MK(Green Market) & KM…KM ภาษาตลาด


KM ภาษาตลาด

“ตลาดสีเขียวเมืองสุรินทร์ ตลาดอินทรีย์ ตลาดวัฒนธรรม ตลาดชุมชน และตลาดน่าซื้อ” เป็นตลาดจำหน่ายอาหารปลอดสารพิษทุกเช้าวันเสาร์กลางเมืองสุรินทร์ มีพ่อค้าแม่ค้าจากชนบทที่เป็นเกษตรกรผลิตพืชอินทรีย์เป็นผู้นำสินค้ามาจำหน่าย ตลาดแห่งนี้ได้รับความสนใจจากคนในเมืองโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องการหลีกเลี่ยงอาหารปนเปื้อนสารเคมี สินค้าที่นำมาวางขายมีมากมายหลากหลาย แต่จุดเด่นจะอยู่ที่สินค้าและพืชผักผลไม้พื้นบ้านที่หาได้จากเรือกสวน ไร่นาในชนบทไม่ว่าจะเป็นกล้วย มะพร้าว ตะไคร้ มะกรูด มะนาว มะเขือ กระชาย ผักอีออม ฟัก แฟง และเมนูอาหารพื้นบ้านเช่นตำน้ำพริก ตำมะเขือ ไก่ย่าง ปลาย่าง ขนมจีนน้ำยา ส้มตำ ขนมไทย ข้าวต้มมัด เป็นต้น บรรยากาศภายในตลาดไม่ใช่แค่การซื้อขาย แต่จะมีความอบอุ่นและเป็นมิตร เหมือนว่าญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหายได้มาชุมนุมพบปะกัน มีการทักทาย พูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบ ส่งยิ้มให้กัน สินค้าที่นำมาขายมีราคาถูก ถ้าพูดคุยกันถูกคออาจมีทั้งลดแลกแจกแถม คนขายภูมิใจนำเสนอสินค้าดีๆ คนซื้อมีความเชื่อมั่น ไว้วางใจในตัวสินค้าว่าปลอดภัย ถือได้ว่าเป็นตลาดของชุมชนที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง มีชีวิตชีวา มีความสุข ปรากฏการณ์ที่เกิดในตลาด(Market) เป็นภาพจำลองของการจัดการความรู้(KM :Knowledge management) ได้ด้วยเช่นกัน หลายคนเห็นว่าการจัดการความรู้เป็นเหมือนยาขม ไม่อยากเข้าใกล้ ไม่เข้าใจ

แต่ด้วยความจำเป็นของการพัฒนาหน่วยงานในยุคปัจจุบันกำหนดตัวชี้วัดให้มีการจัดการความรู้ภายในหน่วยงาน จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายคนหลายหน่วยงานใช้ประโยชน์ได้ดีจากการจัดการความรู้ทำให้มีการพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และพัฒนาหน่วยงานไปไกล หลายแห่งยังใช้ประโยชน์จากการจัดการความรู้ได้ไม่เต็มที่นักและยังมีอีกหลายแห่งที่ไม่เข้าใจเรื่องของการจัดการความรู้ เรื่องเล่าวันนี้จึงอยากจะนำเอายาขมที่ว่า..มาพูดคุยกันด้วยภาษาตลาดเพื่อสร้างความเข้าใจต่อการจัดการความรู้มากขึ้น

ในโลกยุคปัจจุบันมีความรู้อยู่มากมายทั้งความรู้ที่หาอ่านได้ทั่วไป(Explicit Knowledge) และความรู้จากประสบการณ์ของแต่ละคน(Tacit knowledge) คนหรือหน่วยงานที่จะพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องมีระบบจัดการความรู้เหล่านั้น เป้าหมายของการจัดการความรู้อยู่ที่การหาความรู้ให้พบ นำความรู้มาใช้ ต่อยอดสร้างความรู้ใหม่ ซึ่งจะทำให้ตนเองพัฒนาขึ้น เกิดความรัก ความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าของงานที่ทำ รักเพื่อนร่วมงาน รักหน่วยงาน

ตลาดสีเขียวเป็นที่ชุมนุมของคนที่อยากซื้อขายแลกเปลี่ยนแบ่งปันสินค้ากันด้วยน้ำใจไมตรี เปรียบเทียบได้กับการจัดการความรู้ที่มีคนหัวอกเดียวกัน คิดและสนใจในเรื่องเดียวกัน มาชุมนุมกันเกิดเป็นชุมชนนักปฏิบัติ(CoP : Community of practice) ด้วยความสัมพันธ์ที่ดี รักใคร่ ไว้วางใจ เมตตา เอ็นดูซึ่งกันและกัน สามารถเปิดใจพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้อย่างกว้างขวาง

สินค้าที่นำมาแลกเปลี่ยน แบ่งปันเปรียบได้กับประสบการณ์(Tacit knowledge)ที่ทุกคนพบเจอ โดยเฉพาะในส่วนที่ได้ทดลองทำแล้วเกิดเป็นความสำเร็จที่ทำให้ภาคภูมิใจ(Best Practice)โดยไม่จำเป็นต้องประสบผลสำเร็จสูงเลิศเลอ อาจจะเป็นเพียงความสำเร็จหรือเคล็ดลับเล็กน้อยก็นำมาพูดคุย บอกเล่า(Story telling)สู่กันฟังได้ เทคนิคในการเล่าเรื่องควรเล่าให้ผู้ฟังมองเห็นภาพและมีอารมณ์ร่วม ส่วนเทคนิคการฟังความรู้เชิงประสบการณ์นี้จะใช้เทคนิคการฟังแบบฟังไว้ก่อนหรือฟังอย่างลึกซึ้ง(Deep listening) ไม่ใช่ฟังเพื่อหาคำตอบถูกผิดเพราะสิ่งที่ฟังนั้นคือความรู้ที่ได้ผลในอดีต ไม่ใช่ความคิดจึงไม่ต้องทะเลาะตัดสินถูกผิดในสิ่งที่ฟังนั้น เมื่อฟังแล้วอาจลองนำไปทำตาม ทำจนเกิดเป็นความรู้ขึ้นใหม่ รูปแบบการเล่าเรื่องอาจทำในลักษณะพูดทบทวนสิ่งที่เพิ่งได้เรียนรู้ใหม่ๆ(AAR: After action review)หรือการเล่าเรื่องที่สำเร็จ(Success case) และเรื่องที่ล้มเหลวหรือบทเรียนที่ได้รับที่เรียกว่าถอดบทเรียน(Lesson Learned) ....การเอาสิ่งเหล่านี้ที่กล่าวข้างต้น  มาแลกเปลี่ยน แบ่งปันกัน นี้  ก็เปรียบได้ว่า  เป็น การจัดตลาดนัดความรู้ (Knowledge Market) นั่นเอง.

เมื่อจ่ายตลาดเสร็จแล้ว ผู้คนก็นำสินค้าไปกิน ไปใช้ บางอย่างอาจเป็นอาหารสำเร็จรูปสามารถเปิดถุงแล้วก็กินได้เลย บางอย่างอาจต้องนำไปล้าง ปอกเปลือกที่ห่อหุ้มออกก่อนแล้วจึงค่อยประกอบเป็นอาหารภายหลัง เปรียบได้กับการเลือกเฟ้นคัดเอาส่วนที่เป็นความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนมาสรุปเป็นชุดความรู้ ส่งกลับให้ได้ลองเอาความรู้ที่ได้นี้ไปทดลองใช้ ปรับปรุงพัฒนาเพิ่มเติม แล้วก็นำกลับมาแลกเปลี่ยนกันอีกเป็นวงจร PDCA (Plan do check act)ไม่รู้จบ   ดังนั้นกระบวนการจัดการความรู้จึงทำให้งานพัฒนาไปได้เรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้คนในองค์กรเป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่พัฒนา มองหาโอกาสในการปรับปรุงตัว ปรับปรุงงานตลอดเวลา และทำให้องค์กรเกิดเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  ในที่สุด

คำสำคัญ (Tags): #KM ภาษาตลาด
หมายเลขบันทึก: 493090เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2012 03:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2012 03:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท