กลอนดอกสร้อย เล็กๆ น้อยๆ


๐ โรคเอ๋ยโรคภัย                  ย่อมมีได้ไม่เลือกคนชนทั้งหลาย

เป็นสิ่งที่มีอยู่คู่เคียงกาย                            แวะทักทายเข้ามาคราอ่อนแอ

จะเป็นทุกข์มากไปก็ใช่ที่                         สิ่งเหล่านี้มีอยู่ดูให้แน่

เป็นเพราะสิ่งอันใดให้ดูแล                    แล้วจงแก้จงรักษาอย่าช้าเอยฯ

พระมหาวินัย ๑๖.๑๓ น. : ๔ เม.ย. ๕๕

 

๐ คนเอ๋ยคนอื่น                                      แต่กลับยื่นไมตรีมีให้เห็น

มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเมื่อลำเค็ญ                    แม้ไม่เป็นญาติมิตรสนิทกัน

ถึงเป็นญาติไม่หวังดีขี้อิจฉา               คอยนินทาว่าร้ายหมายหยามหยัน

คราลำบากยากแค้นดูแคลนครัน      แต่คราฉันมั่งมีนี้ญาติเอยฯ

พระมหาวินัย ๑๗.๓๒ น. ๔ เม.ย.๕๕

 

๐ ทุกเอ๋ยทุกข์ใจ                                      ปล่อยให้เวลาพาพัดผัน

หากเรายึดจะปราศสุขทุกคืนวัน       หากปล่อยมันจะสดใสใจสบาย

แต่ความทุกข์นี้ดีที่เตือนจิต                ให้รู้คิดต่อสู้รู้ความหมาย

หาใช่สิ่งทารุณที่วุ่นวาย                      จงกลับกลายความทุกข์เป็นสุขเอยฯ

พระมหาวินัย ๑๗.๕๐ น. : ๔ เม.ย. ๕๕

 

กราบนมัสการพระอาจารย์คะ ขอลองบ้างคะ

o สุขเอ๋ยสุขใจ                                      อย่าปล่อยมันผ่านพ้นไปให้นึกถึง

ควรเก็บไว้ในใจได้รำพึง                    จนติดตรึงซึ้งกายมิพ่ายมัน

อย่ามัวทุกข์คลุกกรุ่นวุ่นวายนัก        ควรหยุดพักผ่อนกายหายโศกศัลย์

สุขหรือทุกข์ปลุกใจได้ทุกวัน            ต่อสู้มันพลันยิ้มแย้มแต้มใจเอยฯ

พิมลพรรณ

 

๐ ความเอ๋ยความสุข                            แต่แอบคลุกความประมาทไม่คาดฝัน

ทำให้คนเตลิดเพลิดเพลินกัน           หลงสุขสันต์หลงใหลใจอ่อนแอ

คราความสุขแปรเปลี่ยนกลับเวียนทุกข์          เคยสนุกกลับหงอยเหงาเศร้าใจแท้

ไม่รู้ทันธรรมดาคราผันแปร              จึงมีแต่หวั่นไหวใจทุกข์เอย

พระมหาวินัย ๒๑.๓๐ น. : ๔ เม.ย. ๕๕

 

 

๐ ความเอ๋ยความทุกข์                         เกิดเพียงเพราะห่างสุขเพียงชั่วครู่

ยามอบอวลสิ่งดีที่พร่างพรู ก็ไม่รู้ว่าทุกข์เข็ญเป็นเช่นไร

เมื่อสร่างสุขก็ครองความหมองหม่น              มีน้ำตาเจือปนจนร่ำไห้

จึงควรรักษาระดับปรับจิตใจ              เผื่อเอาไว้ ให้ใจไม่ทุกข์เอย..

สุพรรณิกา

 

๐ เตรียมเอ๋ยเตรียมใจ                          เตรียมเพื่อให้รู้ทันสุขทุกข์ทั้งหลาย

จะเป็นสุขหรือทุกข์ที่เยี่ยมกราย       มองเห็นคล้ายข้อสอบตอบให้ดี

ถ้าตอบผิดติดใจในความสุข               จงเตรียมรับกับทุกข์สุขอาจหนี

ใช้สติพินิจคิดถ้วนถี่                            สุขทุกข์นี้มีอยู่รู้รับเอย

พระมหาวินัย

 

o ความเอ๋ยความทุกข์                         จักมีสุขทุกวันพลันไม่ไหว

เปลี่ยนกันบ้างระหว่างทางของใจ ให้มีสุขทุกวันไปไม่มีจริง

หากมาหลงจมอยู่ในภวังค์รัก           ยิ่งประจักษ์ในความสุขทุกข์สุงสิง

มันหลากหลายพ่ายแพ้แย่เสียจริง    แต่ทุกสิ่งพักพิงได้ด้วยใจเอยฯ

พิมลพรรณ

 

ปุพฺเพว สนฺนิวาสน ปจฺจุปนฺนหิเตน วา ฯเปฯ

๐ ใกล้เอ๋ยใกล้ชิด                 ผูกสมัครดวงจิตคิดห่วงหา

คอยหยิบยื่นน้ำใจในทุกครา พระสัมมาฯตรัสไว้ในคัมภีร์

อีกอย่างหนึ่งซึ่งปางบรรพ์นั้นเคียงคู่ เคยได้อยู่ร่วมกันฉันน้องพี่

จึงใกล้ชิดสนิทกันในทันที                ที่กล่าวนี้เหตุแห่งรักมักเห็นเอยฯ

พระมหาวินัย ๑๘.๑๖ น. :๔ เม.ย. ๕๕

 

๐ ตำเอ๋ยตำแหน่ง                ไยยื้อแย่งแข่งขันเสาะสรรหา

เมื่อไม่มีก็อ่อนน้อมถ่อมวาจา เลียแข้งขาเจ้านายหมายจะเป็น

ถึงผลงานจะต่ำย่ำกับที่       กลับได้ดีมียศปรากฏเห็น

พวกคนเก่งจริงแท้แต่กระเด็น เพราะเด็กเส้นมาแรงแย่งชิงเอยฯ

พระมหาวินัย ๑๘.๕๖ น. : ๔ เม.ย. ๕๕

 

๐ เด็กเอ๋ยเด็กเส้น                 มีให้เห็นทั่วไปในตำแหน่ง

เห็นทางโค้งทางเบี่ยง เลี่ยงเบียดแซง              ใช้อุบายยื้อแย่งแข่งด้วยกล

มีความรู้คู่ธรรมความสามารถ           แต่มิอาจแข่งได้ไม่เป็นผล

ใช้อำนาจ เงินอ้าง ใช้ร่างตน            ค่าของคน คือเด็กใคร ใช่ไหมเอย

                                 สุพรรณิกา

 

๐ เด็กเอ๋ยเด็กเส้น                ล้วนเป็นค่านิยมสังคมสยาม

คราที่คุณธรรมนั้นต่ำทราม  ฤาจะห้ามธรรมเนียมเล่ห์เหลี่ยมคน

เพราะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แปรเปลี่ยนจิต จะถูกผิดอย่างไรหาได้สน

เมื่อไม่ได้ด้วยเล่ห์ทุ่มเทกล                หลอกล่อจนยินยอมพร้อมพลีเอย

พระมหาวินัย

 

"อจฺจยนฺติ อโหรตฺตา ชีวิตํ อุปรุชฺฌติ               อายุ ขียติ มจฺจานํ กุนฺนทีนโวทกํ"

วันคืนย่อมล่วงไป,ชีวิตย่อมหมดเข้าไป,ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายย่อมสิ้นไ,

เหมือนน้ำในลำธารย่อมแห้งเหือดไปฉะนั้น.

                                ๐ สักวาคืนวันย่อมผันผ่าน                อายุกาลสรรพสัตว์พลัดพรายหนี

เปรียบอุทกตกขังยังนที                      เพียงสุรีย์สาดแสงย่อมแห้งไป

พุทธพจน์บทนี้ชี้ให้เห็น                    ธรรมดาว่าเป็นเช่นขานไข

รู้อย่างนี้อย่ามัวเมาว่าเยาวัย               สิ่งใดใดไม่เที่ยงแท้แน่นอนเอยฯ

พระมหาวินัย ๒๐.๒๐ น. : ๔ เม.ย. ๕๕

คำสำคัญ (Tags): #กลอนดอกสร้อย
หมายเลขบันทึก: 493649เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2012 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2012 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท