บันทึกสุขใส่กระดาษ


บันทึกสุขใส่กระดาษ

บันทึกสุขใส่กระดาษ

หลังอยู่คนล่ะทิศ แยกย้ายไปร่วมสร้างความสุขในทั่วประเทศ ในที่สุดก็สบโอกาสเหมาะให้พลพรรค “สุขแท้ด้วยปัญญา”กลับมารวมตัวอีกครั้ง กับกิจกรรม “โครงการสุขแท้ด้วยปัญญาปี” 4 ภายใต้การดำเนินงานของเครือข่ายพุทธิกา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เช่นเดิม โดยหนนี้สมาชิกที่ได้รับคัดเลือกจากทั่วประเทศกว่า 37 โครงการ (โครงการเปิดรับทั่วไป+โครงการต่อเนื่อง) นัดรวมพลกันที่สายป่านรีสอร์ท อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี หวังติวเข้มแลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนงาน ก่อนจะลุยต่ออีกครั้งในช่วง เม.ย.55 – เม.ย.56 “ทีมงานกระจายสุข” แอบซุ่มเฝ้าสังเกตบรรดาสมาชิกสุขแท้หนนี้ ส่วนใหญ่โครงการยังเน้นการพัฒนาศักยภาพเยาวชนและกิจกรรมพัฒนาชุมชน ตามแบบฉบับ ”คนเล็ก” ทำเรื่องใหญ่ จะพิเศษก็ตรงที่ กิจกรรมครั้งนี้มีการแบ่งกลุ่มฐาน ทำสมุดทำมือสุดพิเศษ ตามแต่ความถนัดและเอกลักษณ์เฉพาะตัว


โดยเล่มแรกทำขึ้นเพื่อจดบันทึกเรื่องราวในชีวิต ที่ทุกคนพบเจอในระหว่างทำงาน ส่วนเล่มที่ 2 ทำเพื่อมอบให้ผู้อื่นเหมือนเป็น “สื่อ” แทนความรู้สึกดีๆต่อกัน ลองถามไถ่พูดคุยกันสักนิด เริ่มที่ “เสฏสรรค์ ศรีสองเมือง” หรือ “เอ็กซ์ตร้า” จากโครงการไล่ตามหาความสุขด้วยจิต+ปัญญา จ.มหาสารคาม บอกความรู้สึกว่าการทำสมุดทำมือเล่มแรกในชีวิตหนนี้ใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมงซึ่งขั้นตอนที่ยากที่สุดคือการเย็บแต่ละยก (บึก) ให้ติดกันเป็นเล่ม โดยสมุดเล่มดังกล่าวจะนำไปให้แม่ เนื่องจากแม่เป็นบุคคลที่รักที่สุดในชีวิต


อีกเมื่อย้อนอดีตไปในช่วงที่ผิดหวังจากความรักแม่กลับเป็นผู้ที่ให้กำลังใจอย่างดี จึงทำให้คิดได้ว่าคนที่รักเรามากที่สุดคือแม่ของเราเอง “ระยะเวลาที่ทำแม้จะนานถึง 4 ชั่วโมงแต่กลับไม่รู้สึกว่าใช้เวลาไปนานมากเนื่องจากขณะที่ทำคิดถึงแม่ไปด้วย จึงมีความสุขมาก และคาดว่าสมุดเล่มดังกล่าวจะอยู่ในกระเป๋าของแม่ตลอดเวลา เนื่องจากแม่ชอบจดบันทึก ทำบัญชีต่างๆ และถ้าแม่ใช้หมดแล้วจะทำเล่มใหม่ให้แม่ใช้อีก”

ด้านหญิงสาวจากโครงการป่าต้นน้ำวิถีชีวิตปกาเกอะญอ บ้านห้วยกระต่าย ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน“อัมภิกา บุญทวีสุขใจ (เจ๊ะ)” กล่าวว่าเธอทำสมุดทั้งหมด 2 เล่ม โดยจะเก็บไว้ใช้เองเล่มหนึ่ง และให้คุณครูที่สอนหนังสือ ที่ กศน. สบเมย แม่ฮ่องสอน ส่วนสาเหตุที่มอบความรู้สึกพิเศษให้กับครูนั้นเป็นเพราะครูคือพ่อคนที่ 2 เป็นคนสอนให้ความรู้ทำให้อ่านออกเขียนได้ อีกทั้งในอดีตการเรียน กศน. สอนวันเสาร์-อาทิตย์ แต่จากการเดินทางที่ไม่สะดวก เนื่องจากเป็นทางบนเขาและเป็นทางดิน ถึงแม้จะมีระยะทางเพียง 20 กิโลเมตร แต่เธอต้องใช้เวลาเดินทางมาเรียนถึง 4 ชั่วโมง ด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์ลงมากับเพื่อน ส่งผลให้ ครูปรับตารางเรียน เป็นเรียนเฉพาะวันอาทิตย์แทนนั่นทำให้เกิดความผูกพันธ์กับครูมาก


ขณะที่นักกิจกรรมชุมชนเชียงใหม่อย่าง “สุทธิพงศ์ รินจ้อย (เอก) “จากโครงการรู้สุข จ.เชียงใหม่ บอกว่า ความพิเศษที่ส่งผ่านสมุดทำมือนั้นจะเก็บไว้ให้ลูก เพื่อหวังให้เขาใช้จดบันทึกสิ่งต่างๆ ซึ่งสมุดเล่มนี้จะถือเป็นสมุดเล่มแรก ที่ลูกของเขาจะได้ใช้ (ขณะนี้อายุ5เดือน) เช่นเดียวกับคุณพ่ออย่างเขาที่ลงมือทำสมุดเล่มแรกในชีวิตด้วยด้วยตัวเอง

รวมผลสุขแท้ฯ หนนี้ ทุกคนจึงได้สมุดจากฝีมือตัวเอง (ล้วนๆ) พร้อมๆกับการบันทึกเรื่องราวดีๆที่มีต่อกันตามแบบที่เป็นอยู่ประจำกับแนวทางสร้างสุขแบบไม่พึ่งพิงวัตถุของ “สุขแท้ด้วยปัญญา” คุณเองก็มีความสุขแบบง่ายๆได้ และหากนึกถึงความสุขของคุณได้เมื่อไร อย่าลืมจดมันไว้ใส่สมุด


วิธีการทำสมุดบันทึกความสุข


อุปกรณ์
กระดาษ เอ4 สำหรับทำหน้าในสมุด ยกละ 4 แผ่น x 4 ยก
กระดาษหลังรูป ตัดขนาดตามต้องการ สำหรับ ปกนอกและสันสมุด
กระดาษน้ำตาล เอ4 100แกรม หรือ 125 แกรม (ปกใน)
กระดาษน้ำตาล หรือเศษผ้า (ขนาดตามต้องการ ตัดให้มีขนาดใหญ่กว่าปกนอกเมื่อนำสมุดมาวางแล้วกางออก)
เข็ม / ด้าย / คลิปหนีบกระดาษ / กาว / กรรไกร / ดินสอ (สำหรับทำเครื่องหมายเจาะรูกระดาษ)
วิธีทำ
1.เมื่อได้กระดาษมาแล้วให้พับครึ่งกระดาษเอสี่ (สำหรับหน้าในสมุด)


2.พับให้ได้ 4 ยก ยกละ 4 แผ่น หลังจากนั้นให้ใช้ดินสอจุดส่วนที่จะเจาะรูเพื่อเย็บแต่ละยกให้ติดกัน
3.เมื่อเย็บเสร็จแล้ว นำกระดาษหลังรูปทากาว ติดกับปกผ้าหรือกระดาษ (ตามความต้องการ)


พับส่วนที่เกินออกให้เรียบร้อย ทากาวและ นำปกใน ปิดทับรอบพับของปกนอก


4.ทากาวที่สันปกนำกระดาษหน้าในสมุด ติดลงไป ติดที่หนีบกระดาษ ไว้รอกาวแห้ง

 

5.ใช้บันทึกความสุขที่เกิดได้ง่ายๆของตัวคุณเอง

หมายเลขบันทึก: 493501เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2012 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2012 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท