ต้นกล้าใสใส ; จินตนาการ การสร้างความรู้


กระบวนการเรียนรู้เริ่มต้น เมื่อเด็กๆ ต่างมาพร้อมกัน

ข้าพเจ้ามาถึงวัดค่อนข้างสาย เมื่อมาถึงเห็นเด็กๆ รออยู่เพียงสามสี่คน มีอ้น นนท์ แอร์ และมล ... เมื่อเห็นรถวิ่งเข้ามาถึง ด้วยความตื่นเต้น อ้น รีบอาสา...จะไปตามเพื่อนๆ ด้วยความเข้าใจว่าข้าพเจ้าไม่ได้มาสอน จึงพากันกลับก่อน

ตามธรรมชาติเด็กๆ ค่อนข้างมาแต่เช้า

ดังนั้น หากว่าช้าหน่อยก็ถือว่าสายแล้วสำหรับเด็กๆ...

 

วันนี้ชวนเด็กๆ เรียนเรื่องดักแด้กลายเป็นผีเสื้อ...เป็นการเรียนรู้แบบไม่ปิดกั้นช่วงวัย ทุกคนต่างเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่ ป.๑ ถึง ป.

แต่ก่อนที่จะเริ่มต้นเรียน...เด็กๆ ขออาสาร้องเพลงที่ต่างเตรียมไว้สำหรับวันเกิดข้าพเจ้า เป็นเพลงที่น้องบิ๋มบอกว่า ... “บิ๋มเป็นคนแต่งเอง" ซึ่งดัดแปลงมาจาก เพลง "เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม"...ของทีโบน ถือว่าเป็นเพลงโปรดอีกเพลงหนึ่งของข้าพเจ้าทีเดียว

น้องบิ๋มจิตใจใสใส ...เพลงที่เลือกมาจึงค่อนข้างใสกระจ่างดั่งจิตใจ

ขณะที่ร้องนำมาซึ่งความสุขสดใสและความสนุกสนาน จอมซนทั้งหลายต่างก็พากันแสดงท่าทางประกอบ เป็นที่รื่นเริงครื้นเครง

ความสุขเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่าอย่างมาก

และแล้ว...เมืื่อข้าพเจ้าตั้งโจทย์ว่า "วงจรชีวิตของผีเสื้อนั้นเป็นเช่นไร"

เด็กๆ ต่างแย่งกันพูดและเล่าให้ฟัง

ข้าพเจ้าจึงบอกว่า ...ให้วาดเป็นภาพมาให้ดู

ได้ผล เสียงอันอึกทึกเงียบลง หลายครั้งที่ให้เด็กๆ ลงมือวาดภาพ ... ดูเหมือนจะมีสมาธิมากขึ้น และนิ่งมากขึ้น ยิ่งเมื่อเวลาที่ต้องระบายสี ในช่วงนี้เหมือนความจดจ่อจะอยู่ที่กิจกรรมเบื้องหน้า

การสร้างจินตนาการขึ้นมาก่อน ผนวกกับความรู้เดิมที่มี คาดการณ์ลงไปว่า "วงจรชีวิตของผีเสื้อ" น่าจะเป็นลักษณะอย่างไร ให้เด็กๆ ได้ใช้จินตนาการนำในการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ตั้งไว้ พร้อมกันนั้น...จึงให้ข้อมูลเพิ่มเติมลงไปว่า "ตามธรรมชาติแล้วกว่าจะมาเป็นผีเสื้อนั้นควรจะเป็นอย่างไร" 

ความสามารถที่ได้รับการบ่มเพาะร่วมกับการฝึกเจริญสติผ่านกิจกรรม ... เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าตั้งใจที่ใส่กระบวนการนี้เข้าไป ร่วมกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นกิจกรรมของการบ่มเพาะความอ่อนโยนและความสุข

 

คิว" ดู...อารมณ์ไม่จอยเท่าไรนัก

ก็จะถูกเรียกมานั่งใกล้ๆ แม่ครู... การได้รับการสัมผัส ผ่านภาษาท่าทาง และแววตา ด้วยความรักและความเข้าใจ ข้าพเจ้าเชื่อว่าคือ กระบวนการบ่มเพาะความก้าวร้าวและแข็งกระด้างของเด็ก...

สักพักไม่นาน ... ความสดใสของคิวก็กลับมา

ข้าพเจ้าตีความเอาเองว่า ความรู้สึกของความไม่มีความสุขในชีวิตประจำวันของเด็กๆ จะถูกสะท้อนผ่านออกมาทางการกระทำและคำพูด

ที่ว่าง...คือ สภาวะที่เด็กๆ ได้ใช้จัดการอารมณ์ของตนเอง

หลังจากที่คิว...ดูสงบขึ้นข้าพเจ้าก็ปล่อยให้คิวได้เป็นอิสระ ทำกิจกรรมที่ตนเองอยากจะทำ ซึ่งสังเกตได้ว่า ... คิวเลือกที่จะไปนอนอ่านหนังสือคนเดียว จนดูเหมือนว่าทุกอย่างแห่งภายในดีขึ้น จึงลุกขึ้นมาทำงานส่งข้าพเจ้า

และการแก้ไขเช่นนี้ข้าพเจ้าก็ทดลองทำกับแอร์ นนท์ และมนเช่นกัน...เมื่อซนมาก

แทนที่จะดุ แต่กลับเรียกมานั่งใกล้ๆ ... พร้อมกับถามเหตุผลถึงความซน และการไม่เคารพในกติกา แววตาดูสลดลงข้าพเจ้าจึงแปรเปลี่ยน ให้...ทำกิจกรรมอาสา เช่น จัดเตรียมภาชนะสำหรับใส่อาหารในมื้อเที่ยง พอได้ทำกิจกรรมเช่นนี้ ดูเหมือนเด็กๆ มีแววตาที่สดใสขึ้น ความวุ่นวายจากความซนก็ดูเหมือนสงบลง...

ช่วงที่ผ่อนคลายข้าพเจ้าเปิดภาพของเด็กๆ ได้ดูในกิจกรรมหลายๆ กิจกรรมที่ผ่านมา เสียงหัวเราะ แววตา และรอยยิ้มที่เปี่ยมสุข สะท้อนถึง...ความรู้สึกนึกคิดของพลังด้านบวกมากมาย

เด็กๆ ตั้งใจมาก ... สลับกับเสียงหัวเราะเป็นระยะ

นี่คือ "การสะท้อนข้อมูลกลับ" ว่าที่ผ่านมาเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง

กิจกรรมในวันนี้จบลง...ด้วยการทานก๋วยเตี๋ยวร่วมกัน

และ...

การทบทวนเรื่อง "ศีล๕" พร้อมด้วยการสวดมนต์ไหว้พระร่วมกัน

...

๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 496431เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2012 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 06:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท