ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ชี้ชุมชนท้องถิ่นต้องมีเอกลักษณ์เลิกระบบคิดแบบคนส่วนกลาง


โลกได้เปลี่ยน กำลังเปลี่ยน และจะเปลี่ยนไปอีกมาก ฉะนั้นคนทำงานก็ต้องปรับมโนทัศน์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ดร.เอนก ชี้ชุมชนท้องถิ่นต้องมีเอกลักษณ์เลิกระบบคิดแบบคนส่วนกลาง

อภิชา ทองธีรกุล 

 

ข้อเสนอ การปฎิรูปโครงสร้างอำนาจ สู่การปรับดุลอำนาจที่เหมาะสมระหว่างรัฐ ท้องถิ่นและชุมชน  ของดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์  ในเวทีเปิดโลกทัศน์ เปิดความคิด สร้างมุมมองใหม่คนทำงานพอช.  เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)   ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกและอำนาจที่ไหลลงข้างล่าง แนะชุมชนท้องถิ่นต้องมีเอกลักษณ์ไม่เดินตามระบบคิดแบบคนส่วนกลาง

 การยอมรับและปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก

ปัจจุบันนี้สิ่งที่ต้องคิดให้น้อยที่สุดคือ การคิดว่าสังคม ประเทศ และโลกไม่เปลี่ยน เพราะสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้เปลี่ยนแปลงไปควรมองโลกในแง่ดีต้องมีสุขนิยม ไม่เป็นทุกขนิยม มองการเปลี่ยนแปลงของสังคม ประเทศและโลกในปัจจุบันให้เป็นโอกาส เช่น ปัจจุบันนี้แนวคิดโลกตะวันออกมีความสำคัญมากกว่าโลกตะวันตกจากที่อยู่ในวังวนของความรวย การมีอำนาจและความต้องการเป็นผู้นำที่เคยเห็นจากหลายร้อยปีที่ผ่านมาในหน้าประวัติศาสตร์ถูกให้ความสำคัญน้อยลง แต่ตอนนี้โลกกำลังเปลี่ยนแบบสลับขั้ว ในกลุ่มประเทศอาเซียนกำลังเป็นศูนย์กลางของการพัฒนามากขึ้น เศรษฐกิจของยุโรปกำลังตกต่ำลง จากการเปลี่ยนแปลงทำให้มองเห็นว่าโลกกำลังเปลี่ยนเราต้องคิดอะไรให้มากขึ้น สังคมไทย รัฐบาลไทยเองก็เปลี่ยนและอนาคตข้างหน้าก็กำลังจะเปลี่ยนไปมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ก่อนนี้ประชาชนไม่มีสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วม มีบทเพียงอยู่นิ่งๆรออย่างเดียวรัฐทำให้หมด  แต่ตอนนี้ฝ่ายประชาชนเป็นคนขอทำเองให้เกิดการพัฒนา เพราะประชาชนรู้จักพื้นที่ เช่น เห็นประชาชนชุมชนทำคลองประดิษฐ์ ในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา   ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าสังคมกำลังเปลี่ยนไป

ในปี ๒๕๓๕ เราได้เห็นชนชั้นกลางออกมาเต็มถนน คนมีเงิน มีมือถือ ที่ไม่รู้จักกลัวตายออกมาเคลื่อนไหวเต็มถนน จากช่วงนั้นมาไม่เคยคิดว่าจะเห็นคนระดับล่าง คนในชนบทเข้ามาสู่การเมือง ดังเช่นคลื่นประชาชนทั้งสีเหลือง สีแดง อาจจะเห็นสีแดงมาก ทำให้เห็นว่าชนบทเกิดการตื่นตัวไม่รู้ว่าจะผิดหรือถูก เราต้องดูยาวๆ เห็นว่าประชาธิปไตยเราเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย อำนาจเปลี่ยนแปลงไหลลงสู่ภาคประชาชนเรื่อยๆ

อำนาจไหลลง คือ สถานะของภาคประชาชนแบบตาสีตาสา  มีส่วนในการเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาร่วมกับส่วนกลางมากขึ้นแม้กระทั่งการกำหนดงบประมาณ การมองเห็นว่าสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงมาตลอดนั้น  การคิดแบบคนส่วนกลางหรือการคิดแบบคนของรัฐก็สามารถที่จะเปลี่ยนได้ เศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คนก็เริ่มไม่เหมือนเดิม เวลานี้สังคมชนบทไม่มีแล้วมีเพียงตำบล หมู่บ้าน หรือองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ที่นับว่าเป็นเมืองขนาดเล็ก ซึ่งควรออกแบบเมืองขนาดเล็กให้สวยงาม

เมื่อสมัยเป็นนักศึกษาดร.เอนกเล่าว่าต้องไปพัฒนาชนบท การเข้าไปหมู่บ้านก็ลำบาก อาหารการกินก็กินแต่หน่อไม้ เสื้อผ้าก็มีไม่เยอะ ซึ่งชนบทแบบนั้นในปัจจุบันอาจจะเหลือน้อยมาก เพราะมีไฟฟ้า ถนน การศึกษา เข้าถึงหมด ชาวบ้านไม่ได้โง่และอาจจะฉลาดกว่าคนในกรุงเพราะทุกบ้านมีลูกหลานพ่อแม่ทำงานในกรุงเทพฯ ในต่างประเทศ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารก็มีมากขึ้น

สังคม เศรษฐกิจ เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นเหตุหนึ่งให้การเมืองยุ่งยากซับซ้อน จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ใช่เกษตรอย่างเห็น เพราะเห็นการเกิดและมีของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีฐานผลิตในประเทศมากมาย อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ที่ก็มีไม่น้อย สิ่งเหล่านี้ทำให้คิดว่าเป็นประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการเกษตรจริงหรือ? แต่อย่างไรก็ตามภาคการเกษตรก็ยังอยู่ได้และไปได้ดี เช่น การผลิตยางพารา ที่อัตราราคาสูงและอาจจะสูงขึ้นเพราะประเทศจีนผลิตรถยนต์มากขึ้นจึงทำให้ความต้องการยางพารามากขึ้นตามไปด้วย

ปัจจุบัน “ โลกได้เปลี่ยน กำลังเปลี่ยน และจะเปลี่ยนไปอีกมาก ”   สิ่งที่เห็นความสำคัญซึ่งหมายถึงเรื่อง “มโนทัศน์” ก็ต้องเปลี่ยน    การทำงานของพอช. การเป็นคนของรัฐก็ต้องเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง

ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาการเป็นรัฐเดียวชุมชนท้องถิ่นถูกลดความสำคัญ ตั้งแต่การปกครองสมัยรัชกาลที่ ๕ รวมถึงสังคมไทยก่อนนั้นเดิมเน้นครอบครัว ชุมชน สังคมเป็นหลัก การแก้ปัญหาก็ใช้ครอบครัว ชุมชน สังคมเป็นหลัก รัฐที่ใกล้ชิดกับประชาชนคือรัฐเล็กๆหรือที่เรียกว่า รัฐอิสระ เช่น รัฐอยุธยา หรือกรุงเทพฯ ส่วนรัฐส่วนกลางไม่มีบทบาทอะไรมาก เพราะแม้แต่รัฐย่อยเองก็ไม่ได้ปกครองดูแลมากเพราะครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น สามารถดูแลตนเองได้  รัฐย่อยส่งแค่บรรณาการให้ส่วนกลาง  พอมาสมัยการปกครองในรัชกาลที่ ๕ ได้นำความคิดของรัฐสมัยใหม่ตะวันตกคือ รัฐเข้าแทนที่ครอบครัว ชุมชน สังคม รัฐเล็กๆหายไปกลายเป็นรัฐย่อยภายใต้ส่วนกลางและส่งคนไปดูแลคนทั่วประเทศ ยกเลิกประเทศราช ยกเลิกเจ้าเมือง ส่งข้าหลวงไปปกครองแทน  การศึกษาก็มีการสอนภาษาไทยกลางของครูที่มาจากส่วนกลางทำให้ภาษาท้องถิ่นถูกสั่นคลอน

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น แต่การทำอะไรก็ตามอย่าสุดขั้ว เปรียบเหมือนลูกตุ้มแกว่งไปแกว่งมาได้ เช่น หากแกว่งไปรัฐรวมศูนย์ ตอนนี้อาจจะต้องการเหวี่ยงกลับมาสู่ท้องถิ่นต้องปล่อยให้ท้องถิ่นทำงาน มีวัฒนธรรม และสร้างสรรค์มากขึ้น ต้องปล่อยให้ชุมชน ประชาสังคม การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเป็นกึ่งรัฐกึ่งสังคม ที่คิดว่าความเป็นกึ่งหนึ่งของสังคมสำคัญนั้น จริงแล้วอยากให้เป็นสังคมสามในสี่และต้องทำผ่านองค์กรที่อยู่ในท้องถิ่นให้มาก ต้องเปลี่ยนวิธีมอง ต้องคิดว่ามีสองระดับ สองมาตรฐานเสมอ อย่าคิดว่าเป็นเหมือนกันหมด การเมืองส่วนกลาง และท้องถิ่นไม่เหมือนกัน การศึกษาท้องถิ่น กับส่วนกลางก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นไม่ควรรอส่วนกลางทำ เราต้องทำเลย อย่าติดกับการรอให้รัฐส่วนกลางรับรอง

การสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในภาวะที่อำนาจไหลลง

การส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งในวันนี้ เราควรทำในรูปแบบที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง ปฏิบัติไม่ให้เหมือนราชการ ต้องให้ความสำคัญกับวิชาความรู้เพราะความรู้เองไม่ได้มีกรอบเดียว ท้องถิ่นต้องถูกส่งเสริมให้เกิดความคล่องตัว   ในขณะเดียวกันต้องทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าการบริหารของท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านรู้สึกว่าต้องควบคุมดูแล ประชาชนต้องรู้จักเจ็บกับการเลือกคนผิดๆมาพัฒนาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้  ดังเช่นตอนที่ช่วงที่ตนใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองนิวยอร์ค ก่อนนั้นมีสถานการณ์ความตกต่ำของการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจเพราะคนที่มาเป็นผู้นำไม่ดี จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่คิดว่าพวกเราควรสนใจ หาความรู้เกี่ยวกับกรอบคิด มุมมอง ในแบบหนึ่งอย่าคิดแบบส่วนกลาง

การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงบประมาณของประชาชนแม้มีความเป็นไปได้ ทำได้ในเชิงทฤษฎี แต่เราต้องสร้างพลังให้แข็งแกร่งขึ้น เช่น ทำอย่างไรให้ประชาชนมีบทบาทและให้นักการเมืองท้องถิ่นเห็นว่ามีผลกระทบกับคะแนนเสียง บางสถานการณ์ทำในลักษณะชุมชน หรือประชาคมจัดงานเชิญนักการเมืองมาแถลงนโยบาย แล้วหลังเลือกตั้งก็ทวงถาม อย่างช่วงน้ำท่วมเองก็เจอหลายชุมชนที่เก่งและมีความคิดสร้างสรรค์

การพัฒนาประเทศจะไปได้ดีขึ้นอยู่กับพวกเรา  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักการเมือง อำนาจมันไหลลง ใครกุมเสียงคนต่างจังหวัด หมู่บ้าน ตำบล ก็ชนะ อำนาจไหลลงในการก่อม็อบ ซึ่งมีพลังในการต่อรอง

ในทางวาระทางสังคมในปัจจุบันเป็นวาระของคนชั้นกลางและต่อไปชนชั้นล่างซึ่งจะมีมากขึ้น อำนาจไหลลงเป็นกฎธรรมชาติ แต่ใช่ว่าจะดีเสมอไปซึ่งต้องให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง

เราต้องคิดว่า “เราจะเสียสละอะไร ทำอะไร” ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ว่าเราเป็นคนน้อยๆที่มีคุณภาพ คนน้อยๆที่เปลี่ยนเสียงส่วนใหญ่ ถ้าคิดแบบนี้สักล้านคนเมืองไทยเปลี่ยน สามสิบล้านคนก็เปลี่ยนแน่นอน

หัวใจของประชาธิปไตยคือการสร้างคนชั้นล่างให้มีคุณภาพ

ตัวอย่างการส่งเสริมประชาธิปไตยให้เกิดความสมดุลในรูปแบบที่ง่ายที่สุด คือการสนับสนุนให้เกิดสัดส่วนของกลุ่มเป้าหมายภาคประชาชนเข้าไปมีบทบาททางการเมืองที่ครอบคลุม เช่น คนพิการ ๑ เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ที่มีในสภาฯ ตัวแทนประชาสังคม ตัวแทนชุมชน อย่างละ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ตัวแทนเกษตรกร ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ตัวแทนอื่นๆ ๙ เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือมาจากการเลือกตั้ง ๗๐ เปอร์เซนต์

          สิ่งสำคัญคือต้องยอมรับจุดอ่อน ต้องผ่อนปรนคนอื่น เข้มงวดต่อตนเอง มองให้ยาวอย่ารีบด่วนตัดสินใจ  สังคมไทยนั้นเงินมีอำนาจมาก เราต้องหาแนวทาง วิธีการทำให้เงินมีอำนาจน้อยลง แต่ทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เพราะประเทศไทยเงินเป็นปัจจัยเชิงลบมากกว่าบวก ทุกอย่างซื้อขายได้หมด ซึ่งต้องดูความเป็นไปด้วยสติปัญญา

และหัวใจของการพัฒนาประชาธิปไตยคือการสร้างคนชั้นล่างให้มีคุณภาพ เพราะคนไทยมีปฏิภาณดี แต่ทฤษฎีมีไม่มากนัก คนไทยมีความสามารถและเก่งในหลายด้าน แต่ เราต้องรู้จักตัวเราเองและต้องรู้จักแนวคิดของทางตะวันตกเพราะทางตะวันตกเองก็วุ่นวาย หากแต่ผ่านการต่อสู้และผ่านการขับเคี่ยว คนชั้นกลางก็เดินหน้า คนชั้นล่างก็ไม่ยอม เมื่อเรารู้จักตัวเองและรู้จักคนอื่น ก็เป็นเรื่องดี เพราะประชาธิปไตยมันเป็นเรื่องยากเนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับเรื่องวัฒนธรรม ถ้าให้เกียรติและโอกาสคนชั้นล่าง สร้างคนชั้นล่างให้มีคุณภาพก็จะเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยที่ไปได้ไกล

การปรับโครงสร้างจากรวมศูนย์สู่การกระจายอำนาจ

นับตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดเมื่อ ๒๔๗๖ ที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอการปกครองแบบเทศบาล ให้เกิดทุกตารางนิ้ว ตอนหลังเปลี่ยนไปมีองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ส่วนแนวความคิดขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ต้องการให้มีเทศบาลเพื่อเป็นโรงเรียนสอนประชาธิปไตย ทีแรกจะยังไม่ให้รัฐธรรมนูญ ท่านต้องการให้ประเทศไทยจะมีประชาภิบาลในท้องถิ่น รัฐส่วนกลางมีสมบุรณาญาสิทธิราชย์ในการปกครอง

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการเมืองไทยมีสองมุม มุมหนึ่งเป็นการรวมศูนย์ อีกมุมมาจากท้องถิ่น ถ้าเราเห็นว่าท้องถิ่นสำคัญแต่ไม่ได้สำคัญในแง่เป็นฐานอำนาจ เราต้องยอมรับอะไรบางอย่างให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น และให้เป็นท้องถิ่นอย่างที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการมากขึ้น แทนมาตรฐานส่วนกลางไปเป็นศูนย์กลาง ผมได้พบท้องถิ่นเก่งๆ มีหัวคิดแบบผู้ประกอบการ เช่น พัทยา หรือ บางแสน ฉะนั้น ตอนนี้การพัฒนาประเทศเริ่มเป็นการพัฒนาประเทศโดยท้องถิ่น  โดยเฉพาะภาคตะวันออกของไทยมีอัตราการเติบโต ๒๐ เปอร์เซ็นต์ได้ และท้องถิ่นสร้างจังหวัดชลบุรี กลายเป็นว่าท้องถิ่นผนึกกับส่วนกลางเพื่อให้ท้องถิ่นพัฒนาได้ ถ้าเทียบกับท้องถิ่นอื่นมักมีแต่ความขัดแย้งกัน ถ้าจะเป็นแบบนี้ในพื้นที่อื่นเราต้องคิดในแนวทางสิ่งที่เป็นไปได้ ยกตัวอย่างเช่นประเทศอิตาลี ในหลายเมืองปกครองโดยตระกูล/ครอบครัวเดียวได้ ถ้าการเปลี่ยนแปลงในไทยจะเปลี่ยนยากก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่สามารถช่วยกันเปลี่ยนสู่การพัฒนาเมืองให้สวยงามสร้างสรรค์ได้ อะไรบางอย่างทำไม่ได้ก็คิดว่าเป็นกำแพง

สิ่งสำคัญต้องเชื่อว่าพลังของท้องถิ่นอยู่ที่ชุมชนและประชาสังคม  การให้ประชาคมเป็นกำลัง ท้องถิ่นมีทุนมากกว่าตัวเงิน แล้วเริ่มจากสิ่งที่มีในพื้นที่รวมถึงสิ่งที่มีนอกท้องถิ่นก็นับว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งรองรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อจัดการตนเอง

กระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นอย่างรักษาเอกลักษณ์ไม่ยึดติดระบบส่วนกลาง

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของรัฐ หรือแม้แต่การแบ่งแยกการปกครองเป็นรัฐเล็กๆ ไม่สามารถทำได้ในแนวคิดของการปกครองครองแบบรัฐเดี่ยวซึ่งแบ่งแยกไม่ได้ หากยกตัวอย่างประเทศอังกฤษก็เป็นรัฐเดี่ยวมีกษัตริย์เป็นประมุข แต่เค้ามีรัฐสภากลาง(บริเทน) รัฐสภาของเวลล์ รัฐสภาสกอตแลนด์ รัฐสภาไอแลนด์เหนือ ซึ่งรัฐสภาใหญ่ส่วนกลางเป็นผู้ออกกฎหมายรองรับให้มีรัฐสภาและรัฐบาลย่อยได้ และเมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐสภาใหญ่เห็นควรยุบรัฐย่อยก็สามารถทำได้ ดังนั้นรัฐเดี่ยวไม่ควรเที่ยงตรงไปทั้งหมด เศรษฐกิจในอังกฤษไม่เลวร้ายในยุโรป แต่ละรัฐก็รักษาเอกลักษณ์ของตน “เป็นรัฐเดียวที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย” แต่แบบไทยไม่ค่อยยอมรับจุดนั้น  ท้องถิ่นก็ไม่คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลาย ชุมชนพวกเราเองก็เช่นกันต้องคำนึงท้องถิ่น และภูมิภาคมากขึ้น

ดังนั้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นบ้านเรา  อาจารย์อเนกคิดว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นภาคเหนือก็ต้องเป็นกลิ่นล้านนา สามจังหวัดภาคใต้ก็มีกลิ่นอายในแบบมาเลย์ ภาคอีสานก็แบ่งเป็นสามคืออีสานเหนือ กลาง ใต้ได้ ส่วนภาคใต้ก็เป็นได้ทั้งกลิ่นอันดามันและอ่าวไทย  เพราะเรารู้เรื่องชาติแต่เรื่องท้องถิ่นรู้น้อยมาก เพราะเข้าใจว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติคือเรื่องเดียวกันกับการเรียนรู้เรื่องท้องถิ่น ดังนั้นต้องเรียนรู้พหุนิยมให้มาก

 ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ กล่าวว่า จังหวัด ท้องถิ่นขนาดใหญ่ สามารถจัดตั้งท้องถิ่นที่ใหญ่ขึ้นมาได้ การทำให้ภูมิภาคลดลงก็สามารถทำได้

ในฝรั่งเศสเมื่อเร็วๆนี้ก็มีการออกกฎหมายมาฉบับหนึ่งให้องค์กรบริหารส่วนจังหวัดให้มีการทดลองที่จะไม่มีราชการส่วนภูมิภาค ๕ ปี ถ้าเราคิดแบบคนไทยๆสามารถอ้างได้ ฝรั่งเศสเป็นแม่แบบเค้ามีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีบทบาทสำคัญ งบประมาณจังหวัดซึ่งนับว่าอยู่ในระดับภูมิภาคก็มีไม่มากแต่งบประมาณของอบจ.มีมาก ซึ่งจะเห็นว่าผู้นำระดับประเทศที่มีบทบาทสำคัญก็มาจากท้องถิ่นทั้งนั้น

อาจารย์มีความเห็นต่อว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง   ควรการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น อาทิเช่น เชียงใหม่มหานคร สามารถทำได้ทั้งนั้น แต่ก่อนอื่นต้องขยายความคิด และต้องทำกระบวนการเพื่อความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนหลายรอบ ต้องเอาประวัติศาสตร์มาชี้ให้เห็น ดังเมื่อก่อนนี้ทรัพย์สมบัติต่างๆเป็นของพื้นที่ เป็นประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรเพื่อสร้างรัฐที่เข้มแข็งและทัดทานกับฝรั่ง แต่วันนี้ต้องเปลี่ยนเพื่อให้ภูมิภาคดูแลทรัพยากรในพื้นที่ได้

           และเราสามารถทำได้ ทำแบบทดลอง ดูประวัติอบต. อบจ. ว่าสิ่งไหนเค้าทำได้ แล้วให้เค้าทำ หากที่อื่นเห็นการเปลี่ยนก็จะเกิดการขยายผลต่อ คิดเชิงผู้ประกอบการให้มากขึ้น(ลองทำดู ไม่ดีก็เอาคืน) แต่ไม่ควรมองจังหวัดต่างๆ เหมือนกันหมด อย่างภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ ทำได้ สำคัญคือความกระตือรือร้น และความต้องการของคนในจังหวัด

สังคมไทย คนชนบทไทย เป็นคนเก่งเป็นคนปรับตัวเก่ง มีความกตัญญู เพราะฉะนั้นสวัสดิการของไทยก็ไม่แตกต่างจากนิยามความเป็นคนไทย คือ อ่อนพลิ้ว ดัดแปลงตัวเองได้ มีไหวพริบ มากกว่ามองเป็นสังคมที่กำลังจะล้มสลายเพราะมันยังไม่จริง และทำอะไรต่อไม่ได้ ซึ่งเป็นจุดแข็งของคนในสังคมไทย แต่เราต้องถอดความคิดให้เห็นข้อดี แล้วนำไปเผยแพร่ให้คนอื่นอยากทำตาม แต่คนไทยไม่ค่อยรู้ว่าใครเป็นใครอะไรที่ไหน น่าจะมีการส่งเสริมและสร้างนักคิดของท้องถิ่น ถอดองค์ความรู้ของนักคิด คนสำคัญ ให้เป็นคุณค่าและมูลค่าของท้องถิ่น เพราะปัจจุบันเกิดความสูญเสียความหลากหลายทางภูมิวัฒนธรรม เช่น ทำไมมีแต่มวยไทยทั้งที่มวยท้องถิ่นก็มีความแตกต่างหลากหลาย ศิลปะท้องถิ่นมีความหลากหลายแต่ทุกลดความสำคัญให้ด้อยกว่าศิลปะส่วนกลาง

ให้ความสำคัญกับการเติบโตภาคสังคมและชุมชน

ดร.เอนกเห็นว่าพอช.เป็นหน่วยงานที่สำคัญมาก ต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนซึ่งประเทศไทยเปลี่ยนได้ไม่ได้อยู่ที่รัฐแต่อยู่ที่ชุมชน อยู่ที่สังคม สิ่งที่ทำก็ดีแล้วต้องส่งเสริมแลกเปลี่ยน เพื่อยกระดับความรู้   การจัดการศึกษาคนทำงานท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เชิญคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาช่วยคิด ช่วยสอน ช่วยบรรยายก็ทำให้เราเข้มแข็งทางปัญญา  ด้วยวิธีการต่างๆดังนี้

๑.      ให้ความสำคัญกับการเติบโตของภาคสังคม/ชุมชนมากกว่าภาคการเมือง

๒.     เสริมสร้างเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น เลิกตามระบบคิดของส่วนกลางด้านเดียว

๓.     การเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมืองเพื่อส่งเสริมและเอื้อให้เขามีวิสัยทัศน์ด้านสังคม ชุมชนอย่างเข้าใจ รวมถึงการพัฒนาในการเสนอวาระทางสังคมสู่ภาคการเมือง

๔.     การเชื่อมโยงภาคส่วนธุรกิจมาให้ทำกิจกรรมร่วม  เพื่อให้เขาเห็นบทบาทของภาคประชาชนในการเปลี่ยนแปลงสังคม

๕.     การเชื่อมโยงสื่อมวลชน ให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่สังคม/ชุมชนเป็นหรือเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เผยแพร่สิ่งดีต่อสังคม และให้สังคมเป็นผู้ร่วมดูแล

๖.      การเชื่อมโยงกับพม่า ลาว เขมร และกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อร่วมพัฒนาชุมชน สังคม กับการรับมือผลกระทบ และการพัฒนาที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชน ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะเรื่องปากท้องและที่ดิน ที่อยู่อาศัย

จากโลกทัศน์ที่เปิดกว้างในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าสิ่งสำคัญพื้นฐานคือ การยอมรับความจริงของการเปลี่ยนแปลง   สิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลง และจะต้องเปลี่ยนแปลง รวมถึงการส่งเสริมให้คน ประชาชน ให้เกิดความเข้มแข็งทั้งความคิด ความรู้  เกิดความเข้าใจ  โดยหน่วยงานที่เป็นองค์กรสนับสนุนต้องเป็นผู้กำหนดบทบาทที่สอดคล้องกับพื้นที่และเอื้ออำนวยให้กับชุมชนสามารถจัดการตนเองอย่างมีเอกลักษณ์ เพื่อให้เกิดความสมดุลของโครงสร้างอำนาจระหว่างรัฐ ชุมชน ท้องถิ่น  

หมายเลขบันทึก: 494151เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2012 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท