ผมยังทำได้เลย ทำไมคุณถึงทำไม่ได้


วันนี้ขอเอาทัศนคติของหัวหน้างานที่ไม่ค่อยจะดีมาเล่าสู่กันฟังอีกสักเรื่อง ซึ่งก็ไม่ใช่หัวหน้าทุกคนจะเป็นแบบนี้นะครับ เป็นเรื่องราวมาจากการที่ผมได้มีโอกาสไปพูดคุยในเรื่องของการบริหารผลงานให้กับลูกค้า ซึ่งการบริหารผลงานนั้นทักษะสำคัญของหัวหน้าในการบริหารผลงานลูกน้องก็คือ เรื่องของการให้ Feedback และการ Coaching

ผมถามหัวหน้าทุกคนที่เข้าสัมมนาว่า “ปกติมีการให้ Feedback และ Coaching ลูกน้องบ้างหรือเปล่า” หัวหน้าประมาณ 70% ในห้องเรียนต่างตอบว่ามีการทำอย่างสม่ำเสมอ

แต่ผลจากที่ให้ลูกน้องลองประเมินดูว่าหัวหน้างานองตนเองนั้นมีการให้ Feedback และ Coaching หรือไม่นั้น ลูกน้องประมาณ 80% มองว่าหัวหน้าไม่ได้ทำการ Feedback และ Coaching เลย

แล้วนี่มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ทำไมมองกันคนละมุมเลย สิ่งที่หัวหน้ารับรู้มาตลอดเวลาก็คือ เวลาที่มีการประชุม เวลามีการตำหนิลูกน้อง หรือ การดุด่าว่ากล่าว ตักเตือนให้ทำงานให้ดีขึ้น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หัวหน้าเข้าใจว่านี่แหละคือการ Coaching ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย หัวหน้าบางคนก็มักจะคิดไปเองว่า พนักงานที่จ้างเข้ามาแล้วจะต้องทำงานที่เรามอบหมายให้นั้นได้อย่างดี เพราะนั่นคือหน้าที่ของพนักงานที่จะต้องทำให้ได้ เพื่อให้คุ้มกับเงินเดือนที่เราจ้างเขาเข้ามาทำงาน

แต่เอาเข้าจริงๆ พนักงานบางคนแม้ว่าจะมีประสบการณ์มามากมายเพียงใด แต่งานบางงานก็อาจจะยังทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีพอ ถ้าขาดการแนะนำและการสอนงานจากหัวหน้า พอลูกน้องเข้ามาสอบถาม หรือขอคำแนะนำในงานที่ทำไม่ได้ หัวหน้าก็มักจะอารมณ์เสีย และมองว่าทำไมเรื่องแค่นี้ถึงทำไม่ได้ และก็มักจะคิดต่อไปอีกว่า ตอนที่เราทำงานในฐานะพนักงาน เรื่องแค่นี้เรายังทำเอง แก้ไขปัญหาเองได้เลย แล้วทำไมพนักงานคนนี้ถึงทำเองไม่ได้ แบบนี้ก็เลี้ยงเสียข้าวสุกเปล่าๆ

ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรครับ

จริงๆ แล้ว ผมคิดว่า พนักงานแต่ละคนมีความรู้ และความสามารถที่ไม่เท่ากันครับ เราจะไปมองว่าพนักงานทุกคนจะต้องเหมือนเรานั้น ผมคิดว่ามันคงไม่ใช่ เพราะเขาไม่ใช่เรา เขาอาจจะไม่เข้าใจจริงๆ หรือไม่มีความถนัดในงานบางงาน ซึ่งต้องขอความช่วยเหลือจากเรา ในฐานะที่เราเป็นหัวหน้า ผลงานของเราจะดีได้ก็ต้องมาจากผลงานของลูกน้องด้วย ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้ผลงานของเราดีก็คือ จะต้องสอนงานพนักงาน และให้คำแนะนำแก่พนักงานในการทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะต้องทำความเข้าใจว่าพนักงานแต่ละคนมีความแตกต่างกัน มีความไวในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ความคิดความอ่าน ความตั้งใจก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน

หัวหน้าที่เป็น Coach ที่ดี มักจะต้องมีการศึกษาว่าพนักงานแต่ละคนนั้นมีสไตล์ในการเรียนรู้แตกต่างกันอย่างไร เพื่อที่จะได้ออกแบบวิธีการสอนของตนให้สอดคล้องกับสไตล์การเรียนรู้ของพนักงานด้วย ยิ่งไปกว่านี้ Coach ที่ดีจะต้องไม่เอาตนเองเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เอะอะก็คิดไปว่า

เรายังทำได้เลย ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงทำกันไม่ได้นะ” หรือ “เรายังฟังมาแค่ครั้งเดียวก็เข้าใจแล้ว แต่ทำไมนี่พูดให้พนักงานงานฟังถึงสามรอบแล้วไม่เข้าใจสักที” ฯลฯ

การเป็น Coach ที่ดีนั้นจะต้องเอาตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องพยายามทำความเข้าใจผู้เรียนให้ได้อย่างถ่องแท้ รวมทั้งปรับสไตล์การสอนงานให้เข้ากับสไตล์การเรียนรู้ของพนักงานแต่ละคนด้วย สุดท้ายแล้วประโยคที่ว่า

“เรื่องง่ายๆ แค่นี้ ทำไมทำไม่ได้สักที” หรือ “ผมเองยังทำได้เลย ทำไมคุณถึงทำไม่ได้” ไม่น่าจะหลุดออกมาจากปากของ หัวหน้าที่เป็น Coach ที่ดีครับ

คำสำคัญ (Tags): #หัวหน้าที่ดี
หมายเลขบันทึก: 492706เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2012 06:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2012 06:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท