองจนแทบเอาชีวิตไม่รอด นั่นคือเรื่องของวลาดิสลาฟ สปิลมัน (Wladylaw Szpilman) ในภาพยนตร์เรื่อง The Pianist ครับ

ภาพยนตร์เริ่มเรื่องในเดือนกันยายน ปี 1939 (พ.ศ.2482) วลาดิสลาฟ สปิลมัน หรือ วลาเดค กำลังเล่นเปียโนให้กับสถานีวิทยุกรุงวอซอว์ ซึ่งเล่นได้ไม่ทันจบก็ต้องเผ่นกลับบ้านเนื่องจากทนการทิ้งระเบิดของฝ่ายเยอรมันไม่ได้จริงๆ ที่บ้าน ครอบครัวของเขา (พ่อ แม่ และพี่น้องชายหญิงอีกสามคน รวมเขาเป็น 6 คน) กำลังเตรียมรับสถานการณ์สงคราม ขณะที่มีข่าวที่เหมือนจะเป็นข่าวดีว่าอังกฤษได้ประกาศสงครามกับเยอรมันแล้ว และฝรั่งเศสกำลังจะประกาศสงครามด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้มีผลอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เมื่อกองทัพเยอรมันยาตราเข้ายึดครองโปแลนด์โดยสมบูรณ์ ครอบครัวสปิลมันและชาวยิวในโปแลนด์เริ่มผจญชะตากรรมต่างๆ เป็นลำดับ เช่น

  • จำกัดจำนวนเงินของชาวยิว ห้ามชาวยิวเข้าร้านอาหาร ใช้สวนสาธารณะ ม้านั่ง และสัญจรบนทางเท้า ฯลฯ
  • ประกาศให้ชาวยิวติดสัญลักษณ์ดาว 6 แฉก ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 1939 (พ.ศ.2482)
  • ให้ชาวยิวอพยพเข้าไปภายในเขตกักกัน (Ghetto) ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 1940 (พ.ศ.2483)ขณะอยู่ในเขตกักกัน ครอบครัวสปิลมันได้รับความลำบากยากแค้น แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ลำบากกว่า ขณะที่ชาวยิวที่มีเงินสามารถติดสินบนพนักงาน และพอใช้ชีวิตหรูหราได้บ้าง วลาเดคเองได้งานทำจากการเล่นเปียโนในร้านอาหารของพวกมีเงินนี้เอง15 มีนาคม 1942 (พ.ศ.2485) แม้ว่าวลาเดคจะสามารถใช้เส้นสายหางานให้คนในครอบครัวทำในโรงงานแห่งหนึ่ง แต่ก็ไม่วายมีทหารเยอรมันมาแยกตัวคนยิวหนุ่มสาวส่วนหนึ่งไป รวมถึงเฮนริกและเฮลินา น้องชายและน้องสาวของวลาเดค ต่อมา วันที่ 16 สิงหาคม ปีเดียวกัน ครอบครัวสปิลมันและชาวยิวอื่นๆ ก็ถูกกวาดต้อนมายังสถานีรถไฟแห่งหนึ่ง ครอบครัวสปิลมันได้พบกับเฮนริกและเฮลินาอีกครั้งหนึ่ง ท่านที่ติดตามประวัติศาสตร์คงพอเดาได้ว่าครอบครัวสปิลมันกับชาวยิวอื่นๆ กำลังเผชิญกับอะไร แต่ขณะที่วลาเดคกำลังเดินตามครอบครัวไปขึ้นรถไฟมรณะขบวนนั้นที่กำลังจะไปยังค่ายนรกที่มีชื่อว่าทริบิงก้า ตำรวจยิวที่รู้จักกับครอบครัวสปิลมันได้แอบช่วยวลาเดคให้รอดพ้นออกมาเพียงคนเดียว

    โชคดีคือ วลาเดค รอดชีวิตมาได้ แต่โชคร้ายคือเขาไม่ได้พบกับครอบครัวอีกเลย

    วลาเดคต้องผจญความยากลำบากในเขตกักกันยิวต่อไปตามลำพัง โดยได้ไปทำงานเป็นกรรมกรในเขตก่อสร้างแห่งหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อเขาพอเห็นช่องทาง จึงได้อาศัยเส้นสายจากพวกที่เป็นขบวนการต่อต้านเยอรมัน ช่วยพาเขาออกจากเขตก่อสร้างไปพบกับเพื่อนสองสามีภรรยาที่เป็นนักแสดง ซึ่งได้ช่่วยเขาให้ไปซ่อนตัวอยู่ในตึกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแนวกำแพงที่ล้อมเขตกักกันชาวยิว และแล้ววันหนึ่ง วลาเดคก็ได้เห็นการสู้รบระหว่างพี่น้องชาวยิวของเขาในเขตกักกันกับทหารเยอรมัน ในเหตุการณ์การลุกฮือของชาวยิวที่ประวัติศาสตร์ขนานนามในภายหลังว่า Warsaw Ghetto Uprising เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19 เมษายน ถึง 16 พฤษภาคม 1943 (พ.ศ.2486) ซึ่งจบลงด้วยความปราชัยของฝ่ายต่อต้านหลังจากที่พยายามต่อสู้มาเกือบเดือนหลังเกิดเหตุการณ์การลุกฮือของชาวยิวได้ไม่นาน สามีภรรยาที่ช่วยเหลือวลาเดคถูกเยอรมันจับตัว แม้วลาเดคจะไม่อยากย้ายที่ซ่อน แต่เมื่อไม่มีคนส่งเสบียงให้ ในที่สุดก็ต้องหนีไปตามที่อยู่ฉุกเฉินที่เคยได้รับ และได้รับความช่วยเหลือจากโดโรธา น้องสาวของยูเร็ค เพื่อนสมัยที่ยังทำงานสถานีวิทยุซึ่งบัดนี้แต่งงานแล้ว โดโรธากับสามีได้ช่วยหาที่ซ่อนใหม่ให้กับวลาเดค จากแนวคิดที่ว่าที่ๆ อันตรายที่สุดคือที่ๆ ปลอดภัยที่สุด วลาเดคต้องมาหลบซ่อนอยู่ในตึกในเขตเยอรมันซึ่งฝั่งตรงข้ามมีทั้งสถานีตำรวจและโรงพยาบาลทหาร อยู่มาไม่นาน วลาเดคก็ได้พบเห็นสงครามกับตาอีกครั้งในวันที่ 1 สิงหาคม 1944 (พ.ศ.2487) เมื่อชาวโปแลนด์ได้ลุกฮือขึ้นสู้กองทัพเยอรมันบ้าง ในเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์เรียกขานต่อมาว่า Warsaw Uprising ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึง 2 ตุลาคม 1944 (พ.ศ.2487) การลุกฮืดครั้งนี้แน่นอนว่าเป็นเพื่อการปลดแอกตนเองจากการปกครองของเยอรมัน แต่ปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือกองทัพแดงของรัสเซียที่รุกคืบใกล้เข้ามา ทำให้ชาวโปแลนด์อยากขับไล่เยอรมันด้วยลำแข้งตนเองจริงๆ เพื่อให้รอดพ้นจากการครอบครองของรัสเซีย ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ การลุกฮือครั้งนี้ต้องประสบกับความพ่ายแพ้เช่นเดียวกับการลุกฮือของชาวยิว แต่ก็เป็นการลุกฮือที่สู้รบกันอย่างรุนแรง เขตเยอรมันที่วลาเดคหลบซ่อนอยู่ถูกฝ่ายต่อต้านโจมตีอย่างหนัก จนวลาเดคต้องหลบหนีไปยังโรงพยาบาลทหารฝ่ายตรงข้ามซึ่งกลายเป็นตึกร้างไปแล้ว เมื่อฝ่ายเยอรมันพยายามรบชิงพื้นที่คืน วลาเดคต้องหลบหนีปืนไฟข้ามกำแพงไปอยู่ในเขตเมืองร้างที่มีแต่ซากตึกเต็มไปหมดขณะที่วลาเดคต้องอยู่อย่างอดๆ อยากๆ ในที่ซ่อนใหม่ วันหนึ่งสถานการณ์ของเรื่องก็พลิกกลับ เมื่อวลาเดคได้พบกับนายร้อยเอกทหารเยอรมันมาดเข้มรายหนึ่ง แทนที่เขาคนนี้จะทำร้ายสปิลมันดังเช่นทหารเยอรมันรายอื่นที่วลาเดคเคยเจอ เขากลับไต่ถามสารทุกข์สุขดิบ ขอให้วลาเดคเล่นเปียโนให้ฟัง และขอให้พาไปยังที่ซ่อน วันต่อๆ มา นายทหารผู้นี้ได้นำอาหารมาให้วลาเดค และกลายเป็นผู้ที่ช่วยเหลือเขามาตลอดจนถึงวันที่กองทัพเยอรมันต้องถอยหนีกองทัพแดงโดยทิ้งเสื้อคลุมไว้ให้วลาเดคใส่กันหนาว เสื้อคลุมตัวนี้เกือบทำให้วลาเดคถูกทหารโปแลนด์ยิงตายเพราะนึกว่าเป็นเยอรมัน แต่ที่สุดเขาก็รอดชีวิตมาได้ ขณะที่เจ้าของเสื้อคลุมโชคร้ายกว่า เมื่อมีนักไวโอลินรายหนึ่งไปพบเขาอยู่ในค่ายเชลยศึกของฝ่ายรัสเซีย กว่านักไวโอลินผู้นี้จะพาวลาเดคกลับมายังที่ตั้งค่ายเชลยศึกดังกล่าวได้ วลาเดคก็พบแต่ความว่างเปล่าเสียแล้ว

    นายทหารเยอรมันคนดังกล่าวมีนามว่า Wilm หรือ Wilhelm Hosenfeld ซึ่งคำบรรยายท้ายเรื่องกล่าวเพียงว่าเขาได้เสียชีวิตในค่ายเชลยศึกของรัสเซีย ในวันที่ 13 สิงหาคม 1952 (พ.ศ.2495) ในประวัติที่มีผู้รวบรวมไว้ได้บ้างกล่าวว่า แม้เขาจะเป็นสมาชิกพรรคนาซีมาตั้งแต่ปี 1935 (พ.ศ.2478) แต่เมื่อได้มาประจำการในโปแลนด์ เขากลับมีความคิดที่สวนกระแสกับกองทัพเยอรมันที่ปฏิบัติการฆ่าฟันผู้คนในประเทศนี้ และได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของเขาช่วยเหลือผู้คนทั้งชาวโปแลนด์และชาวยิวเป็นจำนวนมากให้รอดพ้นเงื้อมมือกองทัพเยอรมันไว้ได้ น่าเสียดายว่ากองทัพรัสเซียจับตัวเขาได้ในเวลาต่อมา และไม่เชื่อว่าเขาจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่างๆ ของกองทัพเยอรมัน จึงตัดสินลงโทษให้เขาทำงานในค่ายกักกัน 25 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตดังที่กล่าว บรรดาลูกหลานของ วลาดิสลาฟ สปิลมัน และผู้ที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากเขาได้เรียกร้องมาตลอดที่จะให้มีการรำลึกถึงความกรุณาของเขา จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้นี่เอง (ตุลาคม 2007 - พ.ศ.2550) ที่ประธานาธิบดีโปแลนด์ได้ประกาศมอบเหรียญ Commander’s Cross of the Order of Polonia Restituta ให้แก่ Hosenfeld บทความนี้จึงขอร่วมรำลึกและเชิดชูคุณความดีของท่านร้อยเอก Wilhelm Hosenfeld ด้วยเช่นกันค่ะ

หมายเลขบันทึก: 501680เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2012 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กันยายน 2012 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท