ทำอย่างไรถึงจะพูดเก่งๆ ? (4)


แนวทางการพัฒนาทักษะการพูด ที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์จริงของผู้เขียน

"สุ จิ ปุ ลิ หัวใจนักปราชญ์ กุญแจดอกสำคัญของการพัฒนาการพูดในที่ชุมชน"

เข้าสู่ช่วงเข้าพรรษา ทุกท่านคงมีโอกาสได้ไปทำบุญเวียนเทียนกัน ขอยินดีและอนโมทนาบุญกับทุกท่านด้วยนะครับ
มาคุยถึงเรื่อง พัฒนาทักษะการพูดกันต่อน่ะครับ
ประสบการณ์ที่ผมจะมาแลกเปลี่ยนท่านในวันนี้คือ จุดเริ่มของการพูดในที่ชุมชนที่ได้รับการการยอมรับมาตั้งแต่อายุ 13 ปีนั้น มันเป็นมาอย่างไร ผมไปจับไมค์พูดแล้วได้รับการยอมรับเลยหรือ แสดงว่าต้องเป็นพรสวรรค์แน่ๆ เลย ไช่ไหม ? 
   ผมเป็นเด็กบ้านนอก แบบบ้านนอกจริงๆครับ ทำไร่ ทำนา เลี้ยงควายตั้งแต่เล็กจนโต ในหมู่บ้านมีไฟฟ้าใช้ตอนที่ผมเรียนหนังสืออยู่ ป.4 ฉะนั้นไอ้เรื่องการรับข่าวสารข้อมูลจากโลกกว้างแทบจะไม่มีเลย ในกลุ่มเครือญาติเรามีวิทยุ "ธานินทร์" ของแม่เครื่องเดียว ตอนเย็นประมาณ 1 ทุ่ม พวกเราก็จะมารวมกันนั่งฟังนิยายจากคณะเกตุทิพย์ นักพากย์ที่พอจะจำได้ก็คุณวิเชียร เนริกานนท์ นี่แหละ วิทยุจึงเป็นช่องทางเดียวที่ผมจะได้รับทราบความเป็นไปของโลกภายนอก
  มีอีกอย่างซึ่งสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาทักษะการพูดและการเป็น Trainer ของผม คือ ผมเป็นคนที่รักการอ่านหนังสือมาก นับแต่ผมเริ่มอ่านหนังสือออกตั้งแต่เรียนอยู่ ป.2 ผมก็อ่านเรื่องราวต่างๆอย่างตื่นเต้น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ ในขณะที่ผมนั่งเลี้ยงควายอยู่โลกการอ่านก็พาผมไปรู้จักกับ จูเรียส ซีซาร์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือบุคคลสำคัญๆของโลกอื่นๆ การได้รู้จักชีวิตของท่านเหล่านี้มันช่างตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก
  จริงๆแล้วหนังสือก็หาอ่านได้ยากยิ่งครับ ห้องสมุดโรงเรียนประถมของผม ในหนึ่งปีเปิดอยู่สองวัน คือ วันที่ทำความสะอาดปีละ 2 ครั้ง (ผมก็ไม่เข้าใจจนปัจจุบันนี้) ผมและเพื่อนๆซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่เรียนดีไม่กี่คนเท่านั้นที่มีวาสนาไปเป็นชุดทำความสะอาด ชิ้นส่วนหนังสือบางเล่มที่ถูกตีค่าเป็นเศษกระดาษแล้ว ก็เสร็จผมหล่ะครับ
  จะมีหนังสือเป็นของตัวเองก็ตอนที่มีรถขายอุปกรณ์เครื่องเขียนและหนังสือเขามาขายที่โรงเรียน ประมาณ 2-3 เดือนต่อครั้งหล่ะครับ ผมชอบซื้อหนังสือประเภทความรู้รอบตัวมาก จากอานิสงค์การสะสมการอ่านตั้งแต่เด็กน่ะแหละทำให้ผมสอบแข่งขันวิชา สปช.ได้ที่ 1 ของอำเภอ ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของโรงเรียนกระทั่งปัจจุบัน และพอมาเรียนมัธยมแล้ว ผมก็เรียนได้ที่ 1 ในวิชาสังคมศึกษาของสายมาตลอด และจำได้ว่าตอนที่ผมเรียนอยู่ ม.3 อาจารย์ได้เอาตอบไปตอบแข่งขันวิชาสังคมศึกษากับรุ่นพี่ ม.ปลายแต่ผมได้อันดับที่สี่ จากคนยี่สิบคน แหละพอขึ้น ม.ปลาย ผมก็ตอบปัญหาสังคมศึกษาได้อันดับที่ 1 มาตั้งแต่ ม.4
  ปัจจุบันความรู้ด้านประวัติศาตร์ในสมองของผมนี่เหมือนใยแมงมุมครับ มันเชื่อมโยงกันหมด ผมสามารถอธิบายให้ท่านฟังได้ทั้งวัน ว่าในยุคของพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์ของอินเดียชื่ออะไร ฝั่งจีนตอนนั้นเป็นราชวงศ์ใด ตอนนั้นโรมันยังมีอยู่หรือไม่ หรือกลายเป็นประเทศอิตาลีแล้ว
  อาจจะออกอวดๆนิดครับ แต่ท่านที่อยากพัฒนาทักษะการพูดของตัวเองให้ชัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่านจะต้องเริ่มที่การอ่าน อ่าน และอ่าน ในเรื่องที่ท่านจะพูดครับ การอ่านนี่ผมจัดว่าเป็นหัวใจนักปราชญ์ ข้อแรกครับคือ "สุตตะ" คือ การฟังมากหรือการอ่านมาก ในเรื่องนั้นๆ ท่านจะมีข้อมูลสำรองที่เพียงพอและเรียกเอามาใช้ได้อย่างไม่รู้จักหมด ดังนั้นข้อสำคัญข้อแรกครับที่ผมสามารถจับไมค์พูดวันแรก และวันหลังเขาต้องมาตามเอาเด็กอายุ 13 ปีให้ไปทำหน้าที่นักพากย์อีกในวันหลัง ก็ผมอ่านนิตยสารด้านกีฬา ค่อนข้างเยอะครับ อ่านคอลัมภ์กีฬาเยอะในหนังสือพิมพ์ต่างๆ แต่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์หรือวารสารที่ทันสมัยหรอกครับ เป็นหนังสือพิมพ์ของสอง-สามเดือนที่แล้ว จากห้องสมุดที่วัด มีคนเอามาทอดผ้าป่าไว้ แต่ก็ได้สำนวนและชื่อนักฟุตบอลดังๆเยอะพอสมควร นานๆผมจึงจะปั่นจักรยานไปซื้อสยามกีฬาสตาร์ซ็อกเกอร์ ในตัวอำเภอมาอ่านที และช่วงนี้นไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านแล้วแต่ที่บ้านไม่มีปัญญาซื้อโทรทัศน์ดูหรอกครับ ก็พอได้ดูถ่ายทอดฟุตบอลบ้าง
    ผมจึงเป็นผู้บรรยายฟุตบอลที่รู้จักผู้เล่นต่างประเทศเยอะมาก เรียกชื่อเต็มได้ถูกและเปรียบเทียบผู้เล่นบ้านนอกของเราในสนามว่าแต่ละคนมีลีลาเหมือนใคร ผมถือว่าเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เล่นได้อย่างดีและสร้างสีสันให้เกมส์การแข่งขันได้เยอะทีเดียว ขณะบรรยายไปผมก็จะสอดแทรกความรู้รอบตัวไปด้วย มันทำให้การบรรยายของเราเป็นทางการมากขึ้น ดูเป็นหลักเป็นการไม่ได้เอามันอย่างเดียว กีฬาทัวนาเม้นท์นั้นๆก็จะดูมีความเป็นทางการมากขึ้น ผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งเป็นข้าราชการท้องถิ่น ก็เข้ามาให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมก็จะดูเป็นการเป็นงาน
   ขยันอ่านสิครับ... ถ้าผมจะแนะนำท่าน ค้นคว้าข้อมูลให้มาก ฟังจากผู้รู้ให้มากในเรื่องที่ท่านจะพูด แล้วท่านจะพูดได้ดี รื่นไหล เชี่ยวชาญ ถ้าท่านไปเรียนการพูด จากสำนักฝึกพูดที่ต่างๆ แบบฝึกหัดแรกที่เขาจะให้ท่านฝึกพูดคือ ฝึกพูดเกี่ยวกับตัวเองหรือเรื่องที่ตัวเองรู้ดีที่สุด ให้คนอื่นฟัง เพราะเราจะพูดที่เรารู้ดีหรือถนัดได้ดีโดยธรรมชาติครับ
เรื่อง หัวใจนักปราชญ์ (สุ จิ ปุ ลิ) ยังไม่จบน่ะครับได้ข้อ สุ-สุตตะ ข้เดียว แต่ด้วยคอลัมภ์นี้ค่อนข้างยาวแล้วกลัวท่านจะเบื่อเสียก่อนเดี๋ยวผมค่อยมาเขียนต่อแล้วกัน...

สวัสดีครับ...

คำสำคัญ (Tags): #ปณิธานสามรุ่น
หมายเลขบันทึก: 497052เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท