ยาปฏิชีวนะ


ยาปฏิชีวนะ
ยาปฏิชีวนะ top.gif (127 bytes)
Redtones.gif (2134 bytes)

ยาปฏิชีวนะมาจากคำว่า antibiotic ในภาษาอังกฤษ แปลตรงตัวว่าสารต่อต้านการดำรงชีวิต
โดยข้อเท็จจริงหมายถึงสารที่ผลิตตามธรรมชาติโดยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เรียกว่า จุลินทรีย์
ประเภทหนึ่งแล้วมีอำนาจยับยั้งหรือทำลายชีวิตของจุลินทรีย์อีกประเภทหนึ่งอันเป็นลักษณะ
ของการรักษาสมดุลย์ระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ เช่น ยาปฏิชีวนะชื่อว่าเพนนิซิลลิน
ผลิตโดยเชื้อราชนิดหนึ่งแล้วมีผลทำลายชีวิตของเชื้อแบคทีเรียอื่นที่อยู่ใกล้เคียง มนุษย์นำ
ประโยชน์ตรงนี้มาประยุกต์เป็นยารักษาโรคติดเชื้อ ซึ่งคำว่าโรคติดเชื้อนี้แปลเอาความได้ว่า
เป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากการรุกรานของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย มนุษย์จะคัดแยกสารปฏิ-
ชีวนะที่มีฤทธิ์ต่อต้านการดำรงชีวิตของเชื้อต้นเหตุโรคมาปรุงแต่งเป็นรูปแบบยาเตรียมต่างๆ
เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาฉีด แล้วให้กับผู้ป่วยเมื่อเกิดโรคติดเชื้อที่คาดว่าหรือพิสูจน์ว่าเกิด
จากเชื้อต้นเหตุดังกล่าว ยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้กันมักจะมีชื่อทั่วไปที่ลงท้ายด้วยคำว่ามัยซิน
เช่น อีริโทรมัยซิน คลาริโทรมัยซิน เจนตามัยซิน ลงท้ายด้วยคำว่าซิลลิน เช่น เพนนิซิลลิน
แอมพิซิลลิน อะม็อกซิซิลลิน ลงท้ายด้วยคำว่าซัยคลิน เช่น เตตร้าซัยคลิน ด้อกซี่ซัยคลิน
เป็นต้น แต่มียาปฏิชีวนะหลายตัวที่อยู่นอกเหนือกฏเกณฑ์นี้ เช่น คลอแรมเฟนิคอล เซฟา-
โซลิน ไรแฟมปิซิน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีศัพท์อีกหลายคำที่เรามักจะได้ยินได้ฟังหรือพูดกัน เช่น ยาต้านจุลชีพ ยาต้าน
แบคทีเรีย ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ ศัพท์เหล่านี้เป็นคำที่มาจากการ
มองยารักษาโรคติดเชื้อในแง่มุมที่ต่างกัน ยาต้านจุลชีพเป็นคำรวมที่หมายถึงยาต่อต้านการ
ดำรงชีวิตของเชื้อโรคซึ่งได้มาจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากธรรมชาติหรือจากการ
สังเคราะห์ทางเคมีก็ตาม ยาต้านแบคทีเรีย ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส หมายความถึงยาต่อ-
ต้านการดำรงชีวิตของเชื้อต้นเหตุโรคส่วนใหญ่ซึ่งแยกเป็นประเภทต่างๆ ตามชื่อที่บ่งบอก
ยาฆ่าเชื้อหมายถึงยาต่อต้านการดำรงชีวิตของเชื้อโรคที่ใช้นอกร่างกายและเป็นคำหนึ่งที่คน
ทั่วไปมักใช้เรียกแทนยารักษาโรคติดเชื้อ ยาแก้อักเสบเป็นอีกคำหนึ่งที่คนทั่วไปใช้เรียกแทนยา
ปฏิชีวนะซึ่งคำนี้สื่อความหมายที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากชื่อของโรคติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะเรียก
ตามชื่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่มีการติดเชื้อแล้วตามด้วยคำว่าอักเสบ เช่น หลอดลมอักเสบ
ปอดอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ เป็นต้น ทำให้คนทั่วไปจึงเรียกยารักษาโรคติดเชื้อว่ายาแก้อักเสบ
ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วซึ่งยาปฏิชีวนะไม่มีผลแก้ไขตรงจุดการอักเสบนี้ ยาเพียงแต่ทำลายเชื้อโรค
ที่เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของอาการอักเสบ โดยข้อเท็จจริงแล้วการอักเสบเป็นอาการบาดเจ็บ
ที่เกิดจากความบอบช้ำของเนื้อเยื่ออันมีได้หลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบจากการฉีก
ขาดของกล้ามเนื้อ ไขข้ออักเสบจากการสะสมของกรดยูริค เป็นต้น ดังนั้นคำว่ายาแก้อักเสบ
ควรใช้กับยาที่รักษาอาการอักเสบดังกล่าวจริงๆ ไม่ควรใช้กับยารักษาโรคติดเชื้อเพราะจะทำให้
เข้าใจจุดประสงค์ของการใช้ยาผิดไปจากความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกชื่อจะต่างกันแต่ยาเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ในการใช้เหมือนกันคือ
ทำลายหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคที่รุกรานให้ลดน้อยอยู่ในวิสัยที่กลไกป้องกันตนของ
มนุษย์ เช่น ภูมิต้านทาน สามารถกำจัดมันได้ และในบรรดาจุลินทรีย์ที่สามารถทำลายโดยการ
ใช้ยาปฏิชีวนะนั้น ได้แก่ แบคทีเรียส่วนใหญ่ เชื้อราหลายชนิด และไวรัสบางชนิด

คำสำคัญ (Tags): #infortion#management
หมายเลขบันทึก: 49968เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2006 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถ้าหลังทำแท้ง จะทานยานี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือแก้การอักเสบทางช่องคลองได้หรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท