ข่าวภาคี สสค.
ประชาสัมพันธ์ ข่าวภาคี สสค. ตีฆ้องร้องป่าว

สอนเด็กเล่นหมอลำ ใช้ศิลปะพื้นบ้านยกระดับการอ่าน


“โครงการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสาน (การแสดงหมอลำ) ช่วยให้เด็กได้ฝึกการแสดงออกและฝึกการอ่าน สามารถเชื่อมโยงไปยังการพัฒนาสมรรถนะ ทักษะการอ่าน ความสนุกกับการเรียนรู้ และการพัฒนาคุณลักษณะที่ดีงาม ซึ่งหลังจากทำโครงการนี้แล้วพบว่าค่าเฉลี่ยการเรียนสูงขึ้นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์” ครูลี กล่าว

หมอลำ” ศิลปะพื้นบ้านของชาวอีสาน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เกิดจากเครื่องดนตรีกับเสียงร้องเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ด้วยทำนอง

            หมอลำ มีหลายประเภท เช่น หมอลำกลอน จะร้องประกอบเครื่องดนตรี คือ แคน และร้องลำ 2 คน ลำซิ่ง จะเพิ่มเครื่องดนตรี คือ กลอง และมีจังหวะดนตรีสนุกสนานมากขึ้น หมอลำเรื่องต่อกลอน จะมีการขับลำนำและเดินกลอนไปตามบทเรื่อง และ ลำกลอน จะมีการเดินกลอนคล้ายๆ กับหมอลำเรื่องต่อกลอน แต่ลักษณะและวิธีเดินกลอนจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

            ในอดีต "หมอลำ" เป็นเสมือนสื่อกลางถ่ายทอดเรื่องราวทั้งทางโลกและทางธรรม เน้นฟังเอาสาระ แต่ปัจจุบันเน้นความสนุกสนาน ยิ่งเมื่อสังคมเปลี่ยนไป หมอลำก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

            ด้วยคุณค่าของ หมอลำ นี้เอง โรงเรียนวัดหลักศิลา จึงได้จัดทำ โครงการการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสาน (การแสดงหมอลำ) ขึ้นเพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ภายใต้โครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับประถมศึกษา ครั้งที่1/2554 ประเด็น การพัฒนาคุณลักษณะที่ดีงามของผู้เรียนของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

            โรงเรียนวัดหลักศิลา ตั้งอยู่พื้นที่หมู่ 13 ต.หนองแวง อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา (สพป.) เขต 4 บุรีรัมย์ เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 93 คน และครูผู้สอน8 ท่าน

            ทินกร ภาสตโรจน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหลักศิลา เล่าว่า หมอลำ เป็นมรดกของคนอีสานมาติดตัวมาตั้งแต่เกิด ในอดีตคนอีสานจะเดินทางไปค้าขาย ต้อนวัว ควายไปขายพื้นที่ห่างไกลเป็นเวลาหลายวัน เมื่อรู้สึกเหงาก็จะนำแคนที่ติดตัวไปด้วยเอามาเป่า และร้องลำไปด้วยให้คลายเหงา ซึ่งพื้นที่ตำบลหนองแวงก็เป็นทางผ่านของคนค้าขายวัวควายด้วย

            เมื่อก่อนในตำบลหนองแวงจึงมีคณะหมอลำเกิดขึ้นมากมาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลับไม่มีการสืบทอด ทำให้ปัจจุบัน หมอลำ แทบจะสูญหายไปจากบ้านหนองแวง อาจารย์ทินกร เล่า

            ดังนั้นทางโรงเรียนหลักศิลาจึงตั้งใจที่จะอนุรักษ์หมอลำ โดยการถ่ายทอดให้เด็กได้เรียนรู้ศิลปะพื้นบ้านอีสานนี้ให้คงอยู่ตลอดไป จนกระทั่งปี 2554 ได้เขียนโครงการไปยัง สสค. และได้รับอนุมัติโครงการ จึงได้มาเขียนบทหมอลำขึ้น โดยใช้  พระมหาชนก บทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นบทดำเนินเรื่องหมอลำ

            ส่วนผู้ที่มีบทบาทอย่างสูงในการผลักดันและริเริ่มสอนหมอลำในโรงเรียนหลักศิลา คือ ลี สาไธสง ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวัดหลักศิลา เป็นผู้ริเริ่มโครงการภายใต้การสนับสนุนของ สสค. ซึ่งครูลีผู้นี้ รับราชการเป็นครูที่โรงเรียนวัดหลักศิลาตั้งแต่ปี 2524 และยังเคยเป็นหมอลำมาก่อนด้วย เหตุนี้เขาจึงอยากสอนเด็กๆ ให้รู้จักรักษาศิลปะพื้นบ้านหมอลำ

            ครูลี บอกว่า ปัจจุบันทางโรงเรียนหลักศิลาได้ให้นักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.4-ป.จำนวน 41 คน มีส่วนร่วมแสดงทุกคน เวลาคัดตัวแสดงก็จะมีการทดสอบเสียงว่าเหมาะสมกับบทละครตัวไหน หลังจากนั้นมาดูว่าร้องลำได้หรือไม่ ซึ่งมีหลายองค์ประกอบที่ต้องพิจารณา เพราะถ้าร้องได้ แต่ลำไม่ได้ก็ยากที่จะให้บทนั้นๆ ฉะนั้นจึงต้องพิจารณาอีกทีว่าเด็กแต่ละคนมีความพิเศษด้านไหนเหมาะสมกับตัวละครไหน

            นักเรียนแต่ละคนจะได้บทแสดงประมาณครึ่งหน้ากระดาษ ส่วนตัวหลัก 5-6 คน บทจะยาวกว่าคนอื่นๆ ใช้เวลาฝึกซ้อมช่วงหลังเลิกเรียน หรือวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน แล้วแต่ความเหมาะสม ถ้าอยากเป็นเร็วก็เข้มงวดการฝึกฝน อีกทั้งเด็ก ป.6 ที่จบการศึกษาออกไป เราก็ต้องหาเด็กใหม่มารับบทแทนในตัวแสดงที่ว่างไป 

            การแสดงหมอลำที่ให้เด็กนี้ช่วยเด็กให้กล้าแสดงออก เวลาชั่วโมงการเรียนการสอนแล้วต้องมีการแสดงหน้าห้องเด็กก็จะไม่รู้สึกเขินอาย เพราะเคยเล่นหมอลำต่อหน้าคนดูที่เป็นชาวบ้านมาก่อนแล้ว นอกจากนี้แล้วยังสอนให้เด็กอยู่ในโอวาท รู้รักสามัคคีกันในกลุ่มที่แสดงด้วยกัน และช่วยให้เด็กนักเรียนหลังห้องหันมาสนใจการเรียนมากขึ้น ถือเป็นวัตกรรมที่ดึงเด็กหลังห้องให้มาสนใจการเรียน  ซึ่งทางโรงเรียนอาจจะบรรจุการแสดงศิลปะพื้นบ้าน (หมอลำ) เข้าในหลักสูตรท้องถิ่น หรือจะบูรณาการเข้ากับวิชาศิลปะ วิชาภาษาไทย หรือเป็นรายวิชาเพิ่มเติมในอนาคต

            โครงการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสาน (การแสดงหมอลำ) ช่วยให้เด็กได้ฝึกการแสดงออกและฝึกการอ่าน สามารถเชื่อมโยงไปยังการพัฒนาสมรรถนะ ทักษะการอ่าน ความสนุกกับการเรียนรู้ และการพัฒนาคุณลักษณะที่ดีงาม ซึ่งหลังจากทำโครงการนี้แล้วพบว่าค่าเฉลี่ยการเรียนสูงขึ้นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ครูลี กล่าว

            ด.ช.ธีรศักดิ์ พิมพา หรือ น้องทิว ชั้นประถมศึกษาปี 5 ซึ่งรับบทเป็น พระมหาชนก บอกว่า ดีใจและภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงหมอลำ ตอนแรกไม่กล้าแสดงไม่กล้าเล่นเพราะอายเพื่อน แต่ครูก็ช่วยฝึก ได้ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ และดีใจที่พวกเราแสดงวันเด็กมีคนมาดูเยอะมาก ได้เงินบริจาคกว่า 5 หมื่นบาทมาพัฒนาโรงเรียนอีกด้วย

           โครงการการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสาน (การแสดงหมอลำ) ของ โรงเรียนวัดหลักศิลา ถือเป็นนวัตกรรมที่ส่งเสริมการเรียนการสอนควบคู่กับการอนุรักษ์และสืบสานศิลปะพื้นบ้านของชาวอีสานให้คงอยู่สืบไป

 ไม่มีพวงมาลัยแต่ยื่นค่าขนมให้กันตรงๆ



หมายเลขบันทึก: 493351เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2012 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2012 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท