สมถ หรือ วิปัสสนากรรมฐานดี


กรรมฐาน เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษย์

สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

วันที่  5 ธันวาคม 2554 

                เป็นที่ถกเถียงกันพอสมควรในหมู่นักปฏิบัติธรรม เกี่ยวกับความหมายและเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมแบบสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ว่าแท้จริงคืออะไรกันแน่  และทางไหนที่ควรนำมาเป็นแนวทางของนักปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะผู้เป็นฆราวาสธรรมทั้งหลาย จนหลายครั้งผ้ปฏิบัติทางหนึ่งกลับไปปรามาสอีกทางหนึ่ง เช่นนี้เสมอแม้ในทางวงการสงฆ์เองก็มีการถกเถียงและกล่าวขานกันมากพอสมควร   โดยนิยามความหมายในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ของ สมถและวิปัสสนาภาวนา หรือ กรรมฐาน กล่าวไว้ดังนี้ว่า

สมถภาวนา หมายถึง การฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ  การฝึกสมาธิ

วิปัสสนาภาวนา หมายถึง การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามเป็นจริง, การเจริญปัญญา

ภาวนา หมายถึง การเจริญ ,การทำให้เกิดให้มีขึ้น, การฝึกอบรมจิตใจ

            พระพุทธองค์กล่าวไว้ว่าการจะไปถึงนิพพานต้องสว่าง  ไม่ยึด ไม่เห็นแม้กระทั่งตนเอง ตรงนี้แหละที่เขาเรียกว่าหลุดพ้น  หลุดพ้นด้วยกิเลสทั้งมวล

            การมีสัญลักษณ์พระพุทธเจ้า (พระพุทธรูป) คือ การทำให้มีตัวตน  การที่มีสัญลักษณ์พระพุทธเจ้า เราต้องมาวิเคราะห์ว่าถูกไหม  การที่มีรูปปั้นตัวตนพระพุทธเจ้านั้น ทำให้มีตัวตนขึ้นมาน่าเสียดาย สุดท้ายมนุษย์ก็ยึดความเป็นตัวตนของพระพุทธเจ้า แต่ที่ถูกต้องที่สุดต้องบอกว่า มีคัมภีร์พระพุทธเจ้า (พระไตรปิฎก) เราต้องกราบคัมภีร์ต่างหาก   เมื่อเรากราบคัมภีร์ว่า “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธ ตัสสะ หรือ อิติปิโส ภควา” เพราะ เห็นธรรมเห็นเรา  แต่ในวันนี้กลายเป็นเห็นวัตถุ (พระพุทธรูป) ไม่สามารถเห็นเรา ฉะนั้นสิ่งที่เราเทิดทูน เราควรสร้างพระคัมภีร์ ที่นี่ (บวรธรรม)จึงมีแต่คัมภีร์เทวดา และมีพระพุทธเทพต่างๆ ให้เห็นรูปลักษณ์ แต่ยังไม่ให้เห็นรูปลักษณ์พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์มิได้บอกว่าสร้างเราขึ้น เพราะโดยจิตแล้วไม่ชอบ  พระองค์ชอบ “อิติปิโสภควา” หรือ “ชอบต้นพระศรีมหาโพธิ์” นี่คือพระพุทธเจ้าที่แท้จริง  เราชอบ อด อัด อุด บริสุทธิ์ในธรรม (แก่นธรรมหลวงปู่คำคะนิง)   เราไม่ชอบ(รูปปั้น)หลวงปู่  เพราะถ้าหลวงปู่มันมีตัวตนใช่ไหม ก็จะไม่สามารถพบหลวงปู่ได้ เช่นกัน “อิติปิโสฯ ” จึงเห็นพระพุทธเจ้า  ดังนั้น การเห็นแก้วสว่างจึงไม่ใช่พบพระพุทธเจ้า เพราะดวงแก้วไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่อิติปิโสภะคะวาฯ  นั่นแหละพระพุทธเจ้า   พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงหลงทางไปสู่อัตตาด้วยเหตุเช่นนั้นแล เพราะรูปลักษณ์ของพระพุทธเจ้านำไปสู่การมีอัตตา จึงน่าเสียดายมาก การนั่งภาวนาโคนต้นไม้ต่างหากคือ พระพุทธเจ้า  สิ่งที่จะนำพาพวกเราคือ พระพุทธเจ้า เรากำลังตามรอยพระพุทธเจ้า หรือ หลวงปู่ทั้งหลาย ต้องตามเส้นทางสมถกรรมฐาน แต่ในสมถกรรมฐานมันจะแฝงด้วยอารมณ์เล็กๆๆๆ ของวิปัสสนากรรมฐาน  ถ้าเราบอกว่าเส้นทางที่เราเดินนี้เราบอกว่า สมถกรรมฐาน เพราะถ้าเราไม่มีสมถะฯเป็นพื้นฐานในจิต  เราจะเป็นคนเรื่องมากในวิปัสสนา เช่น ชอบตั้งคำถามเสมอ “ไปทำไม” นี่คือ อารมณ์วิปัสสนาใช่หรือไม่  แต่ถ้าเราไปเลย ไปทันที ไม่มีข้อสงสัย  ครูบาอาจารย์สั่งเราไปทันที ไม่ถามไม่สงสัย เราทำทันที ทำๆๆ เช่นนี้คือ อารมณ์สมถะ  แต่อารมณ์วิปัสสนา ชอบถาม

“ทำไปทำไม”  “ทำไปเพื่ออะไร”  ครูบาอาจารย์สั่งให้ไปปักกลด ลูกศิษย์ถามแย้ง “ปักทำไม”  ผู้ที่เขาเจริญในอารมณ์สมถะฯ นั่นหมายถึง กุฏิ (กิน อยู่ นอน )เขาเป็นอารมณ์สมถะ  แต่พอออกจากกุฏิเขาจะเป็นอารมณ์วิปัสสนา (พิจารณา)  แต่ที่พวกเราไปเห็นหลวงปู่ทั้งหลาย ตอนท่านอยู่นอกกุฏิ(ที่ต้องใช้อารมณ์วิปัสสนา)  เราจึงเข้าใจผิดคิดว่าอารมณ์วิปัสสนาคือ ฐานปฏิบัตของหลวงปู่  การอยู่  การกิน  การนอนต้องสร้างอารมณ์สมถะในจิต  สิ่งนี้นี่แหละเป็นที่มาของการห่มผ้าสามผืน (ไตรจีวร )  เป็นที่มาของเตียงไม้ หรือ เสื่อ หรือไม้กระดาน (ไม่นอนฟูก) เพราะเป็นการฝั่งอารมณ์สมถะให้อยู่ส่วนในจิต  อารมณ์วิปัสสนาไซร้ให้อยู่ส่วนนอก  สำคัญเราต้องค้นหาให้เจอทั้งสองอารมณ์ หลายท่านเก่งแต่อารมณ์วิปัสสนา ปุจฉาทั้งหลายเก่งนัก  แต่สมถะไม่มี ซึ่งไม่เพียงพอ นักปฏิบัติธรรมโดยพื้นฐาน การกิน อยู่ นอน ต้องสมถะเช่นเดียวกับพระอริยสงฆ์  จึงจะสร้างอารมณ์สมถะในจิตของนักปฏิบัติได้  จึงเป็นที่มาของการไม่ให้ติดสบาย ติดสุข เป็นที่มาของกฎข้อห้ามทั้งหลาย(พระวินัย) เช่น ห้ามนอนนุ่มๆ  ห้ามติดสุข ห้ามสนุกอยู่กับเสียงเพลง ห้ามติดบรรเลงทางจิต  ห้ามติดกระบวนการคิดเพื่อตนเอง ทั้งหมดคือ ให้ติดอารมณ์สมถะ และยากจะวิปัสสนา ปัญญาจึงไม่เกิด  เคยสังเกตไหม ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอริยสงฆ์ในเบื้องตนของการบวชต้องเดินธุดงค์ทุกองค์  เพื่อให้ได้อารมณ์สมถะฝั่งไว้ในจิต  การที่พิจารณาดูแค่กายเพื่อจะให้ได้ความรู้  ฝึกกายเพื่อให้แข็งแรง เพื่อเอาความรู้  กายสังขารจะปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บและสุขภาพแข็งแรงก็ต่อเมื่อจิตมันสอน  มันอยู่ในอารมณ์สมถะ  กินสมถะ  นอนสมถะ  ทำลมหายใจให้สมถะ ถ้าเราจะแยกให้ละเอียดสำหรับนักปฏิบัติความเป็นอารมณ์สมถะต้องเกิดก่อน แล้วค่อยมาวิปัสสนา  แต่สมถะต้องดูไป ลึก ตั้งแต่ตื่นนอน สมมุติเราเข้าอยู่ในป่าตื่นมาต้องไม่มีแปรงสีฟัน ต้องหาวิธีการ  เราจะเห็นว่าหลวงปู่ทั้งหลายจะมีกิ่งไม้ทุบแหลกๆ แล้วใช้แปรงสีฟัน นั่นคือ อารมณ์สมถะ  อย่าไปสร้างอารมณ์วิปัสสนาเช่น “ ทำไมท่านไม่เตรียมแปรงสีฟัน” “ทำไมเมื่อกี้แกไม่ไปร้านค้าและซื้อยาสีฟันเตรียมไว้ ” ทั้งๆ ที่ขณะนั้นไม่มีแปรงและยาสีฟัน  ถ้าเริ่มสงสัยและตั้งคำถามในบัดดล ขณะเราจะเริ่มประกอบกิจทางจิต เราแพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้ง  อย่าเอาอะไรมาตั้ง(ข้อสงสัย)ข้างหน้าแล้วตั้งคำถาม  เพราะเราจะไป (เจริญในการปฏิบัติ)ไม่ได้อีกเลยทั้งจิตสมถะและจิตวิปัสสนา  ดังนั้นอย่าให้ความสงสัยแทรกในช่องสมถะเพราะเราจะเดินไม่ได้  คนที่ได้เปรียบคือคนที่อยู่ในกุฏิที่สมถะ คนที่อยู่ในกุฏิวิปัสสนามันก็ตกม้าตายตั้งแต่แรกแล้ว  ดังนั้น อารมณ์สมถะต้องเกิดตั้งแต่ในกุฏิ  ทำไมหลวงปู่หรือผู้ที่อยู่ในกุฏิที่สมถะจึงมีวาทะธรรมที่เยี่ยมมากๆ และอารมณ์สมถะเหล่านี้แหละจะทำให้จิตมีพลัง เมื่อจิตมีพลัง เราเติมอารมณ์วิปัสสนาเข้าไป ปัญญามันจึงแตกฉาน ดังนี้ครูบาอาจารย์จึงต้องฝึกอารมณ์สมถะ คือ กินง่าย อยู่ง่าย นอนง่าย   นักปฏิบัติอย่าเอา 3 ตัวนี้มาเป็นปัญหาและเป็นภาระ แล้วอารมณ์สมถะมันจะหายไป  จึงเป็นที่มาของการกำหนดการกินของพระใช่ไหม  เอาตัวการกินมาพิจารณาคือ วิปัสสนา  แต่เริ่มต้นต้องกินง่าย  อยู่ง่าย นอนง่าย  ถ้าเรากินยาก  อยู่ยาก นอนยาก อย่าหวังว่าจะบรรลุธรรม  ได้อย่างมาแค่ผู้ได้รับการเรียนรู้  แค่ได้รับ หรือผู้ที่ถูกสอนให้ได้รับหรือเป็นแค่ผู้เรียนเท่านั้น แต่ไม่สามารถไปสู่นักปฏิบัติได้ที่สำเร็จเลย  รับรู้  เรียนรู้ (ปริยัท/ทฤษฎี)แต่ไม่สามารถนำไปใช้เองหรือสอนผู้อื่นได้ (ปฏิเวธ)  ความรู้ที่เรานำไปบอกหรือสอนแก่ผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่เป็นความรู้ที่มาจากการปฏิบัติจริง เขาเรียกว่ารู้จอมปลอม ปัจจุบันบ้านเมืองนี้ เรากำลังเจอวิบากกรรมของผู้รู้จอมปลอม เพราะอารมณ์แห่งการปฏิบัติจริง ถ้าเราบอกไม่ได้ อธิบายไม่ได้ เราจึงไม่สามารถสอนหรืออธิบายให้คนอื่นเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้  คนจะเป็นครูบาอาจารย์ ต้องรู้อารมณ์ปฏิบัติที่แท้จริง พระพุทธองค์จึงมีคำว่า  “ แท้และจริง”  “ตรัสรู้ชอบได้ด้วยตนเอง” ทำมาแล้วด้วยตนเอง ปฏิบัติมาแล้วด้วยตนเอง จึงจะบอกผู้อื่นได้นี่แหละหัวใจของนักปฏิบัติ คือความหมายของ “ ธุดงค์” นั่นเอง  ตราบใดที่ยังไม่ได้ทำด้วยตนเองจนถึงจุดที่จะบอกผู้อื่นได้ เช่นนี้เรียกว่า “รู้จอมปลอม”  เพราะอารมณ์มันจะฟ้องความแท้จริง นี่แหละความจำเป็นของการต้องธุดงค์  และสิ่งนี้นี่แหละคือหลักของพระพุทธเจ้า  นี่แหละหัวใจของนักปฏิบัติธรรม หลักธรรมจะอยู่ยั่งยืนยงตลอดกาลนานได้ด้วยเหตุผลเช่นนี้แล  การนำความรู้แค่ในตู้(จากการเรียน การอ่าน) มาบอกผู้อื่นให้ทำ ร้อยคนจะร็ เข้าใจได้ไม่เกิน 20 คน  และทำแล้วก็ไปไม่ได้อย่างที่ผู้บอกได้บอกไว้  ด้วยจากการที่ผู้บอก (ผู้สอน)ต้องเรียนรู้และมุ่งมั่น มีวิริยะพากเพียร เพื่อจะนำความรู้จากการปฏิบัติมาบอกผู้อื่นได้ จึงเป็นสิ่งที่ยากมาก  ดังนี้ปัญหาผู้ที่หาผู้ที่จะแตกฉานอย่างแท้จริง จนสามารถนำมาบอกต่อ  มาสอนผู้อื่นได้แทบจะไม่มี หรือมองไม่เห็น  ในทางกลับกันผู้บอกต่อหรือผู้สอนที่ถึงในอารมณ์สมถะหรือธุดงค์  ถ้าบอกต่อให้คนอื่น  10 คนก็จะได้คนเข้าใจธรรมทั้ง  10 คน  เพราะมันแท้และจริง การที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และเป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะพระองค์ทรงแท้และจริง เราต้องเรียนรู้แท้และจริงให้ได้  เพื่อจะบอกว่าเราของแท้  เราของจริง ที่ครูบาอาจารย์มักบอกเสมอว่า เราไม่จริง  ไม่จริงในที่นี้หมายถึง ไม่เป็นจริงตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัส  ทำไม่จริงจึงเป็นของปลอม    จึงรู้แบบจอมปลอม  พอไปเจอของจริงมันก็กระเจิง  แต่ถ้าเราของจริง เราต้องยึด 3 อย่าง(กินงาน  อยู่งาย  นอนง่าย) ตามแนวพระพุทธเจ้า ที่มาที่แท้จริงจึงเป็นเช่นนี้แล  การที่พวกเราถกเถียงความหมายคำว่าวิปัสสนากับสมถะ กันไม่รู้จบ เพราะเรามองเห็นหลวงปู่ตั้งแต่ออกจากกุฏิ (วิปัสสนา)ไปแล้ว ไม่ได้มองขณะอยู่ในกุฏิ(สมถะ)  ให้ตระหนักไว้เสมอว่า พระที่สำเร็จธรรม  ปู่ที่สำเร็จธรรม หรือพระอรหันต์ที่สำเร็จธรรม ล้วนใช้สมถะปูพื้นฐาน  3  อย่างทั้งสิ้น จงจำไว้  สิ่งที่เราจะนำไปบอกผู้อื่นคือ 3  อย่าง  การกินง่าย  การอยู่ง่าย  การนอนง่าย  นี่คือ หัวใจของนักปฏิบัติ  กินอย่าให้เรื่องมาก  อย่าให้ยากกับการนอน    การพักผ่อนอย่าให้เป็นเหตุ  นี่คือ สมถะ  ถ้าเราสามารถปฏิบัติอย่างนี้ได้มารของเราจะถูกตัดตั้งแต่ในกุฏิ แต่ที่เราเป็นปัญหาเพราะเรามีปัญหาเรื่อง 3 อย่างนี้ตลอดเวลา   เพราะนี่คือตัวขวางของการฝึกอารมณ์สมถะ เรามักจะได้ยินว่ากินอย่างสมถะ  อยู่อย่างสมถะ  นอนอย่างสมถะ แต่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร   ซึ่งบางครั้งเราไปใช้สมถะผิด ทำให้เดินทางไปสู่วิปัสสนาไม่ได้  อย่างมากก็ได้แต่เรียนรู้จากปฏิภาณของปัญญาจากตำรา  การฝึกจากทางโลก เท่านั้น  ที่จริงคำว่าโลกธรรมแปด  (มีลาภ  เสื่อมลาภ  มียศ เสื่อมยศ  มีทุกข์  มีสุข  มีสรรเสริญ  มีนินทา ) ความหมายมันบ่งบอกว่า “ โลกกำลังมุ่งตีธรรม” เพราะความเจริญทางโลก  เขาจึงบัญญัติไว้ว่า โลกธรรม 8  วันหนึ่งโลกมันจะเข้ามานำหน้าธรรม คือความเปลี่ยนแปลงทางโลก ซึ่งได้บัญญัติไว้มีใครที่จะฉงนใจในคำพูดนี้บ้างหรือไม่ คำว่าโลกธรรม 8 (โลกกระทำ 8 ) ทรงตรัสไว้ก่อนแล้วว่าโลกที่เจริญรุ่งเรืองนั้น จะทำให้ธรรมมันเปลี่ยนแปลง  และมีอยู่ด้วยกัน 8 อย่างที่เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำลายธรรม คือ โลกธรรม8  พระธรรมจะถูกทำลายเพราะโลกที่มันรุกคืบ  ถ้าโลกรุกมาพระธรรมย่อมถอย  การถอยของพระธรรมหาได้ถอยไม่ เพราะมันเข้าไปเกือกกลั้วกับโลก ซึ่งมันทำให้พระธรรมจากเข้มข้น ก็เบาบางลง จืดจางลง ดินแดนแห่งเข้มข้นของธรรมมันจะถูกรุกไป  นี่ที่เรียกโลกธรรม 8  การที่วันนี้เกิดอาเพสใดเกิดขึ้น ทำไมมนุษย์จิตมันเสื่อมทราม เพราะธรรมมันจืดจางลง    แม้แต่สมถะกับวิปัสสนาก็ถกกันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะธรรมมันจางลง อย่าว่าใครดีกว่าใคร ให้ยึด 3 ตัวไว้ กินง่าย  อยู่ง่าย นอนง่าย  พฤติกรรม 3 อย่างนี้จะเป็นคำตอบว่า เราสมถะหรือเปล่า  ทั้งหมด 3 ตัว มันกระทบจิตทั้งหมดใช่ไหม กินอยู่ไม่มีปัญหา  แม่บ้านทำอะไรให้ก็กินแบบไม่บ่น  เปี้ยว  หวาน  มัน เค็ม  เพราะพฤติกรรมเหล่านี้มันจะไปซึมซับในอารมณ์ จนติดเป็นนิสัย  กินข้าวทีไรก็ถามหารสชาติที่ต้องการ   วิธีการฝึกสมถะชั้นต้นโดยการ มีอะไรกินอันนั้น   ที่กษัตริย์ตรัสว่าเศรษฐกิจพอเพียง อีกคำหนึ่งที่กล่าวแทนได้ก็คือ เศรษฐกิจสมถะ เพราะ การกิน  การอยู่  การนอนคือที่มาของตัวเศรษฐกิจ  แต่มองในเรื่องทางธรรม คือ ความพอเพียงและเพียงพอของทั้ง 3 ตัวใช่ไหม และทั้งหมดก็จะไปเชื่อมโยงกับโลกธรรม 8 ถ้าเรานำสมถะตัวนี้ไปทำความเข้าใจกับโลกธรรม 8  จะทำให้เรา สร้างความเข้มข้นของธรรมะขึ้น นี่คือการแก้ไข  นี่คือ ธุดงค์  นี่คือ พระพุทธเจ้า อะไรที่เป็นปัญหาทั้งหลายให้อยู่กับตัวอยู่  การเป็นอยู่ คือ การกิน มันคือ สังขาร นอนแบบพักผ่อนจนทอดอารมณ์  หนึ่ง  นอนอย่างมีระบบหนึ่ง  นอนที่รู้ว่าเวลาไหนควรนอน เวลาไหนไม่ควรนอนหนึ่ง  พระจึงมีห้วงเวลาของการจำวัด พระจึงมีเวลาของห้วงสวดมนต์  พระสายป่าจึงมีห้วงเวลาของการกินและฉัน  ทุกอย่างเอาสามอย่างนี้มาจับทั้งนั้น นั่นแหละเรียก ประกอบกิจของคำว่าธุดงค์ คือ การเตรียมตัวธุดงค์จริง  เราไม่รู้ที่มาที่ไปว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ แค่คิดว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ อารมณ์วิปัสสนาก็เข้าไปเต็มแล้ว   เรากำลังจะเอาวิปัสสนาไปแทรกกับสมถะ ซึ่งไม่ถูกต้อง  เราต้องกั้นส่วนของสมถะไว้ แล้วเดินออกมาสู่วิปัสสนา  มันจึงจะแตกฉานของสมถะและวิปัสสนา  เราไม่ได้ปูฐานชีวิตด้วยสมถะ จึงยากแก่การเข้าใจองค์ธรรมที่นำไปสู่ปัญญา   

สรุป สมถะเป็นบ่อเกิดของปัญญาที่สำคัญ เพราะสมถะเป็นตัวทำให้จิตเป็นอุเบกขา  เมื่อเราตัดปัญหาที่มากระทบโดยเฉพาะในชีวิตประจำวันมันก็จะทำให้ อารมณ์เราว่างๆๆๆ พอถูกเติมด้วยวิปัสสนา จึงกระจ่าง  จึงแตกฉาน  อย่างน้อยตัวสมมุติฐานในจิตก็จะเกิดขึ้น เพราะจิตมันว่างเปล่าพร้อมที่จะเติมเต็ม เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย ถูกข้อมูลเติมจนเต็ม  ความว่างเปรียบเหมือนตัวประมวลข้อมูล หรือ memory ถ้าความว่างของพื้นที่ไม่มี เราบอกว่าข้อมูลเต็ม   ในความเต็มนั้นมันมีทั้งจากข้อมูลที่เสื่อมและไม่เสื่อม  การที่เราเอาข้อมูลเสื่อมไปไว้ในหน่วยความจำ  สุดท้ายหน่วยความจำก็เต็ม ( Overload) และสุดท้ายเครื่องก็พังไปด้วยเพราะต้องทำงานตลอดเวลาด้วยปัญหาสมองกลเต็ม  หรือ เราบอกว่าเครื่องอืด เพราะข้อมูลมาก แต่เราไม่เคยกลับไปพลิกดูข้อมูลที่เก็บเลยว่า มันเป็นข้อมูลที่เสื่อมหรือไม่  เราเก็บข้อมูลที่เสื่อมบ้างหรือไม่ ที่ทำให้เครื่องหน่วยความจำเต็ม  เช่นกันกับเมื่อเราเอาข้อมูลเสื่อม (ความคิดขยะ)ไปเก็บไวในสมองมากๆ  ความจำสมองจึงไม่ดี  มันก็ไม่สามารถไปพัฒนาได้อีก ระบบการทำงานของสมองกลคอมพิวเตอร์ เปรียบได้กับธรรมะ นั่นเอง  เราบอกว่าเราจำลองความเป็นคนไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ แต่เราไม่ได้นำคอมพิวเตอร์ย้อนกลับมาสู่คนบ้างเลย  สมองคนมีแต่ข้อมูลเสื่อม ถามว่าทำไมไม่ลบทิ้งบ้างข้อมูลเสื่อมเหล่านั้น เก็บไว้ทำไม เดี๋ยวมันจะทำให้สมองแฮ้งค์แบบคอมพิวเตอร์บ้าง   ฉะนั้นปัญหามนุษย์คือ ไม่รู้จักถ่ายข้อมูลออกทิ้ง  เหมือนหลักธรรมหม้อ 3 หม้อ (หม้อปฏิบัติธรรม , หม้อหน้าที่ ,หม้อครอบครัว ) ที่ไม่รู้จักแยกส่วนการใช้งานที่ชัดเจน  ใช้ปะปนกันหมด สุดท้ายพังทั้งระบบ  แต่ถ้าสมถะ จะให้ความคิดว่า ข้อมูลอันไหนควรเก็บเพราะสำคัญ ข้อมูลอันไหนไม่ควรเก็บเพราะไร้สาระ  ทั้งหมดมันกระทบจิตทั้งสิ้น  เช่นเดียวกับพวกอ่านนิยาย  อ่านนิยายแบบสมถะก็ได้อารมณ์  อ่านนิยายแบบวิปัสสนายิ่งเจ้ง เพราะตัวที่อับปัญญามันพาเข้าไปแสดงเอง ก็ติดในอารมณ์ตรงนั้นมา  แต่ถ้าได้สร้างสมถะไปก่อนอ่านนิยาย  มันจะถูกตัดไปเป็นเปาะๆ อารมณ์วิปัสสนาเข้ามาด้วย  อ้อ มันเป็นเช่นนี้แหละ  ถ้ามีสมถะและวิปัสสนา ในการอ่านนิยาย  นิยายก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีและไม่ดีให้รู้  แต่ถ้ามีแต่อารมณ์วิปัสสนา  สิ่งเหล่านี้เหมือนขยะเข้ามากองเต็ม  เพราะปัญญาที่ไม่แตกฉานได้แต่คิดๆๆ  สุดท้ายก็จะเข้าข้างตนเองและแล้ว  ก็น้อยเนื้อต่ำใจบอกว่า “วาสนาไม่ดี ”  เรารู้ไหมว่านิยายน้ำเน่า  เรารู้ แต่เราก็เสพน้ำเน่าตลอดเวลา จึงติดน้ำเน่ากันงอมแงมทั่วบ้านทั่วเมือง จิตมนุษย์จึงเน่าไปด้วย  เพราะรับทุกวัน  จิตเน่าเสร็จอารมณ์เปลี่ยนแปลง สรุปที่อารมณ์เปลี่ยนแปลง เพราะนิยายน้ำเน่า  เพราะตัวละครนิยายมาอยู่ในจิตเรา  จิตจึงเน่า  กายจึงเน่า ความเจ็บป่วยก็ตามมา  ตั้งแต่ดูน้ำเน่าเรื่องนี้ กูป่วยมาตลอดเพราะกูเกลียดตัวอิจฉา ชีวิตเน่าตลอดข้ามปีข้ามเดือน  ข้ามภพข้ามชาติ อารมณ์เหล่านี้แหละที่ทำให้จิตตก  จึงเป็นที่มาของการห้ามพระภิกษุดูสิ่งบันเทิง เพราะจะไปทำลายสมถะกรรมฐาน ถ้าผ่านสมถะได้แล้ว จะดู 10 ช่องก็ไม่มีผลกระทบ 

            สรรพสิ่งมันแทรกอยู่ในโลกมนุษย์เสมอ  คนโบราณทำไมจิตใจดี เพราะที่บ้านไม่มีอะไรเลย น้ำดื่มก็ตักเอง อาหารก็ทำเอง  ไม่มีน้ำเน่ามากวนใจ  จิตใจจึงดี  คิด พูด  ทำ แต่สิ่งดีๆ  แต่ถ้ามนุษย์มีอารมณ์สมถะและวิปัสสนา เขาจะสามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนเน่า ลบทิ้ง  อันไหนไม่เน่าเก็บไว้   นี่คือ สาเหตุ ที่ต้องฝึกสมถะ เมื่อนำปัญญามาเติมก็เติมอย่างอุเบกขาใช่ไหม  จึงรับแต่สิ่งที่ดีๆ แบบเต็มๆ   ทั้งหมดมัน  เป็นปัญหาของผู้ที่ไม่สำเร็จทางธรรม เพราะเราหลอกตนเองว่าของแท้  ที่แท้เป็นของปลอม  นี่คือสาเหตุทำให้มนุษย์ยุคนี้ปฏิบัติธรรมแล้วจึงไม่บรรลุธรรม ถ้าเราเห็นเหตุปัจจัยแล้ว นี่แหละที่เราเรียกว่า โลกธรรม 8  ชีวิตของมนุษย์มันเป็น 4 ด้าน คือ อริยสัจ 4  การเรียนรู้โลกธรรม 8  จะทำให้มนุษย์เบาบางเรื่องทุกข์ได้ เราก็จะอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างไม่ทุกข์

บวรธรรมสถาน

5  ธันวาคา 2554

ศตกวี  เรียบเรียง 

 

หมายเลขบันทึก: 497886เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท