การวิเคราะห์เจ้าพ่อการตลาด : นวนิยายสำหรับการเรียนรู้


เจ้าพ่อการตลาด

เจ้าพ่อการตลาด : นวนิยายสำหรับการเรียนรู้

 

                                                                        พัชรินทร์  สุริยวงค์

                                                        55255908 การสอนภาษาไทย

 

          เจ้าพ่อการตลาด ผลงานของ ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ นวนิยายที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะในวงการธุรกิจ วงการการศึกษา รวมถึงผู้ที่มีกำลังใจแห่งการต่อสู้ชีวิต ไม่ควรพลาดที่จะได้รับรู้เรื่องราวที่เข้มข้นปรากฏในเจ้าพ่อการตลาด เจ้าพ่อการตลาดถูกเขียนขึ้นมาด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ

1. เป็นกำลังใจเพื่อนักขาย และนักการตลาดทั้งหลายให้มองอะไรให้กว้างไกลคิดอะไรให้ลึกในขณะที่กำลังไต่บันไดชีวิตการตลาดของตนอยู่

2. บอกกล่าวให้ผู้น้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตาทุกคนว่ายังมีหนทางก้าวหน้าอยู่เสมอถ้าคุณช่วยตนเอง และเป็นคนดีอย่าง ฯพณฯ สมชาย

3. เป็นเรื่องราวการอ่านเสริมประสบการณ์ทางการตลาดของนักเรียนที่กำลังศึกษาด้านนี้

จากวัตถุประสงค์ 3 ประการนี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเจ้าพ่อการตลาดให้คุณค่าและคุณประโยชน์ต่อผู้อ่านอย่างมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน

จุดเริ่มต้นของชีวิต

           เรื่องราวของของเด็กชาย สมชาย เด็กบ้านนอกเกิดมาในครอบครัวเกษตรกรรมมีเพียงแม่ที่ให้ความรักและการอบรมเลี้ยงดู  สมชายมีคุณลักษณะเด่นคือ มีความขยันหมั่นเพียรช่วยเหลือครอบครัวด้วยการทำงานต่างๆ ตั้งแต่ที่อยู่ในชนบทและเดินทางเข้ามาในกรุงเทพมหานคร มีนิสัยใจกว้างและมีหัวในการค้าขาย มีความสามารถในวิชาภาษาอังกฤษและการโต้วาที “ตัวเองนั้นชอบด้านค้าขายแต่เรียนได้ไม่ดีมาก ยกเว้นวิชาภาษาอังกฤษกับกิจกรรมโต้วาที ซึ่งเอาตัวรอดจนจบแปดด้วยแรงจูงใจและคะแนนสองอย่างนั้น” (เจ้าพ่อการตลาด : 13) เมื่อจบการศึกษาได้ทำงานเป็นเซลส์แมน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จนักเขาพยายามไต่เต้าในการทำงาน รวมถึงโชคช่วยจนได้ไปอยู่ในบริษัทขายเครื่องอุปโภคบริโภคในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาด จุดนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่มีความสำคัญทำให้สมชายมีความก้าวหน้าอย่างที่สุด พบกับความโชคดีอย่างที่สุด พบกับปัญหาอย่างที่สุด และหาทางออกในบั้นปลายชีวิตได้อย่างเหมาะสมที่สุดด้วย

 

การศึกษาในมหาวิทยาลัยอาร์เบอร์ดีนก่อเกิดความเปลี่ยนแปลง

          จุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งคือ การที่สมชายได้มีโอกาสเดินทางมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอาร์เบอร์ดีน ในหลักสูตรบริหารธุรกิจชั้นสูง ดังข้อความว่า “หลักสูตรนี้ Master of Management ใช้เวลาเรียน 1 ปีเต็มเทียบเท่ากับระดับปริญญาโท” “ท่านไม่ใช่นักเรียนแต่ท่านคือผู้ร่วมศึกษา นักธุรกิจระดับหัวกะทิที่เลือกสรรแล้วเช่นท่านจากหลายประเทศจะมารวมกันที่สำนักทิศาปาโมกข์แห่งนี้เพื่อแสวงหาความเป็นเลิศในการประกอบการ...เขาบางคนอาจเป็นข้าราชการหรือผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจระหว่างประเทศ...เราจึงส่งเสริมบรรยากาศของการแข่งขันอย่างยุติธรรม (FAIR PLAY) ความมีวินัยและการเป็นเพื่อนเป็นฝูงกันอย่างแน่นแฟ้น (FRATERNITY) และความรู้เชิงค้าขายที่นำไปปฏิบัติอย่างได้ผล...” (เจ้าพ่อการตลาด : 42)

          จากข้อความที่กล่าวมาข้างต้นนั้นผู้เขียนนำเอาปรัชญาทางด้านการศึกษาเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอนวนิยายและกำหนดช่วงเวลาที่สำคัญของตัวละคร ปรัชญาที่เกี่ยวข้องคือ ปรัชญาอัตภาวะนิยม (Existentialism) ในส่วนของญาณวิทยาที่ถือว่า “ความรู้คือสิ่งที่มนุษย์เลือกและกำหนด” ความรู้ไม่ว่าจะได้มาจากศาสดา จากตำรา จากสามัญสำนึก จากเหตุผล หรือจากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ จะเป็นความรู้ที่ถูกต้องมีประโยชน์หรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของบุคคลแต่ละคร (วิจิตร ศรีสะอ้าน 2545 : 261) จากแนวคิดนี้แสดงให้เห็นว่าการที่สมชายได้มีโอกาสมาเรียนและในห้องเรียนนั้นมีความรู้มากมายเป็นสิ่งที่สมชายต้องเลือกและวินิจฉัยด้วยตนเองว่าความรู้ส่วนไหนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่มีการบังคับแต่เปิดโอกาสในการเลือกอย่างกว้างขวาง

          ปรัชญาการศึกษาอีกประการหนึ่งที่มีส่วนในการนำเสนออย่างมากคือละคร (วิจิตร ศรีสะอ้าน) 2545 : 272 ได้สรุปถึงทฤษฎีการศึกษาตะวันตก พิพัฒนวาท (Progressivism) เป็นทฤษฎีซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “หนทางก้าวหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม”  มีหลักการสำคัญ  6  ประการ

  1. การศึกษา คือ ชีวิตไม่ใช่การเตรียมตัวเพื่อการดำเนินชีวิต หมายความว่า  โรงเรียนควรจะเป็น

แบบจำลองของสังคมที่จะช่วยให้เด็กมีประสบการณ์ทางสังคมเสมือนหนึ่งการดำเนินชีวิตจริง จากปรัชญาข้อนี้มีความชัดเจนมาก คือ มหาวิทยาลัยอาร์เบอร์ดีนกำลังสร้างสังคมในการเรียนโดยในสังคมห้องเรียนมีทั้งนักบริหาร นักธุรกิจที่หลากหลายจากประเทศต่างๆ ที่หลากความคิด หลากวัฒนธรรมเมื่อมาอยู่ในห้องเรียนก็ต้องเรียนรู้สังคมต่างๆ

   2. การศึกษาควรจะจัดให้สอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน  โดยมุ่งให้ผู้เรียนมีความเจริญงอกงาม

รอบด้าน  ทั้งด้านอารมณ์  สังคม  ร่างกาย  และจิตใจ ซึ่งประเด็นนี้จะพบว่าในขณะที่สมชาย ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้  สมชายมีความสุขกับการเรียนที่ตนเองสนใจโดยเฉพาะด้านธุรกิจ มีสังคมจากเพื่อที่ดีอยู่ในระดับสำคัญๆของประเทศ และได้รับความเป็นกันเอง ดังข้อความที่ว่า “ในห้องของไซมอน มีเพื่อนๆร่วมชั้นเรียนนั่งซดเบียร์กินเนสสเต้าท์อยู่แล้ว 3-4คนแล้วทุกคนก็เรียงหน้าสัมผัสมือกับสมชาย”(เจ้าพ่อการตลาด:44)

  1. การเรียนรู้โดยวิธีการแก้ปัญหา  ความรู้เป็นเครื่องมือสำหรับการแสวงหาประสบการณ์และการ

ทดลอง  เป็นกิจกรรมสำหรับวิธีกานเรียนรู้  ประเด็นนี้เป็นอีกส่วนที่น่าสนใจมาก เนื่องจากว่าตลอดทั้งเรื่องจะพบว่าตัวละครจะต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ เกือบทั้งเรื่อง และการแก้ปัญหาของสมชายก็นำพื้นฐานทางการศึกษาไปเป็นส่วนในการตัดสินใจ  รวมถึงเพื่อนๆ ที่เรียนที่มหาวิทยาลัยก็มีส่วนสำคัญในการเข้ามาช่วยเหลือตลอดเวลา

  1. บทบาทของครู  ควรจะเป็นที่ปรึกษามากกว่าการเป็นผู้กำกับการเรียนการสอน ในนวนิยายนั้นแม้

จะไม่ได้กล่าวถึงส่วนนี้อย่างชัดเจนก็จะเห็นได้ว่าให้ความสำคัญอยู่เพราะไม่ได้พึ่งครูอย่างเดียวแต่มีการเชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์ต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องเรียน ถามตอบอย่างสนุกสนาน ดังข้อความที่ว่า "ตามหลักการก็อาจผิด แต่ตามข้อเท็จก็น่าเห็นใจ ยกตัวอย่างบราซิลผลผลิตกาแฟของเรา ขายเลี้ยงคอกาแฟค่อนโลก แต่ได้กำไรยังไม่พอส่งดอกเบี้ยแบ้งค์ในอเมริกาเพียงแบ้งค์เดียว” Professsor Penteado ตอบอย่างสะใจก่อนชี้ไปที่คนยกมือถามถัดไป” (เจ้าพ่อการตลาด : 45)

  1. โรงเรียนควรจะส่งเสริมความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน ในประเด็นนี้ถึงจะมีข้อความที่สนับสนุน

เรื่องการแข่งขันอย่างยุติธรรมในตอนต้น ก็น่าจะตีความได้ว่าไม่น่าเป็นการแข่งขันในเรื่องของคะแนนที่การศึกษาในระดับสูงจะทำกัน  และที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การศึกษาของสมชายดูจะเป็นการร่วมมือกันมากกว่า เพราะสะท้อนจากเพื่อนที่จบการศึกษาไปแล้วนั้นมีความเอื้อเฟื้อต่อกันในทางธุรกิจและกลับมาช่วยเหลือกันในยามีภัยหรือมีปัญหา

  1. วิธีชีวิตและค่านิยมประชาธิปไตยได้รับการเน้นเป็นพิเศษ  เพราะวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะ

ช่วยให้เกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างเสรี ประเด็นนี้พบว่าในชั้นเรียนของสมชาย  หรือแม้แต่การทำงานในแต่ละที่ของสมชาย สะท้อนความเป็นสังคมประชาธิปไตยค่อนข้างมาก เพราะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย

          จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าผู้เขียนนำปรัชญาทางการศึกษาเข้ามาเสนอภาพชีวิตของตัวละครเอกได้เป็นอย่างดี  และช่วยสะท้อนมุมมองของการศึกษาได้อย่างเห็นภาพชัดเจนว่าสังคม หรือคนจะมีความก้าวหน้าได้นั้นส่วนหนึ่งต้องมาจากการศึกษาที่มีประสิทธิภาพด้วย และเมื่อพ้นจากระบบการศึกษาไปแล้วจะทำอย่างไรให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ(Maslow’s Hierarchical Theory of Motivation) นำสู่ความสำเร็จ

                หากมองในแง่การนำเสนอตัวละครผ่านนวนิยายเรื่องนี้ข้าพเจ้ามองเรื่องของทฤษฎีความต้องการ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันเป็นอย่างดีถึงความต้องการของมนุษย์ ดังที่ Maslow เชื่อว่ามนุษย์เป็น “สัตว์ที่มีความต้องการ” (wanting animal) และเป็นการยากที่มนุษย์จะไปถึงขั้นของความพึงพอใจอย่างสมบูรณ์   ลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ ( The Need –Hierarchy Conception of Human Motivation ) Maslow เรียงลำดับความต้องการของมนุษย์จากขั้นต้นไปสู่ความต้องการขั้นต่อไปไว้เป็นลำดับดังนี้

1. ความต้องการทางด้านร่างกาย ( Physiological needs )

2. ความต้องการความปลอดภัย ( Safety needs )

3. ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ ( Belongingness and love needs )

4. ความต้องการได้รับความนับถือยกย่อง ( Esteem needs )

          5. ความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ( Self-actualization needs ) (สุรพล พะยอมแย้ม 2544 : 71)

          โดยความต้องการทั้ง 5 ขั้นนี้ผู้เขียนนำเสนอผ่านตัวละครคือ สมชาย ได้อย่างชัดเจนเพราะผู้อ่านจะพบว่าในชีวิตของสมชายนั้นตังแต่เกิดมาเป็นเพียงเด็กต่างจังหวัดธรรมดาเขาคงไม่ได้คิดฝันว่าชีวิตตนเองจะไปได้ไกลมากขนาดนั้น เริ่มต้นชีวิตตอนวัยเด็ก เรียนหนังสือ และทำงานการดำเนินชีวิตเป็นไปเพื่อความต้องการทางด้านร่างกายให้สามารถอยู่รอดได้ ในช่วงที่สมชายทำงานนั้นก็ตั้งใจทำงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อสร้างความมั่นคงในงานที่ทำให้ตนเองสามารถอยู่ในหน้าที่การงานได้อย่างปลอดภัย ท้ายสุดเมื่อเกิดปัญหาสมชายก็หาทางกลับบ้านจุดนี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการความปลอดภัยการหาที่พึ่งให้กับตนเอง เมื่อรู้สึกว่าปลอดภัยแล้วก็เริ่มต้นหางานใหม่ติดต่อไปยังบุคคลที่จะไปร่วมงานต่อไป

          ส่วนความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของนั้นเป็นภาพที่สมชายสะท้อนออกมาได้ชัดเจนเมื่อได้พบกับลินดา และเกิดเป็นความรักขึ้นโดยสมชายเองก็ไม่ได้สนใจเรื่องของเชื้อชาติและวัฒนธรรมใด  รวมถึงการได้ลินดามาเป็นภรรยาสมชายเองก็สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัวของลินดารู้จักการเข้าหาผู้ใหญ่จนเป็นที่รักและวางใจที่ทำให้คนในครอบครัวของลินดาให้ทั้งคู่แต่งงานกัน และคนทั้งสองเองก็เป็นคู่ชีวิตที่เติมเต็มต่อกันอย่างดีมาก

          ในส่วนประเด็นความต้องการที่ 4 นั้นถือเป็นความต้องการที่สมชายทำได้ประสบความสำเร็จอย่างมากความต้องการส่วนนี้สมชายเองมีแรงขับภายในใจที่เป็นคนมีหัวทางการตลาดและมุ่งมั่นในการทำงานให้ประสบความสำเร็จเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ต้องการเป็นที่นับถือยกย่องของบุคคล  และอีกส่วนหนึ่งคือการสนับสนุนของคนในครอบครัวของภรรยา และตัวของภรรยาที่เป็นเพื่อคู่คิดและคอยช่วยเหลืออย่างดียิ่ง จึงทำให้สมชายก้าวไปสู่จุดที่ได้รับการยกย่องอย่างไม่ยาก  แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการทำงานและการคิดวางแผนอย่างหนักมาก และเมื่อเริ่มจะประสบความสำเร็จบุคคลต่างๆ ก็เข้ามาหาติดต่อการค้ากันมากมาย ประสานงานหรือความช่วยเหลือกับใครก็ค่อนข้างสะดวกและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง จนมองเห็นความต้องการในประเด็นที่ 5 ซึ่งเป็นความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง จุดนี้ตัวละครสมชายสนองความต้องการได้อย่างชัดเจนเข้าใจตัวตนของตนเองว่าตนเองเป็นนักการตลาดก็มองและปฏิบัติสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็นนักการตลาดไม่ใช่นักการทหาร  ไม่ใช่นักการเมือง การทำงานทุกอย่างอยู่ที่การวางกลยุทธ์ในเชิงการตลาดทั้งสิ้น  และท้ายสุดในชีวิตของเขาแม้จะเป็นพระแต่ก็ยังชอบสนทนาเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการตลาด

          เจ้าพ่อการตลาดเป็นนวนิยายที่ไม่เพียงจะให้ความสนุกสนานต่อผู้อ่านเท่านั้นแต่ยังเต็มไปด้วยความรู้ทางด้านธุรกิจ  การสะท้อนภาพความเป็นนักคิด นักวางแผนได้อย่างดีมาก รวมถึงสามารถสะท้อนภาพสังคมทุนนิยมได้อย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะแทรกคุณธรรมลงไปในตัวละครเพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นว่าแม้สังคมทุนนิยมปรากฏชัดเจนอย่างไร ความต้องการอำนาจ เงินตรามีมากแค่ไหน หากขาดความมีคุณธรรมในจิตใจสังคมก็ไม่สามารถอยู่ได้เช่นกัน

 

 

 

 

 

อ้างอิง :  ไกรฤทธิ์  บุณยเกียรติ. เจ้าพ่อการตลาด. สารมวลชน : กรุงเทพ     มหานคร , 2532.

           วิจิตร ศรีสะอ้าน.เอกสารการสอนชุดวิชา พื้นฐานการศึกษาหน่วยที่7 ปรัชญาการศึกษาร่วมสมัย.

                   มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2545. 

           สุรพล  พะยอมแย้ม. จิตวิทยาพื้นฐานสำหรับการศึกษา. โครงการส่งเสริมการผลิตตำราและเอกสาร

                   การสอน : คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2544 

หมายเลขบันทึก: 492977เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2012 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2012 23:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท