ลักษณะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ


เมื่อพูดถึงเรื่องระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกเราจะนึกถึงเรื่องตำแหน่ง ที่ตั้ง (Position Location) เมื่อพูดเรื่องเทคโนโลยีรีโมทเซนซิงเราจะนึกถึงเรื่องรูปแบบ การจัดวาง (Pattern) และเมื่อพูดถึงเรื่องระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เราจะนึกถึงเรื่องการวิเคราะห์และความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเชิงพื้นที่ (Relational) แต่อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีในการศึกษาพื้นที่ดังกล่าว ต่างก็มีพื้นฐานเดียวกัน คือ “ตำแหน่งแห่งที่” (Position) ดังนั้นการจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ร่วมกันได้ “ตำแหน่งต้องตรงกัน” และในปัจจุบันพบว่าการดำเนินการกับเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่ง สุดท้ายก็จะพบว่าไม่สามารถแยกส่วนเทคโนโลยีดังกล่าวออกจากกันได้เลย เปรียบเสมือนสามขาที่ไม่อาจขาดขาใดขาหนึ่ง
ภูมิสารสนเทศ (Geomatics Geo-Informatics) เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการศึกษาพื้นที่ ที่ประกอบด้วยเครื่องมือ 3 ตัวหลัก คือ 1) ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (Global Positioning System) 2) เทคโนโลยีรีโมทเซนซิง (Remote Sensing) และ 3) ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) ซึ่งถึงแม้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์แต่ละอย่าง จะมีลักษณะเฉพาะและแตกต่างกันไป เช่น เมื่อพูดถึงเรื่องระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกเราจะนึกถึงเรื่องตำแหน่ง ที่ตั้ง (Position Location) เมื่อพูดเรื่องเทคโนโลยีรีโมทเซนซิงเราจะนึกถึงเรื่องรูปแบบ การจัดวาง (Pattern) และเมื่อพูดถึงเรื่องระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เราจะนึกถึงเรื่องการวิเคราะห์และความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเชิงพื้นที่ (Relational) แต่อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีในการศึกษาพื้นที่ดังกล่าว ต่างก็มีพื้นฐานเดียวกัน คือ “ตำแหน่งแห่งที่” (Position) ดังนั้นการจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ร่วมกันได้ “ตำแหน่งต้องตรงกัน” และในปัจจุบันพบว่าการดำเนินการกับเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่ง สุดท้ายก็จะพบว่าไม่สามารถแยกส่วนเทคโนโลยีดังกล่าวออกจากกันได้เลย เปรียบเสมือนสามขา (Tripod) ที่ไม่อาจขาดขาใดขาหนึ่ง ในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในหลายลักษณะ การประยุกต์ใช้งานร่วมกันของภูมิสารสนเทศก่อให้เกิดผลดีคือ ทำให้เกิดการพัฒนาฟังก์ชันการทำงานที่สนับสนุนการใช้งานร่วมกันของเทคโนโลยีดังกล่าวมากยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในราคาที่ถูก ก่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งรูปแบบ วิธีการและหน่วยงานที่นำไปใช้ การประยุกต์ใช้ภูมิสารสนเทศมีหลายลักษณะตามวัตถุประสงค์งาน ลักษณะงาน เครื่องมือในการวิเคราะห์ และมีวิธีการและสัดส่วนในการใช้งานที่แตกต่างกันไป เช่น ในการใช้ภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการผลผลิตทางการเกษตร รีโมทเซนซิงจะถูกนำมาใช้ในการศึกษา รวบรวมข้อมูลพื้นที่ เช่น การใช้ข้อมูลภาพจากดาวเทียม จำแนกประโยชน์การใช้ที่ดิน (Classification) การใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทำนายผลผลิต วิเคราะห์ผลกระทบจากการเกษตร หาพื้นที่เหมาะสมในการปลูกพืช จัดสร้างโมเดลสนับสนุนการจัดการพื้นที่เกษตร และใช้ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกในการวิเคราะห์เส้นทางที่เหมาะสมในการขนส่งผลผลิตสู่ตลาด เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตามจากการศึกษางานวิจัยในปัจจุบัน พบว่ามีการประยุกต์ใช้ภูมิสารสนเทศอย่างหลากหลาย แต่โดยการวิเคราะห์ก็ยังใช้หลักการในการวิเคราะห์แบบเดิม คือมีการใช้ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกในการเก็บพิกัด เพื่อใช้เทคโนโลยีรีโมทเซนซิงรวบรวมและแปลความหมายข้อมูลเชิงพื้นที่ จัดสร้างฐานข้อมูลในการวิเคราะห์ และใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เป็นตัวหลักในการวิเคราะห์ผลการศึกษา โดยในฟังก์ชันการวิเคราะห์ที่มักจะถูกนำมาใช้หลักและเสมอ คือ การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ (Spatial Analysis) แม้กระนั้นในลักษณะงานที่แตกต่างกันสัดส่วนหรือจุดเน้นในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวก็แตกต่างกันไปด้วย เช่น 1) ถ้าเป็นงานที่เกี่ยวข้องด้านภัยพิบัติ เป็นภารกิจเร่งด่วนในภาวะวิกฤติ ต้องการการตัดสินใจที่ดีและรวดเร็ว การประสานข้อมูลที่แม่นยำ และทันต่อเหตุการณ์มากที่สุด ในกรณีนี้ รีโมทเซนซิงมีบทบาทที่สำคัญมาก การใช้ข้อมูลภาพจากดาวเทียม ผ่านระบบสนับสนุนการตัดสินใจ จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลที่แท้จริง และมองเห็นสถานการณ์ในขณะนั้น ทั้งในเชิงลึกและในภาพรวมได้พร้อมๆ กัน เช่น ลักษณะและทิศทางการไหลของน้ำ ปริมาณและบริเวณที่น้ำท่วมขัง ข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้น สมรรถนะในการรองรับน้ำของเขื่อน เป็นต้น ทำให้สามารถตัดสินใจวางแผนบรรเทาภัยพิบัติ เช่น กำหนดนโยบายการระบายน้ำได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที หรือในกรณีที่มีวิกฤตการณ์เหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในต่างประเทศ เช่น เกิดเหตุการณ์จลาจลในพม่า ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถานที่ราชการและภาคธุรกิจของประเทศ ในการตรวจสอบสถานภาพปัจจุบันในขณะนั้น จำเป็นต้องเชื่อมโยงระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานด้านความมั่นคง เข้ากับข้อมูลภาพจากดาวเทียมรายละเอียดสูง บนระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ทำให้รัฐบาลสามารถประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง เช่น การวางแผนอพยพคนไทยออกมาได้ทันท่วงที เป็นต้น ส่วนสัดส่วนการใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และระบบวัดพิกัดภาคพื้นดินในกรณีนี้อาจจะน้อย แต่อาจถูกนำมาใช้หลังเหตุการณ์ เช่น ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการประเมินผลกระทบจากความเสียหาย วางแผนการจัดการพื้นที่ใหม่ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงหลังภัยพิบัติ ส่วนระบบวัดพิกัดภาคพื้นดินอาจถูกนำมาใช้ในการติดตามผู้สูญหายจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เป็นต้น 2) ถ้าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำฐานข้อมูล ระบบวัดพิกัดภาคพื้นดินอาจมีบทบาทสำคัญในการจัดเก็บข้อมูลตำแหน่ง/พิกัดของสิ่งที่ศึกษา โดยใช้ข้อมูลภาพดาวเทียมเป็นฐานในการศึกษา แล้วนำข้อมูลดังกล่าวเพื่อจัดเก็บโดยโปรแกรมระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 3) ส่วนงานที่ต้องใช้การวิเคราะห์ที่ซับซ้อนระบบสารสนเทศอาจมีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูล ในขณะที่รีโมทเซนซิงและระบบวัดพิกัดภาคพื้นดินจะถูกลดบทบาทในการนำมาประยุกต์ใช้ เป็นต้น
หมายเลขบันทึก: 492638เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2012 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท