เปิดกะลา งานทันตสาธารณสุขในโรงพยาบาล บทเรียนจากโรงเรียนนอกกะลา


สุภาษิตจีนว่าไว้ว่า “ความพยายามอยู่ที่คน ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า”

เปิดกะลา งานทันตสาธารณสุขในโรงพยาบาล บทเรียนจากโรงเรียนนอกกะลา

การตั้งคำถามเป็นจุดเริ่มต้น
     สิ่งที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์วิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา คือ “การตั้งคำถาม” ซึ่งเป็นเทคนิคที่อาจารย์วิเชียรใช้กับครูและนักเรียนในโรงเรียน ให้เด็กนักเรียนหาคำตอบร่วมกัน การตั้งคำถามให้นักเรียนตอบจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน แทนที่อาจารย์จะตอบคำถามที่นักเรียนถามซึ่งเป็นเรื่องง่ายเพราะอาจารย์รู้คำตอบอยู่แล้ว แต่อาจารย์โรงเรียนลำปลายมาศทุกคนจะใช้การตั้งคำถามกลับให้นักเรียนช่วยกันคิด ท้ายที่สุดนักเรียนจะเรียนรู้ผ่านกระบวนการกลุ่มที่ช่วยกันคิด อาจารย์มีหน้าที่นำกระบวนการกลุ่มเท่านั้น
     อาจารย์วิเชียรเล่าว่า เมื่อภาคการศึกษาที่แล้ว ครูในโรงเรียนได้ตั้งคำถามว่า สิ่งที่ครูทำในโรงเรียนทำไปทำไม มีเหตุผลอะไรในการทำหรือทำตามกันมาเรื่อยๆ คุณครูในโรงเรียนได้รวบรวมมามากว่า 300 กิจกรรม เทคนิคนี้เป็นการทบทวนสิ่งที่ทำไปว่ามีความหมาย มีประโยชน์อะไร การตั้งคำถามสำหรับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ทุกวันว่ามันมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน มีบางอย่างที่เราทำตามกันมาโดยไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไรหรือไม่
     ผมลองตั้งคำถามกับทีมงานฝ่ายทันตสาธารณสุข ในโรงพยาบาลชุมชน ที่ทำงานยุ่งเหยิงทั้งวัน ทั้งงานรักษา งานป้องกันในคลินิก งานภายนอกโรงพยาบาล ออกหน่วยในโรงเรียน เยี่ยมบ้าน ฯลฯ ว่างานที่ทำทั้งหมดนี้ มีความหมายอะไร มีประโยชน์อะไรบ้าง มีความสำคัญแค่ไหน การทบทวนในเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่น่าสนใจมาก
     ถ้าเป้าหมายของการจัดการศึกษาของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา คือ การสร้างคนที่เน้นเรื่องความเป็นมนุษย์มากกว่า การเน้นด้านความรู้ ความเก่ง
เป้าหมายของฝ่ายทันตสาธารณสุข โรงพยาบาลชุมชน คือ อะไร ถ้าคือการพยายามทำให้คนไทยมีสุขภาพช่องปากที่ดี แล้วสิ่งที่ทำอยู่จะทำให้บรรลุเป้าหมายหรือไม่ ควรจะเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี หรือเน้นเรื่องการรักษาเพื่อซ่อมสุขภาพ ทันตแพทย์และทันตบุคคลากรใช้เวลาในวันหนึ่งๆทำอะไรมากกว่ากัน ใช้งบประมาณทุ่มเทไปกับเรื่องใดมากกว่า

ปลดปล่อยศักยภาพของคนทำงาน เป็นหัวใจ
     ประโยคหนึ่งที่อาจารย์วิเชียร ไชยบัง ได้เล่าให้ฟังถึงกระบวนการสร้างนักเรียนที่มีความเป็นมนุษย์คือ “ต้องสร้างครู ปลดปล่อยศักยภาพครู” เดิมครูไม่ได้ทำงานตามศักยภาพที่ครูมี ครูไม่ได้รู้สึกว่างานที่ทำมีคุณค่า ครูทำตามที่เบื้องบนกำหนดมา ครูคิดเรื่องของตนเอง คิดเรื่องการเพิ่มคุณวุฒิ ครูคิดเรื่องค่าตอบแทนของตนเอง ทังหมดนี้เป็นอันตรายต่อการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน
     อาจารย์วิเชียร ไชยบัง ได้บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้ครูรู้สึกว่างานที่ทำมีคุณค่า มีคุณค่าต่อเด็ก มีคุณค่าต่อผู้ป่กครอง ถ้าครูมีตรงนี้แล้ว ก็จะทุ่มเททำงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งกระบวนการปลดปล่อยศักยภาพนี้ไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของครูแต่ละคน ครูแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านความคิด ความคาดหวัง พื้นฐานประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน อาจารย์วิเชียรจะใช้เทคนิคต่างๆในการพัฒนาและปลดปล่อยศักยภาพของครู เช่น การจัดวางครูไปไว้ในตำแหน่งต่างๆ การสลับงานให้ทำ เรียนรู้งานใหม่ๆ มีเบื้องหลังความคิดที่ว่า “ไม่มีสิ่งที่ดีที่สุด มีแต่สิ่งทีดีกว่า” ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และใช้การ Coaching โดยเทคนิคการตั้งคำถาม เมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆกับครู เช่น ครูสอนไม่ดีเด็กไม่เข้าใจ ครูตัดสินกรณีเด็กทะเลาะกันไม่เหมาะสม อาจารย์วิเชียรจะไม่พูดคำว่า ทำได้ไม่ดี แบบนี้ผิด ไม่ใช่ แต่จะใช้ “คำถาม” ย้อนกลับไปให้ครูได้คิด และถ้าครูอยู่ในสภาวะที่กดดันจากงาน ความเครียดจากการที่ต้องทำงานใหม่ ทางอาจารย์วิเชียร ไชยบังใช้วิธี “ช้อนรับ” เข้าไปดูแลตอนที่ครูกำลังแย่ เพื่อให้ครูรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้
     ทันตบุคคลากรในโรงพยาบาลชุมชนได้ปลดปล่อยศักยภาพของตนเองหรือไม่ การทำงานที่ทำทุกวันทำให้รู้สึกว่างานที่ทำมีคุณค่าหรือไม่ จริงอยู่งานรักษาทางทันตกรรมก็ทำให้ตัวทันตบุคคลกรรู้สึกว่ามีคุณค่าได้ แต่ต้องตอบคำถามแรกให้ได้ก่อนว่า เป้าหมายของฝ่ายทันตสาธารณสุขเป็นอย่างไร หัวหน้าฝ่ายทันตสาธารณสุขจะต้องทำอย่างไรถึงสร้างคนในทีมงานมีศักยภาพเพิ่มขึ้น ใช้วิธีการใด หรือให้ทำงานไปเรื่อยๆ


ความสุขจากทำงานแบบชาวสวน
     ครูที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นชาวสวนที่ดูแลสวนอย่างเต็มที่ รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย กำจัดศัตรูพืช คอยดูแลเอาใจใส่ แต่ท้ายที่สุด ชาวสวนจะต้องปล่อยให้ต้นไม้นั้น ผลิดอก ออกผลตามธรรมชาติที่มันควรจะเป็น ชาวสวนอาจคาดหวังให้ต้นไม้ผลิดอก ออกผลได้ แต่ควบคุมมันไม่ได้ ถ้าต้นไม้ไม่ได้ให้ผลผลิตเนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น เมล็ดพันธ์ไม่ดี มีภัยธรรมชาติถาโถมเข้ามา ฯลฯ สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ครูก็มีหน้าที่ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนและทำหน้าที่ของครูให้ดีที่สุด แต่เมื่อเด็กนักเรียนจบไปแล้ว จะเป็นอย่างไร เรียนต่อที่ไหน ก็เป็นไปตามธรรมชาติของนักเรียนคนนั้นๆ
     ทันตบุคคลากรจะต้องทำหน้าที่เป็นชาวสวนเช่นเดียวกัน ทำให้ของทันตบุคคลกรให้ดีที่สุดเต็มตามศักยภาพ แต่ต้องทำหลังจากที่ตั้งคำถามแล้วว่า เป้าหมายของงานที่ทำคืออะไร มีและปล่อยให้ผลลัพธ์เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย ตามธรรมชาติที่มันเป็น คาดหวังได้แต่อย่าควบคุมผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
การทำงานให้ดีที่สุดแล้วไม่คาดหวังผลลัพธ์ที่เกิดชึ้นนั้น จะทำให้คนที่ทำงานไม่เกิดความทุกข์ในการทำงาน แต่จะมีความสุขจากกระบวนการทำงาน มีความสุขจากงานที่ทำ ไม่ใช่มีความสุขจากผลลัพธ์ที่จะเกิด เพราะหลายๆกรณีมีปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้มาทำให้งานที่เราทำไม่สำเร็จ ดังสุภาษิตจีนที่ว่าไว้ว่า “ความพยายามอยู่ที่คน ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า”


***********************************************
หมอเฮ้าส์

เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.)

หมายเลขบันทึก: 497521เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท