บทที่ 2 (2/4)


ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทย ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497

การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ

ประวัติกฎหมายรับราชการทหาร

                 กฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารที่ใช้อยู่ปัจจุบันในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สัสดี ประกอบด้วย พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 กฎกระทรวง ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 51 ซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทยในระเบียบการอันเกี่ยวกับพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน คือ ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติสัญชาติ และยังมีระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม คำสั่งกองทัพบก ซึ่งเป็นรายละเอียดกำหนดเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ยึดถือปฏิบัติ

               ตามลักษณะวิธีการเกณฑ์ทหาร ในสมัยโบราณไม่ปรากฏว่ามีหลักฐาน เพิ่งจะมีหลักฐานเป็นเอกสารที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 22 เรื่องตำนานการเกณฑ์ทหาร โดยแบ่งเป็น  4  ยุคใหญ่ คือ ยุคก่อนกรุงสุโขทัย ยุคกรุงสุโขทัย ยุคกรุงศรีอยุธยา และ ยุคกรุงรัตนโกสินทร์

                พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ใช้บังคับตั้งแต่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2497 และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.479 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งได้ใช้มาเป็นระยะเวลา 55 ปีแล้ว โดยมิได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

กฎหมายฉบับนี้ได้ประกาศใช้และได้มีวิวัฒนาการ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแก้ไขและยกเลิกตามกาลสมัยหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

1. ข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.122 (พ.ศ.2446)

2. พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) ได้มีพระราชบัญญัติและประกาศแก้ไขเพิ่มเติม 3 ครั้ง คือ

        2.1 พระราชบัญญัติเพิ่มเติมลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.127 (ว่าด้วยคนสมัครคนอาสาและลูกจ้าง (พ.ศ.2451)

        2.2 ประกาศแก้ไข เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ร.ศ.129 (พ.ศ.2453)

        2.3 ประกาศแก้ไข เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2456

3. ข้อบังคับการเรียกเข้ารับราชการตำรวจภูธร ร.ศ.126 (พ.ศ.2450)

4. พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2460 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม 1 ครั้ง คือ พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเพิ่มเติม พ.ศ.2466

5. พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ.2475 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม 1 ครั้ง คือ พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2477

6. พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2479 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม 4 ครั้ง คือ

      6.1 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2481

      6.2 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2483

      6.3 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2489

      6.4 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2494

7. พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน    4 ครั้ง คือ

7.1 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2498              

7.2 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507

7.3 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 226 ลง 15 ต.ค.2515

7.4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 300 ลง 13 ธ.ค. 2515

พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พุทธศักราช 2497 ได้บัญญัติและเกี่ยวข้องกับประชาชนชายไทยที่สำคัญไว้ ดังนี้

1. มาตรา 7 ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน

2. มาตรา 16 บรรดาชายซึ่งมีสัญชาติไทย เมื่อมีอายุย่างเข้าสิบแปดปีในพุทธศักราชใด ให้ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายในพุทธศักราชนั้น ผู้ใดไม่สามารถไปลงบัญชีทหารกองเกินด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้ไปแจ้งแทน ให้นายอำเภอสอบสวน ผู้ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกิน ตามมาตรานี้แล้วให้ถือว่าเป็นทหารกองเกิน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของพุทธศักราชถัดไป

3. มาตรา 25   ทหารกองเกินเมื่อมีอายุย่างเข้ายี่สิบเอ็ดปีในพุทธศักราชใดต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนภายในพุทธศักราชนั้น ผู้ใดไม่สามารถจะไปรับหมายเรียกด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและพอจะเชื่อถือได้ไปรับหมายเรียกแทน ถ้าไม่มีผู้แทนให้ถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงขัดขืน

4. มาตรา 27  ทหารกองเกินซึ่งถูกเรียกต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกตามกำหนดหมายนั้น โดยนำใบสำคัญทหารกองเกิน บัตรประจำตัวประชาชน และประกาศนียบัตรหรือ หลักฐานการศึกษามาแสดงด้วย ถ้าไม่มาหรือมาแต่ไม่เข้ารับการตรวจเลือก หรือไม่อยู่จนกว่าการตรวจเลือกแล้วเสร็จ ให้ถือว่าทหารกองเกินนั้นหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่มาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือก

5. มาตรา 36 ทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนมีหน้าที่เข้ารับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม และในการระดมพล

6. มาตรา 44 บุคคลใดไม่มาลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา 16 หรือมาตรา 18 หรือไม่มาลงบัญชีทหารกองเกินใหม่ตามมาตรา 19 หรือไม่ยอมลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา 21 หรือไม่มารับหมายเรียกที่อำเภอตามมาตรา 25 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                        7. มาตรา 45 บุคคลใดหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่มาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการตามหมายเรียกของนายอำเภอ หรือมาแต่ไม่เข้ารับการตรวจเลือก หรือไม่อยู่จนกว่าการตรวจแล้วเสร็จ หรือหลีกเลี่ยง หรือขัดขืนด้วยประการใด ๆ เพื่อจะไม่ให้เข้ารับราชการทหารกองประจำการตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี

                        8. มาตรา46 ทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนผู้ใดหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม หรือในการระดมพลตามมาตรา 36 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสี่ปี

                9. มาตรา 47 ทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนผู้ใด หลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบตามมาตรา  36  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

การเกณฑ์ทหาร

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2550 ที่ใช้ในปัจจุบัน กำหนดไว้ในหมวดที่ 4 หน้าที่ของชายไทย มาตรา 73 บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม พิทักษ์ ปกป้องและสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่นและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ซึ่ง มาตรา 7 บัญญัติว่า  ชายที่มีสัญชาติเป็นไทย ตามกฎหมายมีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน และการได้มีสัญญาติไทยเป็นไปตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508ดังนั้นหน้าที่ของชายไทยทุกคนต้องรับราชการทหาร หรือ ต้องไปเกณฑ์ทหาร ซึ่งปกติการเกณฑ์ทหาร จะกระทำกันในช่วงเดือน เม.ย. ของทุกปี  ปีละครั้ง หากได้รับการคัดเลือก ต้องเข้ารับราชการเป็นทหารจำนวน 2 ปี  แต่มีข้อยกเว้น และผ่อนผันสำหรับผู้ที่เรียนวิชารักษาดินแดน (ร.ด.) หรือผู้ที่สำเร็จ การศึกษาในระดับต่าง ๆ ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติรับราชการทหารและกฎกระทรวง

การลงบัญชีทหารกองเกิน หรือขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน

คำสั่งกองทัพบก ที่ 1173/2528 เรื่อง ให้ใช้คำแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ในสายงานสัสดี พ.ศ.2529  กำหนดชายที่มีสัญชาติไทย เมื่อมีอายุย่างเข้า 18 ปี หรือ17 ปีบริบูรณ์ ใน พ.ศ.ใด ให้ไปแสดงตน เพื่อลงบัญชีทหารกองเกินไปขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน ณ อำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของตน ภายใน พ.ศ.นั้น ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 31 ธ.ค. เช่น เกิด พ.ศ.2524 ต้องไปขึ้นทะเบียนทหารใน พ.ศ.2541ผู้ใดไม่สามารถไปขึ้นทะเบียนทหารกองเกินด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติ และเชื่อถือได้ไปแจ้งแทน ปกติควรให้ผู้ปกครอง ถ้าไม่ไปแจ้งแทนในปีนั้น ถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน ถ้าทางอำเภอแจ้งความดำเนินคดี มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 300 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อได้ลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว ให้ถือว่าเป็นทหารกองเกินตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. ของปีถัดไป

1. การนับอายุ

คนเกิดวันใด เดือนใดก็ตาม ในปีเดียวกันเมื่อสิ้นปีนั้น อายุจะเท่ากันหมด คือ 1 ปีบริบูรณ์ และ

นับเป็นอายุย่าง 2 ปีด้วย เช่น คนเกิดวันที่ 1 ม.ค.2555 กับคนเกิดวันที่ 31 ธ.ค.2555 เมื่อสิ้นปี 2555 และในวันที่ 1 ม.ค.2556 ให้นับอายุครบ 1 ปีบริบูรณ์ และจะมีอายุย่าง 2 ปี เท่ากัน เรื่อยไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2556  และเมื่อสิ้นปี 2556 แล้ว ในวันที่ 1 ม.ค.2557 ให้นับอายุครบ 2 ปีบริบูรณ์และจะมีอายุย่าง    3 ปีด้วย ให้นับเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ตามที่ต้องการ  การจะทราบว่าอายุปัจจุบันเท่าใดให้เอา พ.ศ.ปัจจุบันตั้งลบด้วย พ.ศ.เกิด เช่น คนเกิด พ.ศ.2538 จะมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือย่างเข้า 18 ปี ตลอดปี 2555 คือ อายุครบและอายุย่าง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.55 - วันที่ 31 ธ.ค.55

2. บุคคลที่จะได้สัญชาติไทย ต้องเข้าหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

2.1 เกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

2.2 เกิดนอกราชอาณาจักรไทย โดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย แต่ไม่ปรากฏบิดาที่

ชอบด้วยกฎหมายหรือบิดาไม่มีสัญชาติ

2.3 เกิดในราชอาณาจักรไทย นอกจากผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ที่มีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว  และขณะที่เกิดบิดามารดาเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต หรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางการทูต หรือพนักงาน หรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การระหว่างประเทศ และคนในครอบครัว  ซึ่งเป็นญาติอยู่ในอุปการะหรือคนใช้  ซึ่งเดินทางจากต่างประเทศ มาอยู่กับบุคคลดังกล่าว

2.4 ผู้ที่ได้แปลงสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย

2.5 บุคคลที่ได้กลับคืนสัญชาติไทย

3. การลงบัญชีทหาร 

กรณีบิดาและมารดาสมรสกันตามกฎหมาย ให้ถือภูมิลำเนาของบิดาเป็นหลัก ในการลงบัญชีทหาร ถ้าบิดาถึงแก่กรรมแล้ว มารดายังมีชีวิตอยู่ หรือถ้าทั้งบิดาและมารดาถึงแก่กรรมแล้ว มีผู้ปกครอง ให้ถือภูมิลำเนาในการลงบัญชีทหาร ที่อำเภอท้องที่ที่มารดา หรือผู้ปกครองมีภูมิลำเนาแล้วแต่กรณี หรือถ้าบุคคลดังกล่าวถึงแก่กรรมหมด ให้ลงบัญชีทหารที่อำเภอท้องที่ ที่ผู้ขอลงบัญชีทหารมีภูมิลำเนาอยู่ ภูมิลำเนาคือการที่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้าน การขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน ผู้ขอยื่นใบแสดงตน เพื่อขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน ต้องนำหลักฐานคือสูติบัตร หรือบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ที่มีชื่อบิดา หรือมารดา ต่อนายอำเภอท้องที่ เมื่อนายอำเภอท้องที่ได้ตรวจสอบหลักฐานเอกสาร เห็นว่าถูกต้องแล้ว จะรับลงบัญชีทหาร และออกใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9) ให้เป็นหลักฐาน ทางราชการได้ให้ระยะเวลา ในการลงบัญชีทหารไว้ ตั้งแต่มกราคม ถึง ธันวาคม ในปีที่มีอายุย่าง 18 ปี และในเดือนกันยายนของทุกปี ทางอำเภอจะประกาศเตือน ให้ผู้ที่ยังมิได้ลงบัญชีทหาร ให้ไปลงบัญชีทหารให้เสร็จสิ้น ตามระยะเวลาที่กำหนดด้วย ประกาศเช่นว่านี้จะปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ     ที่ทำการกำนัน ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และที่เปิดเผยตามชุมชนในท้องที่นั้น กับนายอำเภอจะส่งประกาศให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนำไปแจ้งให้ราษฎรในท้องที่ของตนทราบด้วย ถ้าผู้ใดไม่ไปลงบัญชีทหารกองเกินภายในกำหนด จะถูกดำเนินคดีอาญาฐานหลีกเลี่ยงขัดขืน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าทางอำเภอ ได้ส่งรายชื่อไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกินสามร้อยบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

4. การลงบัญชีทหารกองเกินแทน

ผู้ใดมีความจำเป็นไม่สามารถไปลงบัญชีทหารด้วยตนเองได้ต้อง ให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และเชื่อถือได้ไปแจ้งแทน โดยปกติจะเป็นบิดา มารดา หรือพี่ ซึ่งจะต้องเป็นกรณีที่ กระชั้นวันหมดเขตระยะเวลาการลงบัญชี ประมาณเดือนธันวาคม โดยมีความจำเป็นดังนี้  ป่วย, ไปอยู่ต่างประเทศยังไม่มีกำหนดกลับ หรือ มีกำหนดกลับ แต่วันที่จะกลับ เลยกำหนดเวลาการลงบัญชีทหารกองเกินแล้วหรือ ไปศึกษาต่างท้องที่ ไม่สามารถจะกลับไปได้ เพราะติดการสอบไล่ บุคคลซึ่งยังมิได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามระยะเวลาที่กำหนด ถ้าอายุยังไม่ถึง 46 ปีบริบูรณ์ก็ต้องไปลงบัญชีทหารทุกคนตามกฎหมาย จะให้ผู้อื่นแจ้งแทนไม่ได้ ต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารด้วยตนเองเพราะมีความผิดปกติขึ้นแล้ว

เมื่อได้ลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว ทางอำเภอจะออกใบสำคัญ (แบบ สด.9) ให้ไว้เป็นหลักฐานต่อไป เมื่อมีความประสงค์จะย้ายภูมิลำเนาทหาร ก็ย่อมทำได้ โดยแจ้งต่อนายอำเภอ (สัสดีอำเภอ) ท้องที่ที่ตนเองเข้ามาอยู่นั้น โดยไม่ต้องแจ้งย้ายที่อำเภอเดิม การแจ้งย้ายภูมิลำเนาทหารให้กระทำภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ย้ายทะเบียนเข้ามาอยู่ในท้องที่ใหม่โดยนำใบสำคัญ (แบบ สด.9) หรือหนังสือสำคัญ (แบบ สด.8) กับทะเบียนบ้านไปประกอบหลักฐาน การแจ้งย้ายภูมิลำเนาทหารด้วย

อนึ่ง ถ้าได้รับใบอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล พร้อมกับใบสำคัญ (แบบ สด.9) หรือ หนังสือสำคัญ (แบบ สด.8) ไปแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่ ที่เป็นภูมิลำเนาทหาร ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตเพื่อแก้หลักฐานให้ถูกต้องเมื่อได้ขึ้นทะเบียนทหารกองเกินแล้ว ถือว่าผู้นั้นมีภูมิลำเนาทหารอยู่ในอำเภอ ที่ได้ขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน

 

การรับหมายเรียกหรือการรับหมายเกณฑ์  

ทหารกองเกินทุกคน เมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปีหรืออายุ 20 ปีบริบูรณ์ ใน พ.ศ. ใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเกณฑ์ ที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตน ภายใน พ.ศ.นั้น เช่น ทหารกองเกินเกิด พ.ศ.2521 ให้ไปแสดงตนรับหมายเกณฑ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ในเวลาราชการ เมื่อรับหมายเกณฑ์แล้ว จะต้องไปรับการตรวจเลือกเกณฑ์ทหาร ในเดือนเมษายน 2542 ตามวัน เวลาและสถานที่ ทีกำหนดไว้ในหมายเกณฑ์ หากไม่ไปจะถูกดำเนินคดีฐานหลีกเลี่ยงขัดขืน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี

1. การออกหมายเรียกเกณฑ์ หมายเรียกเกณฑ์ นายอำเภอจะออกเฉพาะผู้ที่ได้ลงบัญชีเป็นทหารกองเกินแล้ว คือ

1.1 ผู้ที่มีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ ในปีที่จะเข้ากองประจำการ

1.2 ผู้ที่มีอายุ 22-29 ปีบริบูรณ์ ซึ่งต้องไม่เคยเข้าตรวจเลือกการเกณฑ์ทหาร หรือเป็นคนหลีกเลี่ยง ไม่มารับการเกณฑ์ทหารในปีก่อน ๆ ศาลตัดสินลงโทษแล้ว หรือพ้นจากฐานะการยกเว้น หรือผ่อนผัน หรือได้รับการผ่อนผันเนื่องจากเป็นนิสิต นักศึกษา นักเรียน หรือผู้ที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบิดาหรือมารดา หรือบุตร หรือคณะกรรมการตรวจเลือกมีความเห็นว่า ป่วยรักษาไม่หายภายใน 30 วัน ในปีที่ผ่านมา

2. การรับหมายเกณฑ์แทน ผู้ใดไม่สามารถจะไปรับหมายเรียกด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และเชื่อถือได้ไปรับหมายเกณฑ์แทน ถ้าไม่มีให้ถือว่า ผู้นั้นหลีกเลี่ยงขัดขืน การรับแทนจะต้องเป็นกรณีใกล้วันหมดเขตรับหมายเกณฑ์ ประมาณเดือนธันวาคม โดยมีความจำเป็น ดังนี้ ป่วย, ไปอยู่ต่างประเทศยังไม่มีกำหนดกลับ หรือมีกำหนดกลับ แต่วันที่จะกลับนั้นเลยกำหนดเวลาการรับหมายเกณฑ์แล้ว หรือไปศึกษาต่างท้องที่ ไม่สามารถจะกลับไปได้เพราะติดการสอบ

การที่จะให้รับหมายเกณฑ์แทนหรือไม่นั้นอยู่ในดุลพินิจของนายอำเภอ การรับหมายเกณฑ์แทน จะต้องมีหนังสือมอบหมาย หรือมอบฉันทะของทหารกองเกินผู้นั้น ถึงนายอำเภอโดยผู้รับแทนนำมาแสดง แล้วให้สัสดีอำเภอลงทะเบียนรับหนังสือ และให้ทางอำเภอทำการสอบสวนปากคำ ผู้รับแทนนั้นไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งผู้รับแทน จะต้องให้คำรับรองในการสอบสวนว่า จะมอบหมายเกณฑ์ที่รับไปนั้น นำไปมอบให้แก่ทหารกองเกินผู้นั้น พร้อมกับแจ้งวันเวลา และสถานที่เกณฑ์ทหารให้ทราบ แล้วเสนอนายอำเภอ ขออนุมัติก่อนมอบหมายเกณฑ์ให้รับไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ ทหารกองเกินผู้นั้นอ้างว่า ไม่ได้รับหมายเกณฑ์ในกรณีที่หลีกเลี่ยงขัดขืน ไม่ไปเข้ารับการเกณฑ์ทหาร

3. การจัดทำประกาศ ในเดือนตุลาคมทุกปี อำเภอจะจัดทำประกาศให้ทหารกองเกิน ที่มีอายุย่างเข้า 21 ปี ในพ.ศ. นั้นไปแสดงตนเพื่อรับหมายเกณฑ์ที่ อำเภอ จะปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ, กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และที่เปิดเผยตามชุมชนในท้องที่นั้น กับนายอำเภอจะส่งประกาศให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนำไปแจ้งให้ราษฎรในท้องที่ของตนทราบด้วย ถ้าผู้ใดไม่ไปรับหมายเกณฑ์ตามกำหนด จะถูกดำเนินคดีอาญาฐานหลีกเลี่ยงขัดขืน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าทางอำเภอได้ส่งรายชื่อไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การยกเว้นและการผ่อนผัน

การยกเว้น (ไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการ)

1. บุคคลที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการ ยกเว้นให้ทั้งในยามปกติและในยามสงคราม  ได้แก่

                      1.1 พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์หรือที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนที่มีสมณศักดิ์  ถ้าลาสิกขาให้แจ้งด้วยตนเองต่อนายอำเภอท้องที่ที่ตนอยู่ หรือทำการประจำภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลาสิกขา หากแจ้งเกินกำหนดนี้จะถูกดำเนินคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและถ้าอายุยังไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ก็ต้องไปเข้ารับการตรวจเลือกด้วย

                      1.2 คนพิการทุพพลภาพ ซึ่งไม่สามารถเป็นทหารได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 74 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2479 เช่น ต้อหิน หูหนวกทั้งสองข้างลิ้นหัวใจพิการ หืด เบาหวาน โรคจิต ใบ้ คนเผือก ฯลฯ บุคคลประเภทนี้ต้องไปรับหมายเรียกตามกำหนดและเข้ารับการตรวจเลือกตามกฎหมายเรียก ฯ เมื่อคณะกรรมการตรวจเลือกเห็นว่ามีอาการโรคตามที่กำหนดในกฎหมายกระทรวงจริง จะปลดเป็นพ้นราชการทหารประเภทที่ 2 และทางจังหวัดจะออกใบสำคัญให้ไว้เป็นหลักฐาน

                      1.3 บุคคลซึ่งไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นทหาร ได้เฉพาะบางท้องที่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 45 (พ.ศ.2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 บุคคลประเภทนี้ ได้แก่ ชนชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ในบางพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะไม่รู้หนังสือภาษาไทยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีก็แตกต่างกันด้วยดังนั้น ทางราชการจึงไม่ประสงค์ที่จะให้บุคคลประเภทนี้เป็นทหาร เช่น ชนชาวกระเหรี่ยง บ้านแม่สอด หมู่ที่ 4 ตำบลคลองลาน อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชรฯลฯ

 2. บุคคลที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ ยกเว้นให้เฉพาะในยามปกติเท่านั้น ได้แก่     

                      2.1 พระภิกษุ สามเณร และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวน ซึ่งเป็นนักธรรมตามที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง 

                      2.2 นักบวชศาสนาอื่นซึ่งมีหน้าที่ประจำในกิจของศาสนาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้

                      2.3 บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (นศท.)

                      2.4 นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารของกระทรวงกลาโหม

                      2.5 ครูซึ่งประจำทำการสอนหนังสือหรือวิชาการต่าง ๆ ที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎหมายกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้                         2.6 นักศึกษาของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคม 

                      2.7 บุคคลซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงชาติ                       2.8 บุคคลซึ่งได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหลายครั้งรวมกันตั้งแต่สิบปีขึ้นไป หรือเคยถูกศาลพิพากษาให้กักกัน

การผ่อนผัน

นอกจากทางราชการจะยกเว้นให้แก่บุคคลบางประเภทไม่ต้องไปเข้ารับตรวจเลือกหรือการเกณฑ์ทหารและไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการแล้ว ยังผ่อนผันให้แก่บุคคลบางประเภทเช่นกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. ผ่อนผันให้แก่บุคคลบางประเภทไม่ต้องไปตรวจเลือกเป็นการผ่อนผันให้เฉพาะคราวได้แก่

                      1.1 ข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปัจจุบันทันด่วนให้ไปราชการอันสำคัญยิ่ง หรือไปราชการต่างประเทศโดยคำสั่งของเจ้ากระทรวง

                      1.2 ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการหรือโรงงานอื่นใด ในระหว่างที่มีการรบหรือการสงคราม อันเป็นอุปกรณ์ในการรบหรือการสงครามและอยู่ในความควบคุมของกระทรวง กลาโหม

                      1.3 บุคคลซึ่งกำลังปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารในราชการสนาม

                      1.4 นักเรียนซึ่งออกไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ

                      1.5 เกิดเหตุสุดวิสัย กรณีนี้ ไม่มีการผ่อนผันล่วงหน้าแต่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยแม้จะได้ระมัดระวังแล้วก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ทหารกองเกินเดินทางไปเข้ารับการตรวจเลือก ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำหรือเรือล่มระหว่างเดินทาง จนไปเข้ารับการตรวจเลือกไม่ได้ ก็ไม่ถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน แต่การที่จะทราบว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่นั้นจะทราบได้ต่อเมื่อทางอำเภอได้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว

                      1.6 ไปเข้าตรวจเลือกที่อื่น ซึ่งต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คือ อายุ 22-29 ปีบริบูรณ์ ถ้าได้รับหมายเรียกและไม่สามารถจะไปตามหมายนั้นได้เพราะไม่มีค่าพาหนะหรือจะไปไม่ทันเมื่อนายอำเภอนั้นสอบสวนได้ความจริงก็จะรับเข้าตรวจเลือกตามระเบียบ

                      1.7 ป่วยไม่สามารถเข้ารับการตรวจเลือกได้ โดยให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และเชื่อถือได้มาแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือก กรณีนี้ต้องนำใบรับรองแพทย์ไปแสดงด้วย และเมื่อเสร็จการตรวจเลือกแล้ว ทางอำเภอจะเรียกตัวผู้ไปแจ้งสอบสวน และสอบสวนตัวผู้ป่วยด้วย หากป่วยจริงก็ไม่ถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน ทางอำเภอจะมอบหมายเรียกให้มาเข้ารับการตรวจเลือกในปีถัดไป

2. ผ่อนผันให้แก่บุคคลบางประเภทในกรณีที่มีคนพอ ได้แก่

                      2.1 บุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบิดาหรือมารดาซึ่งไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพ หรือชราจนหาเลี้ยงชีพไม่ได้และไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดู แต่ถ้ามีบุตรหลายคนจะต้องเข้ากองประจำการพร้อมกันคงผ่อนผันให้คนเดียวตามแต่บิดาหรือมารดาจะเลือก ถ้าบิดาหรือมารดาไม่สามารถจะเลือกได้ก็ให้คณะกรรมการตรวจเลือกพิจารณาผ่อนผันให้หนึ่งคน

                      2.2 บุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงบุตรซึ่งมารดาตาย หรือไร้ความสามารถ หรือพิการทุพพลภาพและบุคคลที่จำเป็นต้องหาเลี้ยงพี่หรือน้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาซึ่งบิดามารดาตาย ทั้งนี้เมื่อบุตรหรือพี่น้องนั้นหาเลี้ยงชีพไม่ได้ และไม่มีผู้อื่นเลี่ยงดู                    

                      2.3 บุคคลที่อยู่ในระหว่างการศึกษา ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 73 (พ.ศ.2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497

                        2.3.1 นิสิตหรือนักศึกษามหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ผ่อนผันให้เฉพาะผู้ซึ่งระหว่างการศึกษาที่ไม่สูงกว่าชั้นปริญญาโท และผ่อนผันให้จนถึงอายุครบ 26 ปีบริบูรณ์ เว้น แต่นิสิตหรือนักศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์ ผ่อนผันให้ในระหว่างที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลหรือสถาบันทางแพทย์เพื่อขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรมอีกปีหนึ่ง สำหรับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผ่อนผันให้เฉพาะผู้ซึ่งมีผลการศึกษาสอบไล่ได้ภาคละไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต ทุกภาคติดต่อกันเว้นแต่ภาคใดขาดสอบเพราะเหตุสุดวิสัยซึ่งมหาวิทยาลัยรับรอง

                        2.3.2 นักศึกษามหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ผ่อนผันให้เฉพาะ ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อรับประกาศนียบัตรหรือปริญญาที่ไม่สูงกว่าชั้นปริญญาโท และผ่อนผันให้จนถึงอายุครบ26 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่นักศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์ ผ่อนผันให้ในระหว่างที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล หรือสถาบันทางแพทย์เพื่อขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรมอีกปีหนึ่ง

                        2.3.3 นักเรียนหรือนักศึกษาโรงเรียนอาชีพหรือวิทยาลัย สังกัดหรืออยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทบวง หรือองค์การของรัฐ ผ่อนผันให้เฉพาะผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อรับประกาศนียบัตร หรือปริญญาตรี หรือวิทยฐานะซึ่งทางราชการรับรองว่าเทียบเท่าได้ไม่สูงกว่าชั้นปริญญาตรี และผ่อนผันให้จนถึงอายุครบ 26 ปีบริบูรณ์

                        2.3.4 นักเรียนโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ผ่อนผันให้ไม่เกินอายุ 22 ปีบริบูรณ์  วิธีปฏิบัติในการผ่อนผันนักเรียน นิสิต นักศึกษา จะต้องนำหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร(แบบ สด.35) ไปแสดงต่อสถานศึกษาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของสถานศึกษาดำเนินการขอผ่อนผันให้ เพื่อขอผ่อนผันไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาทหารอยู่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ของปีที่จะต้องตรวจเลือกเข้ากองประจำการ ปีที่มีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์

หมายเลขบันทึก: 501543เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2012 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2012 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท