รู้จักกันที่gotoknow......เทศกาลถ่ายพยาธิ


ประสบการณ์เป็นเรื่องสำคัญ การรู้จักท้องถิ่น รู้จักโรคประจำถิ่น และวิถีชีวิตของชาวบ้านนั้นๆ เป็นหัวใจของชาวสาธารณสุขตราบเท่าทุกวันนี้

  การทำงานที่สถานีอนามัยเราชาวสาธารณสุขมักจะเรียกชื่อตำแหน่งล้อกันว่าหากเป็นผดุงครรภ์ก็จะถูกล้อว่า หมอตำแย และเจ้าพนักงานอนามัยผู้ชายเราจะเรียกว่าหมอส้วม แต่เราก็ภาคภูมิใจในวิชาชีพนะเพราะชัดเจนดี หมอส้วมจะต้องมีหน้าที่ดูแลเรื่องพยาธิในเด็กนักเรียนด้วย หากสถานีอนามัยใดมีแต่ผู้หญิง ทางสาธารณสุขจังหวัด จะจัดทีมลงมาช่วยในเทศกาลถ่ายพยาธินี้

  การถ่ายพยาธิในเด็กนักเรียน ต้องทำเป็นประจำทุกปี ที่สถานีอนามัยแห่งแรกของผู้เขียนอยู่กันสองคน เป็นผู้หญิงทั้งคู่ ทีมจังหวัดจึงลงมาช่วย พี่ๆจะมาตั้งแต่หัวค่ำ หลังอาหารเย็นก็นั่งคุยกันไป เตรียมขูดมะพร้าวไว้คั้นกระทิ และเตรียมล้างผลมะเกลือสดไว้ถ่ายพยาธิในวันรุ่งขึ้น

 สูตรใช้มะเกลือสำหรับถ่ายพยาธินั้น ให้ใช้ผลมะเกลือสด1ผล ต่ออายุ1 ปีแต่สูงสุดต้องไม่เกิน 25 ผลต่อคน ตำให้แหลกแล้วผสมน้ำกระทิคั้นเอาแต่น้ำดื่มทันที ถ่ายพยาธิไส้เดือน พยาธิตัวตืดได้ผลดี

 ผู้เขียนเป็นน้องผู้หญิิง พี่ผู้ชายทั้งหลายก็ไล่ให้ไปเตรียมรายชื่อ ข้อมูลของเด็กนักเรียน ไม่ต้องมาทำงานหนักแบบนี้ ผู้เขียนก็รอดูเขาเตรียมยาถ่ายพยาธิรอจนดึกทนไม่ไหวเลยหลับไป มารู้ว่าทั้งคืนนั้นพี่เขาก็ไม่ได้ตำมะเกลือแต่อย่างใด แต่มาทำเอาเช้า เพราะต้องทำยาสดๆห้ามทิ้งไว้นานมะเกลือจะเป็นพิษนั่นเองและที่ต้องผสมกระทิสดเพื่อลดการดูดซึมเข้าระบบอาหาร ของคน เพียงต้องการให้พยาธิได้ดื่มมะเกลือแล้วก็ตายเท่านั้น

  ไม่รู้เป็นอย่างไร ตอนเป็นเด็กนักเรียนผู้เขียนก็กลัวหมอ ครั้นพอมาเป็นหมอ นักเรียนรุ่นใหม่ก็ยังกลัวหมอเหมือนเดิม หลายคนที่เคยกินมะเกลือผสมน้ำกระทิ ก็นึกอาการออกว่า รสชาติมันเฝื่อน แล้วก็ไม่ทันไร ก็ต้องวิ่งจู๊ดๆ ถ่ายพยาธิกันทันที แค่นี้ก็เรียกน้ำตา และความงอแงของเด็กน้อยได้เหมือนเดิม มีพี่หมอคนหนึ่ง ดื่มน้ำมะเกลือโชว์เด็กๆเพื่อหวังจะให้เด็กนั้น คลายกังวล เพียงไม่ถึง 5 นาที พี่หมอก็ต้องวิ่งจู๊ดถ่ายพยาธิตามระเบียบเหมือนกันเลยกลายเป็นเรื่องสนุกสนาน

 การส่งเสริมป้องกันโรคเป็นงานหลักของสถานีอนามัย โรคพุงโลก้นปอด นั่นแหละคือหนึ่งอาการของโรคพยาธิ. หน้าตาเหลืองๆซีดๆนั่นแหละถ่ายพยาธิแล้วกินยาบำรุงซะ ประเดี๋ยวก็แข็งแรง หากไม่ดีขึ้นค่อยว่ากันใหม่

 เจ้าหน้าที่ประจำสถานีอนามัยเขาให้รักษาโรคง่ายๆ แต่การแยกว่าโรคไหนง่าย ยาก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ประสบการณ์เป็นเรื่องสำคัญ การรู้จักท้องถิ่น โรคประจำถิ่น และวิถีชีวิตของชาวบ้านนั้นๆ เป็นหัวใจสำคัญของชาวสาธารณสุขแม้ตราบเท่าทุกวันนี้

  เขียนมาถึงตรงนี้ ต้องขอตัวไปรับประทานข้าวเช้าก่อนนะคะ ถ้าเป็นสมัยก่อนป่านนี้คนไข้รอเต็มอนามัยแล้ว

แล้วจะกลับมาเล่าตำนานหมออนามัยให้ฟังใหม่ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 497125เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2012 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2012 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านทุกท่านและเจ้าของดอกไม้ดร. จันทวรรณคุณkunrapee และท่านมหาเหรียญชัยเป็นอย่างยิ่งและจะรวบรวมเรื่องเล่าจากชาวอนมัยมาเล่าในโอกาสต่อไปนะคะ

สวัสดีค่ะคุณปริม ปัจจุบันไม่มีการถ่ายพยาธฺในเด็กกันแล้ว การส่งเสริมสุขภาพด้านนี้เปลี่ยนแปลงไปค่ะ ขอบคุณที่มอบดอกไม้กำลังใจ อีกหนึ่งดอกนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท