บทที่ 1


โครงร่างสารนิพนธ์

เรื่อง    ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทย ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497

กรณีศึกษา เยาวชนตำบลธรรมศาลา  อำเภอเมืองนครปฐม  จังหวัดนครปฐม  

 

ผู้ดำเนินการวิจัย 

พันโท สมยศ  ขันธควร  รหัส 549904110 

 

บทที่ 1

บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่าสงครามเป็นระเบียบการของโลก เป็นประเพณีที่คู่ควร มากับโลกแต่ดึกดำบรรพ์ ไม่มีชาติใดภาษาใดในโลกที่จะก่อร่างสร้างตัวเป็นปึกแผ่นแน่นหนาโดยไม่ได้ผ่านการสงครามมา  หมู่ชนหรือชาติใดที่ได้รวบรวมกันขึ้นเป็นอาณาจักรอยู่อย่างอิสระ จำเป็นต้องหาวิธีป้องกันตนเอง  และจัดหากำลังไว้สำหรับป้องกันประเทศชาติ ให้พ้นจากเงื้อมมือของเหล่าศัตรู ที่จะยกมาแย่งชิงอาณาเขตหรือทำลายความเป็นอิสรภาพของชนชาติตนให้เสื่อมสูญไป การกระทำเช่นนี้เป็นลักษณะและวิสัยของมนุษย์ทุกชาติที่ต้องการความเป็นไทแก่ตนเอง ไม่ต้องการที่จะอยู่ในบังคับและถูกกดขี่บีบคั้นจากชนชาติอื่น ด้วยเหตุนี้การเกณฑ์คนมาเป็นทหาร เพื่อเป็นกำลังอำนาจให้ประเทศชาติในการที่จะป้องกันข้าศึก จึงจำเป็นที่จะต้องกระทำทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

การรับราชการทหารมีความสำคัญและความจำเป็นสำหรับประเทศ ทุกประเทศจะมีดินแดนซึ่งมีอาณาเขตแน่นอน และมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันรักษาดินแดนนั้นไว้ให้คงอยู่ตลอดไป จึงต้องมีกองทัพอันเข้มแข็งอันประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เพื่อป้องกันรักษาอำนาจอธิปไตยและผืนแผ่นดินไทยไว้ตลอดไป เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ในอนาคตด้วยกลวิธีที่ต้องอาศัยความสามารถหลายด้าน นอกจากจะมีผู้ที่รับราชการทหารด้วยความสมัครใจ โดยสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนสังกัดกองทัพบกกองทัพเรือและกองทัพอากาศแล้วยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้ชายไทยทุกคนเข้ารับราชการทหารเพื่อที่จะได้รับการฝึกฝนอบรมยุทธวิธีต่างๆ เพื่อไว้ป้องกันรักษาประเทศชาติ เมื่อถึงคราวบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตจะได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ถึงแม้ว่าในสภาพบ้านเมืองจะเป็นปกติ สงบสุขทหารก็ยังมีส่วนช่วยเหลือในด้านการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือราษฎร เช่น ช่วยพัฒนาด้านการก่อสร้างถนนการก่อสร้างอาคารสถานที่การช่วยเหลือในด้านการศึกษาด้านการรักษาพยาบาล ในบางครั้งก็มีโอกาสได้ช่วยเหลือและบริการประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยต่างๆ เช่น อุทกภัย วาตภัย เป็นต้น

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ เป็นเหล่า ความเจริญของสังคมมนุษย์นั้นยิ่งทำให้สังคมมีความสลับซับซ้อน ตามสัญชาตญาณของมนุษย์แล้ว ย่อมชอบที่จะกระทำสิ่งใด ๆ ตามใจชอบ ถ้าหากไม่มีการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์แล้ว มนุษย์ก็จะกระทำในสิ่งที่เกินขอบเขต ยิ่งสังคมเจริญขึ้นเพียงใด ความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ที่จะต้องถือว่าเป็นมาตรฐานอันเดียวกันนั้นก็ยิ่งมีมากขึ้น เพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปแก่ทุกคนในลักษณะของกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งจะกำหนด วิถีทางการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตายกฎเกณฑ์และข้อบังคับหรือวิธีการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์มีการพัฒนา และมีวิวัฒนาการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นเราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากฎหมายไม่มีความจำเป็น และเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเราในปัจจุบันนี้ กฎหมายได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรามาก ตั้งแต่เราเกิดก็จะต้องแจ้งเกิดเพื่อขอสูติบัตรเมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ก็ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน จะสมรสกันก็ต้องจดทะเบียนสมรสจึงจะสมบูรณ์และในระหว่างเป็นสามี ภรรยากันกฎหมายก็ยังเข้ามาเกี่ยวข้องไปถึงญาติหรือจนตายก็ต้องมีใบตาย เรียกว่าใบมรณะบัตร และก็ยังมีการจัดการมรดกซึ่งกฎหมายก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอนอกจากนี้ในชีวิตประจำวันของคนเรายังมีความเกี่ยวข้องกับ ผู้อื่น การซื้อขายและต้องมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการซื้อขาย หรือการ ทำงานเป็นลูกจ้าง นายจ้างหรืออาจจะเป็นข้าราชการก็ต้องมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา และที่เกี่ยวข้องกับชาติบ้านเมืองก็เช่นกันประชาชนมีหน้าที่ต่อบ้านเมืองมากมาย เช่น     การปฏิบัติตนตามกฎหมาย หน้าที่ในการเสียภาษีอากรหน้าที่รับราชการทหาร สำหรับชาวไทย กฎหมายต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็มีมากมายหลายฉบับ เช่นกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา "คนไม่รู้ กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว" เป็นหลักที่ว่า บุคคลใดจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจากความผิดตามกฎหมายมิได้ ทั้งนี้ ถ้าหากต่างคนต่างอ้างว่าตนไม่รู้กฎหมายที่ทำไปนั้น ตนไม่รู้จริง ๆ เมื่อกล่าวอ้าง อย่างนี้คนทำผิดก็คงจะรอดตัว    ไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องรับโทษกัน ก็จะเป็นการปิดหูปิดตาไม่อยากรู้กฎหมาย และถ้าใครรู้กฎหมายก็จะต้องมีความผิด รู้มากผิดมากรู้น้อยผิดน้อย แต่จะอ้างเช่นนี้ไม่ได้เพราะถือว่าเป็น หลักเกณฑ์ของสังคมที่ประชาชนจะต้องมีความรู้ เรียนรู้กฎหมาย เพื่อขจัดข้อปัญหาการขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกัน ด้วยวิธีการที่เรียกว่า กฎเกณฑ์อันเดียวกันนั้นก็คือ กฎหมาย นั่นเอง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 18 ปี พ.ศ.2550 กฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ได้ให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคลอย่างแท้จริง ในหมวด 4 หน้าที่ของชนชาวไทย มาตรา 73 บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม พิทักษ์ ปกป้องและสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่นและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งในที่นี้ คือพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 นอกจากนี้หมวด 5 แนวนโยบาย พื้นฐานแห่งรัฐได้กำหนดหน้าที่ของรัฐไว้ในมาตรา 77 ว่ารัฐต้องจัดให้มีกำลังทหารไว้เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์  ผลประโยชน์แห่งชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ

จากกฎหมายสูงสุดคือกฎหมายรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้บุคคลให้ปฏิบัติ นอกจากนี้กฎหมายระดับรอง ๆ ลงมาอีกคือ กฎกระทรวงและยังมีเงื่อนไขต่าง ๆ หรือข้อตกลงระหว่างหน่วยงาน อาทิเช่น บันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 กฎหมายเกี่ยวกับการรับราชการทหาร นี้ ได้พัฒนาจากจารีตประเพณีจนเป็นกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร เริ่มต้นด้วยมีการกำหนดกฎเกณฑ์จนตราเป็นพระราชบัญญัติอันเปรียบเสมือนกฎหมายลูกของ รัฐธรรมนูญเพื่อให้เจ้าพนักงานของรัฐยึดถือปฏิบัติและบังคับใช้กับประชาชนความสำคัญของกฎหมายรับราชการทหาร พระราชบัญญัติรับราชการทหารเป็นกฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับครอบครัวเกือบทุกครัวเรือน ซึ่งมีบทบังคับเกี่ยวกับหน้าที่การรับราชการทหารในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การขึ้นทะเบียนทหาร การรับหมายเกณฑ์การเกณฑ์ทหารรวมไปถึงการขอยกเว้น และการขอผ่อนผันในการเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ให้บรรดาชายที่มีสัญชาติเป็นไทยทุกคนเข้ารับราชการทหาร เพื่อรับใช้ประเทศชาติในยามปกติและยามสงครามฉะนั้นชายไทยทุกคนจำเป็นต้องรู้กฎหมายฉบับนี้ แต่ปรากฏว่าในปีหนึ่งๆจะมีผู้ที่ต้องถูกดำเนินคดีได้รับโทษ ขาดสิทธิอันควรจะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ต้องเสียทั้งเวลา เสียโอกาสในการต่อสู้คดี และเสียประวัติ ทั้ง ๆ ที่ กฎหมายในเรื่องนี้ได้ประกาศใช้มานานหลายสิบปีแล้วแต่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงและยกเลิกตามกาลสมัยหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการของจังหวัดนครปฐม แนวโน้มของผู้กระทำผิดกฎหมาย พบว่ามีแนวโน้มคงที่และจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ปัจจุบันกองทัพบกเคยมีโครงการรับสมัครทหารกองเกินที่มีอายุ 18-20 ปีบริบูรณ์ เพื่อทดลองในระบบอาสาสมัครแทนการตรวจเลือก ซึ่งจะเป็นผลให้ผลการตรวจเลือกในแต่ละปีมีผู้กระทำผิดกฎหมายลดลง เนื่องจากมีสลากแดงลดลงตามยอดจำนวนที่มีผู้สมัครด้วยแล้ว ควรจะมีผู้ที่เข้าสู่กระบวนการตรวจเลือกมากขึ้นแต่มิได้เป็นเช่นนั้นและโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบหลายด้านในส่วนของกองทัพจะต้องสูญเสียกำลังพลก่อนเวลาครบกำหนดปลดประจำการ 2 ปี เนื่องจากผู้สมัครมีคุณวุฒิทางการศึกษาสามารถใช้สิทธิลดวันรับราชการได้น้อยกว่า 2 ปีได้ ในการตรวจเลือกมีลักษณะเกิดการทุจริตโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย มีการย้ายภูมิลำเนาทหารไปยังสถานที่ตรวจเลือกที่มีผู้สมัครเต็มจำนวนที่ทางราชการต้องการแล้ว และผู้ที่อยู่ในบัญชีคนผ่อนผันได้สละสิทธิ์ผ่อนผันเพื่อเข้ารับการตรวจเลือกเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ต้องจับสลากดำแดง ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม โครงการดังกล่าวในอนาคตจะถูกยกเลิกไปในที่สุด และมีผู้ที่กระทำผิดอีกเป็นจำนวนมากในหลายมาตราตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พุทธศักราช 2497 เช่น มาตรา 16 ไม่มาลงบัญชีทหารกองเกิน มาตรา 27 ไม่มาเข้ารับการตรวจเลือกตามหมายรียกของนายอำเภอ มาตรา 36 ไม่มาเข้ารับการเรียกพล         

จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทย

ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497  กรณีศึกษา เยาวชนตำบลธรรมศาลา  อำเภอเมือง

นครปฐม  จังหวัดนครปฐม  เพื่อทราบถึงปัญหาที่แท้จริงและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

                1. เพื่อศึกษาระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทย ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497  กรณีศึกษา เยาวชนตำบลธรรมศาลา  อำเภอเมืองนครปฐม  จังหวัดนครปฐม          2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทย ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497  กรณีศึกษา เยาวชนตำบลธรรมศาลา  อำเภอเมืองนครปฐม  จังหวัดนครปฐม 

สมมติฐานของการวิจัย

1. อายุของเยาวชนมีความสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทย ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497  กรณีศึกษา เยาวชนตำบลธรรมศาลา  อำเภอเมืองนครปฐม  จังหวัดนครปฐม 

2. ระดับการศึกษาของเยาวชนมีความสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทยตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497  กรณีศึกษา เยาวชนตำบลธรรมศาลา  อำเภอเมืองนครปฐม  จังหวัดนครปฐม    

3. สถานภาพบุคคลของเยาวชนมีความสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทยตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497  กรณีศึกษา เยาวชนตำบลธรรมศาลา  อำเภอเมืองนครปฐม  จังหวัดนครปฐม    

4. สถานภาพสมรสบิดามารดาของเยาวชนมีความสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทยตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497  กรณีศึกษา เยาวชนตำบลธรรมศาลา  อำเภอเมืองนครปฐม  จังหวัดนครปฐม                

5. สถานภาพครอบครัวของเยาวชนมีความสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทยตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497  กรณีศึกษา เยาวชนตำบลธรรมศาลา  อำเภอเมืองนครปฐม  จังหวัดนครปฐม     

6. การรับรู้ข่าวสารของเยาวชนมีความสัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทยตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497  กรณีศึกษา เยาวชนตำบลธรรมศาลา  อำเภอเมืองนครปฐม  จังหวัดนครปฐม

กรอบแนวคิดในการวิจัย

ตัวแปรอิสระ ตัวแปรตาม

  1. อายุ

  2. ระดับการศึกษา

  3. สถานภาพบุคคล

  4. สถานภาพสมรสบิดามารดา

  5. สถานภาพครอบครัว

  6. การรับรู้ข่าวสาร

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของ

ชายไทย ตามพระราชบัญญัติรับราชการ

ทหาร พ.ศ.2497

       1. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ 

       2. การลงบัญชีทหารกองเกินและการรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร   

       3. การยกเว้น การผ่อนผันและการเรียกพลของทหารกองหนุน

ขอบเขตของการวิจัย

                การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัย ได้ทำการศึกษาจากประชากรเพศชายที่มีอายุระหว่าง 15–20 ปีบริบูรณ์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลธรรมศาลา   จำนวน 511 คน ระยะเวลาในการศึกษาวิจัย ตั้งแต่วันที่  1  พฤษภาคม 2555  ถึงวันที่  30  เมษายน 2555

ตัวแปร และกรอบแนวคิดที่ใช้ในการวิจัย

จากการตรวจเอกสารที่เป็นแนวคิด ทฤษฎี และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น ผู้วิจัยได้นำมากำหนดตัวแปร และกรอบแนวคิดที่ใช้ในการวิจัย ดังนี้

ตัวแปรอิสระ ได้แก่

  1. อายุ
  2. ระดับการศึกษา
  3. สถานภาพบุคคล
  4. สถานภาพสมรสบิดามารดา
  5. สถานภาพครอบครัว
  6. การรับรู้ข่าวสาร

ตัวแปรตาม ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจของเยาวชนเกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทยในการเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ ในด้าน ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ  การลงบัญชีทหารกองเกินและการรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร และการยกเว้น การผ่อนผันและการเรียกพลทหารกองหนุน

นิยามศัพท์เฉพาะ

                ความรู้ความเข้าใจ หมายถึง ความสามารถในการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับอันเนื่องมาจากการเรียนรู้ การรับรู้ เรื่องต่างๆของประชาชนเกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทยที่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ

                เยาวชน หมายถึง บุคคลเพศชายที่มีอายุระหว่าง 15–20 บริบูรณ์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในตำบลธรรมศาลา    อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

                หน้าที่ หมายถึง ความรับผิดชอบของประชาชนชายที่มีสัญชาติเป็นไทยทุกคนต้องเข้ารับราชการทหารเพื่อรับใช้ประเทศชาติ

                   ทหารกองเกิน หมายถึง ผู้ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ และยังไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์  ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา 16 หรือผู้ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา 18 แล้ว

                   ทหารกองประจำการ หมายถึง ผู้ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการ และได้รับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลด 

ทหารประจำการ หมายถึง ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด 

ทหารกองหนุน หมายถึง ทหารที่ปลดจากกองประจำการโดยได้รับราชการใน กองประจำการจนครบกำหนด หรือทหารกองเกิน ซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหาร ตามกฎหมายว่าด้วยการ ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (ร.ด.) และได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุน

การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการ หมายถึง การดำเนินการ ตามระเบียบวิธีการขั้นตอนในการคัดเลือกทหารกองเกินที่มีอายุ 21 ปีบริบูรณ์และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการ

                การลงบัญชีทหารกองเกิน หมายถึง การที่บุคคลเพศชายที่มีสัญชาติไทยที่มีอายุย่างเข้า 18 ปีไปแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่สัสดีเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอท้องที่

                การรับหมายเรียก หมายถึง ผู้ที่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้ที่อำเภอภูมิลำเนาทหารแล้วเมื่อมีอายุย่างเข้า 20 ปีไปแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่สัสดี ขอรับหมายเรียกเพื่อที่จะเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ

                การยกเว้น หมายถึง การที่บุคคลได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ

                การผ่อนผัน หมายถึง การที่บุคคลได้รับการผ่อนผันไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ

                การเรียกพลทหารกองหนุน หมายถึง การเรียกทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนเพื่อเข้ารับการฝึกทบทวนวิชาทหาร เพื่อการเตรียมสรรพกำลัง                การขึ้นทะเบียนกองประจำการ หมายถึง การลงบัญชีทหารดำเนินการลงเลขเครื่องหมายประจำตัวทหารเพื่อการควบคุมทางธุรการกำลังพล

ภูมิลำเนาทหาร หมายถึง อำเภอท้องที่ ที่บุคคลนั้นได้แจ้งการลงบัญชีทหารกองเกินไว้ที่อำเภอแล้ว และบุคคลจะมีภูมิลำเนาทหารได้ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

                พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พุทธศักราช 2497 หมายถึง กฎหมายที่มีความสัมพันธ์กับระชาชนทั่วไปซึ่งมีบทบังคับให้บรรดาชายที่มีสัญชาติเป็นไทยทุกคนเข้ารับราชการทหารเพื่อรับใช้ประเทศชาติในยามปกติและยามสงคราม

                ความรู้ความเข้าใจของเยาวชนเกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทยในการเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการ หมายถึง สิ่งที่ประชาชนได้เรียนรู้ และรับรู้ เกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทยในการเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ ใน 3 ด้าน ได้แก่

1. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ

2. การลงบัญชีทหารกองเกินและการรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร

3. การยกเว้น การผ่อนผันและการเรียกพลของทหารกองหนุน

                การรับรู้ข่าวสาร หมายถึง การเปิดรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พุทธศักราช 2497 กฎกระทรวง และบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

                1. ผลจากการวิจัยสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เยาวชน เกี่ยวกับหน้าที่ของชายไทยในการเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ

                2. ผลจากการวิจัยเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับคำสั่ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมมากที่สุด สำหรับประชาชนโดยทั่วไป

หมายเลขบันทึก: 501505เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2012 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท