จุดประกายการสร้างพื้นที่ความสุข


คุณอาจเลือกอาชีพไม่ได้ แต่คุณเลือกที่จะใช้ชีวิตได้

การเดินทางไปอบรมการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยศาสตร์นพลักษณ์ เป็นเหมือนการเดินทางไปสร้างพื้นที่ความสุขให้กับองค์กรต่าง ๆ ที่มีความหลายหลายของผู้คนและต้องการอาศัยความหลากหลายนั้นในการสร้างทีมงานที่เข้มแข็ง ทีมงานที่ดีก็เหมือนกับการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดการหมุนเกลียวความรู้จากความรู้ประสบการณ์ภายในของแต่ละคนมาเป็นการผสมผสานความรู้ร่วมต่อยอดเป็นองค์ความรู้ใหม่ 

      

พื้นที่แห่งนี้ที่ผู้เขียนได้เดินทางไปเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยมีการจัดอบรมหลักสูตรอื่นนอกเหนือจากหลักสูตรเกี่ยวกับการเงินมาก่อน เพราะเป็นสถาบันทางการเงินบนตึกระฟ้าแห่งหนึ่งย่าน  All Seasons

                   

                                    มองไปทางไหนก็เห็นแต่ตึก 

                 

 

ตึกระฟ้า สถาบันการเงิน ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยม แน่นอนว่าสำหรับผู้เขียนแล้วเป็นเรื่องที่หนักใจอยู่ไม่น้อยที่จะไปพูดเรื่องการพัฒนาภายในตนเอง หรือการพัฒนาจิตในองค์กรที่มุ่งเน้น "เงิน" เป็นศูนย์กลางในการเดินทางของชีวิต

            

อย่างไรก็ตาม การที่ที่นี้สนใจที่จะให้เปิดประเด็นนี้ขึ้นมา อย่างน้อยคือการยอมรับฟังมิติใหม่ที่เขาอาจไม่เคยสนใจมาก่อน ในเวลาเพียง ๑ วัน จะทำพนักงานในองค์กรเปลี่ยนวิธีคิดเพราะการนำเสนอของเราคงไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือการสร้างความตระหนักรู้ในตัวตน (Self Awareness) ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรับรู้เฉพาะและหรือความรู้ที่มีต่อตัวเองและสรรพสิ่งบนโลก  หรือเรียกได้ว่าเป็นการศึกษาโลกทัศน์ของตนเอง

          

ความจริงสัมพัทธ์ที่ปรากฎอยู่ในสำนึก (Consciousness) ของพวกเขาคือการทำกำไร การทำยอด "ตัวเลข" สูง ๆ  เหล่านี้สะท้อนออกมาผ่านกิจกรรมมากมายที่แต่ละกลุ่มสะท้อนอัตลักษณ์ออกมา  แน่นอนว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ฝังรากลึกของพวกเขาได้ แต่เราทำให้พวกเขามองเห็นตัวเองได้ และยังมองเห็นสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าเงิน นั่นคือความสุขแท้จริงของตนเองและความสุขร่วมของผู้ที่รวมกัน ณ ที่แห่งนี้  ขอให้สังเกตว่าความสุขแท้จริงซื้อขายกันไม่ได้ มันอาจเป็นความสุขสงบภายในที่มองไม่เห็นจากเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครคิดถึง แม้แต่ตนเองที่แทบจะไม่เคยสังเกตตนเองมาก่อน

 

ฟังเรื่องเล่าของแต่ละคนอย่างตั้งใจจะค้นพบว่าความสุขเกิดขึ้นได้ง่ายมาก อาจจะไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่คือการได้ทำ "กระบวนการ" (process) 

 

หรืออาจเป็นเพียงคำชื่นชมที่ให้แก่กัน  สิ่งนี้น่าสนใจ คนส่วนใหญ่ปรารถนามาก  ความสุขที่วัดค่าเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่วัดได้ด้วยหัวใจที่พองโตเพราะ "การยอมรับ" ของสังคม

    ล

 

 กิจกรรมช่วงแรกที่นำเสนอในบันทักนี้คือการแนะนำ "ลักษณ์" ทั้ง ๙ ลักษณ์ ซึ่งคือประเภทของบุคคลที่แบ่งลักษณะสำคัญตามศูนย์หลัก "กาย"  "ใจ" และ "สมอง" ที่เป็นตัวกำกับขับเคลื่อนชีวิตเราให้ใส่ใจในเรื่อง "การกระทำ" "ความสัมพันธ์กับคนหรือธรรมชาติ" และ "การใช้ระบบความคิด" 

 

กิจกรรมช่วงเลือกลักษณ์ที่เข้าใจว่า "ฉันเป็น" หรือ "ฉันอยากจะเป็น" สุดแล้วแต่

จากการได้สัมผัสการแลกเปลี่ยนภายในกลุ่ม  

ข้อค้นพบ   

ดูเหมือนว่าเราอาจจะเลือกทำมาหาเลี้ยงชีพอะไรก็ได้ หากเรามีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการเงินที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเราส่งเสีย และหรือสติปัญญาเราดี มีทางเลือก  แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่แม้จะขยันพากเพียรเพียงไร แต่ก็มีโอกาสเลือกอาชีพที่จะทำหรืออาชีพที่ตนเองชอบ ไม่ได้มากนัก ถามพวกเขาหลายคน ไม่มีใครเลือกที่จะทำอาชีพการเงินมาตั้งแต่แรก 

 

                 

            คุณอาจเลือกอาชีพไม่ได้ แต่คุณเลือกที่จะใช้ชีวิตได้

 

ก่อนทำกิจกรรม แต่ละคนยังเป็นตัวตนแบบเดิม ๆ แต่ระหว่างทำกิจกรรม แต่ละคนจะเริ่มอมยิ้ม และยิ้มให้กันอย่างเปิดเผยมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งภาพบรรยากาศการละลายพฤติกรรม "ช่วงรอยยิ้มแห่งความสุข" จะนำเสนอในตอนต่อไปค่ะ

 

                    ขอบพระคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ

 

 

คำสำคัญ (Tags): #Human KM by Enneagram#happy ba
หมายเลขบันทึก: 492787เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2012 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2012 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะคุณ Sila Phu-Chaya,

บางทีความต่างก็อาจเป็นข้อได้เปรียบนะคะ คนทีทำงานกับ "เงิน" อยู่ตลอดเวลา อาจมีห้วงแห่งความโหยหาในด้านอื่นมากกว่าคนที่คลุกคลีกับมันมาตลอด และอาจเปิดใจทุ่มเทรับการอบรมด้าน self work การพัฒนาภายในตนเอง ได้ดี เพื่อสร้างความสมดุลให้ชีวิตนะคะ

ยิ่งคนที่ทำงานด้านการเงิน กับการทำตัวเลข เท่าที่รู้มาเขาต้องทำงานด้านจิตใจให้มากยิ่งกว่าค่ะ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตให้มีชีวิตค่ะ

ขอบคุณค่ะ :)

เรียนถามหน่อยครับ 

ศาสตร์นพลักษณ์

คืออะไรครับ  เห็นกล่าวถึงมาหลายบันทึกแล้ว

 

  • ขอบคุณอาจารย์ปริม Blank มากค่ะที่กรุณาแลกเปลี่ยน 
  • จริงอย่างที่อาจารย์กล่าวมาค่ะ เรามักจะโหยหาสิ่งที่เราขาด ตอนแรกที่ไปชวนคุย ทุกคนดูเคร่งขรึม เคร่งเครียดกับการทำงานอย่างมาก และไม่เคยได้ยินเครื่องมือที่ใช้ในการ "ค้นพบตัวเอง" มาก่อน ดูพวกเขาสนใจกันมาก และจดคำบรรยายเหมือนฟัง lecture ในห้องเรียน 
  • ในความเป็นจริงแล้ว ศิลาเองก็มีเบื้องหลังที่ไม่ต่างไปจากท่านที่มาร่วมอบรมค่ะ ทำงานเกี่ยวกับกฎหมายสัญญหว่างประเทศ สิ่งที่ซื้อขาย ได้แก่ เครื่องบิน เรดาร์ เทคโนโลยีสื่อสารการบิน จ้างก่อสร้าง บริการ ความร่วมมือระหว่างประเทศ ฯลฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้คนเป็นหลัก เหมือนงานการศึกษา การแพทย์  และเพราะมีผู้มาแนะนำเครื่องมือนี้เมื่อสิบห้าปีที่แล้ว จึงได้ใช้ชีวิตอยู่กับการทำงานที่แทบไม่ได้ใช้หัวใจนำทางนี้ได้
  • ดังนั้น การบอกเล่าเรื่องราว จึงมาจาก "หัวอกเดียวกัน" และสะเทือนใจเมื่อเห็นพวกเขาไม่มีโอกาสได้ปลีกตัวมามีเวลาทำความรู้จักแม้กระทั่งความต้องการที่ลึก ๆ ของตนเอง
  • คำกล่าวของอาจารย์ปริมจึงโดนใจอย่างมากค่ะ "ยิ่งคนที่ทำงานด้านการเงิน กับการทำตัวเลข เท่าที่รู้มาเขาต้องทำงานด้านจิตใจให้มากยิ่งกว่าค่ะ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตให้มีชีวิตค่ะ"
  • เลือกอาชีพไม่ได้ เพราะมาทางสายนี้แล้ว เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ทั้งที่ทราบดีว่าทำแล้ว "จิตไม่ได้เติบโต" มีเพียงแต่เพิ่มพูนความลึกในประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในอาชีพ จึงเป็นที่มาของการปลีกเวลาไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการพัฒนาจิตเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองเคยขาดให้ผู้อื่นได้ค้นพบค่ะ อย่างคำกล่าวของอาจารย์เลยค่ะ ใช้ชีวิตให้มีชีวิต (ที่ผ่านมาเรียกได้ว่า death in life ค่ะ) 
  • ขอบพระคุณมากนะคะอาจารย์ที่การตั้งข้อสังเกตสั้น ๆ ของอาจารย์ได้นำมาซึ่งการได้ใคร่ครวญตนเองไปด้วย

สวัสดีค่ะ คุณบ้านไกล Blank คำถามท่านอยากตอบมากค่ะ แต่อีกไม่กี่ชั่วโมงต้องเริ่มบรรยายแล้ว ขอฝากไว้ก่อนนะคะ แต่ก่อนหน้านี้ได้ทำ link กลับไปที่บันทึกเก่า ๆ ที่เคยพูดถึง Enneagram หรือ นพลักษณ์ ไว้แล้วค่ะ หากท่านสนใจ สามารถเข้าไปอ่านผ่าน ๆ ตาได้ก่อนค่ะ หรือพิมพ์คำดังกล่าวใน google ก็จะมีหลายเว็บไซต์ให้เลือกดูคร่าว ๆ ค่ะ  วิธีการศึกษาเรื่องนี้ที่ดีที่สุดคือการทำกิจกรรมร่วมกันและนำไปสังเกตตัวเองต่อค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะที่สนใจ

กลับมาติดตามอ่านย้อนหลังค่ะพี่. เราจะได้เจอกันวันไหนคะเนี่ย....^

ชื่นชมในกิจกรรมดีๆและข้อคิดดีๆค่ะอาจารย์ น่าสนใจมาก จะติดตามตอนต่อไปค่ะ

  • สวัสดีค่ะคุณคนบ้านไกลBlank  เพราะคำถามที่น่าสนใจ จึงได้แทรกความหมายคร่าว ๆ ไว้ในบันทึกแล้วนะคะ 
  • อาจะเป็นเพราะเขียนเรื่อง "รู้ตัวเพื่อการพัฒนาจิต" มานานนับปี ก็เลยชินที่จะไม่อธิบายความหมายของนพลักษณ์ในบันทึกหลัง ๆ แล้วน่ะค่ะ
  • นพลักษณ์ เป็นประเภทของบุคคลที่จัดแบ่งกลุ่มได้ ๙ ประเภทตามกิเลสหลัก ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนชีวิตเราให้มีวิถีแต่ละแบบ และเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดทุกข์และสุข ในบันทึกที่เกี่ยวกับบาป "Seven" ๗ ประการ (นพลักษณ์จะบวกเพิ่มอีก ๒ ประการ รวมเป็น ๙)    
  • ส่วนใหญ่ใน G2K หลายท่านก็ผ่านการอบรมนพลักษณ์มาแล้ว จึงเข้าใจเอง (ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ค่อยเป็นธรรมกับท่านผู้อ่านที่ไม่เคยทราบมาก่อนค่ะ) ว่าจะเล่าเรื่องในบันทึกผ่านภาพกิจกรรม และสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละครั้ง แต่จะไม่ค่อยบอกว่าใครพูดว่าอะไร เพื่อรักษาความลับเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้เข้าร่วมอบรมเปิดเผยเพื่อเรียนรู้ตัวตนซึ่งกันและกัน และไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยค่ะ 
  • ดังนั้น การนำเสนอเรื่องเล่ากิจกรรมนพลักษณ์ จึงนำเสนอบทสรุปสั้น ๆ ของการไปอบรมในแต่ละครั้ง 
  • หากท่านสนใจสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ในโอกาสต่อ ๆ ไปค่ะ ขอบคุณมากค่ะ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท