ทำอย่างไรถึงจะพูดเก่งๆ ? (9)


พัฒนาทักษะการพูด เรื่องเล่า...จากชีวิตจริงของผู้เขียน

 

                     ยูเรก้า !  ยูเรก้า !

 

         ช่วงนี้ผู้เขียนติดภาระกิจส่วนตัวต้องเตรียมตัวสอบเนติฯ ที่ติดค้างมาหลายปีแล้วก็เลยห่างหายจากงานเขียนไปนานพอสมควรครับ ว่าจริงๆแล้วการเขียนบทความบทหนึ่งมาลง Blog นี่ใช้เวลาไม่นานหรอกครับ แต่ต้องใช้สมาธิในการค้น คิดและเรียบเรียงข้อมูลเยอะพอสมควร ก็เลยสละให้ทางเรียนหนังสือไปมากหน่อย เรียกว่าไม่อยาก เกิดอาการนั่นก็ต้องลงลึก นี่ก็ต้องลงลึก แทนที่จะเกิด “สมาธิ” แต่กลับสร้างความสับสนให้เพิ่มพูนทวี กลายเป็นทำอะไรไม่ได้ดีสักอย่าง..ไปเสีย

          แต่งานเขียนก็มีมนต์เสน่ห์ดึงดูดเสมอ  สำหรับผู้เขียน เย้ายวนใจสุดจะหักห้าม ยิ่งกว่าพบสาวงามที่มีบุญต่อกันมาแต่ปางไหน ?

          หัวข้อวันนี้เริ่มตนด้วยคำอุทาน ยูเรก้า ! ยูเรก้า! บางท่านอาจจะว่าเป็นคำฮิตในภาษาวัยรุ่นอยู่พักหนึ่ง จำได้พอลางๆ หรือบางท่านก็อาจะงงๆ มันเรื่องอะไรกันนี่

          พอดีช่วงนี้ ผมกำลังรวบรวมเนื้อหาเพื่อจัดเตรียมหลักสูตรฝึกอบรมเล็กๆ ให้กับผู้บริหารระดับกลางก็คือ ระดับผู้ช่วยผู้จัดการแผนก และระดับผู้จัดการแผนก ซึ่งเป็นกลุ่มพนักงานใหม่และกลุ่มผู้บริหารที่พึ่งได้รับการโปรโมทขึ้นมา ประมาณ 7-8 คนในเรื่องการโค้ชงาน ด้วยองค์กรของผมมีความมุ่งเน้นสูงในการสร้างผู้บริหารยุคใหม่ ที่เก่งในการเอื้ออำนาจ (Empowering) ให้กับทีมงาน ไม่ไช้การควบคุมและออกคำสั่งอย่างเดียว ดั่งยุคโบราณกาล พระเจ้าเหา..

          จึงต้องมีการแจ้งแนวทิศทางขององค์การเรื่องการบริหารคน ปรับกรอบความคิด และฝึกทักษะการโค้ชงานกันอย่างจริงจัง  เพราะองค์กรเรามีการลงทุนในเรื่องฝึกทักษะการโค้ชมาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 ปีแล้ว

          แต่ที่ผู้เขียนจะนำเสนอท่านในวันนี้ไม่ใช้เรื่องทักษะการโค้ชงานครับ แต่เป็นเรื่อง ยูเรก้า ! ยูเรก้า ! ซึ่งถ้าท่านจะนำเรื่องนี้ไปประยุกต์ในการทำหน้าที่วิทยากร หรือผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (Facilitator) ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรเล็ก ใหญ่ เริ่มต้นทำหรือระดับเทพแล้ว ก็น่าจะเป็นประโยชน์

         คืออย่างนี้ครับ การจัดหลักสูตรเทรนผู้ใหญ่ ถ้าจะให้ประสบความสำเร็จจริง การออกแบบต้องคำนึงถึงการสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ให้กับเขา หมายถึง ให้เขาเกิดเรียนรู้ขณะอยู่ในห้อง ไม่ใช่เร่งๆแจ้งข้อมูลแล้วให้เขาไปแก้โจทย์เองนอกห้อง  และถ้าขั้นเซียนจริง ต้องให้ผู้เรียนร้อง “อ๋อ” หรือ “เออใช่” ในหัวข้อที่เราตั้งขึ้นมาเป็นโจทย์ในแต่ละหัวข้ออบรมนั้น

         ครูบาอาจารย์ของผู้เขียนหลายท่านก็สั่งสอนมาตรงกันว่า หัวใจอยู่ที่การมีส่วนร่วม คือ การให้ผู้เรียนมีส่วนในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมนำเสนอ ร่วมตัดสินใจ ร่วมแชร์ประสบการณ์นั่นเอง

        ดังนั้นในหลักสูตรของเราต้องเต็มไปด้วย กิจกรรมระดมสมอง การสาธิต การฝึกปฏิบัติจริง การวิเคราะห์กรณีศึกษา และกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในระดับกลุ่มย่อยหรือทั้งห้อง เป็นต้น

        ผู้เขียนจำประโยคด้านล่างนี้ เป็นวรรคทองที่ใช้ในการทำงานวิทยากรเลยทีเดียว

       “ฉันได้ยิน...ฉันลืม
       ฉันเห็น...ฉันจำได้
       ฉันทำ...ฉันเข้าใจ”

        มันจึงมาเชื่อมกับ ยูเรก้า! อย่างกิ๊บเก๋ ยูเรก้าตรง สถานีนี้แหละครับ

        ทำอย่างไรจะทำให้ผู้เรียนเกิดอาการหรือแสดงอาการ “ฉันเข้าใจ” อย่างแท้จริง หรือผู้เขียนขอเรียกว่า “เกิดประสบการณ์ในการเรียนรู้อย่างแท้จริง”

ฟังยาก! อ่านแล้วชวนง่วง ผู้เขียนขอแทนคำว่า “ฉันเข้าใจ” นี่เป็นคำพูดง่ายๆ ไม่ต้องตีความว่า ยูเรก้า ! ยูเรก้า! (2 ครั้ง น่ะครับ อุทานครั้งเดียวไม่ได้อารมณ์)

      คือเรื่องมันเกิดตอนที่ท่านผู้อ่านทั้งหลายกำลังเรียนมัธยม คุณครูอดิสร (ของท่านอาจจะชื่ออื่น แตกต่างกันไป ไม่ต้องงงและแย้งผู้เขียนว่าของฉันชื่อ ไสวค่ะ เรื่องนี้เราไม่ซีเรียสต่อกัน) ท่านก็เล่าเรื่องกฎว่าด้วยกิ๊บเก๋ ยูเรก้า หรือภาษาประวัติศาสตร์เรียก กฎของอาร์คิมีดีส (Archimedes Principle) หรือทางวิทยาศาสตร์เรียกว่าวิธีการหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุ (Specific Gravity)

      ว่าด้วยเรื่องอาร์คีมีดีส บิดาแห่งกลศาสตร์ ซึ่งได้คิดค้นเทคโนโลยีทางกลศาสตร์หลายชิ้น ที่พวกเรายังใช้กันอยู่จนถึงยุคปัจจุบัน จะอะไรบ้างท่านใดใคร่อยากรู้ก็ไปค้นต่อแล้วกันครับ

     มาฟังครูอดิสร อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาตร์ของผมเล่าต่อแล้วกัน...

      กษัตริย์เฮียโร  กษัตริย์กรีกโบราณ ทรงมีรับสั่งให้ช่างทำมงกุฎทองคำ โดยมอบทองคำให้ช่างทองจำนวนหนึ่ง เมื่อช่างทองนำมงกุฎมาถวาย ทรงเกิดความระแวงในท่าทางของช่างทำทองว่าจะยักยอกทองคำไป และนำโลหะชนิดอื่นมาผสม แต่ทรงไม่สามารถหาวิธีพิสูจน์ได้ ดังนั้นจึงทรงมอบหมายหน้าที่ การค้นหาข้อเท็จจริงให้กับอาร์คิมีดีส

      ขั้นแรกอาร์คิมีดีสได้นำมงกุฎทองไปชั่งน้ำหนัก ปรากฏว่าน้ำหนักของมงกุฎเท่ากับทองที่กษัตริย์เฮียโรได้มอบให้ไป ซึ่งช่างทองอาจจะนำโลหะชนิดอื่นมาผสมลงไปได้ อาร์คิมีดีสครุ่นคิดเท่าไรก็คิดไม่ออกสักที จนวันหนึ่งเขาไปอาบน้ำที่อ่างอาบน้ำสาธารณะแห่งหนึ่ง ขณะที่น้ำในอ่างเต็ม อาร์คิมีดีสลงแช่ตัวในอ่างอาบน้ำ น้ำก็ล้นออกมาจากอ่างนั้น เมื่อเขาเห็นเช่นนั้นทำให้เขารู้วิธีพิสูจน์น้ำหนักของทองได้สำเร็จ ด้วยความดีใจเขาจึง รีบวิ่งกลับบ้านโดยที่ยังไม่ได้สวมเสื้อผ้า ปากก็ร้องไปว่า "ยูเรก้า! ยูเรด้า! (Eureka)" จนกระทั่งถึงบ้าน

      เมื่อถึงบ้านเขารีบนำมงกุฎ มาผูกเชือกแล้วหย่อนลงในอ่างน้ำที่มีน้ำอยู่เต็ม แล้วรองน้ำที่ล้นออกมาจากอ่าง จากนั้นจึงนำทองในปริมาตรที่เท่ากันกับมงกุฎหย่อน ลงในอ่างน้ำ แล้วทำเช่นเดียวกับครั้งแรก จากนั้นเขาได้นำเงินในปริมาตรที่เท่ากับมงกุฎ มาทำเช่นเดียวกับมงกุฎและทอง ผลการทดสอบปรากฏว่า ปริมาตรน้ำที่ล้นออกมานั้น เงินมีปริมาตรน้ำมากที่สุด มงกุฎรองลงมา และทองน้อยที่สุด ซึ่งจากผลการทดลองครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่า ช่างทองนำเงินมาผสมเพื่อทำมงกุฎแน่นอนมิฉะนั้นแล้วปริมาตรน้ำของมงกุฎและทองต้องเท่ากัน เพราะเป็นโลหะชนิดเดียวกัน อาร์คิมีดีสได้นำความขึ้นกราบทูลกษัตริย์เฮียโรให้ทรงทราบ อีกทั้งแสดงการทดลองให้ชมต่อหน้าพระพักตร์ เมื่อช่างทองเห็นดังนั้นก็รีบรับสารภาพแล้วนำทองมาคืนให้กับกษัตริย์เฮียโรการค้นพบครั้งนี้ของอาร์คิมีดีส ได้ตั้งเป็นกฎชื่อว่ากฎของอาร์คิมีดีส เป็นประโยชน์ต่อนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังอย่างมาก

       หน้าที่ของวิทยากรในองค์กรนี่คงจะไม่แตกต่างอะไรกับอาร์คีมีดิส หาวิธีแก้โจทย์มงกุฎทองคำให้กับกษัตริย์เฮียโรหละครับ ทำอย่างไรจะให้ผู้เรียนเกิดอาการ “ฉันเข้าใจแล้ว”  “อ๋อ!” “เออใช่ !”  หรือถ้าจะให้ออกแนววัยรุ่นหน่อจและจำง่ายก็  “ยูเรก้า! ยูเร้าก้า" (แต่ระวังอย่าให้เขาวิ่งแก้ผ้ากลับบ้านแล้วกันครับ แค่แสดงสีหน้าอาการในห้องอบรมก็พอ)

      วิธีการผมก็นำเสนอท่านไปแล้ว ท่านต้องออกแบบกิจกรรมที่ให้เขามีส่วนร่วมและแสดงความเคารพในประสบการณ์ของผู้เรียนทุกคน พร้อมกับสนับสนันให้เขาได้แก้โจทย์หรือปัญหาที่เป็นหัวข้อฝึกอบรมอย่างรู้จริง ไม่ใช่ให้เขามานั่งฟังท่าน “สอน” อย่างเดียว ผิดทางร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้น้อยขอฟันธง เพราะการสอนเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อประสบการณ์ของผู้เรียนอย่างยิ่ง

      บางคนอาจะจะเถียงว่า ก็พี่อาวุโสประสบการณ์เยอะ ตำแหน่งใหญ่ สอนบ้างไม่ได้เหรอ

      ผู้เขียนขอเสริมประเด็นนี้ในวันหลังแล้วกัน แต่เชื่อด้วยประสบการณ์ตรงครับ....สอนไม่ได้แน่นอน

     และแล้วก็ต้องลาท่านไปก่อน….

     ประเด็นยูเรก้า! ยูเรก้า! นี่ยังไม่จบครับ ผู้เขียนจะนำเสนอท่านในครั้งต่อไป เกี่ยวกับการจัดเนื้อหาให้เก๋กิ๊บ! ยูเรก้า! และการจัดทำบรรยากาศการฝึกอบรมให้กิ๊บเก๋ ! ยูเรก้า!

 

      สวัสดีครับ.... ยูเรก้า! ยูเร้าก้า!

คำสำคัญ (Tags): #ปณิธานสามรุ่น
หมายเลขบันทึก: 499427เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท