ความสูญเสีย


คุณยายสอนให้ผมรู้ว่าขณะที่เรากำลังสูญเสียเราก็ได้รู้ว่าผู้คนที่รักเรา ต่างคอยดูแลเอาใจใส่เราในยามที่เราต้องการ แม้ความสูญเสียจะสร้างช่องโหว่ในหัวใจ แต่ก็เป็นช่องโหว่ที่เยียวยาได้ด้วยความรัก

คุณยายของผมเล่าว่า ท่านก็เหมือนกับคนส่วนใหญ่ที่เข้าใจว่าการสูญเสียหมายถึงการเสียคนรัก ของรัก ตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่ทันคิดว่า ยังมีมุมมองเกี่ยวกับการสูญเสียได้อีกหลายรูปแบบ จวบจนกระทั่งได้อ่านหนังสือชื่อ “ชีวิตสอนอะไรเราบ้าง”ของอลิซาเบธคีบเลอร์-รอสส์ ฉบับแปลโดยนุชจรีย์ ชลคุป มุมมองจึงกว้างขึ้น

ปัจจุบันผมอายุ ๑๔ เดือนแล้วครับ แต่ช่วงเวลาที่ผมอายุ ๑-๘ เดือน คุณยายใช้ข้อมือซ้ายหนักไปหน่อยกับสองกิจกรรม กิจแรก คือรองรับศีรษะของผมในช่วงสระผม อาบน้ำ โดยเฉพาะการกางนิ้วหัวแม่มือและนิ้วกลางออกไปปิดใบหูเพื่อไม่ให้น้ำเข้าหู ยิ่งผมโตขึ้น รอบศีรษะก็กว้างขึ้น น้ำหนักก็มากขึ้นด้วย ทำให้คุณยายต้องเกร็งนิ้วมากขึ้น อีกกิจหนึ่งคือการช้อนศีรษะผม และอุ้มขึ้นจากที่นอน เพื่อป้อนนม และกล่อมให้ผมหลับ อาการปวดจะแปล๊บขึ้นมาที่ข้อมือ อาการเจ็บข้อมือมีเพิ่มมาเรื่อยๆ และเริ่มใช้งานได้น้อยลง กะเอาว่าใช้ได้เพียง ๗๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ความสูญเสียความเป็นตัวเองเข้ามาย่างกรายในชีวิตคุณยาย ทำให้รู้สึกหดหู่ใจ คุณยายตัดสินใจไปรักษากับหมอกระดูก ได้ทั้งยากินคลายกล้ามเนื้อ และยาแก้ปวด ชนิดกินและทา รวมทั้งอุปกรณ์ช่วยพยุงมือ แต่ก็ช่วยไม่ได้มากนัก ในที่สุดหมอก็จัดยาฉีดกลุ่มสเตียรอยด์ให้ ซึ่งมีข้อจำกัดว่าฉีดได้ไม่เกิน ๒ ครั้ง จะเป็นอันตรายกับกระดูก หลังฉีดยาไปแล้ว อาการปวดหายเกือบจะในบัดดล แต่ราวเดือนหนึ่งก็กลับมาใหม่ ตอนนี้เป็นมากกว่าปวดรำคาญ เพราะรบกวนทั้งกลางวันกลางคืน ผมรู้สึกเห็นใจคุณยายจัง คุณยายคิดว่าคราวนี้คงต้องใช้วิธีการผ่าตัดแล้ว แล้วลูกศิษย์พยาบาลของคุณยายก็แนะนำด้วยความเป็นห่วง ให้ผ่าตัดกับคุณหมอสรศักดิ์ ท่านชำนาญการผ่าตัดเรื่องนี้มากทีเดียว คุณยายจึงตัดสินใจย้ายมารักษาที่คลินิกพิเศษแทน เพราะเกรงใจคุณหมอคนเดิมที่รักษาอยู่ก่อนในคลินิกธรรมดา ซึ่งกลับดีกับคุณยายเพราะเป็นวันอาทิตย์ไม่ต้องวางแผนให้ใครมาสแตนด์บายดูแลผมแทน

คุณหมอน่ารักมากกรุณาแทรกคิวให้ตามคำขอร้องของคุณยาย แต่กระนั้นก็ยังต้องรอเดือนกว่าๆ จึงได้ผ่าตัด คุณยายได้คิวผ่าตัดวันอังคารที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๖.๐๐น. คุณยายบอกว่าพอก้าวเข้าในห้องผ่าตัดก็รู้สึกอบอุ่นทันที ลูกศิษย์เข้ามายกมือไหว้ ทักทาย กันเป็นแถว มีทั้งลูกศิษย์ที่โตเป็นหัวหน้าห้องผ่าตัดแล้ว และลูกศิษย์ที่เพิ่งจบไม่นานที่เข้ามาแสดงตนว่าคุณยายเป็นผู้สัมภาษณ์ให้เขาได้ไปทุนแลกเปลี่ยนไปแคนนาดา ทุกคนเข้ามาช่วยเตรียมผ่าตัดอย่างคล่องแคล่ว รวมทั้งคุณหมอที่เข้ามาทักทายก่อนไปสวมหน้ากากปิดหน้า ทำให้คุณยายรู้สึกวางใจมากกับการผ่าตัดครั้งนี้ คุณยายพูดอย่างปลื้มปิติว่านี่คงเป็นบุญกุศลจากการเป็นอาจารย์พยาบาลกระมัง

ในการผ่าตัด คุณยายเล่าว่าหลังจากคุณพยาบาลระดมทำความสะอาดแขนและมือซ้ายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างหมดจด แล้วคุณหมอก็ฉีดยาชาบริเวณข้อมือซ้ายด้านหัวแม่มือ สักพักเดียวก็ใช้เข็มจิ้มๆ ถามว่ารู้สึกไหม เมื่อแน่ใจว่ายาชาทำงานแล้วคุณหมอก็ทำการกรีดตรงตำแหน่งเส้นเอ็นที่ปวด คุณยายรู้สึกหนัก ถูกกดลึกๆ คงเป็นช่วงถ่างขยายปลอกหุ้มเอ็นที่อักเสบ ไม่ถึง ๒๐ นาทีก็เย็บปิดแผล ตอนนี้เริ่มเจ็บ คุณยายบอกหมอว่าเริ่มเจ็บ คุณหมอจึงเร่งมือเย็บแผล ๓ เข็มเท่านั้นเอง แล้วคุณพยาบาลก็พาออกมาส่ง คุณยายรอสักครู่ก็มีใบสั่งยามาให้ มียาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ และอุปกรณห้อยแขวนมือเรียกว่าอาร์มสลิง คุณยายเดินไปซื้อยาเอง 

คุณยาส่ายหน้าพร้อมกับเล่าว่า ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด คิดว่าผ่าตัดเล็กๆ ไม่ได้ใช้ยาสลบ เพียงแค่บล็อกด้วยยาชาเท่านั้น ชิวๆ ที่ไหนได้ ช่วงกำลังผ่าก็ปวดหนึบๆ หนักๆ อาการเหมือนตอนที่ถูกถอนฟันกราม พอผ่าเสร็จปั๊บอาการปวดก็มาเยี่ยมทันที ยกแขนไม่ไหวแม้แต่จะหยิบเงินในกระเป๋าเป็นค่ายา ก็ลำบากมาก จึงเท่ากับว่า ตอนนี้คุณยายใช้มือได้เพียง๕๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น น้อยกว่าเก่า และแถมถูกเจ้าหน้าที่จ่ายเครื่องมือแพทย์แสดงกิริยาไม่ดีตอน คุณยายขอให้เขาแนะนำวิธีใช้อาร์มสลิง เขากลับบอกว่าให้ไปถามแพทย์ เขามีหน้าที่จ่ายอุปกรณ์อย่างเดียว คุณยายเล่าว่าถ้าเพียงแต่เขาลุกขึ้นมาแสดงความเมตตา แกะกล่องให้ และช่วยคล้อง ช่วยกดล็อคสายคล้องแขน และเรียนรู้วิธีใช้ไปด้วยกัน ก็จะประทับใจมาก การถูกปฏิเสธอย่างไร้น้ำใจ ทำให้คุณยายหงุดหงิดมากในเย็นวันนั้น ต้องนั่งหลับตา ดูอารมณ์ที่กระเพื่อมไหวอยู่นานกว่าจะสงบลงได้ คุณยายบอกจะเก็บเป็นตัวอย่างการให้บริการแบบเครื่องจักรไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟัง เนื่องจากเป็นวันทำงาน คุณยายจึงขอให้คุณตามาสแตนด์บายดูแลผม ดังนั้น จึงต้องขอให้ลุงปอทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองรับกลับบ้านคืนนั้นคุณยายหลับไปพร้อมอาการปวดที่รบกวนตลอดเวลา ทั้งๆที่กินยาแก้ปวดทุก ๔ ชั่วโมง น้ำท่าไม่มีแก่ใจจะอาบ

แรกทีเดียว หลังผ่าตัดคุณยายว่าจะพักอยู่บ้าน ให้คุณตามาเลี้ยงผมแทน แต่คุณยายรู้สึกเหมือนเป็นคนพิการ แม้จะแกะถุงกับข้าวยังทำไม่ได้ อารมณ์ห่อเหี่ยวแน่ๆ ถ้าอยู่คนเดียว จึงเปลี่ยนแผน ติดรถคุณตามาอยู่กับผม และกลับไปนอนบ้าน ทำอยู่ ๕ วัน คุณยายได้แต่กอดผมเท่านั้น ไม่อุ้ม อาการจึงดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่วันจันทร์จนถึงวันนี้วันพุธ เริ่มมานอนค้างบ้านผมเหมือนเดิม เข้าครัวทำอาหารให้ผมและตัวเอง หลังวันที่๕ คุณยายอุ้มผมเท่าที่จำเป็น แต่ก็พยายามดูแลข้อมือที่ป่วยอยู่ ไม่ให้รับน้ำหนักมาก และไม่ให้แผลโดนน้ำ ความจริงวันนี้ครบ ๗ วันแล้ว คุณยายบอกว่าแผลน่าจะติดดี แต่หมอนัดตัดไหมวันที่ ๓ กรกฎาคม จึงยังต้องใช้ถุงพลาสติกครอบมือซ้ายเวลาอาบน้ำ เพราะมือซ้ายยังมีผ้าพันแผลหุ้มเป็นนักมวยอยู่ และต้องพึ่งพิงพี่ส้มในการซักชุดชั้นในอย่างไรก็ตาม ตอนนี้นิ้วโป้งซ้ายสามารถกางออกได้เกือบเหมือนเดิมแล้ว มีเจ็บตึงๆ เล็กน้อยเวลาบิดข้อมือ คุณยายเดาว่าน่าจะเป็นจากวิธีการรัดผ้าเพื่อพยุงข้อมือที่คุณหมอจัดให้มากกว่า 

คุณยายสอนให้ผมรู้ว่าขณะที่เรากำลังสูญเสียเราก็ได้รู้ว่าผู้คนที่รักเรา ต่างคอยดูแลเอาใจใส่เราในยามที่เราต้องการ แม้ความสูญเสียจะสร้างช่องโหว่ในหัวใจ แต่ก็เป็นช่องโหว่ที่เยียวยาได้ด้วยความรัก อย่างครั้งนี้ คุณยายรู้สึกสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ต้องมาพึ่งพิงผู้อื่น คุณยายก็ได้เห็นความรักของคนรอบข้างชัดเจนขึ้น อย่างเช่นในวันผ่าตัดคุณยายปวดจนเหมือนนกปีกหัก คุณยายได้พบความรักจากลูกชายคือลุงปอของผม ที่อุตส่าห์นั่งรถโดยสารจากที่ทำงานซึ่งอยู่สีลม เพื่อมารับคุณยายกลับบ้าน ในช่วงที่มือซ้ายทำงานไม่ได้แม้การอาบน้ำ ฟอกสบู่ให้ตัวเอง ก็ได้รับความรักจากคุณตาที่ช่วยเหลือในการอาบน้ำ ล้างถ้วย จานชาม รวมถึงพับผ้าห่มนอน คุณยายบอกว่าประทับใจทุกๆ คน แม้แต่พี่ส้ม พี่ที่ช่วยงานบ้านของคุณแม่ ก็ให้ความรักแก่คุณยาย โดยรับเป็นธุระในการดูแลผมอย่างเต็มที่ เมื่อไรที่ได้ยินเสียงผมอ้อนเหมือนจะให้อุ้ม เธอก็จะโผล่มาในทันที เพื่อไม่ให้คุณยายต้องใช้ข้อมือข้างที่บาดเจ็บ คุณยายบอกว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะเก็บไปสอนลูกศิษย์ ถึงเรื่องการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์  คุณยายให้ความหมายของ “หัวใจของความเป็นมนุษย์” คือการมีความรัก ความเมตตาให้กัน การเชื่อมโยงกันได้ถึงความทุกข์และความสุขของผู้อื่น ทำให้เกิดจิตใจที่อยากช่วยบรรเทาความทุกข์ และชื่นชมในความสุขของเขา 

วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 492773เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2012 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2012 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท