มนุษย์เงินเดือนต้องปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน


ปีนี้เป็นปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นอย่างก้าวกระโดดแบบที่ไม่เคยปรับกันแบบนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย เกิดปัญหาทางธรรมชาติตั้งแต่ปลายปีที่แล้วแต่ก็ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ และยังเกิดสภาพค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมากมาย ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นยิ่งกว่าค่าจ้างที่ปรับขึ้นไปด้วยซ้ำ อีกทั้งในปี 2556 ก็ยังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็คือ การเปิดเสรีทางการค้าในกลุ่มอาเซียน หรือที่เรียกกันคุ้นปากว่า AEC แล้วมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ จะต้องปรับตัวกันอย่างไรดี

ข่าวคราวที่ออกมาตามหน้าหนังพิมพ์ก็มีแต่จะทำให้เราที่เป็นมนุษย์เงินเดือนเกิดอาการหวั่นวิตก และคิดไปต่างๆ นานา ว่าจะต้องปรับตัวกันอย่างไร จะต้องทำอย่างไรดีกับงานที่ทำอยู่ และในอนาคตจะเป็นอย่างไร สภาวะแบบนี้ผมเชื่อว่าหลายคนก็คงเกิดความเครียดในการทำงานมากขึ้น

อีกทั้งข่าวต่างๆ ที่ออกมาก็เป็นไปในลักษณะภาพใหญ่ๆ และภาพของการปรับตัวขององค์กรมากกว่า แล้วพนักงานที่กินเงินเดือนอย่างเราๆ ท่านๆ จะต้องปรับตัวกันอย่างไรบ้าง

ได้ไปอ่านเจองานวิจัยของสวนดุสิต ซึ่งได้ทำวิจัยเรื่องของ ผู้ใช้แรงงานไทยควรจะทำอย่างไรกับสภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งผลการวิจัยของทางสวนดุสิตก็ออกมาดังนี้

  • อันดับ 1 ประหยัดอดออม มีการวางแผนการใช้จ่าย และอยู่อย่างพอเพียง 60.15%
  • อันดับ 2 ขยันทำงานให้มากขึ้น ไม่เลือกงาน 23.43%
  • อันดับ 3 พัฒนาตัวเองให้มีความรู้และเป็นที่ยอมรับ 9.38%
  • อันดับ 4 ตัดเรื่องที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น เหล้า บุหรี่ การพนัน 7.04%

จากผลการวิจัยของสวนดุสิตโพลที่ออกมานั้น ผมอ่านจบแล้วรู้สึกว่า คนตอบส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะ Reactive ก็คือ เกิดปัญหาแล้วก็หาทางประหยัดอดออม ซึ่งจริงๆ มันก็ถูกต้องนะครับ เพียงแต่ว่า ราคาสินค้า ค่าครองชีพต่างๆ นั้น ไม่มีทางที่จะลดลงเลย ดังนั้นการอดออมจึงทำได้แค่เพียงอดออม อดถึงจุดหนึ่ง ถ้าเราไม่มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเราก็จะอดไม่ไหว ออมก็ไม่ไหวอีกเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ผมถึงมองว่า เรา React ต่อปัญหามากเกินไปหน่อยครับ คนตอบถึง 60.15% เลยนะครับ ที่ตอบว่าต้องประหยัดอดออม ซึ่งดีนะครับ แต่การประหยัดนั้นผมคิดว่าไม่พอกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตครับ

มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายจะต้องปรับตัวในลักษณะ Proactive มากกว่า ซึ่งจากผลวิจัยก็คือ อันดับที่ 3 ซึ่งมีคนตอบข้อนี้เพียง 9.38% เท่านั้น ถือว่าน้อยมากนะครับ เพราะการที่เราจะปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการจ้างงานต่างๆที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนั้น การประหยัดและขยันทำงานมากขึ้น ไม่ได้ช่วยมาก แต่สิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถอยู่รอดในภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นี้ ก็คือ การพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ และความสามารถที่เป็นที่ยอมรับของคนอื่น ผมว่าทางนี้แหละ ที่เป็นทางออกแบบ Proactive อย่างแท้จริง

แต่แปลกนะครับ คนไทยไม่สนใจเรื่องการพัฒนาตัวเองเลยหรือ มีเพียง 9.38% เท่านั้นหรือ ที่สนใจที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองให้เป็นที่ยอมรับ ผมว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปจริงๆ ประเทศไทยจะแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านเรายากขึ้นเรื่อยๆ

คนของเราส่วนใหญ่มองแต่จะขอเงินเดือนเยอะๆ ขอค่าแรงสูงๆ โดยไม่สนใจมองกลับมาที่ตัวเองว่า เราเองมีความรู้ความสามารถมากขึ้นตามค่าแรงที่สูงขึ้นหรือไม่ มีเพียงเหตุผลเดียวที่เราใช้อ้างก็คือ ค่าครองชีพมันสูง ก็เลยขอค่าแรงสูงๆ ทำไมถึงมีน้อยคนที่มองว่า ถ้าเราพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่ต้องการตัวขององค์กรต่างๆ เราก็จะได้ค่าแรงสูงโดยที่ไม่ต้องไปขออะไรมากมาย เพราะมีคนมาให้เองเนื่องจากเขาต้องการความรู้และความสามารถของเราในการพัฒนาองค์กรนั่นเอง

สิ่งที่ผมขออนุญาตและบังอาจแนะนำท่านที่เป็นมนุษย์เงินเดือน (เหมือนผม) ก็คือ อยากให้เราเน้นไปที่การพัฒนาความรู้และความสามารถของตนเองให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า การมองแค่เพียงขอเงินเดือนเยอะๆ โดยที่ทำงานได้แบบเดิมๆ เพราะอีกไม่นาน นายจ้างก็จะหันไปจ้างคนที่มีความสามารถจากต่างประเทศ จ่ายเยอะหน่อยแต่ทำงานได้คุ้มค่ามากกว่า แล้วเราก็จะไม่มีที่ไป เพราะด้วยความรู้เดิมๆ ก็คงไม่มีใครรับเข้าทำงานที่ยากขึ้น ผลสุดท้ายค่าตอบแทนก็น้อยลงไปเรื่อยๆ อีกเช่นกัน

ยิ่งเมื่อไหร่ที่มีการเปิดเสรีของ AEC อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ในวันนั้นถ้าเรามีความรู้ความสามารถที่เป็นที่ต้องการตัว ผมกล้ารับประกันเลยว่า เราไม่ต้องมานั่งคิดมากเรื่องของการมีเงินเดือนไม่พอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเลยครับ เพราะเราจะได้เงินเดือนที่สูงกว่าค่าครองชีพทั่วไปแน่นอนครับ

เรียกว่าถ้าเก่งจริง ไม่ต้องขอ เดี๋ยวเขาก็จัดให้เอง

หมายเลขบันทึก: 495918เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2012 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2012 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมว่ามนุษย์เงินเดือนที่ยึดถือคติของพ่อหลวงคือ.อยู่อย่างพอเพียงนั้น..เขาไม่ค่อยจะเดือดร้อนเท่าไรนัก..ผู้เขียนเองก็ได้รับเงินบำนาญไม่มากนักแต่ยังพออยู่ได้ และได้แต่สงสารผู้ที่หาเช้ากินค่ำ บางคนหาเช้ากินเช้าก็ยังมี เอ้า ! ไม่เชื่อหรือ ? แปลกใจว่าทำไมทางผู้มีอำนาจกลับมาขึ้นเงินเดือนให้กับคณะที่ใช้อวัยวะบางส่วนบริหารกทม...ขึ้นกันคนละหลายบาททีเดียว ทั้งที่การโกงกินรถ + เรือดับเพลิงยังไม่ตัดสินกันเลย หรือจะแกล้งดึงให้หมดอายุความเสียก่อน..ยังมีอีกหลายๆเรื่องไม่ว่าจะงบที่จ่ายตอนน้ำท่วมที่ผ่านมา ถ้าทำผลงานได้ดีจริงๆ ทำไมชาวบ้านจึงออกมาเดินขบวนปิดถนนกันอยู่ร่ำไป..ทำไมครับผู้ว่า ? ทำไมยังไม่หมดสัญญารถไฟใต้ดิน+บนดินเลย..ทำไมจึงรีบไปต่อสัญญาล่วงหน้าเสียแล้ว ถามจริงๆเถอะคณะของท่านทำงานคุ้มค่าเงินภาษาประชาชนหรือยัง ?เขียนไปเขียนไปก็เริ่มเกลียดพวกที่หลับหูหลับตาไปลงคะแนนให้พวกท่านเหลือเกิน..นำเงินที่จะได้มาพัฒนากทม.เสียก่อนไม่ดีหรือ ? ถ้าเรียบร้อยแล้วเช่น มีเลนส์ให้รถจักรยานใช้ มีทางให้คนพิการใช้ ฯ แล้วค่อยกลับมาพูดเรื่องเงินเพิ่ม..น่าจะดีกว่าน๊ะท่านผู้ว่า..แล้วควรจะเลิกบ้ากันเสียทีเถอะเพราะ จังหวัดนั้น จังหวัดโน้นต่างฝ่ายต่างอยากจะเพิ่มคำว่านครนำหน้า บางจังหวัดซ้ำซ้อนก็ยังจะหน้าด้านเรียกกันอีกเช่น.นครนครราชสีมา..นครหาดใหญ่ นครอุดรธานี..สงสัยจะไปกันใหญ่แล้วล่ะ ! ต้องรีบจบก่อนเพราะเกรงจะติดเชื้อ..

ต้องขอแก้จากภาษาเป็นภาษีก่อนครับ เห็นไหมเริ่มจะติดเชื้อแล้วทำให้มือสั่นกดผิดกดถูก..ใครอ่านถึงตรงนี้ถ้ามีโอกาสเลือกตั้งครั้งหน้าก็ดูให้ดีดีน๊ะครับ..จะได้ไม่ต้องมาเสียใจ น้ำตาตกเหมือนผม..เสียใจเพราะคนทำงานดีกลับไม่ได้อะไร ? คนทำงานไม่ดี ผมพูดตอนไหนว่าคุณทำงานห่วย ? กลับได้เพิ่มเงินเดือน ต่อไปใครบ้างที่อยากจะทำดี..ถ้าอายก็ไม่ต้องยกมือ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท