ความเป็นมาของ Scientific Collaboration


วัตถุประสงค์ที่คนร่วมมือกัน ในการทำวิจัย

เนื่องจากเป็นคนที่สนใจเรื่อง Scientific Collaboration เลยไปหาบทความเก่าๆมาอ่าน เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา ได้มาเรื่องหนึ่งของ Donald deB. Beaver (2001) ชื่อเรื่อง "Reflections on scientific collaboration (and its study): past, present, and future."

ที่จริงในโลกนี้มีนักวิจัยหลายคน ที่เป็นผู้บุกเบิกในการศึกษาเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในยุคแรกๆ เช่น Derek J. deSolla Price, Eugene Garfield, Henry Small, Belver Griffth แต่ Donald deB. Beaver ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงในวงการ เขาเคยเขียนเรื่อง "Studies in Scientific Collaboration" ไว้ก่อนหน้านี้ 3 ตอน (Part I, II, III) เมื่อปี 1978-1979

Beaver ศึกษาประวัติศาสตร์พบว่า ความร่วมมือในการวิจัยมีจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มนักเคมีชาวฝรั่งเศสเมื่อปี 1800-1830 จากนั้นเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดปรากฎการณ์ที่งานวิจัยขนาดใหญ่เติบโตขึ้น เปลี่ยนจาก little science กลายเป็น big science ตัวอย่างเช่น high-energy physics (HEP) ไปจนถึง molecular biology, human genome project เป็นต้น ทำให้ความร่วมมือการวิจัยเปลี่ยนจาก "collaboration" กลายมาเป็น giant collaboration หรือ "teamwork"  นับเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ของการจัดการโครงการองค์กรด้านการวิจัยเลยทีเดียว 

สถิติการกระจายตัวของความเป็นผู้แต่งร่วมในบทความ ของนักวิจัยที่มีความร่วมมือกันในกลุ่มเล็กๆ จะมีลักษณะเป็น poisson distribution หรืออาจเริ่มเป็น negative binomial distribution และกลายเป็น power law distribution ในกลุ่มความร่วมมือที่มีขนาดใหญ่มากๆ

อย่างไรก็ตาม ค่าฐานนิยม (mode) ของความร่วมมือในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยร่วมกัน หรือจำนวนที่ซ้ำกันมากที่สุด ยังคง = 2 (ร่วมมือกัน 2 คนเป็น peers หรือไม่ก็ 2 ห้องปฏิบัติการวิจัย) และเป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเริ่มต้นของความร่วมมือกัน อาจเกิดขึ้นโดยบังเอิญ เช่นเจอกันในงานประชุม ตั้งใจจะติดต่อขอความช่วยเหลือกัน ได้รับคำแนะนำหรือคำรับรองจากนักวิจัยอื่น เป็นพี่เลี้ยงหรือเป็นลูกศิษย์ ฯลฯ

วัตถุประสงค์ที่คนร่วมมือกันในการทำวิจัย มีสาเหตุต่างๆ นานา เช่น

1. ต้องการความเชี่ยวชาญจากอีกฝ่าย

2. ต้องการขอใช้เครื่องมือ ทรัพยากรบางอย่างที่ตนไม่มี

3. ช่วยกันเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น

4. เสริมบารมีกัน เพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ

5. เพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยกันคนละไม้ละมือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคซึ่งกันและกัน

6. ทำให้กระบวนการทำงานก้าวไปได้เร็วขึ้น

7. ทำให้สามารถรับมือกับปัญหาที่มีขนาดใหญ่และยุ่งยากได้

8. เพิ่มผลผลิต / ผลิตภาพ

9. รู้จักผู้คน สร้างเครือข่ายนักวิจัยข้ามหน่วยงาน (หรือที่เรียกว่า invisible college)

10. ดัดแปลง เรียนรู้ทักษะและเทคนิคใหม่ๆ ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างสาขาวิชาใหม่ หรือสร้างโจทย์วิจัยใหม่

11. สนองความต้องการ ความอยากรู้อยากเห็น และความสนใจ

12. แบ่งปันสิ่งที่น่าตื่นเต้นกับคนอื่น

13. ทำให้ค้นพบข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

14. การทำงานด้วยกัน ช่วยทำให้จดจ่อกับงาน เพราะอีกฝ่ายจะติดตามทวงถาม

15. ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ทำให้เกิดความกระตือรือร้น และความน่าตื่นเต้น

16. เป็นการสอนให้ความรู้ (สำหรับนักศึกษา หรือตัวเอง)

17. ทำให้เกิดความรู้และการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น

18. เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน

ปัจจุบัน ความร่วมมือในการทำวิจัย ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปมาหาสู่กันก็ได้ สถานที่ตั้งไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป เพราะใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะ e-mail ในการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างไม่มีขีดจำกัด

สรุปว่า scientific collaboration  นี้ดี และสมัยนี้ทำได้ง่ายขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี -- คำถามคือ ร่วมมือกันแล้ว ผลผลิตของงานวิจัยจะเพิ่มขึ้นหรือไม่? และจะต้องร่วมมือกันอย่างไรจึงได้ผลผลิตที่ดี ?

รายการอ้างอิง

Beaver, Donald deB. (2001). "Reflections on scientific collaboration (and its study): past, present, and future." Scientometrics. 52, 3: 365-377.

หมายเลขบันทึก: 498515เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2012 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท